จับตาศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ชูกลยุทธ์ งัดจุดขาย ประชันไอเดีย จากนี้ไป สนุก-ดุเดือด/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับตาศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ชูกลยุทธ์ งัดจุดขาย ประชันไอเดีย

จากนี้ไป สนุก-ดุเดือด

 

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับมาดุเดือดอีกครั้ง เมื่อก้าวไกลเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครชิงเก้าอี้พ่อเมืองกรุงเทพฯ ส่งเบอร์ใหญ่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อฝีปากกล้าอันดับต้นของพรรค มาเป็นแคนดิเดตให้ประชาชนเลือก

เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดตัวเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2562 ในนามอิสระ

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดตัวเมื่อ 18 ธันวาคม 2564 ในนามพรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุด วิโรจน์ แห่งก้าวไกล เปิดตัว 23 มกราคม โดยยังมีอีกหลายคนที่ยังต้องจับตา อาทิ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ตั้งแต่ปี 2559

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ที่มีข่าวว่าจะลงชิงเก้าอี้แต่ยังไม่เปิดตัวเป็นทางการ

 

โฟกัสไปที่เรื่องของนโยบาย นับจนถึงปัจจุบัน ว่าที่ผู้สมัครเบอร์ใหญ่ต่างก็เริ่มเปิดตัว พูดถึงนโยบายกันมากขึ้น

เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โชว์วิสัยทัศน์ นโยบายเน้น 4 ด้าน ภายใต้สโลแกน “เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ประกอบด้วย

1. People เรื่องคน เน้นระบบเส้นเลือดฝอยและคุณภาพชีวิต

2. Digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอน

3. Green เรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยะ ควันพิษ ฝุ่น

4. Economy เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ ตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเมืองต้องมาช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจของคนให้มากขึ้น พยายามสร้างโอกาสคน ลดขั้นตอน หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นคืนมา

ชัชชาติพูดชัดในหลายเวที เน้นทำ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ตั้งเป้าให้เป็นเมืองมหานครระดับโลกหรือเป็นเมืองอัจฉริยะ

เน้นทำให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แล้วต่อไปจะกลายเป็นมหานครของโลกได้

การทำให้เมืองน่าอยู่ต้องไปเน้นที่เส้นเลือดฝอย คือสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน ไม่ว่าทางเดินเท้า ท่อระบายน้ำ ถนน อากาศพิษ

ควบคู่ไปกับเมกะโปรเจ็กต์ เรื่องค่าเดินทางของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเอาให้จบ ค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส ถ้าดูตามต้นทุนแล้ว ค่าโดยสารน่าจะไม่เกิน 35 บาท

นี่คือไอเดียหลักที่มาจากชัชชาติ สื่อสารกับสังคม

 

ตามมาด้วยสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาในสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” จับประเด็นได้จากเวทีโชว์วิสัยทัศน์วันเปิดตัว

เริ่มจากนโยบายด้านการศึกษา ตั้งใจให้ กทม.มีโรงเรียนสาธิตทุกเขต ให้เด็กเรียน 2 ภาษา รู้โค้ดดิ้ง รู้ AI รู้ควอนตัม

เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวัสดิการ ดูแลพลเมืองทุกคนอย่างมีคุณภาพ

นโยบายแก้น้ำท่วม ใช้แก้มลิงใต้ดินแบบกรุงโตเกียว วางแผนประตูกั้นน้ำทะเลหนุนแบบเนเธอแลนด์ หรือแบบเมืองเวนิส

ด้านนโยบายแก้รถติด ใช้ระบบสัญญาณจราจรอัตโนมัติ ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ AI เหมือนสิงคโปร์ โตเกียว ปักกิ่ง ไม่ต้องใช้บริการตำรวจจราจร เทคโนโลยีเตือนภัยพลเมือง

เรื่องฝนตก น้ำท่วม และรายงานฝุ่นพิษ PM 2.5 เพิ่มพื้นที่จราจร มีทางจักรยานลอยฟ้า ทำพื้นที่ใต้ดินทำมาค้าขายเหมือนสิงคโปร์ โตเกียว กรุงโซล

เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองต้นแบบของอาเซียน

 

ปิดท้ายคนล่าสุดด้วยว่าที่ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร วิสัยทัศน์วันเปิดตัว มาพร้อมสโลแกนหยุดซุกปัญหาไว้ใต้พรม “พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ”

ในเวทีเปิดตัว วิโรจน์จริงจังกับปัญหาส่วย ระบุว่า

“กรุงเทพฯ ต้องหยุดไถทันที และถ้าใครมีหลักฐานให้ส่งผม ผมจะลากคอพวกมันมาลงโทษให้ดู” ตามมาด้วยปัญหาวัคซีนโควิด-19 วิโรจน์ระบุว่า ต้องพร้อมชนกับ รมว.สาธารณสุข “จะเรียกว่าพร้อมชนไม่ถูก เพราะผมชนมาแล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ไม่ได้ชนส่วนตัว แต่เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน”

ขณะที่ปัญหาน้ำท่วม วิโรจน์ระบุว่า ต้องพร้อมคุยทุกหน่วยงานเพื่อทะลุข้อจำกัด พอกันทีกับกระสอบทรายรายปี ส่วนปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง วิโรจน์กล่าวว่า จะเปิดเผยสัญญาทันที ซึ่งสัญญาฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ถ้าไม่เปิด ก็ไม่มีทางรู้ว่าไปประเคนอะไรให้นายทุน ไม่อย่างนั้นก็ปัญหาแก้ไม่ได้ และพอเปิดสัญญาแล้ว ผู้ว่าฯ ต้องกล้าเป็นหัวหอกในการเปิดตั๋วร่วม

ด้านปัญหาที่พักอาศัยราคาแพง วิโรจน์กล่าวไว้ว่า “กลไกผังเมืองทั้งหมดจะถูกใช้ เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาที่คนกรุงเทพฯ จ่ายไหว ควบคู่กับการพัฒนาเมือง”

“กรุงเทพฯ ไม่มีความจำเป็นต้องติดอันดับโลกเพื่อคนอื่น แต่ต้องเป็นเมืองที่คนที่มีชีวิตอยู่ที่นี่ คนที่มีลมหายใจที่นี่ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ต้องเป็นเมืองที่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดีที่ คนกรุงเทพฯ ทุกคนฝากผีฝากไข้พึ่งพิง”

จากแนวทางด้านนโยบาย จะเห็นว่าชัชชาติมุ่งดูแลเส้นเลือดฝอย ดูเรื่องของชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยในเมือง ขณะที่สุชัชวีร์จะพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง Mega Project ทางวิศวกรรม ขณะที่วิโรจน์จะให้ความสำคัญกับมิติการเมือง การต่อสู้ต่อรองกับอำนาจส่วนกลาง กับทุนที่มีอิทธิพลและกระทบกับชีวิตคน กทม.

 

มาดูกันที่แนวทางการหาเสียงหลังจากการเปิดตัวที่ผ่านมาก็น่าสนใจ

กลยุทธ์ของชัชชาติคือการพยายามสลัดออกจากขั้วทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชัชชาติไม่มีจุดยืนทางการเมืองใดๆ

ชัชชาติพยายามชูจุดยืนทางการเมืองผ่านทางนโยบายมากกว่าที่จะบอกว่าตัวเองสังกัดพรรคอะไร

ทั้งยังเปิดตัวร่วมกับ พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ค่อนข้างได้รับความไว้วางใจในอดีตจากคนเมือง มาร่วมเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษา

รวมถึงคนรุ่นใหม่อย่างพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ด้วย

นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการเมืองของชัชชาติ เพื่อจะสื่อสารกับสังคมว่าเขาพร้อมทำงานกับทุกฝ่าย โดยยังยืนยันหนักแน่นว่าไม่ลืมบุญคุณเพื่อไทย

การหาเสียงของชัชชาติ ยังคงเป็นการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แผนที่การสำรวจเส้นทางจักรยานเพื่อดูปัญหาและอุปสรรคต่างๆ การสร้างเส้นทางเพื่อเพิ่มฟีดเดอร์ไปยังรถไฟฟ้า การลงสำรวจการคมนาคมการเดินทางของคนกรุงเทพฯ เช่น คลองแสนแสบ การลงพื้นที่ฟังปัญหาจากชุมชนต่างๆ การพบปะกับคนสำคัญ นักคิดนักเขียนของบ้านเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา กทม.

โดยล่าสุดชัชชาติพยายามสร้างแคมเปญใหม่ ทำกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนกรุง เช่น การวิ่งปีใหม่ไหว้พระเก้าวัด ดูปัญหา กทม. ชั้นใน รวมถึงการพยายามไปเข้าร่วมถกปัญหาในทุกพื้นที่

 

ขณะที่สุชัชวีร์ จากประชาธิปัตย์ หลังจากต้องเจอกับบทเรียนทางการตลาดการเมืองครั้งสำคัญจากกรณีทายาทไอน์สไตน์ ก็พยายามพลิกฟื้นเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ในการเดินหน้าลงพื้นที่

โดยทุกครั้งที่ลงพื้นที่ไปในจุดไหน สุชัชวีร์จะสามารถเชื่อมวิสัยทัศน์ของตนเข้ากับปัญหาในพื้นที่นั้นได้ เช่น การลงพื้นที่เขตบางรักเพื่อไปดูโรงเรียนในสังกัด กทม. ก็ชูจุดขายว่าจะทำโรงเรียน กทม.ให้มีคุณภาพสู้สิงคโปร์ให้ได้

การลงเรือสำรวจคลองฝั่งธนฯ ก็ชูนโยบายการทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แม้แต่เปลี่ยนประตูกั้นน้ำเป็นระบบอัตโนมัติ การลงพื้นที่ใต้สะพานพระราม 7 ก็ประกาศปรับเป็นสวนสาธารณะให้คนกับสัตว์เลี้ยง เดินร่วมกันได้

ล่าสุด ควงผู้สมัคร ส.ส.ไปสำรวจคลองหลังวัดลาดปลาเค้า หลังพบปัญหาน้ำเน่าไม่ไหลลงอุโมงค์ยักษ์ เพื่อตอกย้ำภาพปัญหาของ Mega Project ที่ผ่านมา

ในเชิงบุคลิกภาพก็ปรับตัว เช่น การออกมาเรียกร้องให้คนไทยเปลี่ยนทัศนคติ ให้มองเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนชาวบ้านคนหนึ่ง เพื่อสลายความขัดแย้งความแตกต่างระหว่างความเป็นรัฐกับประชาชน

 

ส่วนวิโรจน์มาในแนวดุดัน ชูเรื่องการพร้อมชนกับปัญหา พูดนโยบายเชิงมิติการเมืองคู่กับการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค ประเดิมบทบาทแคนดิเดต ผู้ว่าฯ กทม. วันแรก รุดไปตรวจสอบทางม้าลาย จุดเกิดเหตุตำรวจขับมอเตอร์ไซค์ชนหมอ โดยเสนอต้องใช้หลักวิศวกรรมแก้ปัญหา พร้อมเสนอตัดแต้มคนผิดแทนปรับ อุดช่องคนรวยจ่ายแล้วจบ ย้ำว่าบทบาทพ่อเมืองต่อเหตุการณ์เช่นนี้คือต้องอยู่ข้างประชาชน รวบรวมหลักฐานฟ้องร้องแทนประชาชนด้วยซ้ำ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

วิโรจน์ยังลงพื้นที่ต่อเนื่อง ควงว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.สำรวจย่านอโศก-พระราม 9 เปิดตัวแอพพ์แจ้งทางม้าลายไม่ปลอดภัย วิโรจน์กล่าวตอบสื่อมวลชนว่าเตรียมลาออกจาก ส.ส. แต่ขอทำหน้าที่สุดท้ายคือการเป็นปากเสียงให้เด็กเรื่องปัญหาการสอบ ทปอ. จากนั้นจะมาลงสนาม กทม.เต็มตัว

งบประมาณ กทม.ต่อปีได้รับประมาณ 8 หมื่นล้าน ถือว่ามีจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่สำคัญผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันก็ครองตำแหน่งมากว่า 5 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะยอมจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แม้ปี่กลองเลือกตั้งจะดังสนั่นแล้วก็ตาม ยิ่งผู้สมัครเปิดตัวกันเยอะ แข่งขันด้านนโยบายจริงจังขึ้น

จึงต้องจับตาว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะยอมให้มีเลือกตั้งเสียที การเมือง กทม.จากนี้ไปสนุกแน่นอน