ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ผี พราหมณ์ พุทธ
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
พุทธธรรมกับสังคม?
: คารวาลัยท่านติช นัท ฮันห์
ในราวปี พ.ศ.2541 ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย จังหวัดระนอง ห่างไกลเมืองกรุงหนักหนา ร้านหนังสือจึงมีไม่มาก แต่มีร้านหนึ่งอยู่ใกล้บ้าน ผมมักไปยืนอ่านหนังสือด้วยความสนอกสนใจ และเพราะเจ้าของร้านรู้จักกับคุณพ่อ ท่านจึงให้ผมมายืนอ่านฟรีๆ ได้โดยไม่ว่า
วันหนึ่ง มีหนังสือใหม่หนาหนักอยู่บนชั้น หน้าปกเป็นภาพวาดเหมือนคนในชุดน้ำตาลกำลังเดินอยู่ด้วยกัน “รักที่แท้” เป็นชื่อหนังสือเล่มนั้น ผมพลิกอ่านแล้วก็รู้สึกติดใจ เพราะเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตของภิกษุณีรูปหนึ่ง จึงตัดสินใจซื้อกลับมาอ่านที่บ้านต่อ
รักที่แท้คืออัตชีวประวัติของภิกษุณีเจิงคอม ศิษย์อาวุโสของท่าน “ติช นัท ฮันห์” (หรือ ทิก เญิ้ต หั่ญ ตามการออกเสียงแบบเวียดนาม แต่ในที่นี้ผมจะขอใช้ชื่อท่านตามที่คุ้นเคยกัน) ภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม หนังสือเล่มนั้นเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านนัท ฮันห์ หรือที่ศิษย์เรียกว่า ไถ่ (พระอาจารย์) รวมทั้งศิษย์ต้องเผชิญในช่วงเวลาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในเวียดนาม แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังยึดมั่นในความรักต่อเพื่อนมนุษย์
โอ้โห ภิกษุณีและพระที่พูดเรื่องการต่อสู้ด้วยความรัก ทำไมจะไม่จับจิตจับใจหนุ่มน้อยวัยแสวงหาอย่างผมล่ะครับ แม้หนังสือรักที่แท้จะไม่ใช่งานของท่านติช นัท ฮันห์ โดยตรง
แต่ก็เป็นประตูบานใหญ่ที่ทำให้ผมรู้จักภิกษุรูปนี้
จากนั้นผมก็ได้ติดตามอ่านหนังสือแทบทุกเล่มของท่าน “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” กลายเป็นหนังสือธรรมะอันดับหนึ่งในใจ อ่านแล้วก็ได้แต่รำพึงว่า โอ ทำไมท่านเขียนเรื่องยากๆ ให้เราเข้าใจได้ง่ายเพียงนี้ กลิ่นภาษาขึงขังตามขนบแทบไม่มี แถมยังเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกอ่อนโยน งดงาม รู้สึกว่า ท่านยังได้สกัดเอาแก่นธรรมของการปฏิบัติมาสู่ชีวิตของเราได้จริงๆ
นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า พระก็สามารถพูดอะไรที่งดงาม สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ ทำให้คนโลกย์ๆ อย่างเราพอจะใกล้สิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติได้บ้าง และทำให้ประสบการณ์สามัญอย่างความรัก แปรเปลี่ยนเป็นเรื่องธรรมะได้
ยิ่งในช่วงวัยสะรุ่น หัวใจว้าวุ้น มีความรัก แอบรัก แต่ในขณะเดียวกันก็อยากขัดเกลาตนเอง อยากจะเป็นคนที่ดี อยากจะมีความรักที่แท้จริง หนังสือของท่านก็เข้ามาเหมือนเพื่อนอีกคนในช่วงเวลานี้ ที่คอยให้คำปรึกษาและกำลังใจ
การพยายามจะมีรักแท้นี่ยากนะครับ รักแบบอุดมคติเลย ฉันก็แค่รักเธอ จะไม่เอาอะไรจากเธอ จะรักและปรารถนาให้เธอเป็นสุขอะไรทำนองนี้อ่ะครับ วัยรุ่นใสๆ ซื่อๆ คนหนึ่งก็อยากจะบรรลุถึงสิ่งนั้น แต่จะทำยังไงถ้าไม่มีที่ปรึกษาที่คอยเชียร์ว่า เหย เป็นไปได้น่า สิ่งนี้เป็นไปได้
ในบรรดาหนังสือทั้งหลายของท่าน แม้จะรักหนังสือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอมาก เพราะเป็นเล่มแรกที่ได้อ่านงานของท่านโดยตรง แต่ที่ผมรักยิ่งไปกว่าคือ “ปลูกรัก” พระที่ไหนกันมาเล่าถึงประสบการณ์ความรักของตนเอง พระที่เปิดเผยว่าฉันเคยแอบรักภิกษุณีรูปหนึ่งนะ แต่เพราะฉันเลือกที่จะเป็นพระ ฉันจึงต้องเศร้าใจ กระนั้นฉันก็ยังคงเดินไปบนเส้นทางการของการภาวนาและจะรักษาความรักไว้ต่อไป โดยให้มันไม่ทำลายอุดมการณ์ของชีวิต
หนังสือเล่มนี้นอกจากเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของท่าน แต่ก็สลับกับการอธิบายพระสูตรต่างๆ ของฝ่ายมหายาน แม้จะดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องเดียวกัน คือธรรมในพระสูตรทั้งหลายกำลังทำงานกับประสบการณ์ชีวิตของท่านหรือช่วยให้เข้าใจมากขึ้นนั่นเอง
อีกสองเล่มที่สะเทือนใจคือ “ทางกลับคือการเดินทางต่อ” บทละครจากเรื่องจริงที่เล่าถึงลูกศิษย์คนหนุ่มสาวของไถ่ คนเหล่านี้โดนฆ่าจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้คนท่ามกลางความขัดแย้ง แม้จะแสนเศร้าแต่ก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดความโกรธแค้นใดๆ และเล่มที่ชื่อ “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” รวมบทกวีของท่านนัท ฮันห์ บางบทอ่านแล้วน้ำตาไหลเพราะเห็นความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ในสงครามและความรุนแรง
ผมตามซื้อหนังสือของท่านแทบทุกเล่ม จนเมื่อท่านมาเมืองไทยเพื่อมาแสดงธรรมที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยมหิดล ผมก็ตามไปฟัง ใจคิดเพียงอยากจะเห็นท่านตัวเป็นๆ อยากจะยกมือไหว้ท่านสักครั้งหนึ่ง
มีศรัทธาถึงเพียงนั้น
ที่เล่ามาทั้งหมด ก็เพียงอยากแบ่งปันกับท่านผู้อ่านว่า พระภิกษุที่ผมไม่ได้เป็นศิษย์ ไม่เคยพบในทางส่วนตัว ไม่เคยพูดคุย แต่ได้สร้างแรงดลใจอย่างมากมายในวัยหนุ่ม ดังนั้น เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ 22 มกราคม 2565 ผมเศร้าใจอยู่ลึกๆ และยังสร้างความเสียใจแก่ผู้คนมากมายทั่วโลก
ผมจึงอยากใช้พื้นที่นี้แสดงคารวาลัยต่อท่านติช นัท ฮันห์ สิ่งที่ท่านได้ทำแก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์นั้นยิ่งใหญ่ ซึ่งกระทำด้วยความอ่อนน้อม ทั้งแสดงให้เห็นว่าพุทธภาษา พุทธพิธีกรรมและพุทธวัฒนธรรมสามารถจะปรับให้เข้าสู่โลกสมัยใหม่ โดยยังคงเนื้อหาสาระแห่ง “พุทธธรรม” เอาไว้ได้อย่างไร
แม้จะเศร้าโศกอยู่บ้าง แต่ผมไม่ได้รู้สึกใกล้ชิดท่านเหมือนในวัยหนุ่มอีกแล้ว ผมไม่ได้อ่านงานของท่านมานานเพราะชีวิตและวิธีคิดเปลี่ยนไป
บางครั้งก็รู้สึกว่าสิ่งที่สังคมชาวพุทธไทยพูดถึงเกี่ยวกับท่าน นำเสนอตัวท่าน หรือ “คัด” คำสอนของท่านมาเผยแผ่ มันช่างต่างออกไปจากท่านติช นัท ฮันห์ ที่ผมรู้จักในวัยหนุ่มเสียแล้ว
ผมยอมรับว่านอกเหนือจากการปรับพุทธธรรมให้สมสมัย ซึ่งทำให้ผมประทับใจมาก อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือท่านได้แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติการทางสังคมการเมืองกับพุทธรรมนั้นไปด้วยกันได้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรแยกออกจากกันดังที่เราเคยคิด
การตีความพุทธรรมเพื่อให้การปฏิบัติการทางการเมืองเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรเอาใจใส่ให้มาก ท่านเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้จนได้บัญญัติศัพท์ “engaged buddhism” หรือพุทธศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งในความเข้าใจของผมนั้น ท่านคงหมายถึงการที่ชาวพุทธไม่หันหนีออกจากความทุกข์และความอยุติธรรมทางสังคม ไม่ได้ปลีกวิเวกออกไปจากปัญหาที่สังคมเผชิญ แต่เข้าไปมีส่วนร่วม (engaged) กับปัญหานั้นอย่างเต็มที่
ด้วยการบ่มเพาะความกรุณาและความกล้าหาญจากวิถีภาวนาแบบพุทธ การเข้าไปมีส่วนร่วมนั้นจึงยังคงดำเนินต่อไปได้โดยใช้วิธีการที่สันติ อหิงสา ปราศจากความรุนแรงทั้งทางกายและใจ
ผมคิดว่านี่คือเสน่ห์อย่างมากในคำสอนยุคแรกๆ ของท่าน ซึ่งทำให้ผมในวัยหนุ่ม รวมทั้งบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองหลายต่อหลายคนให้ความสนใจต่อคำสอนของไถ่ ต่างอยากเข้าไปเรียนรู้ ศึกษา
ทว่าเมื่อท่านติช นัท ฮันห์ เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการพุทธศาสนาของบ้านเรา คำสอนที่มีภาษางดงาม เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน บทกวีที่ไพเราะ แนวทางแห่งความรักและการเจริญสติ ต่างเป็นที่ถูกอกถูกใจแก่บรรดาชนชั้นกลางซึ่งไม่ปรารถนาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือความขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น
คำสอนและตัวตนของท่านจึงถูก “คัดสรร” นำเสนอในสื่อต่างๆ เท่าที่พวกเขาปราถนา ผมไม่ทราบว่าตัวท่านเองเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ท่านพูดเรื่องความขัดแย้งและความอยุติธรรมทางสังคมลดลงหรือเปลี่ยนไปหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยเลือกแค่บางแง่มุมของท่านมานำเสนอยาวนานหลายปี
“engaged buddhism” มีความหมายเพียง “พุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรมเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตยุคปัจจุบันได้” สำหรับผม ดูเหมือนกลิ่นอายของการปฏิบัติการทางสังคมการเมืองเจือจางจนแทบหายไปแล้ว ราวกับว่า engaged buddhism คือการดูแลสันติภาพในใจของแต่ละคนไปพร้อมๆ กับดูแลคนใกล้ตัวก็น่าจะเพียงพอ
ส่วนความขัดแย้งและปัญหาทางสังคมทั้งหลาย ดูเหมือนจะมุ่งไปสู่การแก้ไขด้านจิตใจมากกว่าการพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
บทกวีแสนงาม “ดั่งดอกไม้บาน” ของท่าน กลายเป็นเพลงซึ่งหลายโรงเรียนเอามาบังคับให้นักเรียนทำกายบริหารทุกวันตอนเช้า โดยไม่ได้สนใจว่าความหมายที่ลึกซึ้งของบทกวีนี้คืออะไร และเด็กๆ มันจะเบื่อหน่ายแค่ไหนที่โดนบังคับให้ทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ
ที่จริงไม่เพียงแค่ท่านนัท ฮันห์ หรอกครับที่สังคมไทยตัดมิติที่ลึกซึ้งหลายอย่างออกไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเมือง แม้แต่องค์ทะไลลามะ หรือครูบาอาจารย์อีกหลายท่านก็ถูก “คัดสรร” คำสอนและตัวตนแบบนี้เช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงความเข้าใจผิดของผมคนเดียวก็ได้ ซึ่งอาจทำให้ศิษยานุศิษย์หรือผู้ชื่นชอบท่านไม่พอใจ ผม จึงต้องขออภัยไว้ก่อน
กระนั้น ผมก็รักท่าน เคารพท่านและรู้สึกเศร้าโศกถึงการจากไปของท่านเช่นกัน ผมจึงได้เขียนทั้งหมดนี้ด้วยความอาลัย
สำหรับผมแล้ว ท่านก็เป็นดั่งกวีที่ท่านเขียน คือเป็นเมฆ เมฆไม่เคยตาย แต่กลายเป็นฝน เป็นแม่น้ำ
และกลับกลายเป็นเมฆอีกครั้ง