เอสซีจีกับช่วงท้าทาย (อีกครั้ง) / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

เอสซีจีกับช่วงท้าทาย (อีกครั้ง)

 

เอสซีจี กำลังจะเข้าสู่ระยะขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง

เกี่ยวเนื่องมาจากการประกาศปรับคณะผู้บริหารของเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) หรือที่เรียกกันเป็นทางการว่าคณะจัดการ (เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564) มีผลเมื่อต้นปี 2565 (1 มกราคม) บุคคลกับตำแหน่งที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และดูแลงานการเงินและการลงทุน

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าคงเป็นไปตามแบบแผนที่ผ่านมาๆ ในไม่ช้า เขาจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำเอสซีจีคนใหม่

และเชื่อกันอีกว่า อยู่ภายใต้กระบวนการสืบทอดอันต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ นับเป็นรุ่นที่ 4 จากยุคชุมพล ณ ลำเลียง

ว่าไปแล้ว แต่ละยุคอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แตกต่างกันไป

 

ชุมพล ณ ลำเลียง (กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2536-2548) ผู้อยู่เบื้องหลังแผนยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างโลดโผนในยุคก่อนหน้า เมื่อมาถึงยุคตนเองกลับทำอย่างนั้นไม่ค่อยได้ ด้วยเผชิญภาวะไม่เอื้ออำนวย

มองอย่างกว้างๆ เขาสามารถปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อก้าวข้ามวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้อย่างดี

หากพิจารณาอย่างเจาะจงว่าด้วยแนวทางธุรกิจ ถือได้ว่าเขาได้วางรากฐานสำคัญๆ ไว้ โดยเฉพาะการบุกเบิกธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร (เอสซีจี เรียกว่า ธุรกิจเคมิคอลล์) และชิมลางสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาค

ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นกรรมการเอสซีจีตั้งแต่ปี 2535 เมื่อพ้นวาระผู้บริหารคงอยู่ต่อ จนเป็นกรรมการที่อยู่ตำแหน่งยาวนานที่สุดในคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ชุดซึ่งพลิกโฉมหน้าไปอย่างมาก เป็นปรากฏการณ์สำคัญในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงกรรมการชุดเก่าวัยกว่า 70 ปีเกือบยกชุด ส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งกันมาแล้วราวๆ 2 ทศวรรษ เป็นมาตั้งแต่ยุคคนไทยเป็นผู้จัดการใหญ่ กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว

ปัจจุบัน ชุมพล ณ ลำเลียง มีตำแหน่งสำคัญในฐานะรองประธานกรรมการ เป็นที่รู้กันในวงในว่ามีบทบาทและอิทธิพลไม่น้อย

ยุคต่อเนื่องมาคือ กานต์ ตระกูลฮุน ผู้จัดการใหญ่ผู้อยู่ในตำแหน่งหนึ่งทศวรรษเต็ม (2549-2558) เป็นยุคที่มีสีสัน มีการเปลี่ยนแปลงจากภายในมากที่สุดก็ว่าได้ เป็นไปอย่างครึกโครมตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการดำรงตำแหน่งเลยทีเดียว

เปิดฉาก (มีนาคม 2549) การทำ branding ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จาก Siam Cement Group เป็น SCG ตามแผนการเป็น regional leader อย่างจริงจัง

ต่อมากลางปี 2551 ประกาศแผนสร้างองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม ทุ่มงบฯ วิจัยและพัฒนา 6,000 ล้านบาท ใน 5 ปี ที่น่าสนใจ ผลงานของเขาในช่วงทศวรรษ สะท้อนภาพโดยรวมเป็นไปเช่นนั้น ไม่ว่าพิจารณาจากตัวเลขทางการเงินหรือราคาหุ้น แม้ว่าบางช่วงต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลก และช่วงท้ายๆ ของยุค เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระ

ยะชะลอตัวแล้วก็ตาม

กานต์ ตระกูลฮุน คงเป็นกรรมการเอสซีจีอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นมาแล้วกว่า 15 ปี อยู่นานเป็นรองแค่ชุมพล ณ ลำเลียง

เป็นอีกคนหนึ่งให้ภาพความต่อเนื่องว่าด้วยบทบาทมืออาชีพที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ

 

ยุครุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (2559-ปัจจุบัน) เป็นช่วงพัฒนาการต่อเนื่องกัน ถือเป็นความสำเร็จทางธุรกิจที่น่าศึกษา ทำผลงานช่วงแรกๆ ไว้อย่างน่าทึ่ง สร้างฐานกำไรขึ้นสู่ระดับใหม่ (ระดับ 50,000 ล้านบาท ติดต่อกันในช่วงปี 2559-2560) พร้อมกับมีการจ่ายเงินปันผลสูงที่สุดอย่างน้อยก็ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังพยายามรักษาระดับไว้ได้ใกล้เคียงอย่างพอใจ (โปรดพิจารณาข้อมูลการจ่ายเงินปันผล-อ้างมาจาก APAC Resources Conference 9 December 2021)

แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์พลิกผันครั้งสำคัญ ทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทครั้งใหญ่อย่างที่ว่าไว้ และเมื่อสังคมโลกและไทยเผชิญภัยพร้อมเพรียงอย่างคาดไม่ถึง กลายเป็นช่วงเวลา Great Lockdown ท่ามกลางวิกฤตกาณ์ COVID-19 ตอกย้ำด้วยบทวิเคราะห์คาดการณ์อย่างน่าวิตก โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองเศรษฐกิจโลกปี 2563 ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เมื่อราวๆ 90 ปีที่แล้ว ทั้งคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยโตจะตำต่ำที่สุดในอาเซียน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้มีประสบการณ์การบริหารการกอบกู้กิจการในต่างประเทศ และโดยเฉพาะงานวางแผนและบริหารการเงินมายาวพอสมควร คาบเกี่ยวกับช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 มองกันว่าเขามีสไตล์การบริหารอย่างระแวดระวัง และดูให้ความสำคัญผลตอบแทนทางธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นไปไม่น้อย

อย่างที่ผมเคยเสนอไว้ มีอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาฐานรายได้เอสซีจีคงอยู่ระดับเดิมมาตลอดทศวรรษ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างหนึ่งไม่เคยมีมาก่อนก็ว่าได้ มีอีกมิติเมื่อมองผ่านดัชนีตลาดหุ้น ปรากฏว่าในช่วงทศวรรษ ราคาหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC สะท้อนวงจรหนึ่งซึ่งได้ผ่านช่วงสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ และมีทิศทางค่อยๆ ลดลงมาอย่างช้าๆ อันที่จริงเป็นไปตามแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นแรงกดดันบางระดับให้เอสซีจีแสวงหาธุรกิจใหม่ เติบโตใหม่ก็เป็นไปได้

ด้วยมีภาพเทียบเคียงกับเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทย ซึ่งพลิกโฉม พลิกยุทธศาสตร์อย่างมากมาย เพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ยุครุ่งโรจน์ รังสิโยภาส มีการปรับโครงสร้างธุรกิจดั้งเดิม สู่กลุ่มที่เรียกว่า เอสซีจี แพ็กเกจจิ้ง รวมทั้งดำเนินแผนการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากเอสซีจีเว้นวรรคไปถึง 17 ปี เป็นแผนการในช่วงเวลาท้าทาย ท่ามกลาง Great Lockdown แต่ผลออกมาในทางบวกอย่างน่าทึ่ง ด้วยเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็ว สอดคล้องกับกระแส แต่ทั้งนี้ยังไม่อาจเชื่อว่าเป็นธุรกิจซึ่งสร้างพลัง สร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อพัฒนาการเอสซีจีในองค์รวม

เชื่อว่า ภาระและโจทย์ต่างๆ ควรจะมีมากกว่านี้ ในบ่าผู้นำคนใหม่

 

ในภาพกว้างๆ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม มีเส้นทางคล้ายๆ กับทั้งกานต์ ตระกูลฮุน และรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผ่านประสบการณ์ทำงานในเครือข่ายต่างประเทศมาพอสมควร ก่อนเข้าสู่ภาระกิจใจกลางเอสซีจีในฐานะ CFO แต่เมื่อพิจารณาอย่างโฟกัสเขามีสายสัมพันธ์กับกานต์ ตระกูลฮุน มากเป็นพิเศษ ในฐานะผู้มีประสบการณ์โดยเฉพาะธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจที่มีบุคลิกระดับภูมิภาคมาก เช่นเดียวกับกานต์ ตระกูลฮุน ประสบการณ์สำคัญมาจากการบริหารโครงการเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่ในอินโดนีเชีย จึงเดินหน้าเต็มตัวในปี 2554 ตามแผนการธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรอินโดนีเซีย นอกจากเป็นการบุกเบิกครั้งใหญ่ ยังมีส่วนนำร่องให้ธุรกิจดั้งเดิม (ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง) ออกสู่โลกภายนอกครั้งแรกด้วย

ปี 2565 ช่วงเวลากำลังก้าวสู่ 110 ปี จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของเอสซีจีอีกช่วงหนึ่ง