รอยสักกับนักกีฬา/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

รอยสักกับนักกีฬา

 

ทางการจีนเพิ่งออกกฎ เมื่อปลายเดือนธันวาคม ว่า นักฟุตบอลทีมชาติจีนที่มีรอยสักบนร่างกาย ต้องไปลบรอยสักออกให้หมดหากต้องการติดทีมชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม (good example for society)

คณะกรรมการบริหารด้านกีฬาของจีน หรือ General Administration of Sport of China (GAS) เคยออกกฎเมื่อปี 2018 ให้นักฟุตบอลทีมชาติจีนที่มีรอยสัก ต้องสวมปลอกแขนปิดรอยสักเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของนักฟุตบอลทีมชาติ

นักฟุตบอลที่มีรอยสักอยู่แล้วต้องไปลบรอยสักออก หากจะไม่ลบรอยสักออก ก็ต้องได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษจากทีมชาติ โดยมีข้อแม้ว่าต้องปกปิดรอยสักทั้งตอนแข่งจริงและตอนฝึกซ้อม

สำหรับนักเตะชุด U-20 (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ห้ามคัดตัวนักเตะที่มีรอยสักโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน หากนักฟุตบอลทีมชาติจีนละเมิด จะถูกปลดจากทีมชาติทันที

 

เดวิด เบ็กแฮม ถือเป็นผู้นำแฟชั่นการสักในหมู่นักฟุตบอล ปัจจุบันเขามีรอยสักมากกว่า 80 รอยสักบนร่างกาย

รอยสักแรกของเบ็กแฮมเป็นรอยสักชื่อลูกชายคนโตคือบรู๊กลิน (Brooklyn) ที่บั้นเอวด้านหลังในปี 1999

จากนั้นทุกปีก็เพิ่มรอยสักทั่วตัว ส่วนใหญ่เป็นอนุสรณ์ความรักให้กับลูกๆ และภรรยา

ซึ่งเบ็กแฮมบอกว่ารอยสักที่อุทิศให้ลูกๆ ทั้งสี่คน เป็นรอยสักที่เขารักที่สุด

 

รอยสักลายพร้อยทั้งแขน ภาษาอังกฤษเรียกว่า sleeve หรือแขนเสื้อนั้น เป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักฟุตบอล เพราะดูเท่ ดุดัน พร้อมสู้ชนิดถึงไหนถึงกัน

นักกีฬาหลายคนบอกว่ารอยสักเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาในเวลาลงแข่งขัน

รอยสักที่บั้นเอวด้านหลัง บริเวณที่เดวิด เบ็กแฮม สักรอยสักแรกในชีวิตเป็นชื่อลูกชาย Brooklyn เคยเป็นจุดในร่างกายที่นิยมมากในหมู่สาวๆ ที่อเมริกาเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน

แต่ตอนนี้กลายเป็นรอยสักบริเวณที่มีผู้หญิงเข้ารับการใช้เลเซอร์ลบออกมากที่สุด เพราะเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงก๋ากั่น

 

รอยสักบริเวณเอวด้านล่าง มีศัพท์เรียก เป็นภาษาอังกฤษว่า แทรมป์ สแตมป์ (Tramp Stamp) หรือตราประทับสาวก๋ากั่น

นักกีฬาโอลิมปิกนิยมสักรูปห่วง 5 ห่วง สัญลักษณ์ของโอลิมปิก

นักบาสเกตบอลนิยมสักหน้าลูกๆ ของตัวเอง บทคำสอนศาสนา หรือคำคมในการดำเนินชีวิต

นักบาสเกตบอลดังๆ ใน NBA ถือเป็นกลุ่มนักกีฬาที่นิยมการสักมาก โดยความฮิตเรื่องการสักนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 เกิน 70% ของนักบาสเกตบอล NBA ผ่านการสักมาทั้งนั้น

 

ในปี 2019 ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Rugby World Cup 2019 ครั้งนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรอยสักและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักกีฬารักบี้ส่วนใหญ่นิยมสักกันเต็มร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น นักรักบี้ทีม All Blacks หรือทีมชาตินิวซีแลนด์ซึ่งมีชนพื้นเมืองคือ ชาวเมารี (M?ori) ที่สักลายกันตามประเพณี

รอยสักเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับชาวญี่ปุ่น ดังนั้น ในปี 2018 อลัน กิลปิน (Alan Gilpin) ผู้อำนวยการจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก ได้ออกมาแถลงการณ์แนะนำทั้งนักกีฬารักบี้และแฟนกีฬารักบี้ที่มีรอยสักว่าให้ปกปิดรอยสักและระมัดระวังเรื่องการเผยให้เห็นรอยสักเวลาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะได้ไม่เป็นการสร้างความขุ่นเคืองใจแก่ชาวญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ดีกับรอยสักมาเป็นเวลานาน เพราะในประเทศญี่ปุ่นรอยสักมีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกของกลุ่มอาชญากรตั้งแต่สมัยโบราณที่รู้จักกันในชื่อ ยากูซ่า (Yakuza) เป็นกลุ่มอาชญากรที่ใหญ่เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกเหมือน กับกลุ่มมาเฟียของอิตาลี

เครื่องหมายการค้าของกลุ่มยากูซ่าคือการสักร่างกายเต็มตัว เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าร่วมกลุ่ม และมักจะโชว์รอยสักกันให้เห็นตามสถานที่สาธารณะเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับคนญี่ปุ่นทั่วไป

ปัจจุบันกลุ่มยากูซ่ามีสมาชิกน้อยลงจากในช่วงปี 1960 ที่สมัยนั้นกรมตำรวจญี่ปุ่นรายงานว่ามีสมาชิกยากูซ่าในก๊กต่างๆ รวมกันมากกว่า 200,000 คนทั่วญี่ปุ่น ก่อนจะลดลงมาเหลือประมาณ 25,900 คน ในปี 2020

แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังฝังใจกับอาชญากรรมต่างๆ ที่ก่อโดยกลุ่มยากูซ่าทั้งอดีตและปัจจุบัน

ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงเกิดวัฒนธรรมที่มองการสักเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะมาเปิดเผยรอยสักอย่างภาคภูมิใจให้ใครเห็น จนถึงขั้นว่าสถานที่สาธารณะหลายแห่งอย่างชายหาด สระว่ายน้ำ ออนเซน มีการติดป้ายห้ามคนที่มีรอยสักเข้าใช้บริการกันเลยทีเดียว

แม้แต่ที่พักสไตล์เรียวกัง (Ryokan) หลายแห่งในญี่ปุ่นก็ไม่รับแขกที่มีรอยสัก ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีรอยสักและไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกอาจจะเคยเจอกับสายตาแปลกๆ โดนปฏิเสธการต้อนรับและไม่ให้บริการจากคนญี่ปุ่นกันมาบ้าง

 

แม้นักฟุตบอลระดับโลกจำนวนมากมีรอยสัก แต่คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เป็นนักฟุตบอลที่ไม่มีรอยสักบนร่างกายแม้แต่จุดเดียว

โรนัลโด้ให้เหตุผลว่าที่ไม่สักนั้นเพราะเขาบริจาคเลือดเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง หากเขาเข้ารับการสักหนึ่งครั้ง จะทำให้เขาต้องงดบริจาคเลือดไปอย่างน้อย 1 ปีเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดมาทางกระแสโลหิตจากการใช้เครื่องมือสัก

โรนัลโด้จึงเลือกที่จะไม่มีรอยสักเพราะต้องการบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น