ทวารวดี ในบันทึกของจีน / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ทวารวดี ในบันทึกของจีน

 

คําว่า “ทวารวดี” ถูกกล่าวถึงในโลกวิชาการเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2427 เมื่อซามูเอล บีล (Samuel Beal) ได้ถ่ายถอดบันทึกการเดินทางของพระภิกษุเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง จากภาษาจีนโบราณออกเป็นภาษาอังกฤษ เพราะในบันทึกเก่าแก่ฉบับนี้ได้กล่าวถึงคำว่า “To-lo-po-ti” โดยบีลได้ระบุว่า ตรงกับคำว่า “ทวารวดี” ในภาษาสันสกฤต โดยเป็นชื่อของรัฐ ดังข้อความที่ว่า

“เดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังชายขอบของมหาสมุทร เราจะมาถึงอาณาจักร (kingdom) ศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ)

ไกลออกไปจากนั้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชายฝั่งของมหาสมุทร เราจะมาถึงประเทศ (country) กามลังกา (เกียโมลังเกีย) ห่างออกไปทางทิศตะวันออกจะเป็นอาณาจักรแห่งทวารวดี (โถโลโปติ) ทางทิศตะวันออกต่อไปเป็นประเทศแห่งอิศานปุระ (อิซางป๋อหลอ) และไกลทางทิศตะวันออกต่อไปจะเป็นประเทศแห่งมหาจามปา (โมโหเฉนโป) ซึ่งก็คือหลินอี้ ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นประเทศที่ชื่อว่า ยามนทวีป (ยาวนทวีป, เยนเนียวนาฉือ) ทั้ง 6 ประเทศนี้ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำที่ไม่อาจเข้าถึงได้ แต่ขอบเขต, ลักษณะของผู้คน และประเทศสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการสอบถาม”

ต่อมาข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการร่วมสมัยกันคนอื่นๆ เช่น อีดูอาร์ด ชาวานเนส์ (Edouard Chavannes) ที่ระบุว่า “Tu-ho-po-ti” และ “Tu-ho-lo-po-ti” ในบันทึกของพระภิกษุอี้จิง ก็คือ “ทวารวดี” เช่นกัน

การที่ข้อเสนอของบีลว่า “To-lo-po-ti” ตรงกับ “ทวารวดี” จะเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ เพราะ “ทวารวดี” หรือที่หลายครั้งก็เรียกว่า “ทวารกา” นั้น เป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ ตามท้องเรื่องของมหาภารตะ อันเป็นหนึ่งในสองมหากาพย์สำคัญของอินเดีย

ดังนั้น ทวารวดีจึงเป็นชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ ที่มั่งคั่ง วิจิตรงดงาม และเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเมืองของเทพเจ้าองค์สำคัญ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้สนใจศึกษาทางด้านนี้

 

อนึ่ง การที่ภูมิภาคซึ่งรับเอาวัฒนธรรมความเชื่อ และศาสนา มาจากอินเดีย อย่างอุษาคเนย์จะนำเอาชื่อ “ทวารวดี” มาตั้งเป็นชื่อรัฐนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการนำเอาชื่อ “อยุธยา” ซึ่งเป็นเมืองของพระราม ในมหากาพย์อีกเรื่องของชมพูทวีปอย่าง “รามายณะ” มาใช้เพื่อจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองในปรัมปราคติพราหมณ์-ฮินดู เหล่านี้มาใช้นั่นเอง

แต่แม้กระทั่งในอินเดียเองก็ตาม เมืองทวารวดีนั้นก็มีลักษณะเป็นเมืองในตำนานที่ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า เคยมีเมืองแห่งนี้อยู่จริงหรือเปล่า? โดยเชื่อกันว่า เมืองแห่งนี้ได้จมลงในทะเลไปเรียบร้อยแล้ว และนอกจากเรื่องราวจากเทพปกรณ์ในศาสนาแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะยืนยันการมีอยู่ของเมืองแห่งนี้ได้เลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของบีลก็ได้ถูกขยายผลไปสู่ความพยายามที่จะค้นหาเมืองทวารวดีแห่งภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่เชื่อกันว่าอยู่ระหว่างประเทศกัมพูชากับพม่า โดยสันนิษฐานกันว่า เป็นชื่อของรัฐที่สัมพันธ์อยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุสถาน ที่พบกระจายตัวอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ของประเทศไทยในปัจจุบัน

แต่คำอธิบายที่ทรงอิทธิพลที่สุดน่าจะมาจากศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ที่ได้เสนอเอาไว้เมื่อ พ.ศ.2472 ว่า ทวารวดีเกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุในพุทธศาสนา แบบที่เขาเรียกว่า “ก่อนเขมร” ซึ่งพบที่ลพบุรี และนครปฐม

และก็ดูเหมือนว่า เป็นเซเดส์นี่แหละครับ ที่เริ่มเรียก “ทวารวดี” ว่าเป็น “ราชอาณาจักร” (เซเดส์ใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า royaume) อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับข้อสรุปของเขาที่ว่า ทวารวดีนั้นเป็นอาณาจักรของพวกมอญ เนื่องจากมีการพบจารึกภาษามอญอยู่มาก

 

น่าสนใจว่า เซเดส์นั้นเคยรับราชการอยู่ในสยาม และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่กับบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับสิบปี และยังได้ช่วยกันลำดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ของไทย ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ไล่เรียงมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทวารวดีของท่าน จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย

จุดสุดยอดของกระบวนการสร้าง “อาณาจักรทวารวดี” ขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นจากการขุดพบเหรียญเงินสองเหรียญในโถขนาดเล็ก ที่บริเวณซากเจดีย์โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของวัดพระประโทณ จ.นครปฐม ราว 1 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ.2486

ในเหรียญเงินทั้งสองดังกล่าว มีจารึกกำกับอยู่ด้วย ซึ่งเซเดส์ได้ถ่ายถอดและแปลความออกมาเมื่อ พ.ศ.2506 ว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” หรือ “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดของเซเดส์ว่า มีอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่นครปฐม

อย่างไรก็ตาม เหรียญเงินจากนครปฐมทั้งสองชิ้นที่ว่านี้ ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ

และถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเลยก็คือ เป็นของที่ได้จากการขุดหาของเก่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถยอมรับถึงที่มาของวัตถุ ตลอดไปจนถึงว่าเป็นโบราณวัตถุของแท้หรือไม่?

ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีการค้นพบเหรียญที่มีจารึกข้อความเดียวกันนี้ ในเมืองโบราณแห่งอื่นๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งพบโบราณวัตถุสถานแบบที่นักโบราณคดีกำหนดเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดีอีกหลายแห่ง จนชวนให้เชื่อใจได้มากขึ้นว่าเหรียญเงินทั้งสองชิ้นจากนครปฐมนั้นน่าจะเป็นของแท้ดั้งเดิม เพราะมีหลักฐานประเภทเดียวกันที่ใช้เปรียบเทียบได้จากแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ

แต่นั่นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทวารวดีไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นครปฐม เพราะก็เจอเหรียญแบบเดียวกันในเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะหมายความว่า หากใช้วิธีการแปลความจากข้อมูลหลักฐานแบบเดียวกันนี้ เมืองอื่นที่พบเหรียญทำนองนี้ก็สามารถเป็นทวารวดีได้ด้วยเช่นกัน

 

ที่สำคัญก็คือข้อสันนิษฐานเหล่านี้ยังไม่ได้พิจารณาถึงว่าชื่อ ทวารวดีก็ปรากฏอยู่ในหลักฐานอื่นๆ ของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย

เช่น ข้อความในตำนานอุรังคธาตุที่ระบุว่าชื่อเดิมชื่อหนึ่งของเมืองร้อยเอ็ด คือ ทวารวดี หรือชื่อเมืองทวารวดี ในจารึกทวารกเดย ของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1496 พบในเขต จ.สตึง ประเทศกัมพูชา ที่ระบุถึงชื่อเมืองทวารวดี โดยเซเดส์เคยให้ความเห็นไว้ว่า เป็นชื่อเมืองทวารกเดย (สถานที่พบจารึก ซึ่งเซเดส์ว่าเพี้ยนมาจากคำว่าทวารวดี) ในเขต จ.สตึง ไม่ได้หมายถึงทวารวดีในประเทศไทย เป็นต้น

แต่อย่างไรก็คงจะมีรัฐที่ใช้ชื่อว่า “ทวารวดี” อยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยนั่นแหละครับ เพราะว่ามีหลักฐานอยู่ในบันทึกของพระภิกษุเสวี้ยนจัง อย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ตั้งแต่ต้น

ที่สำคัญก็คือข้อมูลในบันทึกของเสวี้ยนจัง ยังสอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในบันทึกอื่นของจีนอีกด้วย โดยเฉพาะในหนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังฉบับใหม่ (ซินถังซรู) เรียก “ทวารวดี” ว่า “ตัวเหอหลัว” (Duo He Luo) ใช้เวลาเดินทางจากเมืองกวางโจวเป็นเวลา 5 เดือน โดยถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีระบบการปกครองแบบมีศักดินาหลักรัฐหนึ่ง ทางตะวันตกของทวารวดีติดกับทะเล ทางตะวันออกติดกับเจนละ (คือชื่อที่จีนใช้เรียกกลุ่มวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งมีอีศานปุระ ที่ถูกกล่าวถึงในบันทึกของเสวี้ยนจัง เป็นส่วนหนึ่งในนั้น) มีศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฝู, Jia Luo She Fu, ซึ่งเข้าใจว่าคือเมืองเสมา หรือเมืองโคราชเก่า ในเขตอำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา) อยู่ทางเหนือ และมีเมืองพานพาน (Pan Pan, รัฐโบราณในแหลมมลายู) อยู่ทางใต้

หนังสือซินถังซรูที่ผมอ้างถึงนี้ เป็นหนังสือที่ถูกจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง สั่งให้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ โดยให้สอบทานกับหลักฐานต่างๆ ให้มีความถูกต้องที่สุด โดยเริ่มเรียบเรียงใน พ.ศ.1587 และเขียนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.1603 ดังนั้น จึงมีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรเลยทีเดียว

เอาเข้าจริงแล้ว ยิ่งพิจารณาจากบันทึกเก่าแก่ของจีนหลายฉบับแล้ว ก็ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยสักนิดว่า ทวารวดีจะมีศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเอกสารข้างจีนมักจะอ้างอิงว่าทิศตะวันออกของทวารวดีนั้น ติดอยู่กับเมืองในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แถมทางทิศเหนือของทวารวดีนั้น ยังเป็นเมืองโคราชเก่า อย่างเมืองเสมา ที่อยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสียด้วยสิ