นักหนังสือพิมพ์(ญี่ปุ่น)(新聞記者)/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ
สุภา ปัทมานันท์

 

นักหนังสือพิมพ์(ญี่ปุ่น)(新聞記者)

 

เคยได้ยินคนญี่ปุ่นที่อยู่เมืองไทยบอกว่า ที่เมืองไทยการติดสินบน จ่ายค่าน้ำร้อน น้ำชาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในที่เกิดเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อลัดคิว เพื่อไม่ถูกปรับ เพื่อความสะดวก ฯลฯ ถือว่าพึ่งพาอาศัยกัน เป็นเรื่องธรรมดาเกิดขึ้นได้เสมอๆ ตราบใดที่เงินยังจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้ยินแล้วก็รู้สึกหน้าชา… ต้องก้มหน้างุด สักครู่… เงยหน้าขึ้น พยายามจะเถียงข้าง ๆ คู ๆ ว่า เกิดขึ้นได้ทุกประเทศแหละ บนสัจธรรมว่าความโลภย่อมมีอยู่ในใจมนุษย์ทุกผู้ทุกนามได้ แต่…เขาบอกว่าที่ญี่ปุ่นเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างเด็ดขาด

อืม…เรื่องเล็ก ๆ ไม่… แต่เรื่องใหญ่ ๆ …ล่ะ?

มีเวลาว่างพอดีกับที่ซีรี่ส์ญี่ปุ่นใน Netflix เรื่อง “The Journalist”(新聞記者)ฉายให้ได้ชม

ผู้แสดงนำหญิง เป็นนักหนังสือพิมพ์สาวผู้มุ่งมั่นนำเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรง เป็นกระบอกเสียงให้แก่คนในสังคม เรื่องราวที่เธอเห็นว่าไม่ชอบมาพากล หมกเม็ด เธอจะเกาะติด กัดไม่ปล่อย โดยเฉพาะการตรวจสอบหน่วยงานรัฐเรื่องความโปร่งใส

ซีรี่ส์นำเสนอเรื่องราวเลียนข่าวจริงสมัยรัฐบาล นาย ชินโซ อาเบ ที่มีข่าวภริยานายกรัฐมนตรีมีส่วนพัวพันในการซื้อขายที่ดินของรัฐในราคาถูกอย่างไม่สมเหตุสมผล ในซีรี่ส์แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับ สูง ต้องวิ่งวุ่นหาทางทำให้เรื่องเงียบให้ได้ เพราะพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ชี้แจง ระดับสูงก็กดดันระดับล่าง ระดับล่างก็กดดันระดับเล็กที่ทำเอกสารตามหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างซื่อสัตย์ เป็นทอด ๆ ไป

ตามเนื้อเรื่อง ที่ดินซื้อขายต้นเหตุอยู่ที่เมือง นาโงยา วันดีคืนดี รุ่นพี่หัวหน้าที่เป็นหัวหน้าส่วนการเงินก็ทำเรื่องขอให้รุ่นน้องโอนย้ายมา นับเป็นการเลื่อนขั้น รุ่นน้องผู้เคารพเชื่อมั่นในตัวรุ่นพี่ ก็ดีใจนักหนา นึกถึงความสัมพันธ์ในอดีตที่เอื้อเฟื้อกันมา ก็เต็มใจมาอยู่ในบังคับบัญชา แต่…อนิจจา หารู้ไม่… เขามีแผนเพราะถูกกดดันมาจากเบื้องบนให้แก้ไขเอกสารที่เกี่ยวข้อง มีอยู่หลายลังกระดาษ ให้ลบชื่อ แก้ไข ลบข้อความต่าง ๆ ที่จะโยงใยไปถึงบุคคลสำคัญเบื้องบน

ผู้แสดงสื่อถึงความปวดร้าวใจได้อย่างถึงแก่น ที่ต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามระเบียบของข้าราชการรัฐ แต่สำนึกและมโนธรรมตอกย้ำอยู่ตลอดว่า…ไม่ถูกต้อง เมื่อมีการตรวจสอบจากฝ่ายตรวจสอบจากส่วนกลาง แล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผู้เกี่ยวข้องไม่ปรากฎชื่อ เอาผิดใครไม่ได้ เขาต้องเจ็บปวดทนทุกข์อยู่กับผลการกระทำของตัวเอง ตัดสินใจไม่ถูก กล้า ๆ กลัว ๆ ติดต่อไปที่นักหนังสือพิมพ์สาว เนื่องจากเธอเกาะติดเรื่องนี้และเคยมาขอข้อมูล เขาล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล และตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในที่สุด

ภรรยาของเขาพยายามหาเงื่อนงำสาเหตุที่ทำให้สามีต้องฆ่าตัวตาย เมื่อสอบถามหัวหน้า ทุกคนก็อ้ำอึ้ง เลี่ยงที่จะตอบ มิหนำซ้ำยังถามว่าเขาได้ทิ้งจดหมายลาตายไว้ด้วยหรือเปล่า เนื่องจากเกรงว่าจะสาวมาถึงตัวเองได้ เธอบอกหัวหน้าว่า ไม่มีเหตุอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจจากไป นอกจากเรื่องเกี่ยวกับงานเท่านั้น เนื่องจากสามีเป็นข้าราชการที่ภาคภูมิใจในตัวเองมาตลอด เขายึดมั่นในหลักการที่ว่า… เงินเดือนที่ได้มาเลี้ยงชีพเป็นเงินของประชาชน เพราะฉะนั้นต้องซื่อสัตย์กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินที่สุด…

จะนับเป็นประโยคแบบโลกสวย…ในหนังในละครก็ได้ แต่เป็นความจริงที่สุด ไม่มีข้อแย้งใดๆทั้งสิ้น ประเทศใดมีข้าราชการที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักการนี้ได้มากเท่าใด ประชาชนเจ้าของเงินก็อุ่นใจ นอนหลับได้

ความเศร้าใจของภรรยาผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องหดหู่ใจยิ่งขึ้น เมื่อรู้ว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปนอกจากจะไม่มีความผิดแล้ว ยังได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งกันทั่วหน้า

อืม… แบบนี้คุ้น ๆ นะ…

ในซีรี่ส์ยังเผยให้เห็นการกดดันและปิดปากการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ที่เกาะติดเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคม อันนำผลเสียมาสู่ผู้เกี่ยวข้องระดับบน แม้แต่การสร้างเรื่องเบี่ยงประเด็น สาดโคลนใส่ตัวนักหนังสือพิมพ์สาวผู้นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา นักหนังสือพิมพ์สาวเธอพูดประโยคสวยๆ กินใจว่า เธอพยายามทำหน้าที่ให้แก่ “เสียงที่ไม่มีเสียง”(声なき声)ในสังคม ตัวเธอเองก็ได้รับความอยุติธรรมเกี่ยวกับเรื่องของพี่ชาย ถ้าคนตัวเล็กจ้อยในสังคม มีกระบอกเสียงที่มีมาตรฐานอย่างเธอ ความเป็นธรรมคงมีให้เห็น โดยไม่มีใครต้องเรียกร้อง

ซีรี่ส์นี้สื่อให้เห็นบทบาทและความซื่อตรงในจรรยาบรรณของสื่ออย่างแท้จริง ขณะที่ประเด็นเรื่องจรรยาบรรณของสื่อมวลชนในบ้านเรา ภายใต้กฎหมายกำลังเป็นที่ถกเถียง

เนื้อเรื่องจบลงโดยแสดงให้เห็นว่าผู้ร่วมขบวนการในวงจรอยุติธรรม ต่างได้รับผลจากการต่อสู้กับมโนธรรมในใจตน ยอมพลิกกลับมาเปิดปากพูดความจริง เพื่อช่วยทวงความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อผู้สูญเสียและแก้ไขสิ่งผิด รวมทั้ง บ.ก.โต๊ะข่าวการเมือง ที่กลับมาซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์

เรื่องทุจริตระดับบิ๊กนี้จะเงียบไปกับสายลม ถ้าปราศจากการทำหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์สาว เธอสืบค้น หาผู้เชื่อมโยงในระดับต่าง ๆ และเจรจา ขอร้อง ให้แต่ละคนเห็นแก่ความถูกต้อง

ถ้าเพียงแต่ทุกคนในสังคมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ อย่างมีสำนึก ตรงไปตรงมา ข้าราชการระดับบนผู้มีโอกาสหยิบชิ้นปลามัน ก็เป็นตัวอย่างที่ดี อย่าทำให้ “นายสั่ง” เป็นคำแก้ตัวของระดับล่างได้ เพราะ “นาย” ตัวจริง คือ ประชาชน…

ถ้าจะมุบมิบ หมกเม็ดกันเองก็ยังมี “นักหนังสือพิมพ์”(新聞記者)มาทำหน้าที่ตรวจสอบด้วยความซื่อตรง เป็นที่พึ่งของประชาชน