คำ ผกา | ทางร่วงประเทศไทย

คำ ผกา

โดยไม่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มากนัก ทุกคนรู้ดีว่า เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ยังพอจะมีฟังก์ชั่นอยู่บ้างคือการท่องเที่ยว และลำพังรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริหารของเราคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบร้อยละยี่สิบของจีดีพี

พลันเมื่อโควิดระบาด อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือการท่องเที่ยว แน่นอนว่า ประเทศที่พึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างไทยย่อมได้รับผลกระทบหนักที่สุด

พูดง่ายๆ เราเหมือนคนที่เคยมีรายได้หนึ่งร้อยบาทก็เหลือแปดสิบบาท โดยที่คิดไม่ออกเลยว่าจะหารายได้จากที่ไหนมาทดแทนส่วนที่หายไป

และฉันจำต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บว่า วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นผลกระทบจากโควิดที่ทำให้รายได้ของเราหายไปร้อยละยี่สิบเท่านั้น

แต่มันเป็นวิกฤตที่เราได้ใช้ชีวิตภายใต้รัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาผ่านการทำรัฐประหาร

มันเป็นวิกฤตของประเทศไทยที่ถูกบริหารโดยรัฐบาลที่บริหารประเทศไม่เป็น เพราะตลอดชีวิตของทหารและนายพลทั้งหลายของประเทศไทย เขาไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำงานบริหาร แต่ถูกฝึกและถูกสอนมาให้ใช้อำนาจ และรู้จักสมยอมต่ออำนาจโดยปราศจากการตั้งคำถาม และรู้จักใช้อำนาจที่มีอยู่ไปแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งให้ตนเองและพวกพ้อง และนี่คือหัวใจแห่งความสำเร็จของทหารอาชีพในประเทศไทย

พูดให้กระชับกว่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจของไทยเกิดจากการรัฐประหาร

ถ้าเราไม่มีการรัฐประหารปี ทั้งปี 2549 และ 2557 และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ จะได้ทำในสิ่งที่ฉันขอยืมคำพูดของศุภวุฒิ สายเชื้อ มาใช้คือ Reinvented Thailand

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 80s เป็นต้นมา ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเป็น “ฐานการผลิต” ให้คนอื่นโดยใช้ข้อได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูก พร้อมกันนั้นเราก็ขาย “การท่องเที่ยว” ทั้งอาศัยสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ทะเล ภูเขา (หมายเหตุว่า ถลุงธรรมชาติเหล่านี้ไปโดยไม่ได้พยายามจะทะนุถนอมให้มันดีขึ้น สวยขึ้น เพื่อจะหากินกับมันไปนานๆ ด้วย)

และรายได้แฝงจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมหาศาลที่เราไม่ค่อยยอมรับกันว่ามีจริงคือ sex industry ของไทย

พร้อมกันนั้นเราใช้ภาคการเกษตรเป็นหลังพิงให้กับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เช่น ถามว่า ทำไมค่าแรงของเราถูกกว่าที่อื่น ก็เพราะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการของเรามีภาคชนบท และภาคเกษตร คอยรองรับในส่วนที่ควรจะเป็นภาระของนายทุนในการจ่ายค่าแรงเพิ่ม เช่น คนอีสานทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ที่ทำนา ทุกๆ ปีเอาข้าวจากบ้านมากิน หรือแม้แต่เอาข้าวสารจากนาที่บ้านมาขายในร้านข้าวแกงของตัวเองในเมือง และทำให้ขายข้าวแกงได้ถูกกว่าร้านอื่น ทำให้คนงานที่รายได้ไม่มากก็ไม่เดือดร้อนกับค่าแรงที่ต่ำนี้เพราะสามารถหาอาหารกินได้ในราคาถูก

เมื่อคนงานทำงานในเมือง หรือในจังหวัดที่มีโรงงาน หากพวกเขามีลูก ก็ส่งลูกไปให้ปูย่า ตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด จึงไม่รู้สึกว่าต้องเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น เพื่อเอาไปจ่ายค่าเดย์แคร์ หรือเพื่อรับมือกับภาระการเลี้ยงลูก หรือการเรียนของลูกตามค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง

ทว่าต้นทุนเหล่านี้กลับถูกผลักให้เป็นภาระของชนบท และภาคการเกษตร แทนที่จะเป็นภาระของรัฐที่จะเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับคนเหล่านี้ หรือภาระของนายทุนที่ต้องขึ้นค่าแรงเพื่อให้แรงงานอยู่ได้โดยไม่ต้องเอาลูกไปทิ้งไว้กับปู่ย่าตายายต่างจังหวัด

การเปลี่ยนผ่านประเทศจากการเป็นค่ฐานการผลิตและเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก (และเมื่อหาแรงงานราคาถูกในประเทศไม่ได้ก็ต้องนำเข้าแรงงานราคาถูกกว่าจากประเทศเพื่อบ้าน)

นี่แหละที่เรียกว่าเราต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ที่จะ reinvent ประเทศ หรือเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งต้องทำไปพร้อมกันหลายเรื่อง

เช่น ถ้าเราเห็นว่าแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเมื่อยี่สิบปีที่แล้วกำลังจะเกษียณตัวเองลง และรุ่นลูกหลานของเขากำลังจะเป็นวัยแรงงานมาแทนที่ เราอาจต้องคิดเรื่องการ transform ภาคการเกษตรของเราไปสู่การเกษตรที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีขั้นสูง

โดยจินตนาการว่า แรงงานที่เกษียณตัวเองจากนิคมอุตสาหกรรมจะกลับชนบท และกลายเป็นเกษตรกรยุคใหม่ใช้เอไอ กลายเป็น smart farmer ได้ โดยทำงานร่วมกับลูกหลานของพวกเขาที่เพิ่งเรียนจบมาพอดี

การ transform ภาคการเกษตรนี้ต้องวางแผนล่วงหน้าไม่ต่ำว่าห้าปี ผ่านแรงจูงใจเรื่องกองทุนพลิกฟื้นดิน เมกะโปรเจ็กต์ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ โครงการครัวไทยไปครัวโลก เน้นการผลิตสินค้าเกษตรแบบพรีเมียมออกสู่ตลาดโลกพร้อมๆ กับการตัดสินใจเลือกนำเข้าสินค้าเกษตรบางอย่างจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า

มองการหารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระยะยาวที่เน้นการฟื้นฟูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ออกมาผ่านงานคราฟต์ อาหาร สุรา เบียร์ ไวน์

การออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการเกิดของผู้ประกอบการรายย่อยที่ท้ายที่สุด creative economy จะเกิดได้โดยที่รัฐไม่ต้องปลุกปั้นด้วยตัวเอง

สิ่งที่เรียกว่า soft power จะเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ เพียงรัฐออกแบบโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวยให้มันเกิด เช่น ยกเลิก แก้ทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ และการทำหากินของประชาชน

โครงการ Thailand 2020 เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะ reinvent ประเทศไทยไปสู่ “บท” ใหม่ของความเป็นประเทศไทย เพราะมันไม่ใช่แค่รถไฟความเร็วสูง แต่มันคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยการขนส่งคมนาคม การเชื่อมต่อทั้งหมด

การขนส่งระบบราง (ที่เน้นความเร็วปานกลางมากกว่าความเร็วสูงด้วยซ้ำไป) ของโครงการ Thailand 2020 จะทำให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นไปในแนวราบมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้สมองของเทคโนแครตคนไหนหรือไม่ต้องให้สภาพัฒน์มานั่งปั้นแผนให้เลย เพราะมันจะเป็นไปเองตามเส้นทางการขนส่ง การคมนาคมที่จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และคนไทยจะได้เห็นว่าการค้าภาคพื้นทวีปนั้นสำคัญและมีศักยภาพที่จะนำความมั่งคั่งมาสู่เราได้อย่างไรบ้าง

จังหวัดที่ถูกลืมไปเพราะการขนส่งทางเครื่องบินหรือรถยนต์เท่านั้นก็จะถูกให้ปรากฏตัวขึ้นมา

นี่คือสิ่งที่เรียก potential หรือ ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และความเป็นไปได้ของการกระจายความมั่งคั่ง อันจะไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ และนิคมอุตสาหกรรมอีกต่อไป

เราต้องทำอะไรอีก สำหรับการ reinvent Thailand

เราต้องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปการศึกษา เราต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เราต้องทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตย เป็นหัวใจของความเป็นไทย แทนที่จะเป็นอย่างอื่น

และทั้งหมดนี้ เราควรจะได้ลงมือทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือได้เริ่มทำในสมัยรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังดี

แต่ทั้งหมดเราไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำเลยโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ฉันอยากจะใช้คำว่า เราเป็นประเทศที่นั่งหายใจทิ้งไปวันๆ และปล่อยเวลาไปอย่างเปล่าดาย โดยไม่ได้ตระเตรียมประเทศไปสำหรับอะไรเลย

เราอยู่ และใช้ชีวิต บริหารประเทศกันไปตามยถากรรม เหมือนกับว่า เรามีพระสยามเทวธิราชคอยปกปักรักษาอยู่แล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก

น้ำท่วมก็ส่งข้าว ส่งน้ำไปช่วย หนาวก็แจกผ้าห่ม ขาดเครื่องมือแพทย์ก็ขอรับบริจาค แล้งก็ให้รอฝนตก ผักชีแพงก็ให้ทหารปลูก หมูแพงก็ตั้งจุดขายหมูราคาถูก ผักแพงก็ปล่อยรถพุ่มพวง

ในความง่อยเปลี้ยเสียขาทั้งหมดนี้ ฉันต้องยอมรับว่า มีกระทรวงเดียวเท่านั้นที่ยังพอทำงานเป็น นั่นคือกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งฉันนึกไม่ออกเลยว่า ถ้ากระทรวงสาธารณสุขทำงานได้เหมือนพาณิชย์ หรือกระทรวงทรัพยากรฯ หรือ พม. เจอโควิดแบบนี้ ประเทศไทยจะเละตุ้มเป๊ะขนาดไหน

เพราะฉะนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของไทยตอนนี้ ไม่ใช่แค่หมูแพง แต่มันคือปัญหาที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้ทำอะไรเลยกับการบริหารประเทศ

วันนี้เราอยู่ในสภาพคนไทยรายได้ลดลงมาก รายจ่ายเพิ่มขึ้นมา ต้นทุนสำหรับการผลิตทุกอย่างแพงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา

พร้อมๆ กันนั้น เราก็มีระบบการมืองที่เอื้อให้เกิดการฮั้ว การผูกขาดของนายทุนใหญ่ คนรวยยิ่งทวีความรวย คนจนก็ยิ่งจะจนลงทั้งจนเงินจนโอกาสขาดทุนทางสังคมในการต่อยอดชีวิต

สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ ความเกลียดชังของคนในชาติเดียวกัน

ความโกรธ ความหม่นหมอง ปัญหาสังคม อาชญากรรม ปัญหาสุขภาพจิต ยาเสพติด และอื่นๆ จะตามมาอย่างไม่ขาดสาย

ณ จุดนี้ สิ่งเดียวที่จะทำให้เรารอดจากตรงนี้ได้คือเราต้อง reset การเมืองในสภาของเรา เพื่อเอาไอ้พวกคนทำงานไม่เป็นออกแล้วเอาพรรคการเมืองและคนการเมืองที่ทำงานเป็นเข้าไปเป็นรัฐบาลให้ได้

พ้นไปจากนี้ ฉันยังมองไม่เห็นว่าจะมีทางไหนให้เรารอด