สัประยุทธ์/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สัประยุทธ์

 

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญอยู่ตอนนี้

จะเห็นว่า มีทั้งการ “สัประยุทธ์”

และการถูก “รุม สับ-ประ-ยุทธ์”

การสัประยุทธ์ หรือการรบพุ่งชิงชัยกันนั้น อย่างที่ทราบกัน ดูเหมือนจะหนักที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นหัวหน้าพรรค

แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะบอกว่า “มันจบไปแล้ว และส่งเรื่องการขับ 21 ส.ส.ไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันอีกครั้งว่า พี่น้อง 3 ป.ไม่แตก และไม่ขัดแย้งกัน

“ขออย่ายุยงให้แตกแยก บิดเบือน ในสื่อหลายช่องทาง” นายธนกรอ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อเช่นนั้น

แถมยังเห็นว่า เรื่องยังไม่จบ

นี่เพิ่งเป็นการเริ่มต้นของการสัประยุทธ์เท่านั้น!

 

อย่างน้อยที่สุด กรณีข้างต้น ถูกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง กกต.แล้ว

เพื่อให้ไต่สวนและวินิจฉัย กรณีนี้ดำเนินการโดยชอบด้วยข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ 2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่

เนื่องจากนายศรีสุวรรณเห็นว่า เมื่อค่ำวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ของพรรค โดยมีมติให้ ส.ส. 21 คน ที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค

ฐานเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ถือได้เป็นเหตุที่ร้ายแรงที่กระทบกับเสถียรภาพและเอกภาพของพรรค

ตามข้อบังคับข้อที่ 54(5) ประกอบวรรคท้าย ให้สมาชิกภาพสมาชิกสิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นเหตุร้ายแรง เป็นเรื่องความมั่นคง เอกภาพ เสถียรภาพของพรรค

แต่นายศรีสุวรรณเห็นว่าการมีมตินี้มีข้อสงสัยหลายประการ

อาทิ การที่สมาชิก หรือ ส.ส.เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ จะถือได้ว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรง จนต้องให้ออกจากสมาชิกพรรคนั้นชอบหรือไม่

การที่มี 17 กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. 61 คน รวมทั้งสิ้น 78 คนประชุมกันแล้วมีมติให้สมาชิกพรรคออกจากสมาชิกภาพ โดยมิได้มี ส.ส.ทั้งหมดของพรรคเข้าร่วมประชุมจนครบ จะถือว่าชอบหรือไม่

ข้ออ้างในการมีมติเห็นชอบให้ ส.ส. 21 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของพรรค โดยอ้างข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54(5) ว่าเป็นเหตุร้ายแรงอื่นนั้น โดยที่พรรคพลังประชารัฐไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน สอบสวนสมาชิกทั้ง 21 คน เพื่อหาข้อสรุปก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมร่วมของพรรคพิจารณาเสียก่อนนั้น ชอบหรือไม่

และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ถูกให้ออกนั้น ต้องพ้นสภาพ ส.ส.ไปเลยหรือไม่ เนื่องจากมิได้เกิดเหมือนกรณีการขอยุบพรรคหรือการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพราะถ้าย้ายพรรคไปแล้วก็จะไปแซงบัญชีของพรรคอื่น หรือไปอยู่พรรคใหม่ที่ไม่เคยส่งเลือกตั้ง ก็จะไปเป็นบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ โดยไม่เคยถูกเลือกมาเลยไม่ว่าจะแบบไหน ซึ่งน่าจะหมดสภาพ ส.ส.ไปเลย และบัญชีรายชื่อของ พปชร.ลำดับถัดไป น่าจะได้ขึ้นมาแทนที่ หรือไม่ อย่างไร

ดังนั้น กกต.ต้องดำเนินการตรวจสอบ หากพบเป็นการฝ่าฝืน ย่อมอาจเข้าข่ายกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ม.92(2) ซึ่งเป็นเหตุให้ กกต.อาจเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือสั่งยุบพรรคที่ฝ่าฝืนได้

 

ดังนั้น เมื่อมีการร้องเรียน กกต.คงจะเมินเฉยไม่ได้ ต้องสอบสวนและวินิจฉัย

เพราะไม่ได้เป็นการกล่าวหาเลื่อยลอย

เนื่องจากนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 1 ใน 21 ส.ส.ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะไม่ได้รับรู้ตามที่ถูกกล่าวหา กกต.อาจจำเป็นต้องเรียกไปสอบสวน

แม้ พล.อ.ประวิตรจะไม่สนใจ และบอกว่า “ก็ต้องไปอยู่พรรคใหม่”

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรค

ได้ชิงปิดประเด็นคำร้องนายสมศักดิ์ ที่ขอให้พรรคทบทวนมติ โดยอ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม ส.ส. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

โดยชี้ว่า เรื่องนี้พบข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญคือนายสมศักดิ์บอกว่า ขณะที่พรรคลงมติ ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม แต่อยู่ที่โรงพยาบาล แล้วทราบข่าวการลงมติผ่านทางโทรทัศน์ แต่จากการหาข้อเท็จจริงพบว่า มี ส.ส.หลายคน ทั้งผู้ที่พ้นสภาพ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไป และยังมีสภาพเป็น ส.ส.พรรคอยู่ ให้ข้อเท็จจริงว่า เห็นนายสมศักดิ์อยู่ในที่ประชุมตลอด และได้ร่วมออกเสียงด้วย จึงรับรู้โดยตลอด ไม่ได้เป็นอย่างที่นายสมศักดิ์อ้าง

และกรณีนี้ พล.อ.ประวิตรได้ส่งเรื่องไปที่ กกต.เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เรื่องก็จะดำเนินไปตามกระบวนการ ซึ่งมติพรรคมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม ดังนั้น ทั้ง 21 ส.ส.ก็พ้นจากสมาชิกภาพพรรคและต้องไปสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน

 

ถือเป็นความพยายามปิดฉากเรื่องนี้โดยเร็วของฝ่าย พล.อ.ประวิตร ทั้งนี้ เพื่อมิให้การขับ 21 ส.ส. สะดุด หรือมีเหตุกระเพื่อม

ด้วยฝั่งฟากหัวหน้าพรรครู้ดีว่า มีบางฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะกลุ่มรัฐมนตรี พยายามขัดขวางการออกไปสร้างรังใหม่ของ ร.อ.ธรรมนัส ในนามพรรคเศรษฐกิจมิให้สำเร็จ

เพราะถ้าสำเร็จ อาจจะโชว์ฤทธิ์เดช ด้วยการหวนกลับมาต่อรองผลประโยชน์จาก พล.อ.ประยุทธ์

เช่น ต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรี แลกกับการสนับสนุนรัฐบาลต่อไปอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว

ดังนั้น จึงเริ่มมีความพยายามขัดขวาง เช่น การพยายามร้องว่า มติขับ 21 ส.ส.มิชอบด้วยข้อบังคับ เพื่อล้มมตินี้เสีย

ขณะเดียวกัน มีความพยายามที่จะแยกสลาย ส.ส.กลุ่ม 21 คน มิให้มีเอกภาพ

จึงปรากฏเป็นข่าวว่ามี ส.ส.บางส่วนจะแตกไปอยู่พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคการเมืองอื่น เพื่อลดจำนวน ส.ส.ก๊วน ร.อ.ธรรมนัสลง เพื่ออำนาจต่อรองก็จะลดลงไปด้วย

รวมทั้งการจะไปป่วนในสภา หากไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็จะลดพิษสงลงเช่นกัน

 

ซึ่งเรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัสก็รู้ดีจึงต้องเร่งเกมสร้างรังใหม่โดยเร็ว

และดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตรจะอำนวยความสะดวกและเสริมความน่าเชื่อถือให้กับรังใหม่นั้นอย่างเต็มที่

เช่น การบอกอย่างเปิดเผยทั้งในและนอกพรรคว่า รังใหม่คือพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ ร.อ.ธรรมนัสจะไปอยู่นั้น จะมีมือขวาของ พล.อ.ประวิตร คือ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐไปเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ให้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรยังการันตีให้อีกว่า พรรคใหม่นี้จะยังร่วมรัฐบาล สนับสนุนรัฐบาลเหมือนเดิม

แถมยังบอกว่าได้คุยกับนายกรัฐมนตรีตลอด และคุยทุกวัน

เมื่อถูกสื่อมวลชนถามย้ำ ว่ายังรับมือได้ใช่หรือไม่

พล.อ.ประวิตรบอกว่า “ไม่เห็นจะต้องรับมือเลย ก็พรรคผมทั้งนั้น”

 

คําว่า “พรรคผมทั้งนั้น”

ทำให้ความเต็มใจที่จะถูกขับออกจากพรรคของก๊วน ร.อ.ธรรมนัส ที่ขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่ปิดบัง ชัดเจนว่า มีแบ๊กอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งก็คือ พล.อ.ประวิตรนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะคิดอย่างไร ก็คงประเมินได้ไม่ยาก

ดังนั้น แม้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร บอกไม่มีอะไรกัน

แต่การขับเคลื่อนในพรรคพลังประชารัฐ และกำลังรวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทย ล้วนจะไปในทางที่ไม่เป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายที่สนับสนุนนัก

นี่จึงนำไปสู่การประเมินว่า ถึงที่สุดทั้งฟาก พล.อ.ประวิตร และฟาก พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องขัดแย้งกัน

และฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ตั้งรับอยู่ข้างเดียว

หากแต่พร้อมจะสัประยุทธ์ด้วย

เช่น อาจมีการส่งของฝ่ายตนเข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคแทน ร.อ.ธรรมนัส เพื่อถ่วงดุลอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกันก็คงต้องสร้างเกราะปกป้องการต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้แกร่งที่สุด

อาจจะมีการยื้อการปรับคณะรัฐมนตรีสุดฤทธิ์

หรือหากรับไม่ไหวจริงๆ ไม้ตายของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือการยุบสภา เพื่อล้างกระดานกันใหม่ แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงที่จะหาพรรคมาสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็ตาม

แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องแตกหัก บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีแนวโน้มที่จะออกไปในทางเลือกนั้นอยู่แล้ว

 

ตอนนี้ จึงถือเป็นความหนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่สุดแห่งการครองอำนาจมาร่วม 7 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งมิใช่แค่ “สัประยุทธ์” ระหว่างฝ่ายกันเองในรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น

หากแต่ยังต้องเผชิญกับการถูก “รุม-สับ-ประยุทธ์” ด้วย

เป็นการรุมสับของแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน

อันประกอบด้วย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์

โดยยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใน 4 ประเด็น

1. วิกฤตเศรษฐกิจ ในยุคข้าวของแพงค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน

2. วิกฤตโรคระบาด ทั้งโควิด-19 โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)

3. วิกฤตทางด้านการเมือง ยุคปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว ยุคการเมืองที่ใช้เงินเป็นหลัก

4. วิกฤตเรื่องของความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ที่ไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหายาเสพติดที่ระบาดเต็มบ้านเมือง เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องสิ่งแวดล้อมภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่สำคัญคือ การบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

โดยขอเวลาอภิปรายไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง

คาดว่าจะดำเนินการได้ในห้วงวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2565

ซึ่งก็คงมากด้วยความดุเดือด และความพลิกผัน เพราะเสียงของฝั่งฟากรัฐบาลไม่เสถียร

และยังไม่รู้ว่าก๊วน 21 ส.ส.จะผนึกแนวร่วมพรรคเล็ก โชว์เพาเวอร์ “สับ” พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลขนาดไหน

รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพสักเท่าไหร่ พร้อมจะร่วม “สับ” พล.อ.ประยุทธ์ตลอดเวลา

นี่จึงเองจึงนำไปสู่คำถามเริ่มนับถอยหลังระบอบประยุทธ์เลยหรือไม่!