อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (8)

ในช่วงทศวรรษที่สามศูนย์ นครซานไห่ขึ้นชื่อในฐานะเมืองที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างกลมกลืน

อาคารสูงอย่างโรงแรม Park ผูดขึ้นตั้งตระหง่านอยู่แถวหลี่หลง และทำให้โรงแรมแห่งนี้ครองตำแหน่งอาคารที่สูงที่สุดในเอเชียระหว่างปี 1934-1958

อะไรอีกเล่า ห้างสรรพสินค้าชั้นนำอวดตัวให้ชวนมาจับจ่ายอยู่บนถนนนานกิง แทรกด้วยร้านค้าเล็กๆ ที่มีผลิตภัณฑ์ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้เลยในประเทศจีน

ส่วนมุมนั้นโรงรับจำนำเล็กวางตัวอย่างกระมิดกระเมี้ยนสำหรับผู้คนที่เงินขาดมืออันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเวลาในเมืองที่หรูระยับเช่นนี้

โรงภาพยนตร์สไตล์อาร์ต เดโค นำเสนอภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากฮอลลีวู้ดผ่านการโฆษณาด้วยแผ่นป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ โดยมีคู่แข่งเป็นโรงงิ้วและโรงน้ำชาขนาดใหญ่ที่หญิงสาวหน้าแฉล้มแช่มช้อยกวักมือเรียกผู้ผ่านไปมาอยู่ร่ำไป

บนนถนนนั่น รถยนต์รุ่นล่าสุดจากยุโรปในสีสันเตะตาเเล่นแทรกทางไปมากับรถลากที่ชายผู้ลากอาจกำลังฝันถึงการเป็นเจ้าของรถยนต์สีสดใสเหล่านั้นสักวัน ในเมืองนี้ การเลื่อนชั้นของโชคชะตาอาจมาถึงโดยฉับพลันหรืออาจไม่มาถึงเลย

ยามราตรี ซานไห่ จะพลิกชีวิตอีกแบบราวกับหญิงสาวที่ประจงแต่งหน้าค่าตามาตลอดวันเพื่อกาลนี้ แสงนีออนจากป้ายโฆษณาตามอาคารต่างปรากฏตัวทีละจุดราวกับการออกบินของฝูงแมลง

เสียงดนตรีแจ๊ซในโรงเต้นรำดังลอดออกมาจากประตูหมุนที่ดูเหมือนจะไม่เคยหยุดหมุนนับตั้งแต่พระอาทิตย์หมดแสง

บรรยากาศเช่นนี้เหมาะแก่การถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าหรือวรรณกรรมอย่างยิ่ง

และน่ายินดีที่มีบุคคลผู้หนึ่งลงมือกระทำเช่นนั้นจริงๆ บุคคลผู้มีนามว่า มูซืออิง-Mu Shiying

 

เมื่อ โยชิโกะ คาวาชิม่า ตัดสินใจเลิกราจากชีวิตคู่กับกันจูร์จาบและแสวงหาที่พักพิงใหม่ที่ซานไห่ในปี 1932

ช่วงเวลานั้นกองทัพจีนได้บุกชาเป่ยทางเหนือของนครซานไห่เป็นครั้งแรกนับแต่ต้นปี (ซึ่ง โยชิโกะ คาวาชิม่า มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้อย่างยิ่ง)

ในขณะที่ชีวิตผู้คนในเมืองล้วนระส่ำระสาย บ้างก็หนีเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตปกครองของต่างชาติ บ้างก็อพยพไปนอกเมือง

มูซืออิงกลับอพยพเข้าไปในดินแดนจินตนาการของเขาแทน

การหมกมุ่นในจินตนาการส่วนตนเช่นนี้ทำให้มูซืออิงและงานเขียนของเขาถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่านานนับหลายสิบปี

ในช่วงเวลาที่สังคมต้องการวรรณกรรมและงานเขียนที่แสดงถึงความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่น มูซืออิงเฝ้าพรรณนาถึงชีวิตของแสงสีและผู้คนที่ระเริงในโลกีย์

ในขณะที่สังคมต้องการสำนึกแห่งความเป็นชาติ มูซืออิงกลับเสนอถึงวรรณกรรมที่เป็นสากล ที่เป็นเรื่องราวเชิงปัจเจกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่คุ้นชิน

ไม่นับว่าคำตำหนิจากหลู่ซิ่น-Lu Xun ยักษ์ใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมจีนในยุคนั้นที่ว่างานของเขาพูดถึงแต่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมและไร้แก่นสารใดๆ จะยิ่งกระทืบซ้ำให้ผลงานของมูซืออิงจมดิ่งลงไปในปฐพีอีกแสนนาน


ชะตากรรมของมูซืออิงไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น

การตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการสันติภาพหรือ Peace Movement ภายใต้การนำของหวังจิงเว่ยในอีกหลายปีต่อมาเป็นเหตุสำคัญให้เขาถูกลอบสังหารจนถึงแก่ชีวิตในปี 1940

ความตายก่อนกาลของเขาผนวกเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของประเทศในอีกหลายสิบปีต่อมาทำให้ที่ทางทางวรรณกรรมของเขายิ่งมืดมนลงอีก

จวบจนทศวรรษที่ 80 สี่สิบปีให้หลังการจากไปของเขาที่ผลงานของเขาได้ปรากฏตนขึ้นอีกครั้ง แต่กาลเวลาก็หาได้ลดทอนคุณค่าของมัน

ภาพอันมีชีวิตชีวาของซางไห่ในนวนิยายของเขา ในเรื่องสั้นของเขา สอดรับกับการกลับมาเกิดใหม่ของนครซานไห่อย่างพอดี

เรื่องราวในงานเขียนของมูซืออิงข้องเกี่ยวกับด้านมืดของกลุ่มอั้งยี่ โรงฝิ่น โรงน้ำชา โสเภณี และด้านสว่างของชีวิตที่ล่องลอยและแรงปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในซานไห่ยามนั้น

ดนตรีแจ๊ซและการเต้นรำแบบฟ็อกซ์ทรอตดูจะเป็นเสมือนเข็มทิศที่ส่งผลต่อรูปแบบการเขียนของเขา ภาษาที่กระชับ การดำเนินเรื่องที่ฉับไวราวกับการตัดต่อภาพยนตร์

แม้แต่ ไอรีนจาง-Eileen Chang หรือจางอ้ายหลิง (ผู้เขียนเรื่องสั้นที่นำไปทำภาพยนตร์เรื่อง Lust and Caution ที่เรารู้จักกันดี) ยังได้รับอิทธิพลการเขียนจากวรรณกรรมของมูซืออิง

โครงเรื่องของมูซืออิงนั้นมีลักษณะลื่นไหล ทุกอย่างก้าวกระโดดไปมาตามห้วงอารมณ์ของตัวละคร

เป็นดังงานเขียนเชิงกระแสสำนึกที่มีลักษณะดังในงานของ เจมส์ จอยส์

(ซึ่งมูซืออิงก็ยอมรับเช่นกันว่าเขาได้รับอิทธิพลจากจอยส์ พอๆ กับได้รับอิทธิพลจาก พอล โมรันด์-Paul Morand นักเขียนฝรั่งเศส และ โยโกมิตสุ ริอิจิ-Yokomitsu Riichi นักเขียนชาวญี่ปุ่น) เรื่องสั้นอันโด่งดังของมูซืออิงที่มีชื่อว่า Shanghai Fox-trot นั้นรวมทุกอย่างที่ว่านี้ ทั้งบทสนทนาภายในผู้เล่า รูปแบบการเขียนที่คล้ายกับบทภาพยนตร์ และห้วงความรู้สึกภายในที่ไม่แบ่งแยกเพศของตัวละคร

เรื่องสั้น-Shanghai Fox-trot แสดงให้เห็นถึงความสนใจของมูซืออิงที่มีต่อชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ มูซืออิงใช้ตัวละครยากไร้เป็นดังฉากสะท้อนให้เห็นชีวิตอันฟุ้งเฟ้ออีกด้านที่ผู้คนเหล่านั้นยอมจ่ายแม้กระทั่งชีวิตเพื่อให้ได้ความเพลิดเพลินเพียงชั่วครู่

ในฉากหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตายของกรรมกรก่อสร้างอาคารสูงที่กำลังผุดขึ้นทั่วซานไห่

และในอีกฉากหนึ่งนักเขียนผู้หนึ่ง (ซึ่งมาจากลักษณะของมูซืออิงเอง) ถูกหญิงผู้หนึ่งชักจูงไปในที่ลับตาเพื่ออ่านจดหมายให้เธอฟัง ก่อนจะเสนอค่าตัวของลูกสะใภ้ในราคาชั่วคืนเพื่อแลกกับเงินค่าอาหารในครอบครัววันนั้น สภาวะในเมืองใหญ่ยามสงครามที่หาความแน่นอนใดๆ มิได้ คนชั้นสูงสูญเสียจากตลาดหุ้น คนมั่งมีหวาดกลัวแก๊งอั้งยี่ (อันได้แก่แก๊งมังกรเขียว) จะลักพาตัว

คนชั้นล่างแม้จะแลดูมีช่องทางแสวงหาเงินแต่หลายครั้งช่องทางเหล่านั้นก็ปิดตาย

 

ว่าไปแล้ว มูซืออิงดูจะเป็นนักเขียนที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่

พ่อของเขาเป็นทั้งนายธนาคารและนักค้าทองคำ

เขาเกิดในช่วงของการปฏิวัติซิงไห่ (มูซืออิงเกิดในปี 1912) ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศจีน หลังได้รับการศึกษาแบบลูกผู้ดีมีสกุลมาพอเพียง มูซืออิงก็กระโดดเข้าสู่โลกวรรณกรรมทันที

เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออรอร่า-Aurora University อันเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ก่อตั้งโดยบาทหลวงจากนิกายเยซูอิต และแม้ว่าพ่อของเขาจะขาดทุนยับเยินจากราคาทองคำในช่วงที่ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ มูซืออิงก็ยังคงชีวิตอันหรูหราไว้ได้เช่นเดิม

เสื้อผ้าแบบตะวันตก ทรงผมนำสมัย ทำให้มูซืออิงกลายเป็นดาวเด่นในวงสังคมเซี่ยงไฮ้ได้ไม่ยากเย็น นอกจาการหมกมุ่นกับงานเขียนแล้ว โรงเต้นรำและไนต์คลับคืออีกสิ่งที่เขาโปรดปราน และสถานที่เหล่านี้ได้กลายเป็นฉากหลังของเรื่องสั้นหลายต่อหลายเรื่องของเขา จากปากคำของมิตรสหาย มูซืออิงนั้นเป็นนักเต้นรำชั้นยอดที่มักใช้เวลาดื่มและเต้นจนหมดคืน เขาเพลิดเพลินกับอิสตรีและอิสตรีก็เพลิดเพลินกับเขาเช่นกัน

เราไม่มีหลักฐานว่า โยชิโกะ คาวาชิม่า หรืออ้ายชิง เจียวหลอ เสียนอี๋ ได้เคยพบปะกับกับมูซืออิงหรือไม่ แต่การใช้ชีวิตในโรงเต้นรำที่ซางไห่ร่วมสมัยกัน มีความเป็นไปได้สูงว่าทั้งคู่น่าจะเคยจับคู่เต้นรำกันสักครั้ง แม้ว่า โยชิโกะ คาวาชิม่า จะแทบไม่เคยปรากฏตัวในโรงเต้นรำและไนต์คลับเหล่านั้นในเครื่องแต่งกายของเพศหญิงเลยก็ตามที

ทว่า สิ่งนั้นไม่สำคัญ ทุกคนล้วนรู้ดีว่าหญิงสาวในเครื่องแต่งกายเพศชายนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าหญิงแมนจูที่ทุกคนรู้จักดี

 

จุดเด่นของงานเขียนของมูซืออิงคือการเขียนถึงตัวละครผู้หญิงในงานของเขา ตัวละครเหล่านั้นทั้งลึกลับ น่าหลงใหล สมจริง มีเลือดเนื้อ ทันสมัยและเหนืออื่นใดคือมีแรงขับดันทางเพศอันเย้ายวนมหาศาล

มูซืออิงเล่าไว้ในคำนำงานรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งของเขาว่าทุกเรื่องราว ทุกผู้คนที่เขาเขียนถึงในงานของเขาล้วนมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอันเปล่าเปลี่ยวหรือแปลกแยกที่เขาต้องเผชิญในซางไห่อันเกิดจากการรับรู้อันอ่อนไหวของเขา เขาใช้สิ่งที่ได้รับรู้เหล่านั้นมาบิดผันเป็นงานวรรณกรรม

ผมเพียงอยากบรรยายถึงชายไร้หน้าบางคนที่ตกหลุมรักบางสิ่งและจมลงสู่ความพังทลาย ในสังคมของผม ผมได้พบเจอผู้คนมากมายที่ผุพังจนยากเยียวยาและถูกชีวิตเล่นงานจนพังพินาศ หากแต่พวกเขาเหล่านั้นกลับแสดงให้เห็นถึงอีกด้านของชีวิตที่มองสิ่งเหล่านั้นอย่างยโสโอหังหรือมีชีวิตชีวาเป็นที่ยิ่ง พวกเขาสวมใส่หน้ากากแห่งความสุขทับลงไปบนใบหน้าจริงอันเศร้าโศก และแม้ว่าเขาจะไม่เคยแสดงความเศร้าเหล่านั้นให้พวกเราเห็น พวกเราก็ล้วนรับรู้ได้ถึงความเปล่าเปลี่ยวในหัวใจของเขา เป็นความเปล่าเปลี่ยวที่ไม่อาจถอดถอนออกไปได้ เราทุกคนไม่มีทางเข้าใจใครได้สมบูรณ์หรือบางส่วนก็ตามที พวกเราล้วนมีจุดตัดขาดทางความรู้สึกกับคนอื่นเสมอ

และพวกเราทุกคนก็ล่วงรู้ข้อจำกัดของตนเองดี ยิ่งชีวิตขมขื่นมากเพียงใด

“ยิ่งมนุษย์อ่อนไหวมากเพียงใด ความเปลี่ยวเหงาเช่นนี้ก็จะลงลึกถึงก้นบึ้งของพวกเขามากเพียงนั้น”

ลักษณะการบรรยายเช่นนี้ทำให้ถึงกับมีบางคนกล่าวว่ามูซืออิงมีอาการแบบ synaesthesia-ซินเนสทีเซีย ในตัว

อันเป็นอาการที่ประสาทสัมผัสสองแบบทำงานพร้อมกันแบบไขว้กันไปมา ซึ่งอาการที่ว่าทำให้ในชีวิตจริง แม้ว่าเขาจะชื่นชอบสังคมมากเพียงใด

มูซืออิงนั้นก็มักจะแยกตนเองจนโดดเดี่ยวจากผู้อื่นอยู่เสมอ