ทหารอากาศขาดรัก! เครื่องบินรบในสงครามโรคระบาด/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ทหารอากาศขาดรัก!

เครื่องบินรบในสงครามโรคระบาด

 

“กลุ่มนักปฏิรูปทหารเชื่อว่า กองทัพเสพติดอาวุธเทคโนโลยีสมรรถนะสูงที่มีราคาแพง ผลลัพธ์ที่ได้คือ การมีระบบอาวุธจำนวนน้อยแต่มีความซับซ้อน และทำให้การเตรียมความพร้อมรบเป็นปัญหา อันเนื่องมาจากการที่ระบบอาวุธดังกล่าวล้มเหลวได้ง่าย จนทำให้ระบบอาวุธเช่นนี้มีประโยชน์น้อยกว่าระบบอาวุธจำนวนมากที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า”

คำวิจารณ์กองทัพอากาศอเมริกัน

Stephen Robinson

The Blind Strategist (2021)

 

บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยขอสังเกตของกลุ่ม “นักปฏิรูปทหาร” ที่ก่อตัวขึ้นในสังคมอเมริกันในยุคหลังสงครามเวียดนาม หรือโดยนัยคือการขับเคลื่อนการปฏิรูปกองทัพอเมริกันก่อนยุคสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่ค้นพบถึงความไร้ประสิทธิภาพของการจัดซื้อจัดหาระบบอาวุธของกองทัพ อันนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะระบบอาวุธราคาแพงนั้น กลับเป็นปัญหาในตัวเอง จนบรรดานักปฏิรูปกองทัพอเมริกันได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งในการเคลื่อนไหว

ดังนั้น สภาวะของการ “เสพติดอาวุธใหม่” ที่มีเทคโนโลยีสมรรถนะสูงเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งมักจะมีราคาแพงนั้น กลายเป็น “วัฒนธรรมทหาร” ประการหนึ่งที่ถูกนำมาวิพากษ์อย่างมากในขณะนั้น

และบางทีเราคงต้องยอมรับว่า อาการเสพติดเช่นนี้ก็ปรากฏในกองทัพของประเทศอื่นๆ ไม่แตกต่างกัน เพราะสำนักคิดแบบ “อาวุธนิยม” ต้องการอาวุธใหม่เทคโนโลยีสูงเสมอ จนขาดข้อคิดคำนึงในทางยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไปอย่างน่าเสียดาย

และสำนักนี้มักเห็นกองทัพในมิติเดียวคือ การพัฒนากองทัพคือ “การซื้ออาวุธใหม่” และเชื่ออย่างง่ายๆ อีกว่าการไม่ซื้ออาวุธใหม่จะทำให้กองทัพอ่อนแอลง

เสมือนหนึ่งพลังอำนาจทางทหารผูกติดอยู่กับปัจจัยเดียวคือ การมี “อาวุธใหม่” เท่านั้น

 

อาวุธในสงครามโรคระบาด

สังคมไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องเข้าปี 2564 และปี 2565 อย่างน่ากังวล จนเสมือนกับเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ “สงครามโรคระบาด” ที่ยังมองไม่เหมือนจุดสิ้นสุด

ซึ่งการเข้าสู่สงครามในปีที่สามนั้น ประเทศย่อมบอบช้ำจากปัจจัยเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในมิติของชีวิตประชาชนโดยรวม ที่ถูกกระทบอย่างมากทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ จนอาจต้องยอมรับว่าสงครามโรคระบาดครั้งนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยเผชิญ

หรือที่นักวิชาการในยุโรปกล่าวเปรียบเทียบว่า ไม่มีภัยคุกคามอะไรใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่ากับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน

สงครามโรคระบาดในปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มที่ขยายตัวมากขึ้น และเกิดการกระจายอย่างรวดเร็วจากการกลายพันธุ์ที่เป็นเชื้อ “โอมิครอน” ดังที่ปรากฏให้เห็นชัดจากการระบาดที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก จนการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนเป็น “โจทย์หลัก” ที่สำคัญของโลกปัจจุบัน ซึ่งไทยเองก็ไม่ต่างจากหลายประเทศในเวทีโลกที่ยังต้องรับมือกับการระบาดไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา และเป็นการก้าวสู่ปีที่ 3 ของสงครามชุดนี้ที่ท้าทายต่อขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางการระบาดของโอมิครอนนั้น สังคมไทยยังเผชิญกับ “โจทย์ใหม่” คือ โรคระบาดในสุกร ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของหมูเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเนื้อหมู จนทำให้ราคาหมูที่เป็นอาหารพื้นฐานของคนในสังคมไทยขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในขณะเดียวกันก็พาราคาสินค้าอื่นๆ เช่น เนื้อไก่และไข่ไก่ แพงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน อันทำให้ชีวิตของหลายครอบครัวในสังคมตกอยู่ในวิกฤตขนาดใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน…

สงครามชีวิตของหลายครอบครัวดำเนินไปอย่างโหดร้าย และมองเห็นว่าจะชนะสงครามชุดนี้อย่างไร

ปัญหาเช่นนี้จึงเป็นเหมือนภาวะ “สงครามซ้ำซ้อน” คือประเทศเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด” และผู้คนในสังคมเผชิญกับ “สงครามชีวิต” ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของคนในสังคมอย่างรุนแรง รวมทั้งการต้องแบกรับปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน… ประเทศบอบช้ำจากสงครามโรคระบาดเช่นใด คนในสังคมก็บอบช้ำจากสงครามชีวิตเช่นนั้น จนอาจเปรียบเทียบได้ว่าสังคมไทยก้าวสู่ “ยุคข้าวยากหมากแพง” อย่างแท้จริง และเป็นดัง “มิคสัญญีของชีวิต” ที่หลายครอบครัวต้องเผชิญในขณะนี้

ในสภาวะเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐที่จะต้องดูแลชีวิตของประชาชนในยามวิกฤต

และการทำหน้าที่เช่นนี้จะสะท้อนให้เห็นได้จากการใช้งบประมาณของรัฐบาล เพราะการจัดสรรงบประมาณจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงทิศทางและการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการจัดสรรงบเพื่อพยุงชีวิตของผู้คนในยามยาก ที่มีเสียงเรียกร้องจากภาคสังคมมากขึ้น

ฉะนั้น ในสงครามโรคระบาดและในสงครามชีวิต ที่ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านต่อชีวิตของผู้คน จึงทำให้เกิดเสียงคัดค้านรัฐบาลในการใช้งบประมาณด้านการทหาร เพราะหลายฝ่ายในสถานการณ์เช่นนี้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลไทยควรจะใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาโรคระบาด และดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าจะนำไปใช้ในการซื้ออาวุธ

อีกทั้งมองไม่เห็นว่า ยุทโธปกรณ์ที่กองทัพต้องการสำหรับ “สงครามทางทหาร” นั้น จะมีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา “สงครามชีวิต” ที่วันนี้มี “สงครามโรคระบาด” เป็นแรงขับเคลื่อนได้อย่างไร

อีกทั้งคนส่วนใหญ่ในสังคมคิดคล้ายกันว่า ไทยไม่ได้เผชิญกับภัยคุกคามทางทหารจากรัฐข้าศึก หรือมีข้อพิพาทที่อาจนำไปสู่การใช้กำลังโดยตรงกับรัฐอื่น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหายุทโธปกรณ์สมรรถนะสูง

 

มองต่าง-คิดต่าง-เห็นต่าง!

รัฐบาลและผู้นำทหารคงต้องยอมรับว่า ทัศนะของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายทหาร คนอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาสงครามโรคระบาด และสงครามชีวิตที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่อย่างแสนสาหัส

แต่คำตอบที่ได้ในอีกด้านหนึ่งคือ กองทัพอากาศเตรียมจัดทำงบประมาณเพื่อขอซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ และข่าวนี้เริ่มปรากฏจากการนำเสนอของสื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยผู้บัญชาการทหารอากาศกล่าวว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

แม้ต่อมา กองทัพอากาศจะไม่ยอมรับตรงๆ ว่าจะจัดซื้อเครื่องบินรบแบบใด แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าในความเป็นจริงนั้น กองทัพอากาศต้องการจัดซื้อเอฟ-35 (ซึ่งว่าที่จริง ไม่มีเหตุผลอะไรที่กองทัพอากาศจะทำลับๆ ล่อๆ เพราะมีข่าวนำร่องมาก่อนแล้วว่า ทอ.จะซื้อเครื่องบินชุดนี้)

ผู้นำทหารคงต้องยอมรับความจริงว่า ข่าวรับปีใหม่ 2565 จากกองทัพอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์ใจในยามที่สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตต่างๆ อย่างรอบด้าน และยังมองไม่เห็นว่าสังคมไทยจะฟื้นตัวได้จริงจากวิกฤตที่รุมเร้าเหล่านี้ได้อย่างไร

แต่กองทัพอากาศก็นำเสนอ “ของขวัญปีใหม่” ให้สังคมไทยได้อย่างไม่คาดคิด

จนเสมือนกองทัพอากาศไม่ตระหนักถึงบทเรียนจากแรงต้านและเสียงคัดค้านก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นกับการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จนในที่สุดผู้บัญชาการทหารเรือปัจจุบัน ได้ตัดสินใจยุติปัญหานี้ ด้วยการไม่เสนอของจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 อีก

แต่กองทัพอากาศกลับพลิกความคาดหมายด้วยการประกาศเตรียมจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ และพยายามจะสร้างแรงจูงใจให้สังคมเห็นพ้องด้วยการเอาราคามาเป็นข้อเสนอ โดยกองทัพอากาศเชื่อว่าจากราคาเครื่องเปล่าแต่เดิมจาก 142 ล้านเหรียญต่อเครื่อง ปัจจุบันลดลงเหลือ 82 ล้านเหรียญ และกองทัพอากาศถึงกับนำเสนอว่า ไทยจะสามารถต่อรองได้ในราคาประมาณ 70 ล้านเหรียญต่อเครื่อง

พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเตรียมการจัดซื้อครั้งนี้ เป็นมูลค่าสูงถึง 1 หมื่น 3 พัน 800 ล้านบาท

ในยามวิกฤตเช่นนี้ คนส่วนใหญ่ย่อมมองต่างมุมที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการจัดหาเครื่องบินรบ เพราะก่อนหน้านี้ ทอ.เพิ่งใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้อเครื่องบินฝึกแบบเอที-6 จากสหรัฐ จำนวน 8 ลำ ที่มีมูลค่า 4 พัน 5 ร้อยล้านบาทในตอนกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา (รายการจัดซื้อทั้งสองครั้งรวมกันสูงถึง 18,300 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศนำเสนอด้วยการเอาปัจจัยราคามาเป็นข้อต่อรองว่า ถ้าไม่ซื้อตอนนี้แล้ว ราคาอาจจะขยับขึ้นในอนาคต

บางทีผู้นำทหารอากาศอาจจะต้องคิดด้วยวิจารณญาณว่า การจัดซื้ออาวุธหลักที่มีมูลค่าสูงเช่นเครื่องบินรบนั้น ไม่ใช่รายการซื้อของในเว็บไซต์ที่ต้องมีเวลาซื้อ… ถ้าไม่ซื้อเวลานี้ สินค้าจะขึ้นราคา

เพราะรัฐบาลไทยคงไม่ซื้อเครื่องเอฟ-35 ของบริษัทล็อกฮีต มาร์ติน ผ่านเว็บไซต์แบบ Shopee หรือ Lazada ที่ผู้ซื้อมักถูกบีบให้ตัดสินใจซื้อด้วยเงื่อนไขเวลาลดราคาสินค้า

แต่โดยหลักการแล้ว การลงทุนการซื้อยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงราคาแพงต้องการคำตอบเรื่องของความต้องการทางยุทธศาสตร์ มากกว่าจะมาจากแรงจูงใจในเรื่องของราคา

 

หลงฟ้า-หลงทิศ

ในทำเนียบกำลังรบที่ปรากฏในรายงานระหว่างประเทศ กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-16 ทั้งแบบเอ (38) และบี (15) รวม 53 เครื่อง มีเครื่องขับไล่โจมตีแบบกริพเพน ทั้งแบบซี (7) และดี (4) รวม 11 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบอัลฟาเจ็ต รวม 16 เครื่อง

ซึ่งกำลังรบเช่นนี้ไม่ใช่กองทัพอากาศขนาดเล็กในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารคงต้องตอบในอีกด้านว่า ภัยคุกคามทางทหารที่ไทยเผชิญในขณะนี้คืออะไร และมีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์เพียงใดที่ต้องจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ในขณะนี้ เพราะเครื่องบินรบที่ไม่รองรับต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศนั้น เป็นได้เพียงเครื่องบินที่ “หลงฟ้า”

ถ้าผู้นำทหารไทยยังครองสติสัมปชัญญะได้บ้าง อยากขอให้ช่วยตระหนักถึงวิกฤต 2 ชุดที่เป็นภัยคุกคามที่แท้จริง คือสงครามโรคระบาดและสงครามชีวิตที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญเป็นมหันตภัยใหญ่

อีกทั้งผู้นำกองทัพควรต้องตระหนักว่า งบประมาณทหารเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชน และประชาชนอยากเห็นรัฐบาลใช้งบที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศ โดยเฉพาะในยามนี้ คงต้องยอมรับความจริงว่าคนในสังคมมองต่างมุมกับผู้นำทหารอย่างมาก “สงครามทางทหาร” ที่ฝ่ายกองทัพพยายามเสนอ เพื่อให้คนสนับสนุนในการจัดซื้อนั้น ไม่ใช่วาทกรรมที่คนส่วนใหญ่จะตอบรับเช่นกรณีของเรือดำน้ำ

บางที ทอ.จะได้เป็น “ทหารอากาศขาดรัก (จากประชาชน)” จริงๆ ไม่ใช่ทหารอากาศขาดรักในเพลงลูกทุ่ง!