พื้นที่สาธารณะ/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

พื้นที่สาธารณะ

 

พื้นที่สาธารณะมีความจำเป็นอย่างขาดไม่ได้แก่ระบอบประชาธิปไตย

แต่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะเฉยๆ ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งมีหลักประกันเสรีภาพในระดับที่มากพอจะทำให้สิทธิประชาธิปไตย เช่น การแสดงออกและการรวมตัวกันเป็นไปได้ ในขณะเดียวกัน พื้นที่สาธารณะนั้นต้องมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพด้วย

เรื่องของประสิทธิภาพและสมรรถภาพของพื้นที่สาธารณะนี้ ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม

 

ประชาธิปไตยคือระบอบอำนาจและสังคม-วัฒนธรรม ที่เปิดให้มีการต่อสู้ขัดแย้งแข่งขันกันได้ในเรื่องสำคัญสามเรื่อง คือ นโยบายสาธารณะ, ความนิยมชมชอบทั้งส่วนตัวและสาธารณะ และระบบคุณค่า แต่การต่อสู้ขัดแย้งแข่งขันนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ก็ต่อเมื่อกระทำไปด้วยความรู้ความเข้าใจข้อเท็จจริงระดับพื้นฐานร่วมกัน มิฉะนั้นแล้ว ความเห็นที่แย้งกันนั้นก็จะกลายเป็นเหตุวิวาทกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีฝ่ายใดจำได้ว่าขัดแย้งกันเรื่องอะไร

ดังเช่นข้อพิพาทระหว่างสลิ่มและไม่สลิ่มในปัจจุบัน เกือบจะกลายเป็นการประณามกันเสียมากกว่าการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็น เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่อาจชี้นำแนวนโยบาย, ความนิยมชมชอบ หรือระบบคุณค่าใดๆ

พื้นที่สาธารณะที่สำคัญที่สุดในสังคมสมัยใหม่คือสื่อและการศึกษามวลชน เพราะนำเอาข้อเท็จจริงพื้นฐานกระจายไปยังพลเมืองได้กว้างขวางที่สุด ในขณะที่เสนอความเห็นและข้อถกเถียงในสามเรื่องดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่น่าเสียดายที่ในสังคมไทย พื้นที่สาธารณะที่สำคัญยิ่งยวดนี้ ขาดเสรีภาพหรือมีจำกัด เพราะตกอยู่ในความควบคุมของรัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งในกฎหมายและนอกกฎหมาย

ในระยะหลัง เมื่อทุนเข้ามาใช้ประโยชน์จากสื่อ (มากกว่ารัฐ) ทุนจึงเป็นผู้สนับสนุนสื่อรายใหญ่สุด สื่อก็ตกอยู่ใต้อำนาจทุนมากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกัน สื่อเองก็กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนสูงและทำกำไรสูง จึงทำให้สื่อไม่กล้าเสี่ยงทางธุรกิจ มาตรฐานของการเสนอข่าว, ความเห็น หรือความบันเทิงกลายเป็นความปลอดภัยและรายได้ มากกว่าความจริง, มุมมองที่มีเหตุผล หรือเสริมสร้างสติปัญญาและความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ความรู้สึก

ในประเทศไทยซึ่งให้อำนาจควบคุมสื่อแก่รัฐสูงเกินไป ความปลอดภัยของสื่อจึงไม่ได้อยู่ที่ความพอใจของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความพอใจของผู้มีอำนาจในรัฐด้วย สื่อจึงไม่เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนจริง

แม้แต่ในรัฐสภาซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอีกชนิดหนึ่ง ประธานก็ยังมีหน้าที่เซ็นเซอร์คำอภิปรายของสมาชิก ประชาชนไทยจึงเลือก ส.ส.ไปพูดในสิ่งที่อยู่ในกรอบซึ่งชนชั้นนำกำหนดไว้เท่านั้น

ในปัจจุบัน สื่อโซเชียลเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสื่อสารทั้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้อย่างอิสระ และนั่นคือเหตุผลที่รัฐพยายามเข้ามากำกับควบคุมสื่อโซเชียลด้วยกฎหมายและหน่วยงานจำนวนมาก แม้รัฐไม่ประสบความสำเร็จเต็มที่เท่ากับการควบคุมสื่อประเภทอื่น แต่สื่อโซเชียลก็มีปัญหาในตัวเองเพราะย่อมมีทั้งข้อมูลจริงและเท็จผสมปนเปกัน ดังนั้น ข้อมูลพื้นฐานที่ต่างรู้ร่วมกันย่อมขาดหายไปด้วย ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันทางนโยบาย, ความนิยมชมชอบ และระบบคุณค่า จึงมีแนวโน้มจะกลายเป็นการวิวาทมากกว่าการแลกเปลี่ยน

ความแตกแยกในสังคมที่เราเห็นในทุกวันนี้ เป็นผลจากข้อเสนอที่ดูเหมือน “สุดโต่ง” น้อยกว่าเป็นผลมาจากการขาดพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพในสังคมไทย

 

นอกจากขาดเสรีภาพในพื้นที่สาธารณะที่ออกไปทางนามธรรม เช่น การศึกษา หรือสื่อ หรือการอภิปรายในรัฐสภาแล้ว พื้นที่สาธารณะที่ออกไปทางรูปธรรม ก็ยังไม่อยู่ในความควบคุมของพลเมืองและทำให้โอกาสที่จะใช้พื้นที่เหล่านี้อย่างอิสระเป็นไปได้ยากด้วย

ที่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะที่ออกไปทางรูปธรรมในที่นี้ หมายถึงพื้นที่ซึ่งไม่มีข้อห้ามหยุมหยิมกระจุกกระจิกด้วยเรื่องของการแต่งกาย, มารยาท หรือการกระทำอื่นๆ ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อวิถีทางใช้ประโยชน์พื้นที่นั้นของคนอื่น ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้หลัก หากจะมีกฎเกณฑ์ใดๆ บังคับใช้ในพื้นที่สาธารณะ ก็ต้องเป็นกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้คือประชาชนทั่วไป

อันที่จริงวัดก็เป็นพื้นที่อันมีลักษณะดังกล่าวนี้เช่นกัน แต่นอกจากประชาชนแล้ว ยังมีภิกษุร่วมใช้พื้นที่นี้ด้วย ประเพณีแต่ก่อนจัดการกับการใช้ร่วมระหว่างคนสองเพศนี้ได้ เช่น แยกกุฏิสงฆ์ออกไปนอกบริเวณที่ฆราวาสใช้เป็นประจำ ดังพระวิหารตลอดจนถึงลานวัด แต่วัดยังเป็นของประชาชนซึ่งเป็นผู้สร้างและอุปถัมภ์สืบมา ฉะนั้น วัดจึงเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางโลกย์ได้หลายอย่าง รวมทั้ง “การเมือง” ด้วย เช่น ชุมนุมกันเพื่อขอให้ภิกษุบางรูปย้ายออกไปเสียจากวัดหรือสึก ชุมนุมกันเพื่อไปช่วย “นาย” ชิงราชสมบัติ หรือรบพม่า

แต่การปฏิรูปศาสนาของรัฐไทยเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ ได้ริบเอาวัดและพระที่เคยเป็นของประชาชนให้กลายเป็นของรัฐไปหมด พื้นที่วัดซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ได้ในประเด็นที่กว้างขวางพอสมควร จึงหดแคบมาเหลือแต่การใช้ประโยชน์ตามที่รัฐเห็นสมควรเท่านั้น

เปรียบเทียบกับโบสถ์คริสต์ (โดยเฉพาะนิกายโปรเตสแตนต์) หรือสุเหร่า-มัสยิดของมุสลิม นอกจากใช้ประกอบศาสนกิจแล้ว ยังเป็นพื้นที่พูดคุยประเด็นปัญหาทางสังคมในชุมชนหรือในบ้านเมืองโดยรวมเป็นปรกติ ไม่จำเป็นว่าประเด็นที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้พลเมืองเข้าไป “มีส่วนร่วม” กับการบริหารจัดการสังคมและการเมือง ในชุมชนหรือในประเทศ บทบาทเช่นนี้ไม่มีในวัดไทยปัจจุบัน

 

สนามหลวงนั้นเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนมาแต่แรก ชื่อที่รัฐตั้งให้ก็บอกอยู่แล้วว่าใช้ในพระราชพิธีออกพระเมรุ แต่ในเนื้อเพลงลาวครวญก็บอกอยู่แล้วว่า เชลยชาวลาวใช้เป็นที่จับกบในฤดูฝนด้วย ต่อมาคงจะหลัง 2475 แล้วกระมัง ก็กลายเป็นปาร์กประจำเมือง เพราะเมืองยังกระจุกอยู่แถบใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ปาร์กเช่นสวนลุมพินีจึงไกลเกินไปแก่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แก้ปัญหาของแพงด้วยการเปิดสนามหลวงให้เป็นตลาดนัดทุกสัปดาห์ และนับตั้งแต่นั้นสนามหลวงก็เป็นพื้นที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์เป็นหลัก

จนถูกผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มาจากการเลือกตั้งยึดเอาไปไม่นานมานี้เอง

ควรตระหนักด้วยว่า สมัยหนึ่งสนามหลวงเป็นจุดรวมของรถเมล์เกือบทุกสาย จนตลกของ ป.อินทรปาลิตมักกล่าวว่า บ้านนอกเข้ากรุงต้องไปตั้งหลักที่สนามหลวงก่อน ถึงจะเดินทางไปบ้านญาติได้ถูก ลักษณะจุดศูนย์รวมการเดินทางของผู้คนในเมืองใหญ่เช่นนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการชุมนุมทางการเมือง และสนามหลวงก็เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองของคนไทยมานานมาก ทั้งที่รัฐเป็นผู้จัดหรือประชาชนจัดเอง

 

พื้นที่สาธารณะสำหรับการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ อาจขยับปรับเปลี่ยนไปจากสนามหลวงได้ แต่พื้นที่ประเภทนี้ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ว่างเสมอไป ต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญคือลักษณะรวมศูนย์ ทางกายภาพหรือการเดินทางก็ตาม เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้

พลังของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ชื่อหรือประวัติของมันเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากลักษณะรวมศูนย์ของมันด้วย อนุสาวรีย์ฯ ตั้งอยู่กลางถนนขนาดใหญ่ ซึ่งรวมทางแยกทั้งในระยะใกล้และไกลไว้จำนวนมาก สะดวกแก่การไหลเข้าของผู้คนทั้งด้วยยานพาหนะหรือเดินเท้า ทั้งๆ ที่พื้นที่ของตัวอนุสาวรีย์ฯ ไม่ได้เป็นลานกว้างใหญ่สักเท่าไรนัก แต่หากการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมมาก ก็อาจเลยไปถึงถนนยาวเหยียดทั้งสองข้างได้

ถ้าดูเฉพาะจากความกว้างใหญ่ของพื้นที่ สวนลุมพินีเหมาะแก่การชุมนุมเสียยิ่งกว่า แต่สวนลุมฯ ไม่มีนัยยะความหมายเรื่องการประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐเอาเลย จะชุมนุมในเชิง “บริรักษ์จักรี” หรือ “เชียร์ลุงตู่” ก็ได้ แต่ “ปฏิรูปสถาบัน” หรือ “ฉันได้ยินตู่” ไม่ได้ เพราะขาดพลัง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือสวนลุมฯ ไม่มีลักษณะรวมศูนย์ อย่างอนุสาวรีย์ฯ

คงจำกันได้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. เคยเคลื่อนเข้าไปใช้สวนลุมฯ ในการต่อต้านรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ แต่ในที่สุดก็ต้องออกมาสู่พื้นที่ซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์มากกว่า เช่น เชิงสะพานมัฆวาน หรือสี่แยกปทุมวัน

จุฬาฯ มีพื้นที่เป็นลานสำหรับการชุมนุมทางการเมืองได้กว้างใหญ่กว่าธรรมศาสตร์ แต่ธรรมศาสตร์ต่างหากที่เหมาะแก่การชุมนุมทางการเมืองเชิงต่อต้านมากกว่า เพราะธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีลักษณะรวมศูนย์ดังกล่าว ยังไม่พูดถึงพลังของความหมายทางการเมืองซึ่งธรรมศาสตร์มีเต็มเปี่ยม

แต่ภายใต้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจาก รสช. ดูเหมือนประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้สูญเสียพื้นที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ของการประท้วงนี้ไปเสียแล้ว เพราะกำลังตำรวจอย่างหนาแน่นและแก๊สน้ำตา ถูกใช้เพื่อจะยึดเอาพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและ มธ.ไปอยู่ในความควบคุมของรัฐ จนกระทั่งเสรีภาพที่จะทำอะไรในการชุมนุมประท้วงเริ่มถูกควบคุมไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำบนเวทีหรือนอกเวที

ในปัจจุบัน พื้นที่สาธารณะสำหรับการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ ก็หายไป เช่นเดียวกับอีกในหลายเมืองใหญ่ของเอเชีย

 

ด้วยความอนุเคราะห์ของคุณสมชาย จิว ซึ่งผมถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเมืองของเอเชียที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ผมจึงอยากเปรียบเทียบพื้นที่สาธารณะสำหรับการชุมนุมทางการเมืองในเมืองของเอเชียกับกรุงเทพฯ ดูบ้าง

เมื่อตอนอังกฤษเข้ามายึดเอาย่างกุ้งไปเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมพม่า สถาปนิกอังกฤษวางผังเมืองย่างกุ้งใหม่ โดยให้พระเจดีย์สุเลเป็นศูนย์กลางของเมือง และนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวเพื่อกอบกู้อิสรภาพจนถึงการต่อต้านรัฐประหารของมินอ่องหล่าย รวมทั้งการลุกฮือในเหตุการณ์ 8888 และปฏิวัติผ้าเหลือง พระเจดีย์สุเลถูกใช้เป็นที่รวมพล ซึ่งแม้ไม่ได้มีลานกว้างแต่ผู้ชุมนุมก็อาจล้นออกมาในแนวถนนกว้างใหญ่สองข้าง เหมือนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ

จัตุรัสเทียนอันเหมินในปักกิ่งเพิ่งถูกขยายจนใหญ่โตหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจได้ เหมาวางแผนให้ใหญ่ขนาดสามารถบรรจุคนได้ถึง 500,000 ด้วย และการฉลองขนาดใหญ่ของพรรคในวาระครบรอบต่างๆ ก็ทำกันที่นี้ จนกลายเป็นจุดชุมนุมของประชาชนมาหลายครั้ง เช่น เมื่อนายกฯ โจวเอินไหลถึงแก่อนิจกรรม ไปจนถึงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยจนถูกปราบอย่างรุนแรง

ลานอนุสาวรีย์เจียงไคเช็กในไทเปก็เช่นเดียวกัน มีขนาดใหญ่และถูกใช้ชุมนุมทางการเมืองของประชาชนมาหลายครั้ง จนในที่สุดแม้แต่พรรคก๊กมินตั๋งก็ยังต้องยอมให้เปลี่ยนชื่อลานนั้นเป็น “ลานเสรีภาพ” อาจเป็นเมืองเดียวในเอเชียกระมังที่พื้นที่สาธารณะซึ่งมีศักยภาพสำหรับการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายประชาชน ยังไม่ถูก “ปิด” ด้วยการสังหารโหดหรือสังหารหมู่ ซ้ำดูเหมือนจะมีกติกาที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมสูงสุด ผิดจาก Victoria Park ในฮ่องกง การใช้อำนาจรัฐจับกุมคุมขังผู้ประท้วง หรือผู้มีความเห็นต่างอย่างกว้างขวาง ทำให้การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นได้ยาก

ว่าเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้เพื่อการชุมนุมทางการเมือง พันธมิตรชานมดูจะอ่อนแอลงไป ยกเว้นแต่ในแหล่งกำเนิดชานมเองเท่านั้น และเหล่าพันธมิตรต้องหันไปใช้พื้นที่สาธารณะที่ออกไปทางนามธรรมมากขึ้น เช่น มีมบนโซเชียลมีเดีย