พรฯหอฯนฯ็ยฯฯฯ “พะหน้อย” / ล้านนาคำเมือง : ชมรมฮักตั๋วเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

พรฯหอฯนฯ็ยฯฯฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “พะหน้อย”

แปลว่า “สามเณร”

ในสมัยโบราณ การศึกษาของกุลบุตรคือการบวชเรียน วัดคือแหล่งวิทยาการ คนล้านนาถือว่าการบวชเรียน คือ “การเปลี่ยนคนดิบให้กลายเป็นคนสุก”

หมายความว่ากุลบุตรใดที่ผ่านการบวชเรียนแล้ว คือผู้ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้อยู่ในครรลองของพุทธศาสนา

เป็นการรับประกันว่า ใครที่ผ่านการบวชเรียนมาก่อน จะถึงซึ่งการรู้หนังสือ รู้เรื่องของจริยธรรม จิตใจถูกขัดเกลา มีศีลธรรม

ย่อมจะเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม ทำให้สถานะทางสังคมของคนผู้นั้นสูงขึ้น

 

การบรรพชาสามเณรจะนิยมบวชเมื่อเด็กชายมีอายุ 12 ปี โดยถือว่าเป็นการบวชเพื่อทดแทนคุณมารดา ซึ่งมีพระคุณ 12 ประการ

ทั้งคนล้านนายังเชื่อว่า พระพุทธศาสนาของพระสมณะโคดมจะมีอายุเพียง 5,000 ปี การบวชเณรคือการอุทิศตนเพื่อสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถึง 5,000 ปีดังคำทำนาย

ก่อนจะบวชเป็นสามเณรราว 1 ปี เด็กชายจะถูกส่งไปอยู่วัด เป็น “เด็กวัด” ก่อน โดยพ่อแม่จะนำตัวไปฝากฝังกับเจ้าอาวาส เมื่อทางวัดรับมอบตัวแล้ว เจ้าอาวาสก็จะส่งให้พระพี่เลี้ยงหรือสามเณรที่บวชมาก่อนช่วยดูแลสั่งสอน เหมือนเป็นโรงเรียนเตรียมสามเณร

เมื่อเป็นเด็กวัดก็มีหน้าที่ช่วยงานวัด ฝึกใช้ชีวิตให้ชินกับวัตรปฏิบัติของวัดแบบเดียวกับที่สามเณรจะพึงปฏิบัติ ฝึกสวดมนต์ ที่สำคัญต้องเรียนอักษรล้านนา ให้อ่านออกเขียนได้ เมื่อผ่านการทดสอบและประเมินผลแล้ว จึงจะได้รับอนุญาตให้บวชเป็นสามเณรได้

ก่อนบวชเณร เด็กชายจะได้รับการอาบน้ำชำระร่างกาย ทาขมิ้น โกนศีรษะ แต่งกายด้วยแพรพรรณ สวมเครื่องประดับสร้อย สังวาล กำไล แหวน สวมชฎา ขี่ม้า เลียนแบบเจ้าชายสิทธัตถะตอนออกบวชโดยมีม้ากัณฐกะเป็นพาหนะ

นี่คือกระบวนการเป็นนาคสามเณร ที่เรียกขานกันว่า “ลูกแก้ว”

 

คนล้านนาจะให้ความสำคัญกับการบวชลูกแก้วเป็นพิเศษ อย่างน้อยก็มีเหตุผลทางสังคม กล่าวคือ ประการแรก เด็กชายยังมีอายุน้อยกำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต ยังไม่พร้อมที่จะใช้แรงงานช่วยทำมาหากิน จึงควรใช้เวลาศึกษาให้มีความรู้ติดตัวจะเหมาะสมกว่า

ประการต่อมา เด็กชายวัยบวชเณรถือว่าเป็นวัยบริสุทธิ์ ยังไม่ประสากับโลกียวิสัย เมื่อบวชเณรย่อมยังอานิสงส์ให้ผ่องใส เป็นที่พึ่งพาในโลกของจิตวิญญาณ

เป็นการส่งเสริมคุณธรรมด้านกตัญญุตาให้ได้ผลสูงสุด

คนล้านนานิยมบวชเณรจนครบเวลา 4 ปี โดยมีคำกล่าวว่า บวชให้ครบ “สี่แจ่งผ้าเหลือง” ระยะเวลาดังกล่าวอาจจะเหมาะสมแล้วในการบ่มเพาะกุลบุตร

พอครบสี่ปี ส่วนใหญ่สามเณรมักจะลาสิกขา แต่ก็จะมีส่วนหนึ่งที่บวชต่อจนอายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาเมื่ออายุถึงเกณฑ์ 21 ปี

เมื่อสามเณรสึกออกมาจะได้รับสถานะทางสังคมว่าเป็น “น้อย” ไปไหนมาไหนก็จะมีคนเรียก “น้อย” นำหน้าชื่อ เช่น น้อยไจยา น้อยดี น้อยประเสริฐ เป็นต้น

พรฯหนฯอฯ้ยฯฯสิกฯแลฯ้วฯเปนฯน้อฯยฯ พระหน้อยสิกแล้วเป๋นน้อย แปลว่า สามเณรเมื่อสึกแล้วเรียกว่า “น้อย”

 

หากมีเชื้อสายเป็นไทใหญ่ จะใช้คำว่า “ส่าง” แทน เนื่องจากในขณะบวช ไทใหญ่เรียกสามเณรว่า “เจ้าส่าง” พอสึกออกมาก็เป็นส่าง เช่น ส่างคำปัน ส่างยอด เป็นต้น

สำหรับคนเชื้อสายลาวเรียกคนเคยบวชเณรว่า “เซียง” ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “ส่าง”

ในล้านนาบางท้องที่เช่น แม่แวน อ.พร้าว ก็เรียกคนเคยบวชเณรว่า “เชียง” เช่น เซียงหน้อย

และบางทีก็เรียกว่า “ใหม่ ” เช่น ใหม่แก้ว ที่มีบ้านอยู่หลังวัดมหาวันเชียงใหม่

สรุปแล้ว หลังลาสิกขาออกมาจากสามเณร ชาวบ้านจะยกย่องเพิ่มสถานะเป็นคนสุก มีชื่อเรียกนำหน้าเป็น “น้อย” แต่มีบางท้องที่ใช้คำว่า “ส่าง” “เซียง” และ “ใหม่” ก็เรียก