เมื่อฮุน เซน เยือนเมียนมา/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เมื่อฮุน เซน เยือนเมียนมา

 

เมื่อฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนเมียนมา อาเซียนก็ร้อนฉ่าขึ้นมา

ในมุมมองของกัมพูชาที่แสดงไว้ในบทความสั้นของ Think Tank สิงคโปร์อย่างทันควัน แม้ปากบอกว่าเป็นนักวิชาการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มุมมองนี้เป็นระนาบเดียวกับคนในรัฐบาลกัมพูชาอันเป็นเนื้อเดียวกับฮุน เซน นั่นเอง เขาสาธยายว่า

“…ฮุน เซน ถือมุมมองอย่างแข็งขันว่า การโดดเดี่ยว (เมียนมา ขยายความโดยผู้เขียน) ไม่ใช่ทางออก การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเป้าหมายชัดเจน ยึดถือ 5 ข้อแห่งฉันทานุมัติอาเซียนจะให้ทางออก…” แล้วยังย้ำด้วยว่า ประสบการณ์ของกัมพูชา สภาพวินวิน ยุติสงครามได้

นี่เป็นมุมมองของกัมพูชาต่อการเยือนเมียนมาของฮุน เซน เราลองดูมุมมองจากเมียนมาบ้าง

 

มุมมองเมียนมา

วิกฤตเมียนมาเวลานี้และอนาคตไม่มีอะไรดีเท่าทำความเข้าใจมุมมองจากคนเมียนมา ที่น่าสนใจ ผมหยิบเอามุมมองของหญิงสาวเมียนมา1 ที่เขียนวิจารณ์บทความสั้นของคนกัมพูชาในเว็บ Think Tank สิงคโปร์ที่อยู่ในช่วงเดียวกัน

ผู้เขียนชาวเมียนมาเริ่มต้นว่า ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ ก่อเกิดคำถามมากมายเรื่องการยอมรับ และให้ความชอบธรรมทหารเมียนมา รวมทั้งฮุน เซน เป็นตัวแทนกัมพูชา หรืออาเซียน

หลายวันก่อนหน้าฮุน เซน ถึงเนปิดอว์เมืองหลวงเมียนมา ประชาชนเมียนมาแสดงออกชัดเจนว่า พวกเขาต่อต้านอย่างมากต่อการเยือนของเขา การประท้วงต้านการเยือนของฮุน เซน เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วเมียนมา พร้อมติดแฮชแท็กว่า #dontsupportanotherkillfield หรืออย่าสนับสนุนทุ่งสังหารอีกแห่งหนึ่ง

คนเมียนมาเชื่อว่า ฮุน เซน มีอเจนด้าซ่อนเร้น คือยอมรับระบอบทหารและใช้สถานะประธานอาเซียนของกัมพูชา เสนอให้พิจารณาประเด็นเมียนมาในที่ประชุมอาเซียน

องค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมด 195 องค์กรในเมียนมาและกัมพูชาประณามการเดินทางมาเยือนของฮุน เซน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเมียนมาระบายความโกรธแค้นของพวกเขาในหน้าเฟซบุ๊กนายกรัฐมนตรีกัมพูชา หลายหมื่นคำวิจารณ์จากผู้ใช้โซเชียลเมียนมา ย้ำส่งข้อความอันเดียวกัน เราไม่ต้องการฮุน เซน

นักเขียนสาวชาวเมียนมาวิจารณ์นักเขียนชาวกัมพูชาที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านของภาคประชาสังคมเมียนมา แล้วนักเขียนกัมพูชาอ้างว่า การเยือนของฮุน เซน จะเร่งผลักดันสภาพแวดล้อมเพื่อการเจรจากับทหาร ซึ่งต่อมาจะก้าวเดินตามฉันทานุมัติ 5 ข้อของอาเซียน

แล้วเธอก็ให้ตรวจสอบฉันทานุมัติอาเซียนทีละข้อ

 

ประเด็นที่ 1 เพื่อที่จะยุติความรุนแรงทันทีในเมียนมา และทุกฝ่ายจะดำเนินการยับยั้งอย่างถึงที่สุด

เธอเห็นว่า เมื่อฉันทานุมัติ 5 ข้ออาเซียน ใช้เมื่อเมษายน 2021 ทหารยังใช้ความรุนแรง ปล่อยให้โจมตีพลเรือนต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกัน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลได้พูดแล้วว่า พวกเขาจะพิจารณามาพูดคุย ถ้าทหารยุติการใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ทหารใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อฝ่ายต่อต้าน ทหารเข้าโจมตีหลายๆ รัฐ

สุดสัปดาห์หลังฮุน เซน เยือน กำลังทหารโจมตีทางอากาศเมืองหลวงของรัฐคะยา/คะเรนนี่

ตัวอย่างนี้ให้ภาพว่า ทหารไม่ต้องการสนับสนุนการยุติความรุนแรงและใช้ความอดกลั้น

 

ประเด็นที่ 2 การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่าย จะตั้งต้นแสวงหาหนทางสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา

เธอเห็นว่า ทหารเมียนมาไม่ และไม่แสดงความโน้มเอียงอะไรเลยต่อหนทาง ‘การเจรจา’ แม้ว่าทหารประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 5 เดือนกับองค์การติดอาวุธชนกลุ่มน้อย (Ethnic armed organizations-EAOS) กำลังทหารโจมตีต่อเนื่องกลุ่ม EAOS กลุ่มอื่นๆ ในรัฐคะฉิ่นและคะเรนนี่

สำคัญมากกว่านั้น คณะกรรมการ the committee Representing Pyidaungsu Hluttaw-CRPH ของสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government-NUG และรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ยังคงเป็นองค์การก่อการร้าย ในเอกสารที่ประกาศโดยทหารเมื่อพฤษภาคม 2021

 

ประเด็นที่ 3 ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน จะเป็นตัวกลางอำนวยการกระบวนการสนทนา ด้วยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

แต่ฉันทานุมัติข้อนี้ เธอกลับเห็นว่า ไม่มีการยกเลิกความรุนแรง และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายกับ NUG และกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้างในเมียนมา กระบวนการสู่ตัวกลางไกล่เกลี่ยจะออกมาเป็นศูนย์ จากตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับ CRPH โต้แย้งฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียนเรื่องให้ความเคารพ ความปรารถนาและความพยายามเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเมียนมา และเรียกร้องให้ฮุน เซน ร่วมมือกับ CRPH และ NUG

ในแถลงข่าวจาก NUG เรื่องการเยือนของฮุน เซน ยังบันทึกว่า

“…ปราศจากความตกลงของทุกฝ่าย ฮุน เซน จะเป็นเครื่องมือของหนึ่งเดียว ทหารที่ผิดกฎหมาย…”

เมื่อฮุน เซน ขาดการมีส่วนร่วมกับ NUG จึงเกิดคำถามต่ออาเซียน เรื่องนำเอาผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเข้าไปอยู่ในกระบวนการพูดคุย ไม่มีการมีส่วนร่วมของ NUG, CRPH, EAOs และผู้มีส่วนได้เสียสำคัญกลุ่มอื่นๆ ในเมียนมา เท่ากับการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการพูดคุย ที่ฮุน เซน เรียกร้องอยู่เสมอๆ จะไม่ได้สร้างขึ้นเลย

เธอเขียนสรุปอย่างแสบๆ ว่า การเยือนของฮุน เซน คือตัวอย่างคลาสสิคของการทูต 30,000 ก้าว ทั้งความหมายแท้จริงและเปรียบเทียบอุปมา ไม่มีหนทางสู่ทางออกสุดท้ายได้หรอก หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเมียนมา และดึงการสนับสนุนของพวกเขาออกมา

 

ประเด็นที่ 4 ของฉันทานุมัติอาเซียน อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน AHA2

ศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาเซียนฯ เคยโดดเด่นด้านให้ความช่วยเหลือหลังเกิดพายุไซโคลนนากีส แต่กลุ่มงานด้านมนุษยธรรมเพื่อลดความขัดแย้งในรัฐยะไข่ถูกวิจารณ์ว่า เผด็จการทหารปรากฏชัด ก่อนใช้แผนงานช่วยเหลือผ่าน AHA ควรประเมินเป็นอันดับแรกว่า ทหารปฏิบัติอย่างไรกับผู้ลี้ภัยและต่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่เหล่านี้ถูกทำร้ายโดยทหาร ในรัฐคะเรนนี่ กำลังทหารเปิดฉากยิงขบวนรถเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วยจรวด

แล้วอาเซียนจะทำให้มั่นใจได้อย่างไรว่า ทหารยึดมั่นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชน

 

ประเด็นที่ 5 ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนและผู้แทนจะเยือนเมียนมา เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เธอเขียนอย่างแสบๆ ว่า ระหว่างฮุน เซน เยือนเมียนมา เขาไม่ได้แสวงหาทางพบกับออง ซาน ซูจี หรือผู้นำคนอื่นๆ จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย-NLD

ก่อนหน้านั้น ผู้แทนพิเศษชาวบรูไนเรียกร้องพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทหารไม่อนุญาต บอกว่ารัฐมนตรีที่ถูกขับออกกำลังถูกดำเนินคดี

 

ฮุน เซน เยือนเมียนมา : มุมมองจากผู้เขียน

ไม่เพียงฮุน เซน ไม่ได้ทำตามข้อฉันทานุมัติอาเซียนดังมุมมองของชาวเมียมา เขาไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้ทหารเมียนก้าวมาทำตามฉันทานุมัติอาเซียน เขาสนับสนุนทหารเมียนมา ทั้งนี้ เขาทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อกัมพูชาและอาเซียน ซึ่งเขาทำเช่นนี้มานานแล้ว

ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงทศวรรษ 1980 เขาเป็นชาวนาผู้ฉลาด จับอาวุธพร้อมมีกองกำลัง เขารู้จักหยิบฉวยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จีน (เพื่อสู้กับเวียดนามและรัสเซีย) รู้จักใช้ไทยที่ต้องการลดบทบาทของเวียดนามเหมือนกัน

ทศวรรษ 1990 ฮุน เซน เล่นวาทกรรมสันติภาพที่ขายได้กับญี่ปุ่น ซึ่งแสวงหาบทบาททางการเมืองในภูมิภาคและโลก เข้ามาฟื้นฟู บูรณะอินโดจีน ขายได้กับออสเตรเลีย มหาอำนาจจากซีกโลกใต้ที่ต้องการก้าวสู่อินโดจีนโฉมหน้าใหม่ แลกกับเหมืองแร่อันมหาศาลในกัมพูชา แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งฝรั่งเศสที่เข้ามาขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

นักการเมืองฝ่ายค้าน นักพัฒนา สื่อมวลชน แรงงาน ชาวบ้าน คนแล้วคนเล่าล้มหายไป นับประสาอะไรกับประชาชนเมียนมาและผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ได้สังเวยการคงอยู่อำนาจและความมั่งคั่งของเขาและครอบครัว

กว่า 3 ทศวรรษที่เขาแลกเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรกับจีน คราวนี้ อาเซียนเป็นหมากการเมืองระหว่างประเทศเพื่อจีน เพื่อนที่แสนดีและเพื่อตัวเขาเอง ทำไมจะทำไม่ได้

เมียนมาจะเป็นดั่งที่ประชาชนเมียนมาวิจารณ์ฮุน เซน #dontsupportanotherkillfield หรืออย่าสนับสนุนทุ่งสังหารอีกแห่งหนึ่ง หรือไม่

1Myat Myat Mon, “Hunsen’s visit to Myanmar : A Perspective from Myanmar” Fulcrum 14 January 2022.

2ศูนย์อาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Humanitarian Assistance and Diaster Management Center-AHA