‘ดร.สติธร’ วิเคราะห์ศึกเลือกตั้งซ่อม แข่งขันเดือด ‘ปชป.-พปชร.’ จับตาหลักสี่ฯ ‘พลิกผัน’ เดือดสุด/บทความในประเทศ(ประจำวันที่ 21-27 มกราคม 2565 ฉบับที่ 2162)

บทความในประเทศ

 

‘ดร.สติธร’ วิเคราะห์ศึกเลือกตั้งซ่อม

แข่งขันเดือด ‘ปชป.-พปชร.’

จับตาหลักสี่ฯ ‘พลิกผัน’ เดือดสุด

 

ดุเดือด แม้จะเป็นเพียงสนามย่อย สำหรับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6 ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ทั้ง 2 เขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนะพรรคการเมืองใหญ่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกันอย่าง พรรคพลังประชารัฐ คู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ในครั้งนี้ ตั้งแต่การเปิดตัวผู้สมัคร ตลอดจนหาเสียงอวดนโยบายแซะกันไปมา

แน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงต้องการรักษาฐานเสียงภาคใต้เอาไว้ในฐานะเจ้าถิ่น ขณะที่พลังประชารัฐเองก็ต้องการกวาดต้อนยึดพื้นที่ให้ฐานเสียงของพรรคตัวเองมากที่สุดเช่นกัน

ยิ่งเป็นการสะท้อนภาพการแข่งขันกันทางการเมืองของทั้งสองพรรคอย่างชัดเจน แม้จะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกันก็ตาม

 

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘The Politics ข่าวบ้านการเมือง’ ถึงผลการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถล้มคู่แข่งอย่างพลังประชารัฐและก้าวไกลอย่างไม่เห็นฝุ่น รวมถึงวิเคราะห์และชวนจับตาดูสถานการณ์การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้

“ผลคะแนนที่ออกมา ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ชนะ มองในมุมประชาธิปัตย์ หลายคนก็อาจจะตั้งคำถามว่ามันถึงเวลาที่ประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในภาคใต้แล้วใช่ไหม ก็คงต้องบอกผู้ชนะว่าเฉลิมฉลองกันให้เรียบร้อยแล้วก็เตรียมตัวสู้ศึกใหญ่ในวันข้างหน้า คือจริงๆ มันไม่ส่งสัญญาณขนาดนั้น”

“ต้องยอมรับประการหนึ่งก่อนว่าสองพื้นที่นี้คือที่ของประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์แค่รักษาพื้นที่ได้เท่านั้น เพราะครั้งที่แล้วเลือกตั้งปี 2562 อุปสรรคขวากหนามการแข่งขันการต่อสู้มันเยอะมากกว่านี้เยอะ ประชาธิปัตย์ยังเอาตัวรอดมาได้ แล้วที่สำคัญคือผู้สมัครสองท่านที่ถูกตัดสิทธิ์ไปจนต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ สองท่านนี้คือคนที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมของ กปปส. คำถามคือทำไมสองท่านนี้ไม่ไปรวมกับลุงกำนันในนาม รวมพลังประชาชาติไทย ก็แปลได้ว่าพื้นที่ที่สองท่านนี้ต้องจับจองเปลี่ยนโลโก้พรรคมันอันตราย ท่านถึงต้องยอมอยู่กับพรรคต่อไป”

“แปลว่ามันเป็นพื้นที่ที่แข็งและแบรนด์ประชาธิปัตย์ยังถือว่าขายได้ดี การชนะเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก”

 

ในแง่ของคู่แข่งหลักอย่าง พรรคพลังประชารัฐ สะท้อนอะไรออกมาให้เห็นจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ดร.สติธรมองว่าพลังประชารัฐยังคงต้องทำการบ้านให้หนัก และดูเหมือนว่ารอบนี้พลังประชารัฐพลาดที่ย่ามใจคิดว่าตัวเองจะชนะ แต่สุดท้ายก็พลาดท่าเสียศูนย์กันไปทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

โดยเฉพาะการขึ้นปราศรัยช่วยผู้สมัครในพรรคของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลา ยังทำให้เกิดประเด็นดราม่าวาทกรรม ‘เลือกคนรวย’ ที่ถูกโจมตีและมองว่าเป็นการดูหมิ่นดูแคลนคนใต้ ประเด็นนี้ ดร.สติธรชี้ให้ฟังว่า เกมการเมืองของพลังประชารัฐรอบนี้ไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของคนภาคใต้ดีเท่าที่ควร!

“ตั้งแต่รับสมัครกันมา แล้วกระแสคนก็จะรู้สึกว่าพลังประชารัฐมารอบนี้ ประชาธิปัตย์แย่แน่ เพิ่งจะมามีโค้งสุดท้ายเลยที่เริ่มรู้สึกว่าสงสัยพลังประชารัฐจะเพลี่ยงพล้ำเองเสียแล้ว แปลว่าแผนการที่เตรียมมาก็ใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่ามันอาจจะมาพลาดช่วงท้ายๆ หน่อย จนทำให้เกมมันพลิก ประชาธิปัตย์ก็เลยชนะ”

“พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปทบทวนกันเองว่าแผนที่เตรียมมามันพลาดตรงไหนบ้าง แล้วก็ไม่ได้แปลว่าแพ้รอบนี้จะแพ้ตลอดไปนะ สงครามที่แท้จริงรออยู่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เลือกตั้งทั่วไป อันนี้เป็นการมาลองเชิง”

“ย่ามใจ พูดง่ายๆ คิดว่าเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผ่านศึกเลือกตั้งซ่อมมาหลายครั้งอะไรอย่างนี้ แล้วก็ใช้สูตรที่ใช้อยู่แล้วมันสำเร็จมาเรื่อยๆ คือคนก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าคุณเข้าใจคนใต้ดีหรือเปล่า แล้วพอยิ่งไปเจอคำพูดอีก คือไปพูดที่ไหนก็ได้แหละครับ แต่ว่าพูดกับภาคใต้ต้องระมัดระวังกว่านี้ เพราะที่สำคัญคือคู่แข่งของพลังประชารัฐคือประชาธิปัตย์ด้วย เขาขึ้นชื่ออยู่แล้ว เรื่องสู้กันด้วยคารมคมคาย วาทกรรม ประชาธิปัตย์เขาไม่เป็นสองรองใคร แล้วการเข้าใจหัวอกคนใต้ประชาธิปัตย์เขาเข้าใจดีที่สุด อันนี้เป็นบทเรียนราคาแพง”

“ถามว่าเลือกตั้งซ่อมเอาคนมาให้เลือก คนก็ต้องถามว่าเลือกแล้วจะได้อะไร เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเสริม เสริมจากความสัมพันธ์ส่วนตัว เสริมจากผลประโยชน์ที่พรรคแต่ละพรรคจัดสรรลงสู่พื้นที่ได้ มันเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่สองพรรคจะมาพูดเรื่องนี้ แล้วก็จะเคลมกันไปมาว่าใครแจกมากกว่ากัน”

 

ส่วนการเลือกตั้งซ่อมสนามหลักสี่-จตุจักร ในวันที่ 30 มกราคมนี้ ดร.สติธรมองว่าสนามเลือกตั้งซ่อมเขตนี้จะยิ่งสนุก ยิ่งพลังประชารัฐที่เพิ่งผิดหวังจากภาคใต้ หลังไปสู้ในฐานะผู้ท้าชิง แต่กรุงเทพฯ คือแชมป์เก่าเจ้าของพื้นที่ ฉะนั้นก็ต้องมารอดูกันว่าแม่ทัพที่เพิ่งไปพ่ายศึกจากภาคใต้มา จะแก้มือเลยหรือไม่

“ถ้าแก้มือจะใช้แผนไหน หิ้วลุงป้อมไปออกเดินหาเสียงทุกวันเลยไหม อันนี้น่าสนใจ มีเวลาให้แก้มือ 2 อาทิตย์ไหวไหม เพราะว่าเท่าที่เช็กเรตติ้งกัน ณ วันนี้ ระหว่างที่ไปทำศึกกันที่ภาคใต้ ทางผู้ท้าชิงเบอร์หนึ่งเขาเปิดเวทีปราศรัยใหญ่โกยคะแนนนำไปแล้วล่วงหน้า แชมป์เก่าว่าไง?”

“คือต้องยอมรับว่าพลังประชารัฐหนักรอบนี้ สำหรับหลักสี่-จตุจักร เพราะว่าคะแนนของเดิมมันสูสี ห่างกันหลักพัน ของพลังประชารัฐเดิมรอบนี้พอดูรายชื่อผู้สมัครแล้วมีคนมาขอแบ่งอย่างน้อยๆ 2 พรรค แล้วน่าจะแบ่งได้เยอะด้วย คือไทยภักดีหนึ่งพรรค พรรคกล้าอีกหนึ่งพรรค อันนี้คือฐานเสียงเดียวกันชัดเจน แปลว่าสามหมื่นกว่าอยู่ไม่ครบแน่นอน ยังไงก็ต้องถูกแบ่ง”

“ในขณะที่เพื่อไทยสามหมื่นนิดๆ ของเดิมมั่นใจได้ว่าอยู่ครบแน่ หายไปก็หายเฉพาะคนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เฉยๆ”

 

เมื่อถามถึงโอกาสของ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ส่งผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง ‘เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ’ นักแสดงที่ผันตัวเข้าสู่สนามการเมือง ลงชิงเก้าอี้ในเขตหลักสี่-จตุจักร จะมีโอกาสหรือไม่นั้น ดร.สติธรเผยว่าน่าจะเป็นเรื่องยาก เท่าที่ดูน่าจะเป็นการชิงอันดับที่ 3 กับพลังประชารัฐแทน

“โดยธรรมชาติของเลือกตั้งซ่อม ก้าวไกลปกติคะแนนก็จะหายครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว ในเขตที่ตัวเองไม่ได้ชนะมาก่อน แต่โอเคสนามหลักสี่อาจจะหายไม่ถึงครึ่งแต่ว่าก็น่าจะน้อยกว่าเดิม”

“ต้องยอมรับว่าเสียงของคนที่เลือกอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้จะมาเลือกก้าวไกลคือเสียงอิสระ ไม่ใช่เสียงจัดตั้ง เป็นเสียงที่ต้องอาศัยกระแสแล้วก็ในวิถีชีวิตแบบของเขามันไม่ได้เอื้อให้เขาจะเทคะแนนตัวเองลงมาให้กับพรรคที่ตัวเองชอบได้มากนักในสถานการณ์แบบนี้ เลือกตั้งซ่อมวันอาทิตย์ธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ แล้วก็เดิมพันทางการเมืองก็ไม่ได้สูงมาก จูงใจมาก ว่าถ้าไปเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัดต้องกลับบ้านมาช่วย ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดจะกลับกรุงเทพฯ มาช่วย มันก็ไม่ขนาดนั้น”

“โดยธรรมชาติของคนที่เลือกพรรคก้าวไกล เขาก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว คือหายอยู่แล้วแฟนคลับกลุ่มนี้ ในขณะที่ในพื้นที่เองก็ต้องยอมรับว่าเจ้าของพื้นที่เขาก็ใช้ได้อยู่ ในขณะที่คนที่มาท้าชิงเป็นแชมป์เก่าเมื่อปี 2554 หลังจากแพ้เมื่อปี 2562 เขาก็เกาะติดพื้นที่ทำการบ้านมาโดยตลอดเวลา ไม่น่าจะเสียฐานเสียงที่ตัวเองเคยได้ไปสักเท่าไร อันนี้มันก็หลายเหตุปัจจัย ทั้งตัวเอง ทั้งปัจจัยคนที่เลือกตัวเอง และปัจจัยของคู่แข่ง เพราะฉะนั้นก็ต้องทำใจว่ายากหน่อย”

ถือเป็นเรื่องที่เราต้องมาลุ้นอย่างใกล้ชิดติดขอบจอ ว่าสนามเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพฯ วันที่ 30 มกราคมที่จะถึงนี้ พลังประชารัฐจะกลับมาทวงคืนเก้าอี้ได้หรือไม่ หรือจะโดนใครปาดหน้าไปได้อีก

ต้องรอลุ้น!