อนุบาล = ตลอดชีวิต / เรื่องสั้น : สาทิส ไฟพิมพ์

เรื่องสั้น

สาทิส ไฟพิมพ์

 

อนุบาล = ตลอดชีวิต

 

ครูวรีพรไม่ค่อยแน่ใจนัก เด็กมากเรื่องหรือผู้ปกครองเรื่องมากกันแน่!

การสอบบรรจุเข้าทำงานโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ว่ายากแล้ว สิ่งที่ยากกว่ากลับเป็นการเรียนการสอน รวมไปถึงการแก้ปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

“ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วครู เด็กก็ไม่เหมือนเดิม ยิ่งผู้ปกครองนี่เยอะกว่าเด็กเสียอีก” ผู้อำนวยการบอกครูวรีพรตั้งแต่วันรายงานตัว

เมื่อวานกว่าครูวรีพรจะละสายตาจากสมาร์ตโฟนได้ก็เกือบสี่ทุ่ม ผู้ปกครองเด็กในชั้นเกือบทุกคนไลน์มาถามการบ้านทุกวิชา และเกือบทุกข้อ

เหมือนมันไม่ใช่การบ้าน เป็นเกมที่ต้องเล่นกันทั้งครอบครัว แม้โจทย์ทุกข้อปรากฏในแบบเรียน และผู้ปกครองบางคนเปิดอ่านทั้งหมดตั้งแต่ซื้อหนังสือให้ลูกแล้ว แถมครูวรีพรได้อธิบายให้เด็กฟังอย่างละเอียดก่อนกลับบ้านอีกต่างหาก…ทว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็ยังเกิดขึ้น

“ข้อนี้ฉันว่าโจทย์ผิดนะคะครู” “คำถามอะไรก็ไม่รู้ กำกวม ขนาดผู้ใหญ่ยังงง แล้วเด็กจะทำได้ไง” “น่าจะมีเฉลยมาให้ด้วยนะคะ จะได้รู้ว่าทำถูกหรือเปล่า?” “ลูกไม่ค่อยปลื้มกับการบ้าน มันยากเกินไป ปรับให้ง่ายกว่านี้ได้ไหมคะครู?” ฯลฯ

นอกจากสอน ครูวรีพรยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนอกห้องอีก กว่าจะผ่านไปแต่ละวัน เธอเหนื่อยจนหมดแรง…บ่อยครั้งเธอผล็อยหลับแบบไม่รู้ตัว

 

ช่วงเช้าเกือบทุกวัน หน้าโรงเรียนคลาคล่ำไปด้วยรถยนต์หลากยี่ห้อ ผู้ปกครองขับมาส่งลูกหลาน นักเรียนหนึ่งคนต่อรถหนึ่งคัน ชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 เฉลี่ยชั้นละหนึ่งร้อย รวมๆ แล้วก็เกือบหนึ่งพันคน จำนวนรถยนต์ก็ประมาณนี้ ไม่นับรถรับส่งนักเรียนแบบหลายที่นั่ง

สมัยเรียนชั้นประถม ครูวรีพรอาศัยรถรับส่งนักเรียน รถกระบะดัดแปลงให้มีหลังคาคล้ายรถสองแถว เดินทางไปกลับ บางวันก็อาศัยรถเมล์หรือรถโดยสารประจำหมู่บ้าน

เธอยังจำช่วงเวลานั้นได้ดี ต้องเสียสละให้รุ่นน้องนั่งด้านใน พวกผู้ชายออกมาโหนอยู่ท้ายรถ เธอเป็นผู้หญิงตัวโตที่สุด ครั้นที่นั่งไม่พอ จำต้องออกมาโหนกับพวกผู้ชาย เป็นความเสี่ยงที่จำเป็น วันปกติค่อยยังชั่ว ร้อนบ้างแต่ไม่มาก หากหน้าหนาวกับฝน ต้องทนกับความเย็นและเปียกปอน อยากได้วิชาความรู้ต้องอดทนและทำใจ รถราก็ใช่จะมีมากมายเช่นยุคปัจจุบัน

เดี๋ยวนี้รถดังกล่าวพอมีอยู่บ้าง แต่เหลืออยู่ไม่มาก เหตุผลด้านความปลอดภัย นิยมใช้รถตู้รับส่งนักเรียนแทน ทว่าประเด็นความปลอดภัยก็ยังไม่จบ และเกือบทำให้ครูวรีพรเดือดร้อนเช่นกัน

วันหนึ่งต้นฤดูร้อน คาบเรียนเริ่มได้ไม่นาน ครูวรีพรกวาดตามองรอบห้อง เก้าอี้ ด.ญ.วันวิภา ลูกบ้านสวน ว่างเปล่า ผู้ปกครองยืนยันทางโทรศัพท์เด็กมาเรียนตามปกติ หากป่วยอยู่ห้องพยาบาล หรือมีกิจธุระ ก็น่าจะแจ้งหรือฝากเพื่อนบอก…ส่วนเรื่องโดดเรียนกับถูกลักพาตัวคงเป็นไปได้ยาก ทว่าก็ยังไม่ตัดสองประเด็นนี้ออกไป ครูวรีพรพยายามคิดรอบด้าน

“ใครขึ้นรถรับส่งคันเดียวกับวันวิภาบ้าง?”

ด.ญ.เทียมใจ อยู่บ้านโคน ยกมือ “หนูค่ะ…เมื่อเช้านี้ยังนั่งรถมาด้วยกัน แต่ทำไมไม่เห็นวันวิภาในห้องคะ”

“เอาล่ะ ทุกคนเอาหนังสือภาษาไทยเล่มสองออกมาอ่านบทที่สามไปพลางๆ ก่อน ครูจะไปตามหาวันวิภา”

ครูวรีพรตามหาเด็กจนทั่วโรงเรียน ไม่พบตัว เธอภาวนาขออย่าให้เป็นอย่างที่คิด ความกลัวคืบคลานเข้าเกาะกุมจิตใจ

โชคดี ด.ญ.เทียมใจจำสถานที่จอดรถตู้รับส่งได้ “ปกติจะจอดรอแถวๆ สวนสาธารณะหน้าโรงเรียนค่ะ”

ครูวรีพรพร้อม รปภ.จ้ำอ้าวข้ามถนนมุ่งตรงเข้าสวน สายตาสอดส่ายหารถตู้สีบรอนซ์เงิน แล้วก็ต้องปวดหัวตุบๆ เพราะรถที่จอดอยู่บริเวณนี้ ส่วนใหญ่สีบรอนซ์เงิน!

“พี่รู้จักคนขับรถชื่อสม ไหมครับ” รปภ.ถามบรรดาคนขับรถรับส่งนักเรียน นั่งล้อมวงหมากรุกอยู่สี่ห้าคน

“จอดรถอยู่ใต้ต้นมะม่วงริมสระนู้นแน่ะ”

รถตู้จอดสงบนิ่ง ไร้วี่แววคนขับ ครั้นครูวรีพรกับ รปภ.ส่องกระจกบริเวณเบาะหลัง แทบช็อก!

ด.ญ.วันวิภานอนเหยียดยาว เธอคงหมดสติไปแล้ว

บรรดาคนขับรถผละจากวงหมากรุกมาช่วยกันงัดบานกระจก ครูวรีพรโทร.แจ้ง 1669

“ศูนย์อีเอ็มเอสโรงพยาบาล…เกิดเหตุที่ไหนครับ?” “สวนสาธารณะเทศบาลค่ะ” “สวนมีตั้งสามสี่แห่ง กรุณาระบุตำแหน่งให้ชัดเจนด้วยครับ” “ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาล รีบมาด่วนเลยนะคะ เด็กติดอยู่ในรถตู้” “ครับๆ…ผมนึกว่าพวกโทร.ก่อกวน”

รปภ.กดหมายเลข 192 โทร.ไม่ติด 193 ก็ไม่ติด เขาคิดได้ว่าแจ้งตำรวจต้อง 191 ต่างหาก ความตื่นเต้นทำให้ขาดสติ เด็กเคราะห์ร้ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันท่วงที แพทย์ช่วยฟื้นคืนชีพจนปลอดภัย

ไม่มีคำขอบคุณจากผู้ปกครอง ด.ญ.วันวิภามีเพียงคำตัดพ้อ “ถ้าเจอเร็วกว่านี้ ลูกฉันคงไม่ต้องเจ็บตัว”

 

ครั้นรถยนต์ส่วนตัวมีเกือบทุกบ้าน ผู้ปกครองนิยมรับส่งลูกหลานเอง เด็กจะได้ไม่ต้องตื่นเช้ามาก พวกเขาเล่นมือถือจนดึกดื่นแทบทุกคืน ตื่นสายกันเป็นกิจวัตร อีกอย่างด้วยความรักและห่วงใย ไม่อยากให้ลูกหลานเจอสภาพทุลักทุเลบนรถรับส่งหรือรถประจำทาง ที่ทั้งเบียดเสียด แออัดยัดเยียด วิ่งไม่นิ่มนวล หัวสั่นหัวคลอน ชวนปวดเศียรเวียนเกล้า นั่งรถส่วนตัวสบายกว่ากันเยอะ

ครูวรีพรยืนข้างประตูรั้ว รอรับเด็กๆ ที่ทยอยมาโรงเรียน

“สวัสดีค่ะคุณครู วันนี้ฝากดูน้องอิ๋มหน่อยนะคะ ไม่ค่อยกินข้าวเลย ถามก็บอกว่าเบื่ออาหารที่โรงเรียน เมื่อเช้าเลยแวะร้านฟาสต์ฟู้ด ซื้อมาให้เสร็จสรรพ”

ครูวรีพรยิ้มเจื่อนๆ พลางก้มศีรษะรับคำ

“นี่ครู เมื่อวานตาภูมิมาฟ้อง เพื่อนเอาโทรศัพท์มือถือไปซ่อน กว่าจะหาเจอ เล่นเอาเหนื่อยเลยค่ะ ยังไงก็ฝากคุณครูช่วยดูหน่อยนะคะ”

“ต้องขอโทษด้วยนะคะ ต่อไปจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก” ครูวรีพรบอกผู้ปกครองรายนั้นด้วยอาการพินอบพิเทา

กรณีนี้ผู้ปกครองโพสต์เฟซบุ๊กตั้งแต่เมื่อวาน มีคนเข้าไปคอมเมนต์เป็นพัน แน่นอน ครูวรีพรตกเป็นจำเลย ฐานละเลยไม่ดูแลเด็กให้ทั่วถึง ท่านผู้อำนวยการจำใจเรียกเธอเข้าชี้แจง

“สวัสดีค่ะครูวรีพร เมื่อวานน้องกิ๊ฟบอกว่า ตอนบ่ายเธอนอนไม่หลับเลย เพื่อนข้างๆ นอนกรน แถมน้ำลายไหลยืดอีก ยังไงฝากคุณครูช่วยสลับที่นอนให้น้องหน่อยนะคะ” ฯลฯ

คาบแรกของทุกวัน ครูวรีพรบอกเด็กทุกคนให้ส่งการบ้านเมื่อวาน

“เด็กชายวิรัชธรรมกิจนุกูลพินิจ เกศนะ ยังไม่ได้ส่งการบ้านวิชาคณิตศาสตร์นะคะ”

เด็กคนนั้นยกมือขึ้น “คุณครูครับ สมุดการบ้านผมอยู่กับแม่ครับ”

“ทำไมล่ะคะ?”

“ก็ผมทำไม่ได้ เลยให้แม่ช่วยทำให้ เมื่อเช้าแม่ลืมคืนสมุดให้ผมครับ” เด็กไม่เคยโกหก

ครูวรีพรพยายามข่มความรู้สึกโกรธ “เอามาส่งครูพรุ่งนี้ก็แล้วกันค่ะ…ถ้าเธอไม่เข้าใจข้อไหนก็ถามครูได้นี่นา…ยังไงก็ตาม ครูขอหักคะแนนวิชานี้ เพราะเธอไม่ได้ทำการบ้านเอง”

“คุณครูคะ เด็กชายเลิศกิจประสานศิริวัฒนกุล พงษ์พิศริยะกุลฑล ยืมสมุดการบ้านวิชาภาษาไทยหนูไป ยังไม่คืนเลยค่ะ” ด.ญ.พิมพ์ใจชนกชนนีศรีพลากิจ อริยกุลศิริวัฒนานนท์ ยกมือขึ้น ก่อนครูวรีพรจะทวงการบ้านวิชานี้พอดี

“เลิศกิจประสานศิริวัฒนกุล ว่ายังไงคะ?”

ครูวรีพรต้องประสบพบเจอปัญหาแบบนี้อยู่ทุกวี่วัน ยิ่งต้องเรียกชื่อเด็กยาวเฟื้อยเป็นรถไฟ อาการสับสนยิ่งเพิ่มทวีคูณ

เธอสั่งทำโทษ ด.ช.เลิศกิจประสานศิริวัฒนกุล ให้คัดลายมือห้าสิบหน้า และหักคะแนนวิชาภาษาไทย หลังสี่โมงเย็นวันนั้นก็ได้เรื่อง

“ครูวรีพร…นี่แม่ของเลิศกิจประสานศิริวัฒนกุลนะคะ” น้ำเสียงเย็นชาดังที่ปลายสาย

“ค่ะ ไม่ทราบมีอะไรให้ช่วยคะ?”

“เลิศฯ เขามาฟ้องฉันว่า คุณลงโทษให้เขาคัดลายมือตั้งห้าสิบหน้า แถมยังหักคะแนนวิชาภาษาไทยเขาด้วย ฉันว่ามันไม่ค่อยยุติธรรม ว่าไหม? แค่คัดลายมือก็น่าจะพอแล้ว”

“ดิฉันพยายามจะสอนเรื่องความรับผิดชอบให้เขาค่ะ เขาลอกการบ้านเพื่อนแล้วไม่คืนสมุดการบ้าน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตอนนี้ยังหาสมุดเล่มนั้นยังไม่เจอเลยนะคะ”

ครูวรีพรพยายามอธิบายอย่างใจเย็นที่สุด

“ดิฉันเข้าใจค่ะ แต่ก็ไม่น่าลงโทษมากมายขนาดนั้น จนเด็กเสียขวัญ เขากลัวว่าเทอมนี้จะไม่ได้สี่จุดศูนย์ศูนย์ เพราะครูหักคะแนนเขา ลูกก็เครียด ดิฉันก็เครียดไปด้วย” เสียงปลายสายเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้ปกครองโพสต์ลงเฟซบุ๊กของโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะโทร.หาครูวรีพร คอมเมนต์ส่วนใหญ่ประมาณว่า ครูทำโทษเกินไปหรือเปล่า แค่เด็ก ป.2 ลอกการบ้านเท่านั้นเอง

“ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าคุณครูยังยืนยันจะลงโทษเหมือนเดิม ดิฉันคงต้องคุยกับผู้อำนวยการแล้วล่ะ”

หลังฟังคำขู่ของผู้ปกครองที่วางสายไปดื้อๆ ครูวรีพรถึงกับถอนหายใจเฮือกใหญ่

“เอาล่ะครู ไม่ต้องกังวล ครูทำถูกแล้ว เราหวังดีกับเด็ก ไม่อยากให้เขาสับสนระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด เรื่องนี้ผมก็ไม่ยอมเหมือนกัน ผู้ปกครองเด็กโทร.มาหาผม ผมก็ยืนกรานว่าครูประจำชั้นทำถูกแล้ว…ความรับผิดชอบเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมเราละเลยมาตลอด การจะปลูกฝังต้องทำตั้งแต่ตอนเป็นเด็กนี่แหละ”

“แล้วผู้ปกครองว่ายังไงบ้างคะ?”

“เขาก็ขู่ว่าจะย้ายเด็กไปโรงเรียนอื่น อะไรประมาณนั้น ซึ่งผมก็ได้แต่รับฟัง มันเป็นสิทธิ์ของเขาอยู่แล้ว ผมจะพูดอะไรได้” ผู้อำนวยการยิ้มให้ครูวรีพร

 

ชีวิตครูยุคดิจิตอล ไม่ง่ายและรวดเร็วเช่นชื่อยุค ไม่ได้สอนหนังสืออย่างเดียว ครูยังต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง แค่รับมือกับเด็กทุกวันก็ปวดหัวแทบแย่ ยังมีผู้ปกครองที่ห่วงบุตรหลานอย่างกะจงอางหวงไข่ เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ความอดทนและปล่อยวางของครูเท่านั้น ถึงจะนำพาชีวิตไปตลอดรอดฝั่งได้

“นักเรียนคะ การไปทัศนศึกษาช่วงปลายเดือนธันวาคม ใครมีข้อสงสัยอะไร ขอให้ถามตอนนี้เลยนะคะ” ครูวรีพรอธิบายการเตรียมตัวอย่างละเอียด หลังจากนี้เธอต้องส่งข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ปกครองทุกคน

“คุณครูครับ เราจะได้ไปทุกคนรึเปล่าครับ?” เด็กชายวิญญู หัวหน้าชั้นและฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นในห้อง ยกมือถาม “สถานที่ที่เราจะไปคือประเทศเกาหลีใต้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มค่อนข้างเยอะค่ะ ค่าทำพาสปอร์ต ค่าเครื่องบิน ที่พัก ค่าอาหาร ส่วนโรงเรียนจะจ่ายให้เฉพาะค่าเข้าชมนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์เท่านั้น จึงเป็นความสมัครใจของแต่ละคน พวกเราต้องกลับไปปรึกษาผู้ปกครองก่อน” ใบหน้าของเด็กชายวิญญูสลด ค่อยๆ นั่งลงอย่างช้าๆ ครูวรีพรไม่เห็นด้วยกับโครงการทัศนศึกษาต่างประเทศมาตั้งแต่ต้น เด็กแต่ละคนมีฐานะทางบ้านแตกต่างกันมาก อาจมีเด็กหนึ่งในสามเท่านั้น สามารถจ่ายเพื่องานนี้ได้ ส่วนที่เหลือก็ต้องผิดหวัง หากจัดภายในประเทศ เด็กทุกคนจะมีโอกาสได้รับประสบการณ์ใหม่

การประชุมใหญ่ก่อนเปิดเทอม ผู้ปกครองหลายคนเสนอ ลูกหลานตนควรได้ทัศนศึกษาต่างประเทศ จะช่วยอัพเกรดประสบการณ์เด็ก ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ แถมประวัติยังถูกบันทึก “ผ่านการทัศนศึกษาในต่างประเทศ” อาจมีผลต่อการสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ในอนาคต ผู้อำนวยการมิอาจต้านทานความต้องการของผู้ปกครองได้

ครูอีกหลายคนเห็นพ้องต้องกัน กิจกรรมแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ส่วนมากก็แค่เอารูปถ่ายมาโพสต์ในโซเชียลมีเดีย อวดกันไปอวดกันมาเท่านั้นเอง

นับตั้งแต่วันแรกของโครงการก็เกิดเรื่องวุ่นๆ ไม่เว้นวัน ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะเป็นเดือดเป็นร้อน ห่วงนั่นห่วงนี่แทนลูกหลานไปเสียทั้งหมด โพสต์ข้อความในโซเชียลเกือบจะทุกชั่วโมง

“ดิฉันอยากรู้สเก็ตดูลโดยละเอียดยิบ โรงเรียนพอจะมีแล้วหรือยังคะ” ผู้ปกครองคนหนึ่งขอก่อนเริ่มโครงการเสียอีก (ยอดกดไลก์ 856)

“อากาศที่เกาหลีช่วงนั้นติดลบ ต้องใช้เสื้อกันหนาวขนเป็ด ต้องสวมฮีตเท็กข้างในอีกตัว เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันพาลูกไปสอยที่แพตทินัม ประตูน้ำ ราคาไม่แพงค่ะ ใครอยากรู้ร้านทักแชตมาได้เลย” (ยอดกดไลก์ 520)

“ลูกของชั้นเป็นหอบหืดไปในที่หนาวๆ จะไหวไหมคะ?” (ยอดกดไลก์ 1,126)

“ผมขอเสนอว่า เด็กหนึ่งคนต้องมีครูประกบหนึ่งคน เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ครับ” (ยอดกดไลก์ 1,423)

“จากประสบการณ์ที่เคยไปเกาหลีมา เด็กๆ ควรเข้าคอร์สเรียนภาษาเกาหลีเบื้องต้น ประโยคที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันครับ” (ยอดกดไลก์ 923)

“ลูกไปเกาหลีมาสี่ห้าครั้งแล้วค่ะ อยากให้เปลี่ยนไปทางยุโรปหรืออเมริกาบ้าง” (ยอดกดไลก์ 1,041)

“อีฉันไม่มีสตางค์ แค่จะกินไปวันๆ ยังไม่ค่อยจะมี อยากให้โรงเรียนจัดทัศนศึกษาภายในประเทศ ลูกอีฉันจะได้มีโอกาสไปกับเพื่อนๆ…ขอบคุณค่ะ” (ยอดกดไลก์ 12) ฯลฯ

ครูวรีพรเห็นข้อความในโซเชียลมีเดีย ก็ได้แต่ปลง แค่เริ่มโครงการยังยุ่งขนาดนี้ ถ้าไปจริงคงยุ่งหลายเท่า ยุคสมัยแห่งการเรียกร้อง ผู้คนต้องการมากกว่าความคาดหวัง พลังของสื่อออนไลน์มีอิทธิพลล้นฟ้า ยากจะปฏิเสธ คนธรรมดาสามัญกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนด้วยพลังของมัน

ในทางกลับกันสื่อดังกล่าวก็ทำลายชีวิตคนได้ย่อยยับภายในชั่วพริบตาเช่นกัน

 

“นี่ไม่ใช่ถ้อยคำใส่ร้าย แต่เป็นข้อมูลที่เก็บมาราวหนึ่งปี ถ้าพวกคุณสังเกตให้ดีๆ จะพบว่า ครูประจำชั้นของลูกเราไม่มีคุณสมบัติเพียงพอจะสอนพวกเขาสู่ความเป็นเลิศได้ เพราะประการแรก คุณครูท่านนี้อ่อนเรื่องเทคโนโลยี และไม่ค่อยใส่ใจกับข้อสงสัยทั้งหลายของผู้ปกครอง ประการต่อมา การลงโทษของครูท่านนี้เน้นวิธีการรุนแรงทำให้เด็กๆ เสียขวัญจนไม่อยากไปโรงเรียน ประการที่สาม ครูท่านนี้มักไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งสิ่งนั้นมันสำคัญกับพวกเด็กๆ และประการสุดท้าย ครูคนดังกล่าวจบการศึกษาแค่ระดับปริญญาตรี คนที่จะทำให้เด็กๆ ก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ควรจะจบอย่างน้อยปริญญาโท…ใครมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยคอมเมนต์มาหน่อย”

ข้อความดังกล่าวปรากฏในเพจเฟซบุ๊กโรงเรียน โดยมีแฮชแท็กว่า #เราอยากได้ครูประจำชั้นคนใหม่

ครูที่ตกเป็นเป้า ไม่ใช่ใครอื่น ครูวรีพรนั่นเอง ข้อความคอมเมนต์ตามมาเป็นพัน ส่วนใหญ่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป มีผู้ปกครองส่วนน้อยโพสต์ให้กำลังใจครูวรีพร

“ผลการประเมินของครู ไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาพูด ตรงกันข้ามมันดีกว่าที่ผมคิดเสียอีก” ท่านผู้อำนวยการอ้างข้อเท็จจริงและให้กำลังใจครูวรีพร

“แต่ดูเหมือนพวกเขาจะหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ ท่าน ผอ.” ครูวรีพรยังคงสงบนิ่ง ไม่แสดงอาการร้อนรนหรือหวั่นไหวแต่อย่างใด

“ถ้าอย่างนั้น ผมจะเป็นคนชี้แจงเรื่องนี้เอง และจะไขข้อข้องใจทุกอย่างที่พวกเขาสงสัย อยากรู้เหมือนกัน ถ้าผมเรียกประชุมผู้ปกครองในชั้นของครู จะมากันครบทุกคนไหม?” ผู้อำนวยการหัวเราะหึๆ ในลำคอ เหมือนจะหัวเราะให้กับความไร้สาระของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่คน เขาก็สงสัยในคุณสมบัติพ่อแม่เหล่านี้เหมือนกัน ว่าจะสร้างเยาวชนคุณภาพให้แก่ประเทศชาติได้จริงหรือไม่

หรือแค่ปรามาสครูประจำชั้นเพื่อความสะใจเท่านั้น

 

“เหตุผลที่ผมรบกวนเวลาอันมีค่าของพวกท่านในวันนี้ ก็จากข้อความที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กโรงเรียน…เอาเป็นว่าผมขออนุญาตเข้าประเด็นเลยแล้วกัน จะได้แยกย้ายกันไปทำภารกิจสำคัญ น่าจะมีประโยชน์กว่า” ผู้อำนวยการกล่าวเปิดประชุม ครูวรีพรนั่งอยู่ข้างๆ

“ผมคงไม่ต้องถามหามือโพสต์ต้นเรื่อง ถามกันเลยดีกว่า ทำไมพวกคุณถึงอยากเปลี่ยนครูประจำชั้น เชิญให้เหตุผลมาได้เลย ผมกำลังตั้งใจฟังครับ” ครูใหญ่มองไปรอบๆ ห้องประชุมด้วยสีหน้าเรียบเฉย

“ก็เป็นเหตุผลอย่างที่โพสต์ในเฟซบุ๊กนั่นแหละครับท่านผู้อำนวยการ จะว่าไปมันก็เป็นความกังวลของพวกเรา ถ้าเราได้รับการไขข้อข้องใจแต่ละประเด็นก็คงดี” ผู้ปกครองคนหนึ่งยกมือขึ้นพูด

“ถ้าเป็นเช่นนั้นผมก็ขอตอบแต่ละประเด็นเลยก็แล้วกัน หากมีข้อสงสัยก็ถามได้”

ผู้อำนวยการขยับแว่นเล็กน้อย ก่อนจะมองเอกสารเบื้องหน้า “ประการแรก จากข้อที่ว่าคุณครูวรีพรอ่อนเรื่องเทคโนโลยีนั่นไม่เป็นความจริง ครูวรีพรจบวิชาเอกประถม ส่วนวิชาโทคือวิทยาการคอมพิวเตอร์ หากใครไม่เข้าใจคำนี้ว่ามันเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างไร ก็สามารถเสิร์ชหาในเสิร์ชเอนจิ้นได้เลย…แล้วอย่ามาถามผมนะว่าเสิร์ชเอนจิ้นหมายถึงอะไร” ผู้อำนวยการยิ้มบางๆ ผู้ปกครองหลายคนทำหน้างงๆ หลายคนพยักหน้าหงึกๆ คล้ายจะยอมรับว่าท่านผู้อำนวยการคนนี้รู้จริง

“ส่วนประเด็นที่ว่าครูวรีพรไม่ค่อยใส่ใจกับข้อสงสัยทั้งหลายของผู้ปกครองนั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามโซเชียลมีเดียของโรงเรียน โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ทุกข้อสงสัยคุณครูวรีพรไม่เคยละเลย เธอตอบทุกประเด็น แต่บางประเด็นอาจจะไม่ถูกใจผู้ปกครองมากนัก นั่นก็เป็นข้อจำกัดจากอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ บางวันผมเห็นครูวรีพรโพสต์ข้อความสุดท้ายเกือบเที่ยงคืน… ถ้านี่คือความไม่ใส่ใจแล้ว คงต้องทำงานเหมือนเซเว่น-อีเลฟเว่นแล้วกระมัง เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง”

ท่านผู้อำนวยการเว้นวรรคเล็กน้อย เผื่อใครจะมีข้อสงสัย หรือไม่เห็นด้วย ปรากฏว่าคนทั้งห้องเงียบกริบ

“ประการต่อมา การลงโทษของครูวรีพรเน้นวิธีการรุนแรง ทำให้เด็กๆ เสียขวัญจนไม่อยากมาโรงเรียน…ผมยังไม่เคยเห็นครูวรีพรใช้ไม้เรียว หรือใช้วิธีการใดทำร้ายร่างกายเด็กแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งนั่นมันหมดยุคไปแล้ว หลายคนในที่นี้คงเคยผ่านไม้เรียวกันมาบ้าง มันอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกคุณมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต สร้างครอบครัวจนมั่นคงอย่างทุกวันนี้ แต่ก็อย่างว่ายุคสมัยเปลี่ยน วิธีการก็ต้องเปลี่ยน แม้ผมยังเชื่อมั่นในพลังของไม้เรียวอยู่ก็ตาม…วิธีการรุนแรงในที่นี้คงหมายถึงทำร้ายจิตใจเด็กเสียมากกว่า

มันจำเป็น ผมคงต้องบอกอย่างนั้น แม้หลายคนในที่นี้จะไม่ค่อยเห็นด้วย การใช้วิธีการลงโทษที่เด็ดขาดอย่างการตัดคะแนน เป็นสากลที่ใช้กันทั่วไปในระบบการศึกษาทั่วโลก แม้แต่ในนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังมีตัดคะแนนเลย”

มาถึงตรงนี้มีเสียงหัวเราะเล็กน้อยจากบรรดาผู้ปกครอง

“การชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของความรับผิดชอบสำคัญกว่าคะแนนและเกรดเฉลี่ย มันจะเป็นจิตสำนึกที่ติดตัวเด็กไปจนชีวิตเขาจะหาไม่ นั่นบ่งบอกถึงคุณภาพคนในประเทศของเรา คนของเราขาดคุณสมบัตินี้ จึงสร้างปัญหาให้กับสังคมไม่หยุดหย่อน สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็นคือ เด็กทุกคนรับทั้งผิดและชอบ ไม่ใช่รับชอบเพียงอย่างเดียว”

บรรยากาศในห้องยังคงเงียบกริบ

“ผมไม่เข้าใจประเด็นที่ว่า ครูวรีพรมักไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครอง เพราะจากที่สังเกตเห็นหรือจากคำบอกเล่าจากเพื่อนครูด้วยกัน เด็กไม่กินข้าว เธอก็พยายามถามไถ่ อยากเปลี่ยนอาหารเธอก็จัดการให้ ทั้งที่โรงเรียนมีกฎว่าเด็กจะต้องได้รับอาหารที่มีประโยชน์โดยเน้นหนักไปที่ผักผลไม้เป็นหลัก และเนื้อ นม ไข่ เสริมเข้าไปในปริมาณที่หลักวิชาการกำหนดไว้ ยามนักเรียนป่วยเธอก็ดูแลเป็นอย่างดี มีครั้งหนึ่งเด็กอาการไม่ดี เธอก็เสียสละเวลาพาเด็กคนนั้นไปโรงพยาบาลโดยไม่รอผู้ปกครองด้วยซ้ำไป และยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ผมรู้ว่าพวกคุณรู้เรื่องนี้ดี”

ผู้อำนวยการมองไปรอบๆ ห้อง หวังว่าจะมีใครแสดงความคิดเห็นอะไรบ้าง “ประการสุดท้าย ครูวรีพรจบแค่ปริญญาตรี ผมก็ยังคงยืนยันว่าตำแหน่งครูประถมศึกษา ปริญญาตรีมีศักยภาพที่จะสอนลูกๆ ของพวกคุณได้ครับ เพราะครูในโรงเรียนนี้ทุกคนผ่านหลักสูตรฝึกหัดสอนอย่างเข้มข้น แต่ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าหากอยากได้ความเป็นเลิศ ปริญญาที่สูงกว่าอาจเป็นคำตอบ ซึ่งปัญหานี้มีวิธีแก้ คงต้องหาโรงเรียนที่มีคุณครูจบปริญญาโทหรือเอกแล้วล่ะ…ผมมีสิ่งที่จะพูดแค่นี้ ใครอยากพูด อยากเสนอแนะ หรือมีข้อสงสัยก็เชิญได้เลยครับ”

ครูใหญ่พลิกเอกสารหน้าสุดท้ายพลางจับมันขึ้นมาเรียงตามลำดับ

 

ภายในห้องประชุมมีเสียงคุยกันของผู้ปกครองหึ่งๆ คล้ายผึ้งกำลังบินรอบรัง แต่ไม่มีใครยกมือพูดอย่างเป็นทางการ

…สัปดาห์ถัดมาประเด็นแฮชแท็ก #เราอยากได้ครูประจำชั้นคนใหม่ สร่างซาไปโดยปริยาย

แต่สำหรับครูวรีพรเธอเชื่อว่ามันไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ตราบใดที่เธอยังอยู่ท่ามกลางพระเจ้าองค์น้อยๆ เหล่านี้ เหล่าเทพผู้พิทักษ์จะไม่มีวันละสายตาจากเธออย่างแน่นอน พูดเช่นนี้มิใช่เธอไม่รักเด็ก ไม่อยากให้พวกเขาได้ดิบได้ดี ตรงกันข้าม เธออยากเห็นพวกเขาเป็นคนคุณภาพและกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต

ความจริงข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ กว่าเด็กคนหนึ่งจะเรียนจบมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว บางรายกู้หนี้ยืมสิน ต้องชดใช้ตลอดชีวิต จะพึ่งเงินเดือนของลูกหลังเรียนจบ ไม่ต้องไปหวัง

การศึกษาและเรียนรู้ แทนที่จะปลดเปลื้องผู้คนให้เป็นอิสระ กลับกลายเป็นคุกขังคนไว้กับความฟุ้งเฟ้อ หน้าใหญ่ ใจโต ชื่อเสียงอันจอมปลอม ฯลฯ อย่างนี้จะเรียกว่า การศึกษาเพื่ออิสรภาพและเสรีภาพทางปัญญาได้อย่างไร

ครูวรีพรได้แต่ปลง