‘นอนมาก’ สมองพัง?/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘นอนมาก’ สมองพัง?

 

แฟน “มติชนสุดสัปดาห์” เคยสังเกตหรือไม่ ว่าเวลาที่ท่าน “อดนอน” วันรุ่งขึ้น นอกจากร่างกายจะอ่อนล้าแล้ว สมองนั้นไม่แล่นเอาเสียเลย

ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเรื่องนี้มีผลมาจากเหตุที่ว่า ช่วงเวลาครึ่งแรกของคืน หรือราว 4 ชั่วโมงหลังจากเริ่มนอน สมองจะได้รับการซ่อมแซม และมีกระบวนการ “สังเคราะห์ข้อมูลใหม่” ภายในโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น เมื่อตื่นขึ้น เราจึงรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา และมีพลังสร้างสรรค์มาก

 

มีผลการศึกษาหนึ่งซึ่งน่าสนใจในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ที่ระบุว่า การ “อดนอน” เพียงแค่คืนเดียว ทำให้มีการผลิต Amyloid Beta เพิ่มขึ้น

โดยเป็นที่รู้กันในวงการแพทย์ ว่า Amyloid Beta คือของเสียจากการเผาผลาญที่พบระหว่าง Cells สมอง ซึ่งมีความเชื่อมโยง และเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิด Alzheimer มานานแล้ว

นอกจากนี้ Dr. Joseph Krainin ผู้ก่อตั้ง Singular Sleep ได้ชี้ว่า การพักผ่อนไม่เพียงพอ สัมพันธ์กับความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งมีแนวโน้มไปสู่การเป็น Bipolar Disorder หรือ “โรคอารมณ์สองขั้ว” ได้อีกด้วย

“การฟื้นฟูสมอง จะเกิดขึ้นระหว่างหลับใหล ผ่านการเชื่อมต่อเส้นประสาทความทรงจำ หากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มขี้หลงขี้ลืม แน่นอนว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการพักผ่อนน้อยเกินไปนั่นเอง”

Dr. Joseph Krainin กระชุ่น

นอกจากนี้ การนอนยังสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในการผลิต T-Cells หรือ “เม็ดเลือดขาว” ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับ Virus และ Bacteria หากพักผ่อนไม่เพียงพอ เราจะติดเชื้อได้ง่าย และฟื้นไข้ได้ช้า Dr. Joseph Krainin กล่าว และว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพักผ่อนที่เพียงพอ จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อ เพราะในระหว่างที่นอนหลับ ร่างกายจะสังเคราะห์ Protein และปล่อย Hormones ที่ช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

“นอกจากนี้ ผลการศึกษาจำนวนมากยังชี้ว่า การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ดีอีกด้วย” Dr. Joseph Krainin ทิ้งท้าย

ยังมีอีกประโยชน์หนึ่งซึ่งทราบกันเป็นอย่างดี ว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอ ร่างกายจะปรับสมดุลการควบคุม และย่อยสลาย Hormones เครียด ทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัว ช่วยลดความดันโลหิต

ระโยชน์ข้อสุดท้าย ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine ระบุว่า การนอนหลับเชื่อมโยงกับการลดน้ำหนัก

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า การพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้น้ำหนักลดลง เพราะการนอนหลับจะช่วยให้จำนวนไขมันหายไปเป็นครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะรับประทานอาหารชนิดเดียวกันก็ตาม ส่วนคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะมีความต้องการพลังงาน ทำให้รู้สึกหิวบ่อย และหงุดหงิดง่าย

บทความชิ้นดังกล่าวสรุปว่า โอกาสในการลดน้ำหนักของผู้ที่ควบคุมอาหาร แต่พักผ่อนไม่เพียงพอ จะน้อยกว่าผู้ที่นอนหลับอย่างเพียงพอถึงร้อยละ 50

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่ในวารสารโภชนาการศาสตร์คลินิกแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Journal of Clinical Nutrition ที่ระบุว่า หากคนเรานอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้อัตราความอยาก หรือปริมาณการรับประทานอาหารลดลงเฉลี่ยประมาณ 300 แคลอรีต่อวันเลยทีเดียว

ดังนั้น การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอตามค่าเฉลี่ยปกติ คือประมาณ 8 ชั่วโมง จะทำให้เราไม่รู้สึกหิวในช่วงดึก

ผลทางตรงก็คือ มีส่วนช่วยในการเผาผลาญพลังงาน ผลทางอ้อมก็คือ ทำให้เราเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ลดแป้ง ลดไขมัน หรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ได้มากขึ้นอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการศึกษาชิ้นใหม่ ที่ออกมาโต้แย้งคุณประโยชน์ของการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

ว่า “การนอนหลับมากเกินไป” อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ พอๆ กับ “การอดนอน”

เพราะ “สถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา” หรือ U.S. National Institute of Health ชี้ว่า “การพักผ่อนมากเกินไป” เพิ่มความเสี่ยงต่อร่างกายเช่นเดียวกับ “การนอนไม่พอ”

“การนอนหลับมากเกินไป” อาจส่งผลให้ภาวะการทำงานของสมองบกพร่อง นำไปสู่บ่อเกิดของโรค Alzheimer คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุ

สอดคล้องกับทีมนักวิจัยจาก Washington University School of Medicine ที่เมือง St. Louis รัฐ Missouri ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงการนอนที่เหมาะสม โดยตีพิมพ์ผลการวิจัยในนิตยสาร Brain ฉบับเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา

ระบุว่า จากการวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี เกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้ และการคิด ที่สัมพันธ์กับชั่วโมงการนอน

โดยใช้ “กลุ่มตัวอย่างควบคุม” อายุเฉลี่ย 75 ปี จำนวน 100 คน และแบ่งช่วงศึกษาเป็นการให้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นอนหลับ 6 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 88 คนไม่มีภาวะบกพร่อง ถดถอย หรือความเสียหายใดๆ ทางสมอง โดย 11 คนมีความบกพร่องเล็กน้อยมาก และมีความบกพร่องเล็กน้อยอีก 1 คน

โดยจะมีการทดสอบเพื่อหาสัญญาณของภาวะถดถอยทางสมองจำนวนหลายครั้งด้วยกัน เพื่อรวบรวมเป็น “คะแนนความสามารถในการคิด”

ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทุกคนต้องสวม “เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง” หรือ EEG (Electroencephalography) ตลอดคืน เพื่อวัดการทำงานของสมองในระหว่างนอนหลับ

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่นอนหลับ “น้อยกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง” ต่อคืน จะมี “คะแนนความสามารถในการคิด” ลดลง

โดยคะแนนจะเท่ากันกับกลุ่มตัวอย่างที่นอนหลับ “มากกว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง” ต่อคืน!

นัยสำคัญก็คือ คะแนนจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มตัวอย่างที่นอนหลับ “6 ชั่วโมงครึ่ง” ต่อคืน

 

Dr. Brendan Lucey ผู้อำนวยการศูนย์ Washington University Sleep Medicine Center บอกว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า “ช่วงเวลาจุดกึ่งกลาง” ที่ดีที่สุดสำหรับการนอนก็คือ “6 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน”

“การนอนหลับที่สั้นหรือยาวนั้น สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการรู้คิดอย่างแน่นอน” Dr. Brendan Lucey สรุป

ขณะเดียวกัน Dr. Greg Elder นักวิจัยด้านการนอนหลับแห่งมหาวิทยาลัย Northumbria เมือง Newcastle สหราชอาณาจักร ได้แสดงความประหลาดใจกับผลการวิจัยชิ้นนี้

“การนอน 6 ชั่วโมงครึ่งนั้นน้อยเกินไป เพราะในความเป็นจริง ผู้สูงอายุควรนอนคืนละ 8 ชั่วโมง” Dr. Greg Elder กล่าว และว่า

เราต้องพิจารณาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องของกลุ่มตัวอย่างให้ดี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสุขภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพทางเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิ National Sleep ที่ชี้ว่า โดยทั่วไปวัยกลางคนต้องการช่วงเวลานอนหลับ 7 ชั่วโมงต่อคืน ส่วนทารก เด็กเล็ก และวัยรุ่น ต้องการชั่วโมงพักผ่อน 10 ชั่วโมง เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการของสมอง

ขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรนอนคืนละ 8 ชั่วโมง

 

จากข้อมูลที่ยกมา ดูเหมือนจะยังสร้างความสับสนเรื่องการเพิ่มเวลาพักผ่อนสำหรับคนที่นอนน้อย ว่าจะสามารถช่วยให้ประสิทธิภาพทางสมองของพวกเขาดีขึ้นหรือไม่?

ต่อประเด็นนี้ Dr. Brendan Lucey ผู้อำนวยการศูนย์ Washington University Sleep Medicine Center บอกว่า ระยะเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

“หากรู้สึกว่าพักผ่อนเพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน แต่ผู้ที่หลับไม่สนิท ควรทราบว่าปัญหาการนอนนั้นสามารถรักษาได้”

เช่นเดียวกับ Dr. David Holtzman นักวิจัยด้านการนอนแถวหน้าของโลก ที่กล่าวว่า ผลการวิจัยดังกล่าว ได้ชี้ให้เห็นว่า “คุณภาพ” การนอนหลับพักผ่อน อาจเป็น “กุญแจสำคัญ”

ที่ไม่เกี่ยวกับ “ระยะเวลา” ในการนอนแต่อย่างใด