คำ ผกา : เมื่อถ้อยคำถูกขโมยโดยละม่อม

คำ ผกา

“เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนหน้าเดิมจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง มีสัดส่วนคนจาก สปท. แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปจะต้องหาคนดีอยู่ในแวดวง สปท. และ สปช. ไม่ถึงขนาดเป็นหัวกะทิ เราดูจากการเข้าประชุม การทำหน้าที่ รวมถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะคนในคณะกรรมการปฏิรูปคือ คนต้องนั่งลงมือทำงาน ไม่ใช่ฝัน ถ้าคิดว่าจะฝันให้ไปอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนหากจะเป็น ส.ว. ก็ต้องลาออกจากคณะกรรมการปฏิรูปก่อน แต่ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องลาออกภายในกี่วัน”

https://news.voicetv.co.th/thailand/516043.html

ฉันยกข่าวนี้ขึ้นมา ไม่ได้จะพูดเรื่องการเมือง แต่อยากทดสอบเรื่องการ “อ่าน” ภาษาไทยของเรา

ใครๆ ก็รู้ว่า “การอ่าน” นั้น ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือออก สะกดตัวอักษรได้ แต่หมายถึงการถักทอความเข้าใจและความเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาบนตัวบทที่เราอ่าน

เช่น ถ้าเราเจอประโยคที่เขียนว่า

“ทำตัวน่ารังเกียจประหนึ่งเป็นโสเภณี”

สำหรับคนที่อยู่ในวัฒนธรรมที่เห็นว่า โสเภณีคือความน่าอาย คือความตกต่ำ หากโดนด่าด้วยประโยคนี้ย่อมเจ็บปวด

แต่สำหรับคนที่เห็นว่า อาชีพโสเภณีมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เท่ากับอาชีพอื่นๆ หากถูกด่าด้วยประโยคนี้ย่อมจะหัวเราะออกมาดังๆ และคิดว่าเป็นคำชม

ตัวอย่างที่ง่ายกว่านั้น ในสมัยหนึ่งคำว่า “ไอ้หน้าหมา” ถือว่าเป็นคำด่าที่รุนแรงมาก

แต่ในสมัยนี้ที่ใครๆ ก็เรียกหมาว่า น้องหมา แถมยังรักทะนุถนอม เลี้ยงดูรักใคร่ปานแก้วตาดวงใจ ถ้าเราไปด่าคนรักหมาว่า “ไอ้หน้าหมา” คำด่านี้ก็ไม่สร้างความเจ็บปวด

เว้นแต่ต้องเพิ่มคำคุณศัพท์เข้าไปเป็น “ไอ้หน้าหมาขี้เรื้อนข้างถนน” ก็อาจจะช่วยเพิ่มความเจ็บช้ำได้บ้าง

เพราะฉะนั้น ในการอ่านจึงไม่ใช่แค่การสะกดคำ รู้ความหมาย

แต่พวกเราทุกคนต่างถูกหล่อหลอมให้เข้าใจรหัสทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม อำนาจ ที่อยู่ในตัวบทที่เราอ่าน จากนั้น เราจึงก่อรูปความเข้าใจของเราต่อสังคมที่เราอยู่ ต่ออำนาจต่างๆ ที่แสดงอยู่รอบตัวเรา ผ่าน “ภาษา” ที่เราอ่านอยู่ทุกวันนี่เอง

คําว่าปฏิรูป ดูจะเป็นคำที่มีความหมายกำกวมมาก

เรารู้ว่า ถ้า ณ จุดไหนของประเทศมีปัญหา สิ่งที่เราต้องทำคือ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป เช่น เราอยากให้มีการปฏิรูปการศึกษา เราอยากให้มีการปฏิรูประบบราชการ เราอยากมีการปฏิรูปตำรวจ ฯลฯ

เราพูดคำว่าปฏิรูปอย่างเลื่อนลอย และดูเหมือนจะสับสนระหว่างคำว่าปฏิรูปกับการ “ปรับปรุงให้ดีขึ้น”

เช่น ถ้าเราพูดว่าปฏิรูปการศึกษา มันสามารถเป็นได้ตั้งแต่ปฏิรูปให้เป็น “อำนาจนิยมเต็มรูปแบบ” หรือปฏิรูปให้เกิดการล้างสมองเด็กอย่างเต็มรูปแบบ หรือปฏิรูปให้การศึกษาไทยเป็นการศึกษาเพื่อปลอดปล่อยประชาชน และเยาวชนออกจากการครอบงำของอำนาจรัฐอำนาจนิยมที่ตกค้างอยู่ในสังคมมาตั้งแต่เราเริ่มมีการศึกษาสมัยใหม่?

เราเคยนั่งถามกันไหมว่า ที่พูดว่าจะปฏิรูป จะปฏิรูปให้ไปทางขวาหรือทางซ้าย?

ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาให้มีประสิทธิภาพในการล้างสมองเยาวชนมากขึ้น ก็ต้องดึงอำนาจให้รวมศูนย์ไว้ในอำนาจรัฐที่ไม่อาจตรวจสอบได้ จากนั้นก็ลงมือปฏิรูปการศึกษาให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ

ถ้าอยากปฏิรูปการศึกษาเป็นการศึกษาที่เพิ่มอำนาจทางปัญญาของประชาชน ปลดปล่อยประชาชน เยาวชนออกจากการถูกครอบงำสนตะพาย ก็ต้องไปช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการกระจายอำนาจออกจากรัฐรวมศูนย์

เลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองหัวเสรีนิยม ไม่ใช่อนุรักษนิยม

แต่ทุกครั้งที่พูดเรื่องการปฏิรูป ดูเหมือนเราไม่เคยมีอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับการปฏิรูปเลย

เราพูดเรื่องการปฏิรูประบบราชการด้วยเหตุผลว่า แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

เราอยากปฏิรูปการศึกษาเพราะเราอยากให้คะแนนสอบปิซ่าของเด็กไทยสู้เวียดนามได้

การปฏิรูปของเรามีปัญญาเพียงเท่านั้น

เผลอๆ อาจจะสามารถเลื่อนเปื้อนไปจนถึงปลอดหนี้ครูก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา

เมื่อเราสับสนระหว่างคำว่า “แก้ปัญหาประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร” กับคำว่า reform เสียแล้ว มันจึงง่ายมากที่เราจะพากันหกคว่ำคะมำหงายไปกับคำว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

“ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง” – โอ้ววว ฟังดูดีมากเลย ประเทศชาติมันพังหนักมาก อย่าเลือกตั้งเลย หยุดประเทศไว้ชั่วคราว แล้วปฏิรูปก่อน

คนที่เชื่อเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคงเห็นประเทศเป็นเครื่องจักรอะไรสักอย่าง พอเห็นเครื่องจักรมันทำงานรวนเหลือเกินก็บอกว่า “เฮ้ยๆๆ ปิดสวิตช์ ซ่อมก่อน ซ่อมเสร็จแล้วค่อยเปิดสวิตช์ทำงานใหม่ เพราะขืนดันทุรังเปิดสวิตช์ทำงานไปเรื่อยๆ จะยิ่งพังไปกันใหญ่”

แต่เดี๋ยวนะ ประเทศชาติไม่ใช่เครื่องจักร จะได้มากดปิดสวิตช์ซ่อม แล้วไอ้ที่ปิดไปนี่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าจะปิดไปถึงเมื่อไหร่?

น่าแปลกมากที่พวกเราต่างรับเอาคำว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมาไว้ในสารบบ “ถ้อยคำ” ของเราแต่โดยดี

เช่น ไม่มีนักข่าวคนไหนออกมาพูดว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นคำที่ไม่มี “ความหมาย” หรือ make no sense

แต่กลับนำคำว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปถามนักวิชาการ ไปถาม นปช. ไปถาม คสช. ไปถามคนพรรคเพื่อไทย ไปถามคนพรรคประชาธิปัตย์

การนำคำที่ make no sense โดยสิ้นเชิงนี้ไปถาม ต่อให้ถามในเชิงไม่เห็นด้วย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายมันคือการให้ความชอบธรรมกับถ้อยคำที่ make no sense หรือถ้อยคำที่ไม่มีอยู่จริง และเป็นไปไม่ได้

ผ่านไปหลายเดือนจนเป็นปี – เราเริ่มรู้สึกว่า เออ – คำว่า ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง – เป็นถ้อยคำที่ “เป็นไปได้” ไปจนถึง “ถูกต้อง”

จากนั้นเราก็โอเคกับแผนการปฏิรูปต่างๆ นานาที่ไม่มีใครรู้ว่าแกนหลักของการปฏิรูปที่ว่านี้คืออะไร จะไปซ้ายหรือขวา ยืนอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองชุดไหน และการปฏิรูปที่ไม่มีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงทางอ้อม มันเป็นกระบวนการที่ make sense หรือไม่?

เมื่อเราโอเคกับคอนเซ็ปต์ว่า เออ ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ make sense ข้อถกเถียงของเรา จึงไปอยู่ในรายละเอียด เช่น เราเห็นด้วยกับประเด็นนั้นประเด็นนี้ของข้อเสนอการปฏิรูป หรือเราไม่เห็นด้วยกับประเด็นนั้นประเด็นนี้

หญิงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กำลังถือบัตรประจำตัวประชาชนของเธอและตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ที่ปิดทางเข้าคูหาเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ( AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

พื้นที่ของบทสนทนาว่า เห็นด้วยหรือไม่ในรายละเอียด หรือ ชอบ ไม่ชอบ สมาชิก สปท. คนไหน จึงมีความหมายที่เท่ากับการยอมรับ “ระบบ” และเห็นว่า กระบวนการนี้ถูกต้องทุกประการ

ผ่านไปเกือบสามปี พวกเรามีคำว่า “ปฏิรูป” เป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจไปแล้ว ราวกับเป็นหนึ่งในองคาพยพของสถาบันทางการเมืองที่ขาดเสียไม่ได้

จากนั้นก็ดูเหมือนเราเข้าใจร่วมกันคร่าวๆ เออ ปฏิรูปประเทศ คือการขจัดคอร์รัปชั่น กำจัดนักการเมืองชั่ว ล้างไพ่ประเทศ จัดระเบียบองค์กร สถาบันทางการเมืองใหม่ทั้งหมด

และโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราก็ตื่นนอนมาเจอการปฏิรูปจริงๆ เพียงแต่การปฏิรูปนี้ไม่ได้อยู่กับคณะกรรมการปฏิรูป

การปฏิรูปประเทศไทยที่แท้จริงอยู่ที่การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่นั่นเอง เพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ ประชาชนกับสถาบันทางการเมือง ที่มาของอำนาจรัฐ ที่มาของอำนาจของสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมไปถึงองค์กรอิสระ ฯลฯ

การจัดสรรความสัมพันธ์และตำแหน่งแห่งหนทางอำนาจใหม่นี้เองคือหัวใจของการปฏิรูปประเทศที่แท้ และตอนนี้เรารอคอยแค่การเลือกตั้งบนกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้นเอง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันขอให้เราได้ย้อนกลับไปอ่านข่าวที่คัดมาข้างต้นอีกครั้ง สำหรับฉันมันช่างเป็นข่าวชวนหัว และไร้ซึ่งความหมายในเชิง “ถ้อยคำ” โดยสิ้นเชิง

ท้ายที่สุด การนำประเทศออกจากความเป็นประชาธิปไตยต่างหากคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ปฏิรูป”

การละเล่นอย่างอื่น เช่น การตั้ง ดร.เสรี หรือคนขึ้นเวที กปปส. คนอื่นๆ ไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป ก็เป็นเพียงอีกเครื่องมือให้เราเข้าไปในกับดักของการ “รับรอง” ความชอบธรรมให้กับกิจกรรมปฏิรูป

เพราะพอเราเห็นรายชื่อปุ๊บ เราก็เริ่มตั้งคำถามว่า “โอ๊ย แบบนี้จะปฏิรูปประเทศได้จริงเหรอ” หรือ “เลือกแต่พวกเดียวกันเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูป”

คำถามเหล่านี้เหมือนจะเป็นการ “คัดค้าน” แต่แท้จริงมันคือการ “สนับสนุน” มันคือการบอกว่า “การปฏิรูปนั้นดี เพียงแต่คนที่เข้าไปเป็นกรรมการนั้น “ไม่ดี”

หรือฝ่ายเสื้อแดง ที่ตั้งคำถามว่ามีแต่ กปปส. คำถามของฉันคือ ถ้าคณะกรรมการมีแต่ นปช. แปลว่าคุณรับได้?????

นัยของคำถามว่า ทำไมเป็นคนนั้น ทำไมเป็นคนนี้ มันกำลังสื่อสารว่า – สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ในเชิงกระบวนการมันโอเค ไม่โอเคแค่ตัวบุคคล!!!!!

จากนั้นเราก็ลืมไปเลยว่า องคาพยพที่เหมือนการละเล่นเช่นนี้ ต้องเล่นภายใต้การปฏิรูปที่แท้จริงคือ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

คุณวิษณุอ่านเกมนี้ได้ทะลุปรุโปร่งหมด จึงสามารถตอบคำถามได้ตามแพตเทิร์นว่า – อ๋อ ไม่มีอะไรหรอก คนดีๆ ทั้งนั้น คนมีความคิดสร้างสรรค์ คนทำงานล้วนๆ

แล้วข่าวนี้ก็ผ่านชีวิตเราไปอีกวัน โดยที่ทั้งคำว่าปฏิรูปและคำว่าคนดีก็ลอยนวลจากชีวิตเราไปอีกวัน อีกวัน และอีกวัน