จิตต์สุภา ฉิน : โลกจะเป็นอย่างไรในปี 2050

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เทคโนโลยีทำให้เราเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแก็ดเจ็ตผู้ช่วยประจำบ้านซึ่งนอกจากจะช่วยจัดสรรชีวิตให้เราแล้วยังช่วยพูดคุยสื่อสารสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ในบ้านให้เราได้อีกด้วย

แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่จะแสดงผลให้เราเห็นเฉพาะซีรี่ส์หรือภาพยนตร์ในแบบที่เราน่าจะชอบเท่านั้น

รถยนต์ไร้คนขับที่ช่วยให้เราสามารถทำงานหรือพักผ่อนได้เต็มที่ในระหว่างการเดินทาง

หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้เราในหลายๆ ด้าน แถมยังเล่นหมากล้อมเก่งกว่าเราชนิดเทียบกันไม่ติด

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

แต่คุณผู้อ่านนึกสงสัยไหมคะว่าแล้วถ้าเร่งเวลาไปข้างหน้าไปอีกสัก 30 กว่าปี ชีวิตเราจะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ถ้าหากเรานึกภาพเองยังไม่ออก เราลองให้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีเขาวาดภาพให้ดูกันสักหน่อยดีไหมคะ

 

อองตวน บลอนโด เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยอันเลื่องชื่ออย่าง สิริ (Siri) ของแอปเปิ้ล ซึ่งล่าสุดเขาออกมาให้ความเห็นภายใต้หัวข้อกรอบใหญ่ๆ ว่าภายในปี 2050 ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง

และสิ่งที่เขาบอกก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่เราทุกคนพอจะคาดเดากันได้อยู่แล้วค่ะ ว่าอนาคตที่กำลังจะมาถึงจะเป็นอนาคตที่ถูกปกคลุมไปด้วยเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ นั่นเอง

อองตวนบอกว่าอีก 30 ปีข้างหน้า โลกเราจะแตกต่างไปจากวันนี้มาก

เพราะในอนาคตทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกออกแบบมาให้เข้ากับความต้องการของคนแต่ละคนไปเลย และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการทำงานให้กับมนุษย์ในหลายด้านด้วย

ขยายความกันสักหน่อยค่ะ

เขาบอกว่าความก้าวหน้าในวิทยาการด้านหุ่นยนต์จะทำให้โรงงานในอนาคตทั้งหมดกลายเป็นโรงงานอัจฉริยะที่หุ่นยนต์สามารถตัดสินใจเองได้ในสถานการณ์ต่างๆ ตามเวลาจริง โดยอาศัยมนุษย์เป็นเพียงแค่คนตรวจการอยู่ห่างๆ และไม่ต้องเป็นคนงานที่ลงแรงด้วยตัวเองอีกต่อไป

ในขณะที่สายงานทางด้านอื่นๆ อย่างเช่น งานด้านกฎหมาย สื่อสารมวลชน บัญชี หรือค้าปลีก ก็จะถูกทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยคนที่ลงมือทำงานหนักจริงๆ คือปัญญาประดิษฐ์อีกนั่นแหละ

 

ในด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีก็เอื้ออำนวยให้เริ่มทำแบบนี้ได้จริงแล้วนะคะ อย่างเช่น บางสำนักข่าวก็เริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเรียงร้อยข้อมูลที่มนุษย์รวบรวมมาให้ แล้วเขียนออกมาเป็นข่าวในหมวดหมู่ข่าวกีฬาและเศรษฐกิจได้จริงแล้ว

พอปัญญาประดิษฐ์เขียนเสร็จนักข่าวที่เป็นมนุษย์ก็มาตรวจทาน หรือเขียนบทวิเคราะห์เพิ่มเติมเข้าไปอีกที

ในด้านค้าปลีก เทคโนโลยีทุกวันนี้สามารถติดตามเพื่อเก็บข้อมูลว่าลูกค้าคนไหนชอบหรือไม่ชอบอะไร และนำเสนอสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างแม่นยำแล้ว

ในด้านสาธารณสุข ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็ไม่น้อยเหมือนกัน ในยุคที่ทุกคนมีวิธีเก็บข้อมูลทางด้านสุขภาพของตัวเองได้อย่างละเอียด โดยมีแก็ดเจ็ตอย่างสมาร์ตวอตช์ หรือสายรัดข้อมือต่างๆ เป็นของพื้นฐานที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

ทุกคนจะมีข้อมูลสุขภาพของตัวเองอยู่ในมือ แต่ข้อมูลจะมีประโยชน์อะไรหากไม่เกิดการวิเคราะห์ จริงไหมคะ

ดังนั้น ต่อไปคนที่จะวิเคราะห์ความหมายของข้อมูลสุขภาพที่เราถืออยู่ในมือก็ไม่หนีไม่พ้นปัญญาประดิษฐ์อีกนั่นแหละค่ะ มันจะนำข้อมูลที่มีอยู่และวินิจฉัยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ของเราและจะทำได้อย่างแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ แถมได้เปรียบมนุษย์ตรงที่ว่าใช้ข้อมูลมาคำนวณแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีความผิดพลาดในแบบที่อาจจะเกิดขึ้นกับมนุษย์มาเกี่ยวข้อง

เช่น ผิดพลาดเพราะวิเคราะห์ผิด สภาพร่างกายจิตใจไม่พร้อมในขณะวินิจฉัยโรค ข้อมูลความรู้ไม่เพียงพอ หรืออคติลำเอียงต่างๆ เป็นต้น

แต่อย่าเข้าใจไปว่าในอนาคตอาชีพหมอจะไม่เป็นที่ต้องการนะคะ เพราะเทคโนโลยีทั้งหมดที่ยกขึ้นมาพูดถึงนั้นเรียกว่ามาช่วยเติมเต็มหรือเสริมประสิทธิภาพของการทำงานของมนุษย์มากกว่าที่จะมาทดแทนค่ะ

อองตวนบอกว่าต่อไปเราก็จะยังคงนัดหมายพบปะหมอที่เป็นคนอยู่นี่แหละ แต่เราอาจจะเลือกพบเวอร์ชั่นคนเพราะอยากจะได้ความสบายใจของการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับมนุษย์ด้วยกันมากกว่า

หรือต่อไปอาจจะมีการตั้งกฎระเบียบขึ้นมาบังคับใช้ว่ามนุษย์จะต้องเป็นคนควบคุมเครื่องจ่ายยาเท่านั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของหมอที่เป็นมนุษย์จะถูกพลิกโฉมจนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

อองตวน บลอนโด เป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีชื่อ เซนชันต์ เทคโนโลยีส์ (Sentient Technologies) ซึ่งก็ทำงานทางด้านปัญญาประดิษฐ์โดยตรง และบริษัทของเขานี่แหละค่ะที่ลงมือพัฒนาเทคโนโลยีในหลายๆ แบบที่เขาได้พูดถึงมาทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว เช่น บริษัทได้จับมือร่วมกับ shoes.com ร้านขายปลีกรองเท้าในสหรัฐอเมริกา และสร้างระบบช้อปปิ้งอัจฉริยะขึ้นมา โดยระบบนี้ใช้อัลกอริธึ่มในการเก็บข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า ว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไร และจะให้ข้อเสนอแนะในการเลือกซื้อของแบบเดียวกับพนักงานที่เป็นคนทำได้

ในด้านสาธารณสุข บริษัทของเขาก็จับมือกับ MIT ของอเมริกา และคิดค้นปัญญาประดิษฐ์พยาบาลเพื่อทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลความดันโลหิตของคนไข้จำนวนหลายพันคนและจากการทดลองก็สามารถชี้ได้ว่าใครกำลังมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายได้อย่างถูกต้องแม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถบอกได้ล่วงหน้าถึง 30 นาที ก่อนที่จะแสดงอาการออกมาให้เห็น ซึ่ง 30 นาที ที่ได้รู้ล่วงหน้านั้นนับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่บ่งชี้ความเป็นความตายได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะถูกพัฒนาขึ้นมาถึงขั้นนี้แล้ว เขาบอกว่าปัญหาที่รออยู่คือการจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้จริงกับคนหมู่มาก เนื่องจากกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ยังไม่เปิดช่องให้ทำได้ ในขณะที่ความคุ้นเคยของคนทั่วไปคือยังให้ความไว้วางใจหมอที่เป็นมนุษย์ และไม่รู้ว่าจะไว้ใจเครื่องจักรกลแค่ไหน

คุยกันมาถึงตรงนี้แล้ว ปฏิกิริยาธรรมดาที่จะเกิดขึ้นกับหลายๆ คนก็คือ แล้วการที่ปัญญาประดิษฐ์จะแผ่ขยายเข้ามารุกรานในหลากหลายวงการกันยุบยับไปหมดแบบนี้นับเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวหรือเปล่า

อองตวนบอกว่ามันไม่มีอะไรน่าวิตกเลย แต่มนุษย์เพียงแค่ต้องเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่มีเกี่ยวกับอาชีพการงานและการศึกษาใหม่เท่านั้น

เขาขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า รูปแบบเดิมๆ ที่เราสำเร็จการศึกษากันในช่วงอายุ 16 22 และ 24 นั้นจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว เราทุกคนจะต้องฝึกฝนตัวเองใหม่อยู่เรื่อยๆ และสร้างทักษะใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน เพราะเทคโนโลยีก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าตอนนี้คอมพิวเตอร์จะทำเรื่องบางเรื่องได้เก่งกว่ามนุษย์ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหมากล้อมหรือหมากรุก แต่ถ้าต้องลองคำนวณกันจริงๆ ว่าเมื่อไหร่มันจะไปถึงจุดที่เรียกว่า Artificial General Intelligence หรือ AGI ซึ่งเป็นจุดที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถปฏิบัติภารกิจที่ต้องใช้หัวคิดในแบบเดียวกับมนุษย์

ก็น่าจะคาดการณ์กันไว้ได้กว้างมากๆ คืออยู่ที่ราวๆ ปี 2030 ไปจนถึงสิ้นสุดศตวรรษนู่นเลยล่ะค่ะ

 

เขาทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเราอาจจะสร้าง AGI ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมาได้ แต่ก็ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องถูกสร้างขึ้นมาเลียนแบบเราเป๊ะๆ จักรกลเหล่านั้นอาจจะมาทำหน้าที่เป็นผู้ค้าที่ดี หรือเป็นพนักงานต้อนรับลูกค้าที่ดี แต่ก็ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องมาทำหน้าที่สามี ภรรยา ที่ดีด้วยสักหน่อย ซึ่งจะออกมาเป็นยังไงนั้น มันก็คงต้องศึกษาจากข้อมูลจำนวนมากๆ แล้วพัฒนาสัญชาตญาณของตัวเองขึ้นมาเอง และแน่นอนว่าจะใช้เวลาไม่น้อยเลย

ก่อนหน้านี้ก็มีการถกเถียงกันไม่น้อยว่าปัญญาประดิษฐ์อันตรายหรือไม่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค กับ อีลอน มัสก์ ก็ยังออกมาฉะกันไปรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งเราก็เคยได้สรุปความในคอลัมน์นี้กันไปแล้วว่าทั้งสองอย่างจะต้องไปด้วยกัน คือมีทั้งการพัฒนา และมีทั้งการคอยตรวจสอบควบคุมไปพร้อมๆ กัน อองตวนเขาก็คิดแบบนี้แหละค่ะ เขาบอกว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วตอนที่เราพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์กันตอนนั้นมันก็อาจจะนำไปสู่วันสิ้นโลกได้เหมือนกัน แต่ทุกวันนี้โลกก็ยังเป็นโลกเหมือนเดิม

สรุปก็คือ พัฒนาไปด้วยกัน ตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน จะได้ไม่มีวันที่เราตื่นขึ้นมาแล้วพบเซอร์ไพรส์ว่าจู่ๆ หุ่นยนต์ก็เกิดความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ไปเสียแล้ว แบบนี้ดีไหมคะ