‘พาน้องกลับมาเรียน’ คำสัญญาจาก ‘บิ๊กตู่’ ถึงเด็กหลุดระบบการศึกษา!! / การศึกษา

การศึกษา

จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ

 

‘พาน้องกลับมาเรียน’ คำสัญญา…

จาก ‘บิ๊กตู่’ ถึงเด็กหลุดระบบการศึกษา!!

 

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนไปทั่วทุกมุมโลก ในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ

หนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบ “การศึกษาไทย” นอกจากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการเรียน “ออนไลน์” ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในขณะนี้ ประเด็น “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา” ได้กลายเป็นปัญหา “ระดับชาติ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ

ซึ่งสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แบ่งตามสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 78,003 คน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) 50,592 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 54,513 คน รวม 238,707 คน

หลังจาก ศธ.ดำเนินการเชิงรุกตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 ราย ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบอีก 110,755 ราย

ขณะที่ตัวเลขจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า อัตราการเคลื่อนตัวของเด็กในประเทศเกือบ 1.8 ล้านคน จาก 5 ล้านคน มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา 1.1 ล้านคน และยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีก 7 แสนคน

ส่วนระดับอุดมศึกษา เด็กทั่วประเทศ 650,000 คน เข้ามหาวิทยาลัยได้ 300,000 คน พบเด็กหลุดจากระบบอุดมศึกษาถึง 14%!!

 

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้สรุปปัญหา และสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีความจำเป็น หรือมีเงื่อนไขส่วนตัวบางอย่าง ที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามระบบได้ เช่น ครอบครัวยากจน กำพร้า กลุ่มเด็กอพยพย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง กลุ่มที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน กลุ่มที่มีปัญหาพฤติกรรม ที่ส่งผลให้ถูกพักการเรียน หรือให้ออกจากสถานศึกษา กลุ่มเด็กที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มเด็กในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น พื้นจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ อาทิ ระบบมาตรฐานการเรียนการสอน การแข่งขันทางการศึกษาที่สูงขึ้น ปัญหาการเรียนในชั้นเรียน เพื่อนกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ และการเกิดสภาวการณ์โรคระบาด เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลให้เด็กหลายๆ คน ไม่สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน หรือทรัพยากรที่จำเป็นในการศึกษา

เลขาธิการ สกศ.ระบุด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา มีความรุนแรงมากขึ้น และจากข้อมูลของ กสศ.พบว่า ในแต่ละปี ไทยมีเด็กออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีอยู่ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว ดังนั้น ในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ

ตอกย้ำด้วยรายงานวิจัยของยูนิเซฟ ที่ระบุว่า ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลงกว่า 30% ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทางเลือกในการดำเนินชีวิต การทำงาน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวในอนาคตของเด็กกลุ่มนี้!!

 

ล่าสุด นายกฯ ได้ประกาศในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ 11 พันธมิตร โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็น “ศูนย์”

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์มองว่า นอกจากการ “ปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องพัฒนาคนให้พร้อมสำหรับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยจะพยายามให้โอกาสเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และเด็กที่ยังไม่ได้รับการศึกษา ทั้งเด็กปกติ และเด็กพิการ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง

เนื่องจากปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์มองว่า นอกจากมีความจำเป็นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัย ไม่เฉพาะแค่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะแม้ว่า ศธ.จะปรับการเรียนการสอนให้มีหลายรูปแบบ ทั้งออนไลน์ ออนไซต์ ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูแลความพร้อมของผู้ปกครองด้วย ว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงพอหรือไม่ หรือมีค่าใช้จ่าย แต่ผู้ปกครองขาดแรงงานในบ้าน ซึ่งกลายเป็นปัญหาลึกซึ้งที่ต้องช่วยกันดูแล

โดย พล.อ.ประยุทธ์มองว่า 1 ใน “ของขวัญ” สำคัญที่รัฐบาลจะทำเพื่อคนไทย คือ การให้โอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสม และใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมทั้งยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะคืนโอกาสให้กับเด็กๆ และสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์…

ทั้งนี้ สิ่งที่ “บิ๊กตู่” ยังกังวลคือ จะต้องสอนนักเรียนให้มีความคิดที่ดี เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยคิด พร้อมพัฒนาตัวเอง และสังคม เพราะไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ไม่เช่นนั้นจะคิดกันง่ายๆ ทำให้เกิดปัญหา เรียนจบแล้วยังไม่ทำงาน ก็สร้างหนี้สิน ดังนั้น ต้องสร้างความคิด แรงบันดาลใจให้เด็กๆ ว่าโตขึ้นจะช่วยตัวเอง และดูแลพ่อแม่อย่างไร ให้ไม่เป็นภาระ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัว และสังคม

ดังนั้น การสร้างโอกาสทางการศึกษา ต้องเน้นทั้งโอกาส คุณภาพ และความพร้อมผู้ปกครอง!!

 

อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้บางส่วน แต่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กลับพบว่ามีเด็กกว่า 50% ที่กลับเข้ามาแล้วหลุดออกจากระบบการศึกษาซ้ำอีก ดังนั้น นอกจากการติดตามเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบแล้ว รัฐจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ และเยียวยา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวนซ้ำ เพราะเมื่อเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว 6 ใน 10 จะมีความเสี่ยงเข้าสู่การเป็น “ยุวอาชญากร”

โดยคาดว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษารุนแรงเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ผุดแนวทางแก้ปัญหาเชิงรุกผ่าน “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” โดยจะบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้รู้จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และลงติดตามถึงบ้าน โดย ศธ.ได้พัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียน ด้วยแอพพลิเคชั่น “ตามน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว และเก็บเป็นฐานข้อมูลของปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด กับทุกเคส ทุกกรณี

เพื่อติดตาม ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสม…

ต้องติดตามว่า ศธ.จะดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กลับเข้าสู่โรงเรียนได้หรือไม่!!