เศรษฐกิจปากท้องสู่การเมือง / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

เศรษฐกิจปากท้องสู่การเมือง

 

ช่วงปีใหม่มีการวิเคราะห์ถึงทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทย ว่าจะมีอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคกับการทำธุรกิจหรือปากท้องการทำงานหากินบ้าง พบว่า จะมีการคุยกันอยู่ 3 เรื่อง เรื่องโรคระบาดโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และเรื่องการเมือง

ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า เรื่องโรคระบาดแม้จะยังมีระลอกใหม่ตามมา ไม่จบลงทีเดียว แต่ก็จะค่อยๆ เบาบางลง ไม่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลไปเรื่องที่ 2 ปากท้อง การทำมาหากินสะดวกขึ้น ธุรกิจขยับขยายมากขึ้น เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น มีอัตราเติบโตมากกว่าเดิมแน่นอน

ที่เป็นห่วงกัน เรื่องเดียวคือปัญหาทางการเมือง ที่ฝ่ายรัฐใช้วิธีการรุนแรง จับกุมปราบปราบความเห็นต่างของคนรุ่นใหม่ ไม่มีแนวโน้มการประนีประนอม ขณะที่กระแสความคิดใหม่ยิ่งถูกกดดันกลับยิ่งพัฒนายกระดับแนวคิดสูงขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับกระแสความคิดใหม่ก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยเหมือนน้ำบ่าทุ่ง

มีการคาดการณ์และกังวลว่า ประเด็นทางการเมืองนี่อาจเป็นเรื่องใหญ่ของปีใหม่ 2565 เพราะจากแนวโน้มดังกล่าวอาจเกิดการปะทะขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้

 

แต่เมื่อก้าวเข้าเดือนมกราคม 2565 เพียงครึ่งเดือนกลับพบว่า ปัญหาที่ขยายลามบานปลายเร็วที่สุด เป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง สินค้าของกินของใช้ประจำวันสำคัญๆ ขึ้นราคาแพงขึ้นถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้แต่ค่าสาธารณูปโภคของรัฐ หมู ผัก ไก่ ไข่ ค่าทางด่วน ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ ด้วยคำสั่งให้ควบคุมราคา หรือให้หลีกเลี่ยงการกินการใช้ของแพงแบบเดิมๆ ทำให้ผู้คนไม่เห็นความหวังว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เผชิญวิกฤตโควิดแพร่ระบาดมา 2 ปี มีปัญหารายได้ลดลง ตกงาน ว่างงาน รายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องใช้เงินกู้มาประคองการครองชีพ แต่เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดเห็นแนวโน้มดีขึ้น กลับต้องมาเจอปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น

เจอปัญหาชีวิตทั้งขึ้นทั้งล่อง รายได้ยังต่ำเตี้ย แต่ค่าครองชีพปากท้องสูงขึ้น ไม่ต่างจากธุรกิจที่มีปัญหาต้นทุนการผลิตและบริการสูงขึ้น แต่ยอดขายตกต่ำเพราะขาดกำลังซื้อ

 

ถัดจากนี้ไปเดาได้ว่า เมื่อของกินเครื่องใช้แพงก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงตามมา เมื่อเงินเฟ้อสูง การแก้ปัญหาตามตำราของฝรั่งก็จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ถ้าเป็นอย่างนี้เราอาจจะได้เจอภาวะประหลาดทางเศรษฐกิจ ประชาชนรายได้ต่ำแต่ค่าครองชีพสูง ธุรกิจต้นทุนสูง แต่ยอดขายต่ำ และเศรษฐกิจหลังโรคระบาดที่ต้องการฟื้นตัว ก็อาจเจอเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง

พิกลพิการ กลับตาลปัตรกันไปหมด ตั้งแต่อำนาจรัฐ การเมืองการปกครอง จนถึงปากท้อง

อย่าลืมว่า ปัญหาปากท้องที่หนักหน่วงรุนแรง ทำให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองได้รวดเร็วกว่าการรณรงค์ทางการเมืองใดๆ

ปัญหาทางการเมืองที่เกรงจะมีการปะทะกันรุนแรงปีนี้ระหว่างผู้กุมอำนาจการเมืองเก่าที่ไม่มีทีท่าประนีประนอม กับคนรุ่นใหม่ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เดิมก็น่ากังวลอยู่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ของปี 2565 ถ้าหากมาบรรจบผสมกับปัญหาปากท้องที่ไม่มีแนวโน้มว่ากลไกรัฐปัจจุบันจะแก้ไขได้ จนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองอีกประเด็นหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้น

แนวคิดที่แตกต่างถูกจัดการให้กลายเป็นปัญหาขัดแย้งทางการเมืองไปแล้ว ถ้าปัญหาปากท้องที่ก่อตัวแล้วจัดการไม่ได้ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปอีก

ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องกับปัญหาการเมืองกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร