แคนาดาเตือน ‘โลกร้อน’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

แคนาดาเตือน ‘โลกร้อน’

 

ขออนุญาตนำภาพแนวกำแพงกั้นทะเลนครแวนคูเวอร์ แคว้นบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา จากเว็บข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีทีวี และช่างภาพชื่อเท็ด แม็ก แกรธ มาเปรียบเทียบให้เห็นก่อนและหลังการเกิดคลื่นยักษ์ซัดถล่มหรือสตอรมเซิร์จ (strom surge) จนพังยับเยิน เพื่อบอกให้รู้ว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนสร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง และคำเตือนของนักวิชาการให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่ริมทะเลเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ซีทีวีรายงานว่า ระหว่างเกิดเหตุคลื่นถล่มเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา มีกระแสลมแรงจัดกว่า 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คลื่นซัดใส่แนวกำแพงกั้นทะเลนครแวนคูเวอร์ที่สร้างอย่างแข็งแรงจนทำให้แนวกำแพงเอาไม่อยู่ แนวรั้วหินอัดคอนกรีต พื้นถนนโดนคลื่นเซาะจนร่อนหลุดเป็นแผ่นๆ สวนสาธารณะแวเนียร์ ท่าจอดเรือยอชต์ ร้านรวงที่อยู่ตามแนวชายฝั่งได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน

คลื่นซัดถล่มแนวกำแพงกั้นทะเลนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565

ศาสตราจาร์ยจอห์น เคลก แห่งมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ บอกว่า ปกติแล้ว คลื่นในทะเลบริเวณชายฝั่งแวนคูเวอร์ค่อนข้างจะราบเรียบ โครงสร้างของแนวกำแพงกันคลื่นได้ออกแบบให้รองรับคลื่นไว้ค่อนข้างแข็งแรง

แต่วันเกิดเหตุ แนวกำแพงไม่สามารถต้านความแรงของคลื่นซึ่งคาดว่ามาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ทำให้กระแสคลื่นลมแรงจัดมาก

“เมื่ออากาศอุ่นขึ้น ระดับน้ำทะเลยกตัวสูง คลื่นก็ซัดแรงขึ้น ผลที่ตามมาแนวชายฝั่งทะเลแคนาดายาวนับร้อยกิโลเมตร และชายฝั่งทะเลทั่วโลกจะได้รับความเสียหายมากขึ้น นี่เป็นผลจากภาวะโลกร้อน ต่อไปเหตุการณ์สตรอมเซิร์จจะเป็นนิวนอร์มอล เกิดขึ้นซ้ำๆ หนักหน่วงมากขึ้นเป็นลำดับจนกลายเป็นเรื่องปกติ”

ศาสตราจารย์เคลกอธิบาย

 

สภาพความเสียหายหลังคลื่นถล่ม (ที่มาภาพ : ซีทีวี )

ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ในปี 2564 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 สาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกในระดับเข้มข้น จนชั้นบรรยากาศโลกเกิดปฏิกิริยานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

ปัจจุบันน้ำทะเลดูดซับความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซพิษมากขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้น้ำทะเลเป็นกรด (ocean acidfication) และเกิดการขยายตัวของน้ำทะเลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยากับสภาวะภูมิอากาศโลก การก่อตัวของพายุเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น เกิดพายุถี่ขึ้น ระยะเวลาการเกิดการเคลื่อนตัวของพายุยาวนานและคลื่นลมแรงจัด

พายุไต้ฝุ่นที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้นก็ยกระดับความรุนแรงเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น เช่นเดียวกับฝั่งมหาสมุทรอินเดีย น้ำทะเลอุ่นขึ้น เกิดปฏิกิริยากับมวลอากาศทำให้การก่อตัวของพายุไซโคลนมีระดับความเร็ว แรงจัดกว่าปกติ

ในมหาสมุทรแอตแลนติก อุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นเป็นตัวเร่งให้พายุเฮอร์ริเคน ยกระดับความแรงสูงสุด มีอานุภาพทำลายล้างสูงขึ้น เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมีมาก ฝนตกนาน เกิดน้ำท่วมฉับพลัน

คณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากาภาวะโลกร้อนของรัฐบาลแคนาดา ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลตามแนวชายฝั่งแคนาดาจะเพิ่มขึ้นราว 50 เซนติเมตร ภายในปี 2593 เกิดผลกระทบกับพื้นที่ตามแนวชายฝั่งอย่างมาก นครแวนคูเวอร์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์เคลกเรียกร้องให้ชาวแคนาดาตื่นตัวกับปรากฏการณ์เช่นนี้ได้แล้ว เพราะสตรอมเซิร์จซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาวะโลกร้อน จะกลายเป็นนิวนอร์มอล

 

แนวกำแพงกั้นทะเลนครแวนคูเวอร์ ได้ชื่อว่าเป็นทางเดินและปั่นจักรยานชมวิวทะเลที่สวยงามและยาวที่สุดในโลก (ที่มาภาพ : เท็ด แม็ก แกรธ)

ไหนๆ ก็พูดถึงภาวะโลกร้อนในแคนาดา ขอหยิบรายงานของธนาคารกลางแห่งแคนาดา ที่ศึกษาถึงทิศทางโลกในความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์จะ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงินการธนาคารของแคนาดาอย่างไรบ้าง

ในรายงานพบว่า ถ้าการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมปลอดคาร์บอนได้จริง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร การเงินการธนาคารและอุตสาหกรรมประกันภัยในแคนาดาต้องมีแผนรับมืออย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ในภาคการเงิน ถ้ามีการประเมินผลความเสี่ยงด้านภูมิอากาศผิดเพี้ยนไป จะเกิดความเสียหายและขาดทุนในทันที

มีการฉายภาพอนาคตไว้ว่า ถ้าหากชาวโลกสามารถผนึกกำลังลดการปล่อยก๊าซพิษอย่างจริงๆ จังๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ความเสี่ยงทางการเงินการธนาคารก็ลดน้อยลง แต่ถ้าชาวโลกยังนิ่งเฉย ในระยะ 30 ปีข้างหน้า การปล่อยก๊าซพิษยังไม่ได้เป็นไปตามเป้า จะส่งผลต่อตลาดการเงิน ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของแคนาดาตกฮวบถึง 10 เปอร์เซ็นต์

การนำข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ แผนปฏิบัติการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อคุมไม่ให้อุณหภูมิผิวโลกร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม และการทำความเข้าใจในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประหยัดพลังงาน หรือการผลิตเชื้อเพลิง จะทำให้วงการเงินการธนาคารของแคนาดาเกิดความเข้าใจและสามารถประเมินผลกระทบหรือความเสี่ยงในทิศทางที่ถูกต้อง