กฎยุติธรรมอัมพาต กฎแห่งกรรมไม่ทำงาน/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

กฎยุติธรรมอัมพาต

กฎแห่งกรรมไม่ทำงาน

 

“วัวหายแล้วล้อมคอก” ไม่รู้จักเจ็บไม่รู้จักจำ ไม่รู้จักที่จะคิดหรือทำในสิ่งที่ควรเสียก่อน จนเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจึงป้องกัน กับ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ที่เป็นการทำเพื่อให้รอดตัวไปคราวๆ หนึ่งนั้นเลวร้ายพอกัน

เห็น กทม.ตื่นตัวลุกขึ้นมาตีเต้น “ชะลอความเร็ว” บนพื้นผิวจราจรตรงจุดที่รถชน “หมอกระต่าย” เสียชีวิตแล้วรู้สึกสังเวชใจเต็มที

ยิ่งอ้างอีกว่าเคยมีความพยายามขอติดสัญญาณไฟ “ที่ตรงนี้” ไปแล้วยิ่งไปกันใหญ่

“การปรับปรุงแก้ไข” เป็นสิ่งที่ดีงามเสมอ แต่คุณหลับใหลกันมาตั้งนาน เพิ่งจะออกมาบอกว่า “ไม่ได้นิ่งนอนใจ” ในวันนี้เพื่ออะไร

รถชนคนตายคาทางเท้าไปเท่าไหร่แล้ว!

หลายครอบครัวยังคงไขว่คว้าหาความยุติธรรม ดังเช่น ตัวอย่างหนึ่งที่โพสต์ในเฟซบุ๊กเล่าว่า คุณพ่อเป็นหมอผิวหนัง อยู่ที่ศิริราช ถูกบิ๊กไบก์พุ่งชนด้วยความเร็วสูง ใบหน้าพ่อหมอกระแทกพื้นคอนกรีต สมองได้รับการกระเทือนอย่างรุนแรง เสียเลือดมาก แม้ทุกคนจะพยายามภาวนาอย่าได้พรากพ่อหมอผู้ใจบุญใจดีรักษาฟรีให้กับคนยากคนจนไปเลย ก็หาสำเร็จไม่

คนขับบิ๊กไบก์ขึ้นศาลทหาร ชั้นต้นตัดสินจำคุก 2 ปี แต่ไม่เคยมีคดีมาก่อนจึง “รอลงอาญา”

ศาลทหารชั้นกลาง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่สำนึกผิดแล้วให้ “รอลงอาญา”

คดีล่วงผ่านมา 4 ปี ระหว่างนี้รอ “ศาลทหารสูงสุด” กับรอให้ “กฎแห่งกรรม” ทำงานตามเวลา!

ในที่สุด คนไทยผู้สิ้นหวังทั้งหลายทำได้ก็แค่ภาวนาไปตามความเชื่อว่า ถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์และกลไกในระบบยุติธรรมอัมพาต ก็ขอให้ “กฎแห่งกรรม” จงเร่งลงมือ!

แต่ความจริงคือ มีคนเดินข้ามถนนมากมายถูกรถชนตาย

และยังมีคนตายมากมายที่ไม่ได้รับความยุติธรรม

 

แน่นอนว่า ตัวอักษรที่บัญญัติในกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้สัญจรทั้งบนทางเท้า บนทางข้าม และบนท้องถนน คล้ายกับว่า “ทุกคนเสมอกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

แต่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำรุนแรงนี้ กฎหมายก็เรื่องหนึ่ง การปฏิบัติบังคับใช้ก็เรื่องหนึ่ง การวินิจฉัยชี้ขาดก็เรื่องหนึ่ง หลายกรณีไม่เป็น “กระบวนการ” มิพักต้องกล่าวถึงความมีวินัย ความมียางอาย ทุกคนต่างมุ่ง “เอาตัวให้รอด” ได้ประโยชน์สูงสุดจากจุดที่อยู่กับสิ่งที่เป็น

การสูญเสีย “หมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 เป็นเพียง “กรณีล่าสุด”

คล้อยหลังจากนี้ไปไม่นาน การประพฤติปฏิบัติตลอดจนอุปนิสัยการใช้รถใช้ถนนก็จะดำเนินไปเช่นเดิม

สำหรับผู้สิ้นหวังจึงได้แต่ภาวนาขอให้ “กฎแห่งกรรม” ทำงาน (เสียที)

 

เช่นเดียวกับการเมืองการปกครองของไทยที่ 8 ปีมานี้มีแต่ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะรอด

บริหารประเทศตกต่ำเสื่อมทราม ทั้งหมดเกิดจาก “กรรม” ทำให้วิกฤติทุกด้านนัดพบกันอย่างพร้อมเพรียง

เรียงลำดับตั้งแต่การเขียนกติกาฉ้อฉลเพื่อสืบทอดอำนาจที่เคยช่วงชิงมาได้ด้วยอาวุธ แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายและการปฏิบัติหน้าที่ทุกองค์กรจนสูญเสียความเป็นกลาง ไม่มีอิสระ ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล บริหารเศรษฐกิจผิดทิศผิดทาง ความเหลื่อมล้ำรุนแรง

การจัดการวัคซีนผิดพลาด มีคนตายจากโควิด-19 ระบาดปีแรก 60-70 คน กระทั่งตายกระฉูดกว่า 2 หมื่นคน โรงงานปิด ธุรกิจล้ม คนตกงาน คนจนเพิ่มทวีคูณ

ขณะที่น้ำมันแพง ค่าขนส่งเพิ่ม หมูเห็ดเป็ดไก่ ไข่ ผักผลไม้ น้ำมันพืชขึ้นราคา ค่าแรงต่ำ อาชญากรรมชุก ยาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมือง

รวมไปถึงแผนงานต่างๆ ที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เช่น การบริหารจัดการน้ำที่พูดกันมากว่า 10 ปี ไม่มีอะไรใหม่ หน้าฝนปล่อยให้ท่วม แล้วค่อยเอาสิ่งของบริจาคไปแจก หน้าหนาวให้ผ้าห่ม หน้าแห้งให้กินฝุ่นควันพิษ หน้าร้อนขาดน้ำเจอภัยแล้ง ค่อยขอร้องให้หยุดทำนา อย่าทำไร่ ไม่ต้องมีกิน ไม่ต้องมีใช้

กลยุทธ์ชั้นครูคือบริหารแบบไม่บริหาร แจกปิดปากเพราะไม่อยากได้ยิน “เสียง” คนทุกข์คนร้อง ไม่มีแผนจะเพิ่มรายได้จากไหน ไม่รู้ว่าจะสร้างงานกันอย่างไร ไม่มีใครขัดขวางทักท้วงว่าอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้าลูกหลานจะใช้หนี้กันไหวหรือ กู้ไปเรื่อยๆ

มีข้าราชการเป็นมือเป็นเท้า มีองค์กรทั้งกลางทั้งเอียงเป็นเครื่องเคียง ถึงแม้บางช่วงจะมี “สถานการณ์คับขัน” ก็น่าฝ่าข้ามได้ด้วย “กระสุน” จากนายทุนใหญ่เพื่อนซี้ยังมีอยู่เต็มคลัง

เสียงเตือนจากนานแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ที่โพสต์ผ่านคลิปติ๊กต็อก แม้จะเป็นนักการเมืองฝั่งตรงข้าม นาทีนี้ก็น่ารับฟัง

“พบจิตแพทย์ด่วนครับ”!

 

การเสพติดอำนาจทำให้คนเราเจ็บป่วยได้

เสียงเตือนให้ลงจากเก้าอี้-เป็นการให้สติ เพราะสังคมไทยล้มแล้ว-หยุดแล้ว-ตายแล้ว-ไม่ทับถมซ้ำเติม

ในยุค “เผ่า ศรียานนท์” เรืองอำนาจ ก่อกรรมทำเข็ญอะไรเอาไว้ นักคิดนักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม วีรบุรุษผู้กู้ชาติจากขบวนการเสรีไทยถูกไล่ล่าสังหารตายไปกี่คน “กลไก” ทั้งระบบให้ความยุติธรรมไม่เคยได้

“สฤษดิ์” รัฐประหารสำเร็จก็แค่หรี่ตาให้ “เผ่า” ขึ้นเครื่องบินไปใช้เงินในบั้นปลายชีวิตที่สวิตเซอร์แลนด์

ล้มแล้ว-หยุดแล้ว-ตายแล้วสังคมไทยไม่ทับถม แต่เจ็บกว่านั้นคือ ไม่จำแนกแยกแยะดีชั่ว ไม่ถือเอามาศึกษาเป็นบทเรียน ด้วยจารีตแบบที่งมงายว่า “ไม่ซ้ำเติม”

หัวหน้า คสช.ที่ก่อรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นชื่อ “ประยุทธ์” จากนั้นประยุทธ์หัวหน้า คสช.ก็เป็น “นายกรัฐมนตรี” มีและใช้อำนาจสั่งให้ทำโน่นนี่

แต่ตีความว่า “ประยุทธ์” คนนั้น “ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ”

“ประยุทธ์” ก็ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีสืบมา จนเมื่อเขียนรัฐธรรมนูญเสร็จและประกาศให้มี ส.ว. 250 คน ที่สามารถยกมือ “เลือกนายกรัฐมนตรี” ได้ จึงจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

และเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจ “ป.” ผู้พี่ก็ไปรวบรวมสมัครพรรคพวกมาจัดตั้งเป็น “พรรคหนุนหลัง” รวมกับ 250 เสียงจาก ส.ว.ที่ “ประยุทธ์” แต่งตั้ง

ส่ง “ประยุทธ์” ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้ง

พฤษภาคมที่จะถึงนี้ “ประยุทธ์” นั่งบนเก้าอี้ “หัวหน้าฝ่ายบริหาร” ครบ 8 ปี

รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดก็เหมือนกับ “กฎจราจร” นั่นแหละ แค่ “ตัวอักษร” ที่นอนสงบนิ่ง!?!!