พระพรหมพิจิตร กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย (3)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พระพรหมพิจิตร

กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่

ในระบอบประชาธิปไตย (3)

 

“…อนุสาวรีย์ไทยตามแบบนี้ ถ้าสร้างขึ้นได้แล้ว จะไม่เป็นแต่ถาวรวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น ยังสามารถจะเป็น One of The Wonders of the World ซึ่งเมื่อว่าถึงทางวัฒนธรรมและศิลปกรรมแล้ว ก็อวดโลกได้ทีเดียวในประวัติศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมไทย ยังไม่มีผู้ใดหรือพระมหากษัตริย์องค์ใดทำได้เท่านี้ ถ้าหากเราสร้างอนุสสาวรีย์อันนี้ได้ในสมัยของพวกเรา ก็จะเป็นเกียรติอันสูงไปชั่วกาลนาน พระพุทธเจ้าหลวงลงทุนห้าล้านสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ไม่ได้ผลอะไรในทางเกียรติของชาติเลย ส่วนอนุสาวรีย์นี้ จะเป็นเกียรติของชาติและของพวกเราอย่างยิ่ง…”

หลวงวิจิตรวาทการ, 18 กุมภาพันธ์ 2482

 

ในบรรดางานออกแบบของพระพรหมพิจิตร คงไม่มีงานชิ้นใดยิ่งใหญ่มากไปกว่า “อนุสาวรีย์ไทย” เมื่อ พ.ศ.2482 แต่น่าเสียดายที่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ชิ้นนี้ไม่ได้รับการสร้างจริง

ความยิ่งใหญ่มิใช่เพียงแค่ขนาดพื้นที่อาคารที่มากถึง 10,000 ตารางเมตร แต่คือแนวคิดที่แหวกแนว (ดีหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) ล้ำสมัยมาก สำหรับงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในช่วงเวลานั้น

ผมเคยเขียนถึงอนุสาวรีย์แห่งนี้ไว้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยมิได้อธิบายอะไรมากนัก เพราะมีข้อมูลน้อย แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสค้นเรื่องนี้เพิ่ม และพบข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ อยากมาเล่าสู่กันฟัง

ชื่อโครงการนี้เมื่อแรกเริ่ม คือ “อนุสาวรีย์สนธิสัญญาของชาติ” รัฐบาลคณะราษฎรดำริให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการที่ไทยได้รับเอกราชทางการศาลสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2481 หลังจากที่ต้องเสียไป นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 4

ประเด็นนี้สำคัญอย่างไร คำตอบที่ชัดเจนรวบยอดที่สุดก็คือ หากประเทศใดไร้ซึ่งเอกราชทางการศาล ย่อมไม่อาจเรียกตนเองอย่างภาคภูมิแท้จริงว่าเป็นประเทศเอกราชได้

รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตระหนักดีในข้อนี้ และพยายามแก้ไขเรื่องนี้มาโดยลำดับ แต่จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ

ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อคณะราษฎรเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการระบุเรื่องนี้ไว้เป็นหลักข้อที่หนึ่ง (หลักเอกราช) ในหลักหกประการของคณะราษฎรเลยทีเดียว

ภายหลังการปฏิวัติ คณะราษฎรได้เร่งทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่หลายฉบับจนแล้วเสร็จครบถ้วน เมื่อ พ.ศ.2478 ซึ่งทำให้นานาชาติเริ่มยอมรับระบบยุติธรรมของเราว่ามีมาตรฐาน และจุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลมีเหตุผลเพียงพอในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคทั้งหลาย

ประเทศไทยทยอยแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ เรื่อยมา จนในที่สุด รัฐบาลได้ลงสัตยาบันสนธิสัญญาใหม่กับฝรั่งเศสเป็นประเทศสุดท้ายในปี พ.ศ.2481 ซึ่งทำให้ไทยมีเอกราชสมบูรณ์อย่างแท้จริง

อนุสาวรีย์ไทย แบบกระโจมไฟ

ความสำเร็จนี้ สร้างความยินดีมากให้กับคณะราษฎร มีการจัดงานฉลองสนธิสัญญาใหม่กลางท้องสนามหลวง มีการสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่เมื่อ พ.ศ.2482 เพื่อเป็นที่ระลึกต่อเหตุการณ์นี้

ไม่เพียงแค่นั้น จากเอกสารชั้นต้นที่ผมเพิ่งได้อ่านพบ ทำให้ทราบว่า ในปีเดียวกัน รัฐบาลยังคิดโครงการ “อนุสาวรีย์สนธิสัญญาของชาติ” ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ด้วย

ความพิเศษอย่างแรกของโครงการนี้คือ การเปิดให้มีการประกวดแบบสาธารณะ ซึ่งอาจถือได้เป็นการประกวดออกแบบสถาปัตยกรรมระดับชาติชิ้นแรกๆ ของสังคมไทยก็ว่าได้ ภายใต้เงินรางวัลรวมที่มากถึง 1,800 บาท

รัฐบาลกำหนดที่ตั้งเอาไว้ในบริเวณปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ในตอนปลายสุดของถนนที่จะตัดจากกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ (ถ.สุขุมวิท) ซึ่งสันนิษฐานว่าคงอยู่ไม่ไกลมากนักจากสถานตากอากาศบางปู อีกหนึ่งโครงการสำคัญของยุคคณะราษฎร

อย่างไรก็ตาม ไม่มีแบบใดที่ชนะใจคณะกรรมการได้ ดังนั้น ในราวต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2482 รัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรรับผิดชอบในการออกแบบแทน โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมคือ เปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์เป็น “อนุสาวรีย์ไทย” และเสนอว่า “ควรทำเป็นรูปกระโจมไฟ”

ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น กรมศิลปากรภายใต้การรับผิดชอบของหลวงวิจิตรวาทการ ได้มอบหมายให้พระพรหมพิจิตรรับผิดชอบในการออกแบบ

อนุสาวรีย์ไทย แบบสุดท้าย

แบบร่างแรกที่พระพรหมพิจิตรออกแบบมามีลักษณะเป็นกระโจมไฟเสาสูงขนาดใหญ่ โดยออกแบบแยกในส่วนรายละเอียดออกไปเป็น 3 แบบย่อย (ดูภาพประกอบ 1) แต่ได้รับคำวิจารณ์กลับมาว่า “…ดูไม่แปลกอะไร เพราะมีอยู่ทั่วๆ ไป ควรออกแบบใหม่ให้เป็นไทยแท้ ไม่ให้มีแห่งใดเหมือน…”

พระพรหมพิจิตรออกแบบใหม่โดยอ้างอิงรูปแบบมาจากโลหะปราสาท (ไม่มีหลักฐานของแบบนี้) แต่ก็ได้รับคำวิจารณ์อีกครั้งว่ามีจำนวนยอดมากไป จนในแบบสุดท้าย ได้มีการแก้ไขเหลือเพียงยอดเดียว (ดูภาพประกอบ 2)

จากคำอธิบายของหลวงวิจิตรวาทการ ทำให้เราเห็นถึงจินตนาการอันล้ำยุคล้ำสมัยมากในการประยุกต์รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีกับการใช้สอยแบบสมัยใหม่ ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังแทบไม่มีใครกล้าคิดแบบนี้

นอกจากการตั้งเป้าให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก (ตามที่ยกมาให้เห็นต้นบทความ) พระพรหมพิจิตรยังได้ออกแบบให้อนุสาวรีย์นี้มีความสูงมากถึง 100 เมตร ซึ่งเทียบเคียงได้กับพระปฐมเจดีย์ ส่วนฐานอนุสาวรีย์ออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีความยาวแต่ละด้านยาวถึง 100 เมตร

ที่พิเศษสุดคือ อนุสาวรีย์ถูกออกแบบให้เป็นอาคารที่มีการใช้สอยภายในได้สูง 4 ชั้น

ชั้น 1 ในส่วนพื้นที่โถงกลาง ทำเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับรับประทานอาหาร เต้นรำ และงานเลี้ยงของทางราชการ โดยมีการออกแบบเฉลียงโดยรอบให้เป็นเหมือนที่แสดงนิทรรศการสินค้าทางการเกษตรของไทย

ชั้น 2 และชั้น 3 ออกแบบเป็นโรงแรม พื้นที่ใช้สอยมากกว่า 1,000 ตารางเมตร ส่วนชั้น 4 ออกแบบให้เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่สำหรับรองรับการประชุมระดับนานาชาติ

 

อนุสาวรีย์ไทยของพระพรหมพิจิตรชิ้นนี้ (ไม่ว่าจะเป็นไอเดียของใครก็ตาม) ได้ดันเพดานงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่เพียงแค่การออกแบบด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต (ตามที่อธิบายในสัปดาห์ก่อน) เท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยที่มีการใช้สอยภายในขนาดใหญ่และซ้อนหลายชั้น ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็มิใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำ

ยิ่งไปกว่านั้น งานชิ้นนี้ยังออกแบบกิจกรรมสมัยใหม่ที่ไม่มีใครกล้าคิดที่จะทำใส่ไว้ภายใต้เปลือกนอกของสถาปัตยกรรมไทยประเพณี นั่นก็คือ โรงแรม

ข้อนี้ แม้แต่หลวงวิจิตรวาทการเองก็ทราบ และได้กล่าวเอาไว้ว่า “…ปัญหามีอยู่ข้อเดียวคือจะมีทางตำหนิได้หรือไม่ที่เอาอนุสาวรีย์เป็นโรงแรม…” แต่สุดท้าย แกก็บอกว่า “…ข้อนี้ผมไม่กลัว และมีทางแก้ ซึ่งจะกราบเรียนให้ทราบได้ภายหลัง…”

ความกังวลนี้ ส่วนหนึ่งคือ ปัญหาว่าด้วยการใส่กิจกรรม “สาธารณ์” ที่มีภาพพจน์ไม่ดีนักในยุคสมัยนั้น (โรงแรม) ลงในสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติที่มีนัยยะ “ศักดิ์สิทธิ์”

อีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากปัญหาว่าด้วยความไม่เหมาะสมในเรื่อง “ฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมไทย” ที่มีนัยยะ “ศักดิ์สิทธิ์” เช่นกัน แต่กลับถูกนำมาออกแบบให้เป็นโรงแรม

กรณีนี้เราสามารถนึกเทียบเคียงได้กับดราม่าในโลกสมัยใหม่หลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมานะครับ ที่มีการใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ในการออกแบบโรงแรม (ดราม่ากรณีโรงแรมดาราเทวีเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือตัวอย่างที่ชัดเจน)

 

ในทัศนะผม หากอนุสาวรีย์ไทยได้รับการสร้างจริงตามแผน สถาปัตยกรรมไทยชิ้นนี้ (ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) จะเข้ามาลดทอนฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมไทยอันศักดิ์สิทธิ์ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

และจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ชิ้นสำคัญหลังการปฏิวัติ 2475 ทั้งในเชิงอุดมการณ์ชาตินิยมไทยแบบจอมพล ป. และอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร

อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณการก่อสร้างที่มากถึง 2 ล้านบาท ทำให้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและจอมพล ป.แต่อย่างใด

สุดท้าย หลวงวิจิตรวาทการได้ทำจดหมายถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2484 เสนอยุติโครงการนี้ โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อเรามีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, วัดพระศรีมหาธาตุ และอนุสาวรีย์ทหารที่เรากำลังจะทำใหม่ด้วยเงินนับแสนแล้ว การสร้างอนุสาวรีย์ไทยที่ปากน้ำเจ้าพระยานั้น ก็ดูมีความจำเป็นน้อย…”

ด้วยเหตุนี้ โครงการอนุสาวรีย์ไทย ที่เป็นสถานที่ระลึกการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล และเป็นงานออกแบบที่ดันเพดานงานสถาปัตยกรรมไทยไปอีกขั้นหนึ่งของพระพรหมพิจิตร จึงไม่ได้ถูกทำให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยทีเดียว