ตรุษจีนยังยิ่งใหญ่ ? แม้ในวัน ‘หมูแพง”สำคัญที่สุดคือศรัทธา’

รายงานพิเศษ

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

‘สำคัญที่สุดคือศรัทธา’ตรุษจีนยังยิ่งใหญ่ แม้ในวัน ‘หมูแพง’

 

กาลเวลาหมุนมาบรรจบอีกครั้ง เข้าสู่เทศกาลยิ่งใหญ่ของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน นั่นคือ ‘ตรุษจีน’

โดยในปี 2565 มีวันจ่าย ตรงกับอาทิตย์ที่ 30 มกราคม วันไหว้ ตรงกับจันทร์ที่ 31 มกราคม และวันเที่ยว ตรงกับอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ เข้าสู่ศักราชใหม่

เป็นตรุษจีนท่ามกลางภาวะ ‘ของแพง’ โดยเฉพาะ ‘เนื้อหมู’

18 มกราคมที่ผ่านมา ราคาพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 220 บาท

24 มกราคม หมูต้มแตะกิโลกรัมละ 400 บาท ส่วนหมูกรอบทะยาน 700 ไปหมาดๆ พ่อค้าหัวหมูบางจังหวัดถึงขนาดหยุดขายชั่วคราว ยังไม่นับผลไม้ ไข่ไก่ รวมไปถึงน้ำมันพืช น้ำมันปาล์มที่พาเหรดกันขึ้นราคา กระทบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ประโยค ‘ตรุษจีนไม่เหมือนเดิม’ ที่เคยถูกใช้มาแล้วในคราวโควิดระบาดตั้งแต่ 2 ปีก่อน ตัดฉากมาในปีนี้ ก็เจอสถานการณ์วัตถุดิบ ‘ของไหว้’ ราคาแรง งานตรุษจีนเยาวราชงดจัดเป็นปีที่ 2 เมื่อโควิดกลายพันธุ์ นาม ‘โอมิครอน’ ออกอาละวาด

แต่ไม่ว่าวิกฤตใดก็ไม่อาจลดทอนซึ่งความสำคัญของตรุษจีนในใจคนไทยเชื้อสายจีนที่ผูกพันแนบแน่น ลึกซึ้ง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและศรัทธา

 

แค่ ‘ศรัทธา’ ก็ยิ่งใหญ่

‘ไข่ฟองเดียว’ ก็ไหว้ได้

ผศ.ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณคดีและวัฒนธรรมจีนอันดับต้นๆ ของประเทศ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า ตรุษจีนนี้ เมื่อหมูแพง ก็ลดทอน ปรับเปลี่ยนได้ เพราะประเพณีไม่ตายตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือศรัทธาและความตั้งใจในการไหว้ พร้อมหยิบยกข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมมาอธิบาย

“สมัยก่อน การไหว้ เขาก็เอาของที่ปลูก ที่เลี้ยงไว้มาไหว้กัน มีอะไรก็ไหว้อย่างนั้น แต่ถ้ามีโอกาสก็คัดของดีที่สุดเท่าที่มี และชื่อเป็นมงคล เสียงพ้องกับคำที่เป็นสิริมงคลเท่านั้นเอง เดิมมีไม่กี่อย่าง เช่น ไก่ คือสัญลักษณ์ของความขยันทำมาหากิน เป็ด มาทีหลัง เป็นสัญลักษณ์ของการประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่ออุดมสมบูรณ์ขึ้น จึงเกิดความนิยมไหว้ให้ครบ ทั้งสัตว์ 4 เท้า คือหมู สัตว์ปีก คือไก่หรือเป็ด และสัตว์มีเกล็ด คือปลา” ผศ.ถาวรเล่า

ของไหว้ประเภทเนื้อสัตว์นี้ มักคุ้นหูในคำว่า ‘ซาแซ’ คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง ส่วนใหญ่ใช้ไก่ เป็ด และหมู

ถ้าใหญ่หน่อย เป็น ‘โหงวแซ’ คือเนื้อสัตว์ 5 อย่าง ผศ.ถาวรบอกว่า อาจเพิ่มวัว แพะ ไหว้เทพเจ้า

แต่หากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ไข่ฟองเดียวก็ไหว้ได้ เพราะหัวใจอยู่ที่ความศรัทธา

ไข่ 1 ฟองที่ว่านี้ คือสัญลักษณ์แทนไก่ 1 ตัว สื่อความล้ำลึกสมเป็นชนชาติแห่งอารยธรรมที่ยาวนานนับเนื่องหลายพันปี

“บ้านผมก็เคยไหว้ด้วยหมูชิ้นหนึ่ง ไข่ฟองหนึ่ง แทนสัตว์ปีก คือไก่ ปลาหมึกตัวหนึ่ง แทนสัตว์น้ำ เพราะสมัยก่อนปลาหมึกราคาถูก แต่เดี๋ยวนี้แพง (หัวเราะ)”

 

ตำนาน ‘หลี่ว์เหมิงเจิ้ง’

กับ ‘น้ำต้มหมูปนทราย’ ที่ฟ้าดินตื้นตัน

ประเด็น ‘ของไหว้’ นี้ ยังมีเรื่องราวกินใจในตำนานของ ‘หลี่ว์เหมิงเจิ้ง’ ซึ่ง ผศ.ถาวรเล่าอย่างออกรสว่า เป็นบุคคลต้นแบบของ ‘เปาบุ้นจิ้น’ สำเนียงแต้จิ๋วเรียก ‘หลื่อหม่งเจ่ง’ ชีวิตลำบากยากจน พ่อหลงเมียน้อย ถูกไล่ออกจากบ้าน ต้องไปอาศัยห้องดินหลังวัดอยู่ แต่มีความมุมานะ หาบผักขาย ไปดูคนเรียนหนังสือจนจำได้ แล้วไต่เต้าจนเข้าสอบจอหงวน

“ตอนที่หลี่ว์เหมิงเจิ้งยังจนมาก เมียเหลือตุ้มหูทองอยู่ข้างหนึ่ง ให้เอาไปซื้อของแทนเงิน เจ้าของร้านเห็นว่าจน กลัวว่าทองจะเป็นของปลอม เลยบอกว่า ให้แค่เลือกอย่างเดียว จะเอาข้าว หรือหมู เขาเลือกหมู พอต้มเสร็จ กำลังจะไหว้ เถ้าแก่ร้านขายของเกิดระแวงอีกว่าทองปลอม เลยเอาทองมาคืนแล้วยึดหมูแล้วกอบทรายที่อยู่บนพื้นดินใส่ลงไปในน้ำต้มหมูด้วย หวังจะไม่ให้กินน้ำต้มหมู หลี่ว์เหมิงเจิ้งเสียใจมาก เมียบอกไม่เป็นไรหรอก เราก็ไหว้ไปตามนั้นแหละ เลยไหว้ด้วยน้ำต้มหมูปนทราย แล้วบอกกับฟ้าดินว่ายากจน มีเท่านี้ คนก็รังแก ดูถูกเหยียดหยาม ปรากฏว่าฟ้าดินตื้นตันว่าเป็นคนมีศรัทธา ซื่อสัตย์ สุจริต”

“ปีนั้นหลี่ว์เหมิงเจิ้งไปสอบจอหงวน ได้คะแนนเท่ากับคนที่อายุ 77 ปี สอบมา 6 ครั้ง ตามเหตุผลควรให้คนแก่ แต่ความที่หลี่ว์เหมิงเจิ้งมีศรัทธาสูง ฟ้าดินรู้ว่าเด็ดเดี่ยว ถ้าผิดหวังอาจไม่สอบอีก เลยได้เป็นจอหงวน ส่วนคนแก่อีก 3 ปีมาสอบใหม่ได้เป็นจอหงวนตอนอายุ 80 (หัวเราะ)” ผศ.ถาวรกล่าวก่อนย้ำว่า เรื่องเล่าส่วนนี้เป็นนิทาน แต่สะท้อนว่า แม้เพียงน้ำต้มหมูปนทราย หากไหว้ด้วยใจศรัทธา ก็มีผลมาก

ชีวิตของหลี่ว์เหมิงเจิ้งนี้ ถูกนำไปทำการแสดงเป็นชุดสิริมงคลเบิกโรงเวลาเล่นงิ้วอีกด้วย

 

เฉลิมฉลอง

พบหน้า ‘เดือนอ้ายใหม่ได้สมจินตนา’

สอดคล้องกับมุมมองของ นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ ม.รังสิต ผู้สร้างสรรค์ ‘ลายสือศิลป์’ ด้วยพู่กันจีนในสถานที่สำคัญมากมายของคนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ ที่ยืนยันว่า ของไหว้สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม แม้บางสิ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่แกนหลักยังคงเดิม ดังเช่นหลายปีก่อน ก็มีการนำฟาสต์ฟู้ดไก่ทอดแบรนด์ดังอย่าง ‘เคเอฟซี’ ไหว้แทนไก่ต้มในเทศกาลตรุษจีนจนเป็นข่าวสีสันมาแล้ว

“ตรุษจีนเป็นเทศกาลพิเศษสำหรับชีวิต เป็นการเฉลิมฉลอง การพบหน้า การส่งความปรารถนาดีให้กัน นี่คือเนื้อหาสาระสำคัญ ลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นห่างไกล ทุกคนต้องมุ่งหน้ากลับบ้าน การเซ่นไหว้รำลึกถึงบรรพชนให้ช่วยคุ้มครอง เป็นความตั้งใจในการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ปรับได้ตามสะดวก” อาจารย์นิธิวุฒิกล่าว

หนึ่งในสัญลักษณ์ของการส่งความปรารถนาดีในช่วงตรุษจีน คือการมอบ ‘ชุนเหลียน’ คำกลอนคู่เขียนด้วยพู่กันจีนลงบนกระดาษแดง

“ที่นิยมสุด คือ ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ ซึ่งอาจารย์ถาวร สิกขโกศล ท่านแปลว่า เดือนอ้ายใหม่ได้สมจินตนา ปีใหม่มาพูนทรัพย์นับอนันต์”

อาจารย์นิธิวุฒิทิ้งท้ายว่า ลูกหลานจีนรุ่นใหม่ หากทำความเข้าใจ รักษาไว้ซึ่งขนบประเพณี ย่อมเป็นสิ่งดี เพราะเป็นการสร้างความรัก สามัคคี

ไม่ว่าปีนี้หรือปีไหน ตรุษจีนยังยิ่งใหญ่ไม่เคยเปลี่ยน หากแต่ตัวชี้วัดไม่ใช่ของไหว้เต็มโต๊ะ หรืองานเฉลิมฉลองอลังการ ทว่า ยิ่งใหญ่ด้วยจิตวิญญาณของผู้คนที่ยึดมั่นในรากเหง้าวัฒนธรรม สะท้อนสัมพันธ์ไทย-จีนยาวนาน และหยั่งรากลึกอย่างมั่นคงสืบไป