‘Tattoo Colour x TPO’ ‘คลิปคอนเสิร์ต’ ไม่ควรพลาดต้นปี 2565 / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘Tattoo Colour x TPO’

‘คลิปคอนเสิร์ต’ ไม่ควรพลาดต้นปี 2565

 

“Tattoo Colour” (แทตทูคัลเลอร์) คือวงดนตรีของกลุ่มนักร้อง-นักดนตรี-นักแต่งเพลงจากจังหวัดขอนแก่น ในสังกัดค่าย “สมอลล์รูม” ซึ่งเริ่มออกผลงานมาตั้งแต่ปี 2549

จนถึงปัจจุบันพวกเขามีผลงานสตูดิโออัลบั้มรวมแล้ว 5 ชุด และกำลังจะมีผลงานใหม่ลำดับที่ 6 ใน พ.ศ.2565

“แทตทูคัลเลอร์” เป็นวงดนตรีแนวป๊อปที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงไพเราะติดหูมากมาย เพลงป๊อปในแบบพวกเขามีทั้งที่ขับเน้นอารมณ์หวานซึ้งและกระตุ้นเร้าอารมณ์สนุกสนาน ทว่า ก็ไม่ทอดทิ้งชั้นเชิงทางดนตรีที่ลุ่มลึกละเอียดลออ

นอกจากการมีฝีไม้ลายมือในระดับที่ดูแคลนไม่ได้ สมาชิกของ “แทตทูคัลเลอร์” ยังเป็น “เอ็นเตอร์เทนเนอร์” ชั้นยอดที่เปี่ยมลูกล่อลูกชน ลูกเฮฮา และลูกทะเล้นทะลึ่งตึงตัง (ดูได้เบื้องต้นจากชื่อภาษาอังกฤษของวง ที่ตั้งใจจะเล่นกับคำว่า “ศักดิ์ศรี” ในภาษาไทย)

จึงไม่แปลกที่นักร้องนำอย่าง “หรินทร์ สุธรรมจรัส” (ดิม) จะเคยปรากฏตัวในภาพยนตร์-ซีรีส์แนว “ฟีลกู้ด” บางเรื่อง ขณะที่ “เอกชัย โชติรุ่งโรจน์” (ตง) มือกลองของวง ก็มีงานแสดงบ้างตามสมควร

 

4-5 ปีหลัง “แทตทูคัลเลอร์” มีผลงานและจุดยืนทางสังคมการเมืองที่เติบโตขึ้นตามอายุ

ในอัลบั้มชุด “สัตว์จริง” เมื่อปี 2560 พวกเขาได้แต่งบทเพลงที่มีเนื้อหาแนวเสียดสีการเมือง เช่น “เผด็จเกิร์ล” เพื่อใช้สื่อสารกับเยาวชน “ก่อนยุคชูสามนิ้ว”

ท่ามกลางสถานการณ์ม็อบคนรุ่นใหม่และการแพร่ระบาดของโควิด สมาชิกในวงยังออกมาแสดงทัศนะให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน รวมถึงเรียกร้องมาตรการดูแล-เยียวยานักดนตรีและคนกลางคืนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

ในแง่วุฒิภาวะทางดนตรี ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 “แทตทูคัลเลอร์” ได้เปิดการแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับวง “ไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา” ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

ซึ่งทางช่องยูทูบค่ายสมอลล์รูมเพิ่งจะได้ฤกษ์เผยแพร่คลิปการแสดงสดดังกล่าวออกสู่สาธารณะในช่วงกลางเดือนมกราคม 2565

 

เริ่มต้นด้วยการสวมสูทขึ้นเวที (ก่อนจะค่อยๆ ปลดเปลื้องเครื่องแต่งกายภายนอกเหล่านั้นออกไป) “แทตทูคัลเลอร์” และทีมงานแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพยายามจะปรุงแต่งให้ภาพรวมของคอนเสิร์ตครั้งนี้มีความสมบูรณ์แบบหรือ “เนี้ยบ” ที่สุด

เมื่อพิจารณาไปที่บุคลิกภาพบนเวที พวกเขาจึงดูจริงจังกันมากขึ้นและเฮฮาปาร์ตี้กันน้อยลง (แม้จะยังเล่นสนุกกับคนดูเป็นระยะๆ) ส่วนในแง่ทักษะการเล่นดนตรี พวกเขาก็โชว์ฝีมือและประสบการณ์การเป็นวงดนตรีมืออาชีพที่ยืนระยะได้ยาวนานเกินทศวรรษออกมาอย่างเต็มภาคภูมิ

มีบ่อยครั้งที่การนำเอาวงดนตรีแนวป๊อปหรือร็อกมาแสดงประกบคู่กับวงออร์เคสตรามักนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยดีนัก วัดจากคุณภาพเสียงอันรกรุงรัง และการจัดแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างวงดนตรีไฟฟ้าตรงเบื้องหน้ากับวงซิมโฟนีตรงเบื้องหลัง ซึ่งไม่ผสมผสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

สถานการณ์เช่นนั้นดูจะไม่เกิดขึ้นกับคอนเสิร์ต “Tattoo Colour x Thailand Philharmonic Orchestra” ที่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างวงดนตรีสองประเภทได้อย่างค่อนข้างลงตัว

 

ขณะเดียวกัน ความอลังการแบบออร์เคสตราก็มิได้กลบทับอัตลักษณ์ตัวตนของคนดนตรีสายป๊อป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัฐ พิฆาตไพรี” มือกีตาร์ (และร้องนำบางเพลง)-นักแต่งเพลงของ “แทตทูคัลเลอร์” ซึ่งฉายศักยภาพการเล่นกีตาร์และการร้องเพลงออกมาอย่างเจิดจ้ากลางหอประชุมมหิดลฯ

ถ้า “ชาตรี คงสุวรรณ” เป็นคนดนตรียุค 80 ต่อ 90 ที่พัฒนาตนเองจากการเป็นสมาชิกหลักของวงดนตรีป๊อป “ดิ อินโนเซ้นท์” ไปสู่การเป็นยอดมือกีตาร์ นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์คนสำคัญของอุตสาหกรรมดนตรีสากลไทยเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน

“รัฐ แทตทูคัลเลอร์” ก็ดูจะเป็นคนดนตรีในยุคหลังสหัสวรรษใหม่ที่ก้าวเท้าไปบนรอยทางอันคล้ายคลึงกับ “ชาตรี” หากคำนึงว่านอกจากจะเป็นกระดูกสันหลังของ “แทตทูคัลเลอร์” แล้ว เขายังทำงานเบื้องหลังให้แก่ศิลปินร่วมสมัยอีกหลายราย อาทิ ป๊อป ปองกูล, อ๊อฟ ปองศักดิ์, ดัง พันกร, ลุลา, ว่าน ธนกฤต, เจมส์ จิฯ, โซลอาฟเตอร์ซิกส์ เรื่อยไปจนถึงบีเอ็นเค 48

คลิปที่โดดเด่นสุดจากคอนเสิร์ตหนนี้จึงได้แก่ “รักแรกพบ” ซึ่ง “รัฐ” รับหน้าที่ร้องนำด้วย

ส่วนคลิปการแสดงสดเพลงอื่นๆ เช่น “จำทำไม” “ฝากที” “ขาหมู” “โอกาสสุดท้าย” “เผลอไป” “Cinderella” “ฟ้า” “โกหก” และ “รถไฟ” ก็เป็นผลผลิตของทีมเวิร์กชั้นยอด ที่มีความไพเราะลงตัวไม่แพ้กัน

 

แม้คอนเสิร์ต “Tattoo Colour x Thailand Philharmonic Orchestra” จะจัดกันในหอประชุม และไม่ได้เปิดเงื่อนไขให้คนกำกับเวทีและทีมงานบันทึกภาพเคลื่อนไหวสามารถโชว์ลูกเล่นอะไรมากมายนัก

แต่บรรยากาศรับ-ส่งความสุขสนุกสนานระหว่างนักดนตรีกับนักดนตรี หรือคนบนเวทีกับผู้ชมด้านหน้าเวที ก็ถูกเก็บบันทึกเอาไว้ได้ค่อนข้างครบถ้วน

กระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คนชมคอนเสิร์ตเมื่อสี่ปีก่อนบางส่วน (ที่ถูกตากล้องบันทึกภาพไว้โดยบังเอิญ) ได้เจริญเติบโตกลายมาเป็นศิลปินดาวรุ่งรุ่นใหม่ ณ ปี 2565 กันแล้วหลายราย

นอกจากรับชมคลิปคอนเสิร์ตดังกล่าวได้ในยูทูบ ผู้สนใจยังสามารถรับฟังบันทึกการแสดงสดครั้งนี้ในรูปแบบเสียงได้ตามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ