คลังเฉียบ!! ดับฝันกลุ่มค้าน เดินหน้าเก็บภาษีคริปโตฯ สำเร็จหรือเหลว เดี๋ยวรู้กัน/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

คลังเฉียบ!!

ดับฝันกลุ่มค้าน

เดินหน้าเก็บภาษีคริปโตฯ

สำเร็จหรือเหลว เดี๋ยวรู้กัน

 

ใกล้ถึงวันเดตไลน์ 31 มกราคม 2565 สำหรับการเคาะหลักเกณฑ์การเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอล สกุลเงินดิจิตอล (คริปโตเคอร์เรนซี่)

โดยล่าสุดทาง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า “จะไม่มีการเลื่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีนี้ออกไป เพราะถือเป็นเงินได้ที่เสียกันมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ มีความชัดเจนมากขึ้น”

ดับฝันข้อเรียกร้องของทางสมาคมต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลเลื่อนการเก็บภาษีออกไปอย่างน้อย 2-3 ปี

เป็นความผิดหวังของวงการสินทรัพย์ดิจิตอล ที่อยากเห็นการส่งเสริมการลงทุนในตลาดการเงินรูปแบบใหม่ เหมือนตอนที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้น ด้วยการยกเว้นการเก็บ Capital Gain Tax ภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และ Financial Transaction Tax หรือภาษีขายหุ้น ซึ่งในกฎหมายกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาด 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย

แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534

 

กลุ่มคัดค้านยังมองว่า อัตราภาษีที่เก็บไม่มีความเป็นธรรม เพราะคิดแต่ฝั่งที่ขายทำกำไรแต่ละครั้ง โดยไม่นำส่วนของการขาดทุนมาหักลบด้วย เท่ากับว่าคุณลงทุนทำกำไรได้รัฐขอเก็บภาษี ส่วนที่ขาดทุนคุณก็รับผิดชอบเอง ทำเอานักลงทุนงงไปเลย

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังระบุตรงกันว่า การจัดเก็บภาษีในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้

อีกทั้งโดยปกติการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ซื้อหรือผู้ขายจะต้องยื่นเอกสารประกอบการเสียภาษีโดยมีหลักฐานการชำระเงินจากผู้ทำธุรกรรมร่วม ซึ่งในการเทรดคริปโตฯ เป็นการซื้อขายผ่านกระดานเทรด

นอกจากนี้ ทางฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจก็ไม่ได้เตรียมบุคลากรและระบบเพื่อรองรับการจัดเก็บหลักฐานเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการชำระภาษี และหากจะมีการจัดทำระบบเพื่อให้สรรพากรจัดเก็บภาษีได้จริงก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในการพัฒนาระบบ ซึ่งตรงนี้ยังมีอุปสรรคอยู่มาก การระบุตัวตนผู้ซื้อหรือผู้ขายเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นเสียภาษีจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะ exchange เป็นเพียงตัวกลางไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้ ส่วนผู้ซื้อที่จ่ายเงินได้นั้นก็ไม่รู้ข้อมูลต้นทุนของผู้ขาย

ขณะนี้สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จึงเสนอไปว่าให้เก็บภาษี Transaction Tax แทน โดยแบ่งออกมา 0.05%-0.1% จากอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายสูงสุด 0.25% ให้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange อยู่แล้ว โดยจัดเก็บเป็น Final Tax ไปเลย หมายความว่าเงินได้จากการเทรดถือว่าเป็นการเสียภาษีสุดท้ายไปแล้ว โดยผู้มีเงินได้ไม่จำเป็นต้องนำมายื่นรวมในภาษีปลายปีให้ยุ่งยากอีก

ดังนั้น หากกรมสรรพากรยังเดินหน้าเก็บภาษีเต็มสูบขนาดนี้ ก็เป็นไปได้ว่านักลงทุนจะมีการโยกย้ายไปแพลตฟอร์มของต่างประเทศ หรือย้ายการจดจัดตั้งบริษัทไปยังต่างประเทศแทน ทำให้กรมเสียรายได้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลไปอีกทางหนึ่ง

 

ส่วนมุมมองภาคเอกชนต่อหน่วยงานกำกับ อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลว่าวงการสินทรัพย์ดิจิตอลจะมีการหลอกลวงนักลงทุน การฟอกเงิน การนำเงินเข้าออกนอกประเทศ

พร้อมทั้งมองว่าโลกของคริปโตฯ บล็อกเชน จะเข้ามาดิสรัปต์วงการทางการเงิน หน่วยงานกำกับของรัฐในต่างประเทศ มีการเปิดกว้างให้ทดสอบทดลองกับคริปโตฯ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น พยายามจะคว้าประโยชน์จากกระแสคริปโตฯ สตาร์ตอัพหรือธุรกิจด้านคริปโตฯ อาจจะมีโอกาสขยายตัวในประเทศเหล่านี้ ทำให้หน่วยงานกำกับเริ่มเห็นแล้วว่าคริปโตฯ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจขนาดไหน

หัวใจสำคัญคือการเปิดให้ทดสอบทดลองเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าขนาดของตลาดคริปโตฯ ในปัจจุบันยังเล็กมาก เมื่อเทียบกับตลาดการเงินจริง ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ทดสอบทดลอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบใหม่ หรือในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ทำให้รู้ได้ว่าคริปโตฯ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ โดยที่ไม่กระทบกับเศรษฐกิจจริงอย่างรุนแรง จึงอยากให้ภาครัฐเปิดใจและเปิดกว้างในการทดลองเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ มองว่าเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่โลกการเงินยุคใหม่ มากกว่ามองเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ

หน่วยงานกำกับดูแลของไทย ควรจะมีบทบาทในการมอนิเตอร์ว่าคริปโตฯ ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบต่อประเทศแค่ไหน

เมื่อชั่งน้ำหนักได้แล้วว่ามีเชิงบวกเชิงลบอย่างไร จะสามารถกำกับดูแลได้โดยความเข้าใจ

แต่ในปัจจุบันเป็นความกลัวว่าคริปโตฯ จะเข้ามาทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ แล้วเกิดการกำกับในเชิงรับ คือ การห้ามทุกอย่างที่รู้สึกว่าไม่สบายใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคกับการประกอบธุรกิจคริปโตฯ ในประเทศ

สตาร์ตอัพสัญชาติไทยหลายแห่งได้ย้ายธุรกิจไปต่างประเทศกันหมด เพราะรู้สึกว่าภาครัฐไทยไม่สนับสนุนธุรกิจในด้านนี้ ทั้งที่เป็นโอกาสที่ให้เศรษฐกิจไทยเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve

ถ้าบอกว่าประเทศไทยจะทำระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง หรือ Decentralized Finance (DeFi) ไปแข่งกับโลก เชื่อว่าเป็นไปได้ พร้อมทั้งมีโอกาสเป็นผู้นำได้ เพราะสตาร์ตอัพไทยเก่งในด้านนี้เยอะ และตลาดไทยนำ DeFi มาใช้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก จะไม่เหมือนกับฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ที่เป็นศูนย์กลางการเงินดั้งเดิมของโลก แต่จะเป็น “New World Financial Center” หรือศูนย์กลางการเงินของโลกยุคใหม่ ประเทศไทยมีศักยภาพไปถึงตรงนั้นได้

เหลือแค่ว่าภาครัฐสนับสนุนร่วมผลักดัน มากกว่าที่จะกลัวและสั่งห้ามทุกอย่าง

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ธปท.เตรียมออกเปเปอร์หลักเกณฑ์เกี่ยวกับภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย หรือ Financial Landscape Consultation Paper ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

โดยแย้มไว้ 3 แนวทาง หรือ 3 Open ได้แก่

1. Open Competition

2. Open Data

3. Open Infrastructure

ต้องมารอลุ้นกันดูว่า ทั้งแนวทางการเก็บภาษี และเปเปอร์ที่กำลังจะคลอดออกมา จะสอดรับกับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิตอลของไทยหรือไม่!!