‘เข้มแข็ง’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางป่า - ฝูงกวางได้ใช้ชีวิตไปตามวิถีอย่างที่ควรเป็นในแหล่งอาศัยเพราะความเอาจริงของคนทำงานในป่า

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เข้มแข็ง’

 

นอกจาก “เจ้าน้ำตา” ผมพบว่าคนทำงานในป่าส่วนใหญ่ที่รู้จัก และร่วมงานด้วยอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลานานๆ จนกระทั่งสนิทสนม มักมีคุณสมบัติอีกอย่างคือ เกรงใจภรรยา รวมทั้ง “เข้มแข็ง” ในแบบของพวกเขา เกือบทุกคนเวลาเข้ามาลางานกับหัวหน้า ถ้าหัวหน้าถามว่าจะกลับบ้านไปทำอะไร จะมีคำตอบคล้ายๆ กันว่า “เมียให้กลับ” เพื่อทำธุระโน่นนี่

ในวงเหล้า ส่วนใหญ่พอผ่านไปสักสองขวด เสียงคุยโขมง ดัง เก่งกล้าแย่งกันพูด ไม่มีใครฟังใคร แต่หากเสียงเงียบๆ ไป สันนิษฐานได้ว่า เมียเดินมาใกล้

บางครั้งมีเสียงฝ่ามือกระทบใบหน้า เพราะเรียกให้กลับหลายครั้งไม่ฟัง เป็นอันว่าวงแตกแยกย้าย

ว่าไปแล้วเรื่องเหล้ากับคนทำงานในป่า คือของคู่กัน ในช่วงเวลาพัก จึงมักเต็มที่ คงไม่ผิดหรอกหากจะเข้าใจว่าเป็นการชดเชยกับตอนทำงาน ซึ่งหนัก รวมทั้งช่วยให้ลืมๆ สภาวะที่ดูเหมือน “ปัจจัย” และความใส่ใจ จะน้อยกว่าผลงานที่พวกเขาทำ

ภรรยาของหลายๆ คนเปลี่ยนวิธีไม่บ่นว่า แต่เข้ามาร่วมวงกินด้วย หลายคนคอแข็งกว่าด้วยซ้ำ จึงกลับกลายเป็นว่า สามีผู้ห้าวหาญทั้งหลายต้องคอยปรามๆ ภรรยาแทน

 

เรื่องความเกรงใจภรรยาของคนทำงานในป่านี้ อดิเทพ คู่หูผม ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

อดิเทพ คือคู่หูซึ่งผมเขียนถึงบ่อย เล่าเรื่องราวของเขาเสมอๆ

จนวันหนึ่งมีคนเข้าไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่าที่เขาอยู่ และถามหาอดิเทพ ทำเอาเขางงๆ ว่าคนรู้จักเขาได้อย่างไร

 

อดิเทพเรียกภรรยาในภาษาไทยว่าแม่ โดยปกติเขาใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร เมื่อพูดภาษาไทย เขาจะบอกทุกคนว่า นี่คือแม่ของเขา ไม่ใช่แม่ในความหมายที่ใช้เรียกแทนลูก แต่เขาใช้คำว่าแม่ ในความหมายของความรัก และเคารพอย่างเคร่งครัด

เขามีลูก 10 คน เหลือมีชีวิต 5 คน ตอนที่เราทำงานด้วยกันนั้น สองคนเป็นผู้หญิงมีครอบครัวไปแล้ว ส่วนอีก 3 คน คนหนึ่งเพิ่งอายุครบเกณฑ์ทหาร อีกคนเพิ่งจบ ม.3

อีกคนเข้าไปทำงานแถวๆ ชานเมืองกรุงเทพฯ

 

“ลูกชายผมดื้อครับ” เขาเล่าข้างกองไฟ เขาเล่าเรื่องครอบครัวให้ฟัง เล่าซ้ำๆ อยู่ในป่าเกิน 10 วัน สองคนไม่มีเรื่องอะไรใหม่คุยสักเท่าใดหรอก

“ก่อเรื่องแล้วขอให้ช่วยบ่อยๆ” เขาเล่าต่อ

“แต่ผมไม่ช่วยหรอก ให้หาทางเอาเอง”

นอกจากเรื่องสำคัญที่เขาจะยื่นมือเข้าไปยุ่ง คือตอนที่ลูกชายทะเลาะกับแฟน

เวลาเมียบอกอะไรต้องเชื่อ อย่าดื้อ ดูพ่อสิ เคยเถียงอะไรแม่ไหม” เขาสอนลูกชายแบบนี้

 

ช่วงเวลาหลังกินข้าวนั่งข้างกองไฟ เป็นเวลาที่ผมจะได้รับฟังเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องซ้ำนั่นแหละ

แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ผมรู้ว่า อยู่ในป่ากันสองคน หน้าที่ซึ่งดีที่สุด อาจไม่ใช่การพูด สิ่งสำคัญคือการรับฟัง

และ “ฟัง” อย่างได้ยินเรื่องที่เขาเล่า

 

อดิเทพช่วยให้งานในป่าผมง่ายขึ้น ทุกครั้งที่ผมบอกใครๆ ว่า ภาพสัตว์ป่าที่เห็นนี้ ผมคือคนที่ทำงานง่ายที่สุด แค่เพียงกดชัตเตอร์ ผู้ที่ทำให้ภาพสัตว์ป่าเหล่านี้มาปรากฏได้ เป็นผลงานของคนทำงานในป่า ที่เอาจริงกับการปกป้องตัวและแหล่งอาศัยของพวกมันไว้

ผมหมายถึงอดิเทพด้วย

นอกจากช่วยให้ชีวิตในป่าง่ายขึ้น เขายังเป็นครูสอนภาษา ช่วยให้ผมอยู่ในวงสนทนาที่ใช้ภาษาถิ่นอย่างเข้าใจบ้าง

เรื่องความห่วงใยนั้น ผมพูดถึงเหตุการณ์ที่ผมรู้ว่าเขาห่วงใยผมอย่างแท้จริงบ่อยๆ

วันที่กระทิงตัวหนึ่งวิ่งเข้าชาร์จ เขาวิ่งขึ้นต้นไม้ด้านหลังอย่างว่องไว เขาบอกสาเหตุที่เผ่นก่อนว่า

“ต้องมีคนอยู่เพื่อออกไปบอกคนข้างนอกว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไรนะครับ”

นับเป็นเหตุผลที่รับฟังได้

 

ช่วงกลางๆ เดือนมกราคม ต้นไม้เปลี่ยนสีใบทั่วทั้งป่า หลายต้นทิ้งใบเหลือแค่ก้านแห้งๆ ไม่ช้าไฟจะเข้า หลังจากนั้น จะเป็นช่วงวลาอันรื่นรมย์ของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กินพืช

ระบัด หรือหญ้าอ่อนๆ ปกคลุมเต็ม ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม ดูราวกับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ รอยกระทิง, กวาง เหยียบย่ำไปทั่ว กระทิงฝูงละ 10-15 ตัวเคลื่อนที่ช้าๆ เลาะเล็มหญ้าไปเรื่อยๆ ตลอดคืนเสียงกู่ร้องก้องไปทั่วบริเวณ จนฟ้าสว่างราวๆ 7 โมงเช้า จึงค่อยๆ ทยอยหายเข้าไปในป่าทึบ

ท่ามกลางความรื่นรมย์ ความสมบูรณ์ของอาหาร ความมีชีวิต และความตายอยู่ใกล้ๆ กัน เสือโคร่งเฝ้าตามมาอย่างอดทน

งานของเสือประสบผล ซากกระทิงถูกใช้อย่างคุ้มค่า

นี่เป็นเวลาที่อดิเทพต้องไปช่วยเพื่อนๆ ในหน่วยลาดตระเวน ในทุ่งอันสมบูรณ์ ไม่เพียงนักล่าอย่างเสือมาเฝ้ารอ คนรับจ้างฆ่าสัตว์เพื่อเอาเขา ก็มุ่งหน้ามาแหล่งสมบูรณ์นี้ด้วย

งานลาดตระเวนต้องทำอย่างเข้มข้น

เมื่อสัตว์กินพืชล้มตายเพราะงานของนักล่าประสบความสำเร็จ คือช่วงเวลาเริ่มต้นงานเลี้ยง

แต่เมื่อสัตว์ตายเพราะคมกระสุน คำที่เหมาะสมและเป็นจริงคือ โศกนาฏกรรม…

 

ข้างๆ กองไฟ ผมนั่งฟังเรื่องเดิมๆ มองหน้าคู่หูผ่านเปลวไฟที่ไหววูบวาบ คล้ายกับว่า พวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงให้ผู้ชายอยู่ข้างหน้า แต่แท้จริงทุกเรื่องราว ทุกการตัดสินใจจะทำโดยผู้หญิง

ผ่านเปลวไฟไหววูบวาบ ลูกไฟแตกกระจาย ผมเห็น “ผู้ชาย” คนหนึ่งชัด

 

ตลอดเวลาของการทำงานในป่า ผมผ่านการมีคู่หูมาหลายคน

สำหรับอดิเทพ คงพูดไม่ได้หรอกว่า คือคู่หูที่เก่งที่สุด เขาไม่รู้เรื่องสัตว์ป่าสักเท่าใด

แต่เขาสอนให้ผมรู้และเข้าใจความหมายของความ “เข้มแข็ง” อันเป็นคุณสมบัติที่ผู้ชายควรมี…