คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (1)

 

การเจรจาเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ JCPOA (Joint Comprehensive Plan of Action) คือ หนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ดำเนินไปท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และความตึงเครียดอื่นๆ

การเจรจานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสถานการณ์การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะชี้ทิศทางของโลกเราในอนาคตต่อไป

ข้อตกลง JCPOA เป็นข้อตกลงที่อิหร่านทำไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจคือ สหรัฐ, จีน, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนีในปี 2015 โดยกำหนดให้อิหร่านจำกัดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรทั่วโลก

แต่ต่อมาในปี 2018 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว และกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง

นับตั้งแต่นั้นมา อิหร่านก็เริ่มกลับมาเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

“สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านตระหนักถึงสิทธิของตนในการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ อิหร่านจึงลงนามใน JCPOA เมื่อปี 2015 อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ในปี 2018 สหรัฐได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ชี้แจง

“อิหร่านได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานอย่างสันติโดยอาศัยความรู้และความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศ ในเรื่องนี้ สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ระบุไว้ในรายงาน 14 ฉบับว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นโครงการเพื่อสันติและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อิหร่านประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกับในด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ธงทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และธงอิหร่าน

การเจรจาของอิหร่านกับ 4 ประเทศบวก 1 กำลังเกิดขึ้นภายในกรอบการเจรจาที่เวียนนา และเราเชื่อว่าหากประเทศที่เข้าร่วมให้ความสำคัญอย่างแท้จริง เราจะสามารถบรรลุผลที่เป็นรูปธรรมได้

สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้เข้าร่วมการเจรจาในกรุงเวียนนาด้วยความสุจริตใจ โดยมีเป้าหมายที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐ

เราเชื่อว่าการเจรจาที่เวียนนาสามารถบรรลุผลที่แท้จริงได้ หากประเทศตะวันตกมีเจตจำนงทางการเมืองที่จริงจังในการแก้ไขข้อแตกต่างของพวกเขา ตอนนี้ การเจรจาที่เวียนนาอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง และเราหวังว่าจะเห็นจุดจบที่ดีของการเจรจาในอนาคตอันใกล้”

นายฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน (Dr. Hossein Amir-Abdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ยังได้นำเสนอข้อคิดเห็นของนายฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน (Dr. Hossein Amir-Abdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน เกี่ยวกับการเจรจาครั้งนี้ว่า

“หนทางในระหว่างการเจรจาอย่างเข้มข้นหกรอบในเวียนนา หาได้นำไปสู่ความสำเร็จ เนื่องจากความต้องการที่มากเกินไปของสหรัฐ และจุดยืนที่ไม่สมจริง

ตอนนี้เรากำลังเริ่มต้นในการเจรจารอบใหม่ เป้าหมายหลักของการเจรจาเหล่านี้ คือการฟื้นฟูสิทธิของประเทศอิหร่านและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่สหรัฐกำหนดโดยฝ่ายเดียวและไม่ได้เป็นสมาชิกภาคีของ JCPOA อีกต่อไป

สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาคีข้อตกลง JCPOA เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2018 ซึ่งเป็นที่รับรู้และประณามในระดับสากลว่าผิดกฎหมาย

ฉันทามติระหว่างประเทศมีว่า พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายของสหรัฐดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรของสหประชาชาติ, บ่อนทำลายลัทธิพหุภาคี และก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ไม่เพียงมีการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมายโดยสหรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่นโยบายการคว่ำบาตรอิหร่านยังคงมีอยู่ต่อไป

เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการของสหรัฐฯ ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านและผู้เข้าร่วม JCPOA คนอื่นๆ รวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ ของประชาคมระหว่างประเทศได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามที่อธิบายไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์และมติ UNSC 2231″

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี( เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยบอกว่า “น่าเสียดายเช่นกันที่รัฐบาลของสามชาติยุโรปที่เข้าร่วม JCPOA แม้จะพิจารณาแนวทางของสหรัฐว่าผิดกฎหมายและไม่อาจยอมรับได้ก็ตาม กลับเพิกเฉยไม่มีปากเสียง และยังดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว

การดำเนินงานของ JCPOA ทั้งสามชาติยุโรปกับมาตรการทำลายล้างของสหรัฐดังกล่าว ทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการขจัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดในข้อตกลงสำหรับอิหร่าน

เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงอันขมขื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งควรจะนำมาเป็นแสงสว่างเพื่อนำทางไปสู่อนาคต

แนวทางของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้นำความหายนะอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามอย่างจริงจังว่า รัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันนั้น มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีและพร้อมที่จะละทิ้งนโยบายที่ล้มเหลวในอดีตหรือไม่

การตอบคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องยากเมื่อพิจารณาถึงแนวทางและมาตรการของสหรัฐในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

แต่ไม่มีใครสามารถตั้งคำถามถึงความจริงจังและความปรารถนาดีของอิหร่านในการปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วน หลังการถอนตัวของสหรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกำหนดมาตรการคว่ำบาตร”

 

เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ดังนั้น อิหร่านจึงได้ถอนตัวออกจากมาตรการแก้ไขโดยสุจริต โดยยอมให้ผู้เข้าร่วม JCPOA และสหภาพยุโรปเป็นผู้ประสานงานข้อตกลงนิวเคลียร์ และหลีกเลี่ยงการใช้การยุติข้อผูกพัน ภายใต้ JCPOA เพื่อให้โอกาสสำหรับผู้เข้าร่วม JCPOA อื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อชดเชยผลกระทบเชิงลบจากการถอนตัวของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความคงอยู่ของสภาพที่ไม่สร้างสรรค์นี้ หลังจากหนึ่งปีของความอดทนเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของสามชาติยุโรป อิหร่านจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องบังคับใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ในวรรค 26 และ 36 ของ JCPOA และยุติการปฏิบัติตามภาระผูกพันบางส่วนและอยู่ในขั้นตอน ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2019

เมื่อสถานะที่เป็นอยู่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และการขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพจากผู้เกี่ยวข้องที่เข้าร่วม JCPOA ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าของการพัฒนา รัฐสภาของอิหร่านจึงได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2020 ในกฎหมายที่ว่าด้วย ‘แผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอิหร่าน’

กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลอิหร่านค่อยๆ ยุติการดำเนินการตามข้อผูกพันด้วยความสมัครใจทั้งหมดภายใต้ JCPOA เว้นแต่ฝ่ายอื่นๆ ในข้อตกลงจะดำเนินการตามภาระผูกพันทั้งหมดในทางปฏิบัติด้วย”