ใครต่อนิ้วพระพุทธรูปให้ ‘พระเจ้าดับภัย’? (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ใครต่อนิ้วพระพุทธรูป

ให้ ‘พระเจ้าดับภัย’? (จบ)

 

เรื่องการต่อนิ้วพระพุทธรูป ปรากฏอยู่ในตำนานการสร้างพระพุทธสิหิงค์ หรือ “สิหิงคนิทาน” ที่รจนาโดยพระโพธิรังสี ราว 500 กว่าปีที่ผ่านมา

ตามที่เราทราบกันดีว่าในบรรดาพระพุทธสิหิงค์ทั้งสามองค์ (ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่, องค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า และองค์ที่เรียกกันว่าพระขนมต้ม นครศรีธรรมราช) นั้น พบว่ามีร่องรอยของการต่อนิ้วพระพุทธรูปอยู่องค์เดียวคือองค์ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

แต่เป็นการมาต่อนิ้วในยุคหลังแล้ว เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ได้ทราบเนื้อหาในตำนานพระพุทธสิหิงค์แล้วว่า จะมีผู้มีบุญญาธิการมาต่อนิ้วพระพุทธรูปให้พระพุทธสิหิงค์

ซ้ำองค์ที่พระองค์ต่อนิ้วให้นั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธรูปในกลุ่ม “พระสิงห์ 1” ซึ่งควรจะเป็นพระพุทธสิหิงค์มากกว่า

แนวคิดเรื่องการ “ต่อนิ้วพระพุทธรูป” เกิดขึ้นได้อย่างไร พบในตำนานฉบับใดบ้าง และการที่ “พระเจ้าดับภัย” ณ วัดดับภัย ในคูเมืองเชียงใหม่ มีนิ้วกลางยาวมากเป็นพิเศษ จะเกี่ยวข้องกับคตินิยมดังกล่าวด้วยหรือไม่ เราค่อยๆ มาวิเคราะห์กันทีละเปลาะ

นิ้วพระหัตถ์นิ้วกลางที่ยาวมากเป็นพิเศษของพระเจ้าดับภัย ยังคงเป็นปริศนาว่ามีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการต่อนิ้วพระพุทธรูปหรือไม่

นิ้วเสมอกันทั้งสี่นิ้ว vs นิ้วเหลื่อมแบบธรรมชาติ

เชื่อว่าหลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมกลุ่มพระพุทธรูปสุโขทัยขนาดใหญ่ที่สร้างแถบเมืองพิษณุโลกช่วงอาณาจักรสุโขทัยตอนปลายหลายองค์ เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา เป็นต้น จึงมีนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่เสมอกัน (ไม่นับนิ้วโป้ง องคุลี ซึ่งต้องสั้นกว่านิ้วอื่น)

ทำไมช่างสร้างพระพุทธปฏิมาในสมัยพระญาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 จึงตีความเรื่องนิ้วพระพุทธรูปเช่นนั้น คิดขึ้นเองหรือได้เค้ามูลมาจากแหล่งใด

ในขณะที่พระพุทธรูปบางองค์ทั้งของสุโขทัย (เช่น หมวดใหญ่หรือหมวดคลาสสิค) และทั้งของล้านนา (เช่น พระสิงห์ หรือพระพุทธสิหิงค์หลายองค์ รวมทั้งพระเจ้าดับภัยที่กำลังวิเคราะห์นี้) กลับมีนิ้วพระหัตถ์แบบธรรมชาติคล้ายมนุษย์

ดังนั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงคติการต่อนิ้วพระเจ้าให้ยาวขึ้น ขอปูพื้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำนิ้วพระหัตถ์สองลักษณะให้ทราบกันเสียก่อน ว่าเหตุไรบางองค์นิ้วเสมอกัน และทำไมบางองค์มีนิ้วเหลื่อม?

พบว่าเอกสาร “พระปฐมสมโพธิ” ของฝ่ายเถรวาท ได้ระบุเรื่อง “มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนิ้วพระหัตถ์ไว้ในหัวข้อ “ทีฆงฺคุลิ” ดังนี้

“พระพุทธเจ้ามีพระองคุลีนิ้วพระหัตถ์นิ้วพระบาทยาวงาม นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 และนิ้วพระบาททั้ง 5 มีประมาณเสมอกัน ไม่เหลื่อมยาวไม่เหลื่อมสั้นดังสามัญมนุษย์”

ด้วยเหตุนี้เองกระมัง ทำให้สมัยพระญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยทรงตีความเรื่องนิ้วพระหัตถ์พระพุทธปฏิมาใหม่ ด้วยการกำหนดให้นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 เสมอกัน (ยกเว้นนิ้วโป้ง-องคุลี) ยาวจรดฐานรองรับเท่าๆ กัน

ในดินแดนล้านนาพบว่า คตินิยมในการทำนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 เสมอกัน เริ่มขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เช่น พระพุทธรูปองค์สำคัญยิ่งคือ “พระเจ้าเก้าตื้อ” ในอุโบสถวัดสวนดอก

สอดรับกับการที่ในอาณาจักรล้านนามีพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งนาม “พระสุวัณณรังสีเถระ” ได้รจนา “ปถมสมโพธิกถา” เป็นภาษาบาลี ขึ้นในรัชสมัยพระเมืองแก้ว คัมภีร์เล่มนี้ ระบุถึงเรื่องนิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธองค์ว่ายาวเสมอกัน มิได้เหลื่อมกัน

ส่วนแนวคิดด้านการทำนิ้วพระหัตถ์เหลื่อมกันแบบธรรมชาตินั้น เป็นการยึดเอาตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการของฝ่ายมหายาน รวมทั้งฝ่ายนิกายสรวาสติวาท (มหายานผสมเถรวาท) ที่เป็นคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต เนื้อหาใหนส่วนนิ้ว หาได้กำหนดคุณลักษณะว่านิ้วเท้านิ้วมือต้องยาวเสมอกันแต่อย่างใดไม่

ด้วยเหตุนี้ การสร้างพระพุทธปฏิมาตั้งแต่ยุคแรกในอินเดีย สมัยคันธาระ จนถึงคุปตะ ปาละ จึงไม่มียุคใดที่ทำนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 เสมอกันเลย

 

ปัญญาสชาดกล้านนา เรื่องที่ 20 ว่าด้วยอานิสงส์ของการต่อนิ้วพระพุทธรูปหรือ “วัฏฏังคุลีชาดก”

แนวคิดเรื่องการต่อนิ้วพระพุทธรูปให้ยาว

พบเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่ 3 ชิ้น ได้แก่ 1.ใน “ปัญญาสชาดก” 2.ใน “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” 3.ใน “สิหิงคนิทาน”

เอกสารชิ้นแรก “ปัญญาสชาดก” หรือที่เรียกว่า “ชาดกนอกนิบาต/ชาดกนอกพระไตรปิฎก” แต่งโดยพระภิกษุล้านนาในสายที่อ้างว่าได้รับสืบทอดข้อมูลมาจากรุ่นสู่รุ่นในฝ่ายศิษยานุศิษย์ของพระอานนท์ พระอรหันตสาวกผู้ใกล้ชิดกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปัญญาสชาดกลำดับที่ 20 คือเรื่อง “วัฏฏังคุลีราชชาดก” มีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี ได้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าในการสร้างรูปเหมือนแทนพระพุทธองค์ จากนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงอานิสงส์ของการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป โดยอิงไปถึงอดีตกาลเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเมืองอมรวดีว่า

ช่วงที่พ่อค้าหนุ่มแรมรอนไปที่ต่างๆ ได้พบพระพุทธรูปที่นิ้วพระหัตถ์หักไปนิ้วหนึ่ง จึงเอาดินเหนียวปั้นปฏิสังขรณ์นิ้วพระพุทธรูปให้สมบูรณ์ ชาติถัดมาได้เกิดเป็นพระราชานาม “วัฏฏังคุลีราช” ทรงมีพระราชอำนาจมาก แค่ชี้นิ้วไปที่ใด ไม่กล้ามีศัตรูมาต่อกร

อานิสงส์ยังข้ามภพข้ามชาติไปจนถึงพระชาติสุดท้าย บังเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ กลายเป็นพระพรมศาสดา สามารถเอาชนะมารด้วยการเอานิ้วพระหัตถ์ชี้ลงบนแผ่นดิน

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงพระญามังรายได้แรงดาลใจจากการฟังเรื่อง “ปัฐบังคุลี” ต่อนิ้วพระพุทธรูป ทำให้สร้างพระพุทธรูปมากถึง 5 องค์

เอกสารชิ้นที่สอง ปรากฏใน “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ตอนที่พระญามังรายประทับอยู่เวียงกุมกาม (ก่อนสร้างนครเชียงใหม่) มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระมหากัสสปเถระเจ้าได้เกลี้ยกล่อมให้พระญามังรายสร้างพระพุทธรูป โดยยกอานิสงส์ผลที่พระเจ้า “ปัฏฐังคุลี” ได้ต่อนิ้วพระพุทธรูป (อันที่จริงพระเจ้าปัฏฐังคุลี ก็คือพระเจ้าวัฏฏังคุลี นั่นเอง แต่เขียนต่างกันไป) ยังมีผลานิสงส์มากถึงขนาดมีอำนาจราชศักดิ์

และหากยิ่งได้สร้างพระพุทธรูปทั้งองค์ จะยิ่งมีเดชานุภาพมากเพียงไหน ในที่สุด แทนที่จะแค่ “ต่อนิ้วพระพุทธรูป” พระญามังรายจึงตัดสินพระทัยสร้างพระพุทธรูปจำนวนมากถึง 5 องค์เลยทีเดียว

 

นิ้วไหนไม่บริสุทธิ์ให้ตัดออกแล้วต่อใหม่

โยงกับพยากรณ์ผู้มีบุญญาธิการ

เอกสารชิ้นที่สาม ตำนานสิหิงคนิทาน รจนาโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 มีข้อความเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการสร้างพระพุทธสิหิงค์ว่า

หลังจากที่พญานาคได้เนรมิตกายเป็นรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระราชาของลังกาได้ทอดพระเนตรแล้ว พระราชาทั้ง 3 พระองค์ พร้อมพระอรหันต์ 20 รูป ได้จดจำพุทธลักษณะต่างๆ ไว้

จากนั้นได้เรียกช่างหล่อโลหะฝีมือดีมาปั้นหล่อพระพุทธรูปขึ้น เมื่อปั้นและสร้างพิมพ์พระเสร็จแล้ว ขณะที่ช่างกำลังเททองลงในพิมพ์ พระราชาองค์หนึ่งถือแส้หางปลากระเบนเดินไปมา เห็นช่างหล่อคนหนึ่งทำงานไม่ถูกพระทัย จึงตวัดแส้ไปถูกนิ้วของช่างผู้นั้นเข้า

ด้วยเหตุนี้ เมื่อหล่อรูปพระเสร็จ นิ้วพระหัตถ์นิ้วหนึ่ง (ไม่ระบุว่านิ้วไหน จะเป็นนิ้วกลางเหมือนพระสิงห์ที่วัดดับภัยหรือไม่?) จึงไม่บริสุทธิ์ เบื้องแรกพระราชาลังกาทั้ง 3 องค์ ตั้งใจจะตัดนิ้วที่ไม่บริสุทธิ์นี้ออกเสียเพื่อทำใหม่ให้เรียบร้อย

แต่พระอรหันต์ 20 รูปกลับทัดทานไว้ว่า “ต่อไปภายหน้าพระพุทธรูปองค์นี้จะไปอยู่ที่ชมพูทวีป (ความเป็นจริงคือ ในแผ่นดินสยาม?) แล้วจะทวนกระแสน้ำไปยังที่ต้นแม่น้ำ (หมายถึงล้านนา?) ณ ที่นั้น จะมีพระราชาพระองค์หนึ่งที่มีความศรัทธา จะตัดต่อนิ้วให้บริสุทธิ์เอง

จากสิหิงคนิทาน โดยพระโพธิรังสี ต่อมาได้มีผู้นำตำนานพระพุทธสิหิงค์ ไปเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วอีกหลายฉบับ แต่เนื้อหายังคงเดิม ตอนต้นยังคงกล่าวถึงนิ้วพระพุทธสิหิงค์ไม่บริสุทธิ์ ต้องรอผู้มีบุญญาธิการมากระทำการต่อนิ้วให้

การเดินทางของพระพุทธสิหิงค์ค่อนข้างยาวไกล (รายละเอียดจักอยู่ในตอนที่จะวิเคราะห์ถึงเรื่องพระพุทธสิหิงค์โดยตรง เร็วๆ นี้) ขอรวบรัดตัดความมาเฉพาะกรณีการต่อนิ้วพระพุทธรูป ซึ่งตรงกับสมัยของท้าวมหาพรหม ผู้เป็นพระอนุชาของพระญากือนา

ท้าวมหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรไปไว้ยังเชียงราย “ได้สักการบูชา แล้วทำการตัดนิ้วพระหัตถ์ที่ไม่บริสุทธิ์ออก ปั้นรูปขี้ผึ้งหล่อทองสัมฤทธิ์ใหม่ ทำให้นิ้วพระหัตถ์บริสุทธิ์”

หากตำนานตอนนี้มีส่วนจริงทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ก็ย่อมแสดงว่า พระพุทธสิหิงค์องค์ดั้งเดิม องค์ที่เป็นแรงบันดาลใจของการเขียนตำนานเรื่องนี้ ก็ย่อมต้องมีตำหนิที่นิ้วพระหัตถ์ นิ้วใดนิ้วหนึ่ง (ไม่ทราบว่านิ้วไหน) และผู้มีบารมีที่ถูกพยากรณ์ก็คือ “ท้าวมหาพรหม” นั่นเอง

การต่อนิ้วพระพุทธสิหิงค์ของท้าวมหาพรหม กระทำขึ้น ณ เมืองเชียงราย จากนั้นต้องส่งมอบให้แก่พระญาแสนเมืองมา ผู้เป็นหลานและได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา (พระญากือนา) ตามพันธะสัญญา

น่าสนใจว่า ช่วงนั้น ท้าวมหาพรหมนำเอาพระพุทธสิหิงค์องค์ไหนถวายแด่ยุวกษัตริย์ เพราะพระองค์ได้จำลองพระพุทธสิหิงค์ขึ้นด้วยอีกองค์หนึ่ง

ไม่รู้ล่ะ ว่าท้าวมหาพรหมเอาองค์แท้ที่ได้จากกำแพงเพชรหรือเอาองค์จำลองถวายพระเจ้าหลาน ที่แน่ๆ พระพุทธสิหิงค์องค์ดั้งเดิม ย่อมต้องมีร่องรอยของการต่อนิ้วพระหัตถ์ นิ้วใดนิ้วหนึ่งใช่หรือไม่?

และปริศนาเรื่องนิ้วพระหัตถ์ของ “พระเจ้าดับภัย” ซึ่งเป็นรูปแบบพระสิงห์ 1 ที่มีนิ้วกลางยาวมากเป็นพิเศษ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีการต่อขึ้นใหม่หรือไม่ ยังคงต้องสืบค้นกันต่อไป