จับตาอาฟเตอร์ช็อก การเมือง สนามซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’ พปชร.ปะทะ พท.-ก้าวไกล แรงสะเทือน เลือกตั้งใหญ่/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับตาอาฟเตอร์ช็อก การเมือง

สนามซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’

พปชร.ปะทะ พท.-ก้าวไกล

แรงสะเทือน เลือกตั้งใหญ่

 

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ก่อนถึงวันเข้าคูหาหย่อนบัตรชี้ชะตาวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคมนี้

ศึกเลือกตั้งซ่อมสนามนี้ ผลออกมาอย่างไรใครแพ้-ใครชนะ จะเป็นเครื่องชี้วัดกระแสความนิยมของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงแข่งไม่ว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคกล้า พรรคไทยภักดี หรือกระทั่งพรรคไทยศรีวิไลย์

จะเป็นสัญญาณเผยให้เห็นทิศทางการเมืองในภาพใหญ่ สะท้อนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในขอบเขตพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย

โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ครั้งนี้ต้องไม่แพ้

แม้จะมีเก้าอี้ ส.ส.เดิมพันเพียงแค่ 1 แต่ด้วยศักดิ์ศรีที่ค้ำคอ

บวกกับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นมาแล้วกับสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร และ ส.ส.เขต 6 สงขลา เมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา ให้กับพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์แบบหมดรูป

หากพรรคพลังประชารัฐต้องปราชัยศึกเลือกตั้งซ่อมเป็นสนามที่ 3 ก็คงไม่แปลก ถ้าจะมีใครวิเคราะห์ว่าคือสัญญาณอันตราย สะท้อนความเสื่อมถอยของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่กระแสตอบรับของประชาชนในพื้นที่เขต 9 กทม.กับการเลือกตั้งซ่อมหนนี้ ดูเหนือข่มพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าด้วยกระแสคนรุ่นใหม่ และจากประชาชนทั่วไปที่เริ่มเหน็ดเหนื่อยกับการบริหารงานของรัฐบาล

ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อม 30 มกราคม นอกจากเป็นเครื่องชี้วัดกระแสของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ยังสามารถบ่งบอกได้ว่า สุดท้ายแล้วประชาชนจะเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หรือพรรคฝ่ายอำนาจ

นอกจากเป็นตัวชี้ทิศทางการเมืองของประเทศในอนาคต หากสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐต้องพบกับความพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม 3 สนาม ติดต่อกันภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ก็ต้องจับตา “อาฟเตอร์ช็อก” ที่จะตามมา

การเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร กับเขต 6 สงขลา อาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาคือการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขอให้พรรคมีมติขับตนเอง และ 20 ส.ส. ออกจากพรรคประชารัฐ เพื่อไปหาพรรคใหม่สังกัด

ซึ่งก่อให้เกิดแรงสะเทือนอย่างกว้างขวางตั้งแต่ภายในพลังประชารัฐ ลามไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล ที่กลับมาอยู่ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง

อาฟเตอร์ช็อกสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ครั้งนี้จะมีอะไรแตกต่างไปจากเหตุการณ์เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหรือไม่ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

 

ช่วงโค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร กทม. แต่ละพรรคต่างขนสรรพกำลังและงัดกลยุทธลุยเจาะฐานเสียงโกยคะแนน

ทั้งฐานเสียงจากชุมชน กลุ่มประชาชนตามบ้านเรือนและตลาด

พรรคที่ทรงดี และกระแสมาแรง ถูกยกให้เป็นมือวางอันดับ 1 ในสนามนี้คือ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส. ซึ่งทำงานใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มานาน 17 ปี ไม่ว่าจะตอนสอบได้ หรือตอนสอบตก

นายสุรชาติ ลงพื้นที่หาเสียงปูพรมเช้าถึงเย็นถึง โค้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยยังปล่อยหมัดเด็ดบนเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายวันที่ 28 มกราคม

ระดมขุนพลพรรคลุยขอคะแนนเสียง นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค และนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค

พร้อมทิ้งไพ่ออกแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ระบุ การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญในการจุดประกายแสงสว่างของการปรับเปลี่ยนการเมืองไทย สู่แนวทางที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นประชาธิปไตยตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จึงขอให้ประชาชนสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมมือร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

พรรคเพื่อไทยเคยออกมาปูดถึงขบวนการซื้อเสียง โดยโดยเฉพาะในชุมชนบางพื้นที่ มีการจ่ายหนักเริ่มต้นที่หัวละ 1,500 บาท ไปจนถึงหัวละ 5,000 บาท ตามสถานการณ์ต่อสู่กันรุนแรงมากขึ้น

ส่วนพรรคก้าวไกลส่ง “เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ ดาราหนุ่มลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งนี้ เชื่อว่าจะดึงคะแนนเสียงจากคนรุ่นได้เป็นกอบเป็นกำ มีสิทธิ์มาแรงแซงโค้งเข้าป้ายได้เหมือนกัน

พรรคก้าวไกลเปิดเวทีปราศรัยใหญ่เมื่อวันที่ 22 มกราคม ขนทัพมาเต็มอัตราศึก นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ขณะที่การปราศรัยของเพชร กรุณพล เป็นการเรียกคะแนนเสียงทั้งน้ำตา เผยถึงฟางเส้นสุดท้ายที่ตัดสินใจลงสนามการเมืองเพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ

ในจังหวะเข้าโค้งสุดท้าย พรรคก้าวไกลยังบุกฝ่าเข้าไปหาเสียงถึงในค่ายทหาร กรมยุทธโยธา และมณฑลทหารบกที่ 11

เพชร กรุณพล ระบุ การที่พรรคก้าวไกลต้องการเข้าไปปราศรัยและหาเสียงในค่ายทหาร เพราะต้องการให้ทหารได้เข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปกองทัพของพรรค ทั้งในเรื่องของงบประมาณ การปรับขนาดกองทัพให้เล็กลง ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และ

การกอบกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีของทหารกลับคืนมา

 

พรรคพลังประชารัฐ ส่งนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ หรือมาดามหลี ภรรยานายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.แชมป์เก่าเจ้าถิ่นที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง

เป็นอีกเกมวัดใจและวัดกึ๋นของพรรคพลังประชารัฐที่มีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน

ผลแพ้ชนะหนนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในความนิยมของพรรคพลังประชารัฐ และตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนหนึ่งเพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ชัยชนะของนายสิระ ในเขตเลือกตั้งนี้ ถูกมองว่าได้มาจากการเกาะกระแส “ลุงตู่” ในตอนนั้นเข้ามา

มาครั้งนี้ นางสรัลรัศมิ์ และนายสิระ ยังคงเชื่อมั่นกับกลยุทธ์เดิม คือการเข้าไปเป็น ส.ส.เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป

ซึ่งจะว่าไปกลยุทธ์นี้ต้องถือเป็น “ดาบสองคม” มีผลร้ายมากกว่าผลดี หากได้รับชัยชนะก็ถือว่าเสมอตัว แต่ถ้าต้องปราชัยให้กับเพื่อไทย หรือก้าวไกล ก็จะเป็นข้อสรุปบ่งชี้ถึงความนิยม และความขลังของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี

การหาเสียงโค้งสุดท้าย นางสรัลรัศมิ์ ประกาศไม่ขอจัดเวทีปราศรัยใหญ่เหมือนกับแนวทางของพรรคการเมืองคู่แข่ง

การตัดสินใจส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้บทเรียนตัวอย่างมาจากสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา ที่การปราศรัยใหญ่บนเวทีช่วงโค้งสุดท้าย กลายเป็นจุดพลิกผัน ทำให้พรรคพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

จนเกิดคำถามในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระแสพรรคพลังประชารัฐกำลังอยู่ในช่วงขาลงŽ หรือไม่ เพราะก่อนหน้าในทุกสนามเลือกตั้งซ่อม พรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายเก็บชัยชนะมาได้ทุกครั้ง

ครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐจึงเลือกที่จะไม่จัดเวทีปราศรัยใหญ่ แต่เลือกใช้วิธีเดินเจาะพื้นที่แทน

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ลงพื้นที่ช่วยนางสรัลรัศมิ์ หาเสียงย่านหลักสี่เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา

ก่อนเจอกับเซอร์ไพรส์เล็กๆ เมื่อ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว นักศึกษาแกนนำกลุ่มราษฎร และเพื่อนเยาวชนกลุ่มรีเด็ม มาดักรอพบ พล.อ.ประวิตร ขณะเดินขอคะแนนเสียงจากชาวบ้าน

น.ส.จุฑาทิพย์และกลุ่มเยาวชน ได้ขอร่วมถ่ายภาพเซลฟี่ชู 3 นิ้วกับ พล.อ.ประวิตร ทำให้ พล.อ.ประวิตรพูดว่า “ชูแค่สองนิ้วก็พอ”

ก่อนแยกย้ายกันไป น.ส.จุฑาทิพย์กล่าวขึ้นว่า “ขอให้” แต่นางสรัลรัศมิ์ชิงพูดสวนขึ้นมาก่อนว่า “ขอให้คุณลุงสุขภาพแข็งแรง” แต่ น.ส.จุฑาทิพย์ก็ได้พูดต่อจนจบว่า “ขอให้พวกหนูอายุยืนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป”

เป็นการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่มีสีสันน่าตื่นเต้นเล็กน้อย

 

การเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ทุกพรรคการเมืองต่างประกาศทุ่มสุดตัวชนิดไม่มีใครยอมใคร

แม้จะเป็นเพียง 1 เก้าอี้ ส.ส.แต่มีความหมายกับพรรคฝ่ายค้านไม่ว่าเพื่อไทย หรือก้าวไกล ที่ต้องการเก็บเล็กผสมน้อย แต่มีเป้าหมายใหญ่ในการเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล ให้คลอนแคลนหนักขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

พรรคกล้า พรรคไทยภักดี ก็หวังอาศัยสนามเลือกตั้งนี้แจ้งเกิด

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล ที่กลับมาตกอยู่ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง จากกรณี ร.อ.ธรรมนัส และ 20 ส.ส. ทำให้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความหมายสำคัญอย่างมาก

สำคัญอย่างไรนั้น นักวิเคราะห์การเมืองประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ ต่อให้รัฐบาลเอาตัวรอดจากสมัยประชุมนี้ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ไปได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายสำคัญต้องใช้เสียง ส.ส.ข้างมากในสภาโหวตผ่าน

แต่ที่ต้องจับตาก็คือเมื่อสภาเปิดสมัยประชุมหน้าในเดือนพฤษภาคม นอกจากพรรคฝ่ายค้านที่ยืนยันจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ยังมีเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

หากเสียงของฝั่งรัฐบาลในตอนนั้น ประเมินแล้วว่าสุ่มเสี่ยงต่อการแพ้โหวต

ก็เชื่อได้ว่าผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร รวมไปถึงผลเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร กับเขต 6 สงขลา จะถูก พล.อ.ประยุทธ์ หยิบขึ้นมาหารือกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจทางการเมือง ว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด

หากยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โอกาสที่จะได้รับเลือกให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง มีมากน้อยแค่ไหน

ตรงนี้เองคือ “อาฟเตอร์ช็อก” สนามเลือกตั้งซ่อม กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ที่ส่งแรงสะเทือนไปถึงโฉมหน้าการเมืองในอนาคต