เผยตัวตนคนชื่อ ‘วิโรจน์’ ก่อนเปิดหน้าลงสู้ศึก ‘ผู้ว่าฯ กทม.’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เผยตัวตนคนชื่อ ‘วิโรจน์’

ก่อนเปิดหน้าลงสู้ศึก ‘ผู้ว่าฯ กทม.’

 

พรรคก้าวไกลเพิ่งเปิดตัว “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ-ดาวสภาของพรรค ลงสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ท่ามกลางเสียงสนับสนุนของแฟนคลับสีส้ม และเสียงยี้-เสียงสบประมาทของฝ่ายอื่นๆ ที่มีต่อแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.รายนี้ ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี อยากชวนทุกท่านย้อนไปอ่านบทสัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายน 2564

ซึ่งวิโรจน์เปิดใจทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องส่วนตัวกับรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง”

นี่อาจทำให้หลายคนได้รู้จักเหลี่ยมมุม-ตัวตนของนักการเมืองรายนี้มากยิ่งขึ้น

 

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เป็นลูกหลานของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร

เขาเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ก่อนจะจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากจุฬาฯ และปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จากนิด้า ตามลำดับ

หลังจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิโรจน์เคยทำงานเป็นวิศวกรควบคุมคุณภาพที่อีซูซุ มอเตอร์ ประเทศไทย รวมทั้งเคยผ่านงานในองค์กรเอกชนมาหลากหลาย ตั้งแต่การบริหารธุรกิจค้าปลีก, การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ไปจนถึงการบริหารธุรกิจการศึกษา

(ด้วยความที่เคยทำงานกับวิศวกรญี่ปุ่น วิโรจน์จึงติดนิสัยชอบค้นหาและซื้อสินค้าไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ มาทดลองใช้อยู่เสมอ)

นอกจากนั้น วิศวกรผู้นี้ยังเป็น “เดอะค็อป/เด็กหงส์” ตัวยง ถึงขนาดเคยใส่เน็กไทลายทีมโปรดเข้าไปอภิปรายในสภามาแล้ว

วิโรจน์เล่าว่า ในฤดูกาลแรกที่เขาเริ่มดูฟุตบอล ลิเวอร์พูลเกือบจะได้แชมป์พรีเมียร์ลีก จากนั้น ตนเองยังตามเชียร์ทีมรักทีมนี้มาเรื่อยๆ แม้จะต้องพลาดหวังหนแล้วหนเล่าก็ตาม

“คุณจะบอกว่าคุณเป็นแฟนพันธุ์ของทีมใด มันไม่ได้หมายความว่าคุณเชียร์เพราะเขาชนะ ผมไม่ได้เลือกข้างคุณเพราะคุณชนะ แต่ผมชอบปรัชญาการเล่นฟุตบอลของคุณ ต่อให้คุณจะแพ้หรือชนะ never say die!”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าดาวสภาของพรรคก้าวไกลจะบรรยายว่าตนเอง “โคตรดีใจ” ที่ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019-2020 มาครองได้สำเร็จ

ในแง่การงาน วิโรจน์เล่าว่า เขามีความใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพค้าขาย-ทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยยึดหลักการว่าถ้าเลือกจะทำอะไรแล้ว ต้องทำสิ่งนั้นออกมาให้ดีที่สุด

ดังตัวอย่างว่าด้วยความฝันในการเปิดร้านเย็นตาโฟ ซึ่งเป็นอาหารจานโปรดของเจ้าตัว

“มีความฝันว่าอยากทำร้านเย็นตาโฟที่ปลาหมึกกรอบมันกรอบที่สุด ของทอดที่ใส่ไว้ในเย็นตาโฟมันต้องเข้ากับน้ำเย็นตาโฟ มีน้ำเย็นตาโฟสูตรในตำนาน สูตรของอาม่าของเรา ที่กินแล้วเนี่ย ความรู้สึกเหมือนอู๋ม่งต๊ะ ‘คนเล็กกุ๊กเทวดา’ คุณเคยดูไหม? ที่กินแล้วเหมือนล่องลอยอยู่ในสรวงสวรรค์ ผมอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากมีเย็นตาโฟที่แบบเทพขนาดนั้น”

 

วิโรจน์ยอมรับว่าเดิมทีเขาก็เป็นแค่คนทำธุรกิจที่ติดตามข่าวการเมืองและชอบวิเคราะห์ข่าวสารบ้านเมืองให้มิตรสหายใกล้ตัวได้รับฟัง ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

ต่อมา เมื่อมีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก็มีคนรู้จักได้ติดต่อประสานให้เขาเข้าไปพูดคุยกับ “ชัยธวัช ตุลาธน” (เลขาธิการพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ระยะแรก วิโรจน์เลือกจะร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ในฐานะอาสาสมัคร ที่คอยสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ ให้ทางพรรคนำไปพิจารณา

แต่เพราะความที่เขาเป็นคนแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ในที่สุด ผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่จึงตัดสินใจชักชวนวิโรจน์ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนพรรคอย่างเป็นทางการ

ถึงกระนั้น อดีตวิศวกรหนุ่มก็ไม่เคยคิดว่าตนเองจะได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 เขามีสถานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 34 ของพรรค

ทว่าเมื่อประชาชนเทคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ (ณ ขณะนั้น) อย่างมากมายพลิกความคาดหมาย วิโรจน์จึงได้เข้าไปแสดงบทบาทผู้แทนราษฎรในสภา

คอการเมืองส่วนใหญ่อาจจดจำวิโรจน์ได้จากการอภิปรายไอโอกองทัพหรือการตามจี้เรื่องวัคซีนโควิด แต่ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เขาตามติดอย่างต่อเนื่องในฐานะ ส.ส. และ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ก็คือปัญหาเรื่องการศึกษาของสังคมไทย

วิโรจน์แสดงวิสัยทัศน์ว่ามีปัญหาการศึกษาหลายประการที่ทางภาครัฐควรเข้าไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อผลประโยชน์ต่อเยาวชนในระยะยาว เช่น เรื่องงบประมาณอาหารเช้า

“เด็กไทยร้อยละ 60 ไม่ได้กินอาหารเช้า เรารู้อยู่แล้วว่าอาหารเช้ามีผลต่อสมองในการเรียนรู้ เรารู้งานวิจัยนี้มาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่จัดงบประมาณให้เด็กมีอาหารเช้า…

“คำถามว่าถ้าเด็กท้องหิวอย่างนี้ โภชนาการเป็นแบบนี้ เจอห้องน้ำแบบนี้ เสี่ยงที่จะถูกไฟดูดตาย เอาหลักสูตรฟินแลนด์มาสอน แต่เด็กยังหิวเหมือนเดิม คุณคิดว่าจะเกิดประโยชน์ไหม?”

 

เมื่อจี้ถามอย่างตรงไปตรงมาว่า ส.ส.วิโรจน์มีแนวคิด “ชังชาติ” อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาจริงหรือไม่? เจ้าตัวตอบกลับมาเป็นประโยคคำถามว่า

“ทำไมเราต้องยอมรับกับปัญหาที่เราเห็นอยู่ทุกวัน? ทุกคนไม่อยากให้ประเทศเราพัฒนาเหรอ? แต่คนที่กล้าพูดปัญหารากหรือปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ประเทศนี้เผชิญหน้าอยู่ คือหวังให้ประเทศเราก้าวกระโดดขึ้นไปหรือมีการพัฒนาที่เทียบเท่ากับอารยประเทศ นี่คือการชังชาติเหรอ?

“คนที่สร้างวาทกรรมนี้ (ชังชาติ) คือคนที่ทำตัวเป็นโซ่ตรวนที่พยายามฉุดให้ประชาชนรู้สึกว่า อย่าพัฒนา! คุณต้องเป็นอย่างนี้! คุณอยากจะตายไปโดยที่ลมหายใจสุดท้ายคุณอยากจะมีความฉุกคิดอย่างนี้เหรอ? ‘เฮ้ย เราเกิดมาในประเทศที่กำลังพัฒนา ลมหายใจสุดท้ายกำลังจะเลือนหายไป ประเทศก็ยังกำลังพัฒนาอยู่'”

เช่นเดียวกับข้อหาเรื่องการมีพฤติกรรม “ก้าวร้าว” ซึ่งวิโรจน์มองว่าเป็นคนละเรื่องกับการกล้าพูดในสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา

“กับประชาชนที่ผมไปพบ ไม่เห็นมีใครว่าผมก้าวร้าวสักคน แต่บอกว่ากวน teen มีนะ เวลาไปพบพูดคุยสังสรรค์ก็กวนประสาทอย่างนี้ แต่กวนประสาทด้วยความเคารพ เพราะเราอยากจะสร้างความสนุก ความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ

“สังคมไทยชอบมองอย่างนี้ คนที่กล้าพูดตรงไปตรงมา คนที่กล้าคิดและกล้าพูดในสิ่งที่คิด จะถูกมองว่าก้าวร้าว แต่เรากำลังสนับสนุนให้เด็กเรากล้าคิดในเชิงวิพากษ์ไม่ใช่เหรอ? กล้าที่จะเอาข้อมูลที่อยู่รอบตัวมาประมวลผลแล้วสรุปเป็นความคิดรวบยอด แล้วเสนอความคิดที่แปลกใหม่ออกไปไม่ใช่เหรอ? แล้วกล้าพูดในสิ่งที่คิดไม่ใช่เหรอ?”

ส.ส.ผู้สนใจประเด็นเรื่องการศึกษาจึงฟันธงว่า วิธีการควบคุมคนผ่านการแปะป้ายว่าเขามีพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น ไม่ใช่การกระตุ้นให้เกิด “ความคิดสร้างสรรค์” แต่เป็นการสอนให้เด็กรู้จักวิธี “เดาใจนาย” เพื่อไปรับใช้นาย

 

เมื่อถามว่าเขาอยากแนะนำหนังสืออะไรให้นายกรัฐมนตรีอ่าน? ส.ส.วิโรจน์เลือกหนังสือแปลที่มีชื่อว่า “วิธีพาตัวเองออกจาก ‘กล่อง’ ใบเล็ก” (Leadership and Self-deception : Getting out of the Box) ด้วยเหตุผลว่า

“ถ้าท่านอยู่ในกล่องเล็กๆ อยู่ท่ามกลางคนที่มาอวยท่าน แล้วโดยที่ท่านไม่ฟังคนอื่นที่พยายามจะสะท้อนความเห็นที่แตกต่างให้ท่านได้ฟังบ้าง สุดท้ายท่านจะมีสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น ‘ความมืดบอดของความเป็นเผด็จการ’ คือท่านจะได้ยินแต่เสียงอวย เสียงว่าบ้านเมืองเรามันดีอยู่แล้ว…

“ทั้งๆ ที่โลกแห่งความเป็นจริงวันนี้มันแย่มากแล้ว ผมว่าท่านต้องเปิดใจ เปิดกล่องตัวเองออกมา แล้วรับฟังคนที่คิดต่าง มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย อย่าคิดว่าเขาคิดแตกต่างจากเรา เป็นคนไม่ดี เป็นคนที่มุ่งมาดปรารถนาร้ายต่อท่านไปเสียหมด

“ท่านต้องเปิดใจบ้าง ปรับทัศนคติของท่านบ้าง เห็นท่านชอบปรับทัศนคติคนอื่น ท่านต้องมองกระจกแล้วปรับทัศนคติตัวเอง”

ก่อนจากกัน สองพิธีกรถามทิ้งท้ายว่า ส.ส.มืออภิปรายแห่งพรรคก้าวไกล อยากให้คนไทยมองและจดจำภาพของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” อย่างไร?

เจ้าตัวตอบทันทีว่า “เป็นคนที่ทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ที่สุด และอยากให้ทุกคนจำภาพ ส.ส.ที่ชื่อวิโรจน์ในฐานะที่เป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ได้เป็นเจ้านายประชาชน

“ดังนั้น ผมย้ำตรงนี้และย้ำมาทุกครั้งที่มีโอกาสว่า ถ้าเจอผม ใครที่อายุมากกว่าผมและจะนับผมเป็นพี่เป็นน้อง เรียกผม ‘วิโรจน์’ ได้เลย เรียกผมน้องได้เลย สำหรับน้องๆ ที่อายุน้อยกว่าและคิดว่าอยากให้ผมเป็นพี่ เรียกผม ‘พี่วิโรจน์’ ได้เลย หรือจะเรียกชื่อเฉยๆ ก็ได้ อายุรุ่นราวคราวเดียวกันบวกลบ อยากจะนับผมเป็นเพื่อน เรียกชื่อผมได้เลย

“ผมอยากจะให้ประชาชนจำผมในฐานะผู้แทนของเขา เป็นผู้รับใช้เขา ไม่ได้เป็นเจ้านายเขา”

นี่คือถ้อยคำของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงบทบาทสาธารณะครั้งสำคัญ ด้วยการหันมารับใช้ประชาชนในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.