ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ภารกิจโบแดง ‘บิ๊กตู่’ ลุ้นส่งออกแรงงาน-ท่องเที่ยว/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

ภารกิจโบแดง ‘บิ๊กตู่’

ลุ้นส่งออกแรงงาน-ท่องเที่ยว

 

นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียให้กลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ห่างเหินกันมากว่า 32 ปี อันเนื่องมาจากการเกิดคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด

ตามมาด้วยคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย (3 คดีรวม 4 ศพ) กับคดีการหายสาบสูญของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย (อัล-รูไวลี) ในช่วงระหว่างปี 2532-2533 ซึ่งกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมาก เมื่อรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่สามารถคลี่คลายคดีและให้คำตอบจนเป็นที่น่าพอใจให้กับฝ่ายซาอุดีอาระเบียได้

ส่งผลให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียดำเนินมาตรการตอบโต้ไทย ตั้งแต่การห้ามคนซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทย การไม่ออกวีซ่าให้กับคนไทยที่จะเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ไปจนกระทั่งการลดระดับตัวแทนทางการทูตลงเหลือแค่ “อุปทูต”

ส่งผลให้แรงงานไทยที่เข้าไปทำงาน หรือที่เรียกกันว่า “ไปขุดทองซาอุฯ” จากระดับที่เคยเข้าไปค้าแรงงานประมาณ 300,000 คน มีการส่ง “เงิน” กลับมาบ้านมากกว่า 9,000 ล้านบาท ต้องลดจำนวนลงมาเรื่อยๆ

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่มีการออกวีซ่าให้กับแรงงานไทยใหม่ ส่งผลให้ไทยสูญเสียตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางไป

 

ความสำเร็จในการ “ฟื้น” ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จทางการทูตของประเทศไทย จากการที่กระทรวงการต่างประเทศได้พยายามรักษาและประคับประคองมิให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรุดลงไปจากเดิมด้วยการใช้นโยบายคู่ขนาน หรือ Dual Track Policy ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลายท่านสืบเนื่องกันมาในอดีต

ด้านหนึ่ง คือความพยายามสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรื้อฟื้นคดีอัล-รูไวลีในช่วงปี 2552 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในขณะที่อีกด้านหนึ่งที่ดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านการค้า และความสัมพันธ์ผ่านทางกรอบพหุภาคี ไม่วาจะเป็นกรอบของ ASEAN หรือ GCC (Gulf Cooperation Council)

จนเริ่มมาเห็นช่องทางที่จะฟื้นความสัมพันธ์ในระดับปกติได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ในเดือนตุลาคมปี 2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบกับเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น

และที่สำคัญก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำ G 20 ที่ญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2562

จน “ปูทาง” ไปสู่การเดินทางไปซาอุดีอาระเบียของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนมกราคม 2563

ตามมาด้วยการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตาม “คำเชิญ” ของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565

 

พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวภายหลังการเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้อยู่ในระดับปกติ โดยระยะแรกจะมีการแต่งตั้ง “เอกอัครราชทูต” และการจัดตั้งกลไกการหารือทวีภาคีเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า-การลงทุน-พลังงาน-การท่องเที่ยว

เฉพาะการฟื้นแรงงานไทยให้กลับเข้ามาทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นความหวังของไทยนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก่อนที่ซาอุดีอาระเบียจะลดระดับความสัมพันธ์ลง เราเคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน และสร้าง “รายได้” ส่งกลับประเทศมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมกุฎราชกุมารกล่าวกับตนว่า “จะมีการก่อสร้างมากมาย จะสร้างห้องพักเป็นล้านห้อง ซึ่งต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และยินดีที่จะรับแรงงานไทยกลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบีย”

สอดคล้องกับการหารือระหว่างนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไทย กับ Ahmad Sulaiman ALRajhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคมซาอุดีอาระเบีย โดยฝ่ายซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า มกุฎราชกุมารได้มีบัญชาให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ดำเนินการจัดหา “แรงงานดีมีฝีมือ” ด้วยการตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียประสงค์จะผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานในภาคของการบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ นับเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่จะกลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 32 ปีที่ซาอุดีอาระเบีย “งด” ออกวีซ่าให้กับแรงงานไทย มีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการจากรายงานของสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจดดาห์ ระบุว่า ในปลายปี 2564 ซาอุดีอาระเบียมีแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานอยู่ประมาณ 6 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้มีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานทั้งที่ถูกกฎหมายและที่ผิดกฎหมายอยู่ประมาณ 20,000 คน โดย 15,000 คนอยู่ในเขตภาคตะวันตก 11 เมือง ส่วนอีก 5,000 คนอยู่ในเขตภาคตะวันออกและภาคกลาง

เฉพาะในเขตภาคตะวันตกประมาณ 15,000 คนนั้น เดินทางเข้าไปทำงานตามสัญญาจ้าง (ถูกต้องตามกฎหมาย) ประมาณ 4,000 คน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 11,000 คนเป็นคนงานที่เดินทางเข้าไปโดยใช้ “วีซ่าอุมเราะห์” หรือวีซ่าสำหรับผู้แสวงบุญและหลบหนีเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมาย

โดยแรงงานไทยเหล่านี้สามารถส่งเงินกลับประเทศไทยได้ปีละ 1,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม การทำเครื่องประดับ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และทำงานในร้านอาหาร

โดยแรงงานไทยจำนวน 20,000 คนหรือเกือบครึ่งหนึ่งที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายนั้น ไม่ได้มี “ส่วนแบ่ง” ในตลาดแรงงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของซาอุดีอาระเบียเลย อันเนื่องมาจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่ออกวีซ่าให้กับแรงงานไทย

แต่การฟื้นสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจากความสำเร็จในการเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้จะทำให้สถานการณ์ทางด้านแรงงานเปลี่ยนไป ด้วยการตั้งความหวังไว้ว่า หลังจาก 2 ฝ่ายดำเนินการแต่งตั้งและแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกันแล้ว การสานต่อความร่วมมือทวิภาคีทางด้านแรงงานจะถูกดำเนินการให้เร็วที่สุด

 

นอกจากความหวังในการ “ส่งออก” แรงงานไทยเข้าไปในซาอุดีอาระเบียแล้ว การ “นำเข้า” นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียให้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญอีกด้านหนึ่ง โดยนายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการท่องเที่ยว “ยกเว้น” เดินทางเพื่อธุรกิจและรักษาพยาบาล

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 30,002 คน สร้างรายได้ 2,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการเดินทางเพื่อรักษาพยาบาลถึง 30%

“ความสำเร็จในการฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียของนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะครั้งนี้จะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวดีขึ้นและน่าจะเห็นผลตอบรับที่เร็ว เนื่องจากฤดูกาลเดินทางของคนซาอุฯ จะเริ่มช่วงเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีช่วงเดือนพฤษภาคม และกรกฎาคม-สิงหาคม” นายฉัททันต์กล่าวด้านการท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องสำคัญ

ปรากฏการณ์ความสำเร็จในการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นความหวังและโอกาสของประเทศที่จะกลับมาส่งออกแรงงานและดึงนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียกลับเข้ามา ทั้งยังอาจเปิดโอกาสด้านการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศอีกครั้งหนึ่ง