เปิดแนวปฏิบัติรับ ‘น.ร.’ ยุคโควิด ห้ามสอบ ป.1-เลิกใช้โอเน็ต / การศึกษา

การศึกษา

 

เปิดแนวปฏิบัติรับ ‘น.ร.’ ยุคโควิด

ห้ามสอบ ป.1-เลิกใช้โอเน็ต

 

เปิดศักราชใหม่ 2565 เด็กส่วนใหญ่ยังคงพึ่งการเรียนออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังไม่คลี่คลาย แต่กิจกรรมทุกอย่างคงต้องเดินหน้าต่อเพื่อไม่ให้ทุกอย่างสะดุด

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. และปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2565 ซึ่งแนวปฏิบัติเบื้องต้นจะคล้ายกับการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564 เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน …

แต่มีหลักการสำคัญที่ปรับเปลี่ยนชัดเจนขึ้น อาทิ ห้ามสอบเข้าประถมศึกษาปีที่ 1 ไม่นำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาเป็นองค์ประกอบในการรับเด็กเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง

และต่อไปในปี 2566 ห้ามโรงเรียนรับเพิ่มกว่าแผนที่กำหนดไว้เด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็น

กรณีนี้ แม่งานอย่าง สพฐ. หวังแก้ปัญหาเด็กฝาก และการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ…

 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า หลักการเบื้องต้น เปิดกว้างให้โรงเรียนสามารถพิจารณารับสมัครได้ทั้งระบบออนไลน์ และออนไซต์ เปิดโอกาสให้หน่วยงาน องค์กร และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการรับนักเรียน ซึ่งการดำเนินการรับนักเรียนมีองค์กรและ/หรือคณะกรรมการกระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ เพื่อให้การรับนักเรียนมีความเป็นธรรม เสมอภาค สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้

สำหรับแนวปฏิบัติการรับเด็กชั้นก่อนประถมศึกษาให้รับเด็กอายุ 4-5 ปี ในเขตพื้นที่บริการเข้าเรียนชั้นอนุบาล 2 และ 3 โดยห้ามสอบวัดความสามารถทางวิชาการ

หากโรงเรียนมีความจำเป็นและมีความพร้อมด้านคุณภาพการศึกษา ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษาและด้านอาคารสถานที่ ที่จะรับเด็กเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 (3 ปีบริบูรณ์) ให้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการรับนักเรียนระดับโรงเรียน คณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด โดยห้ามสอบวัดความสามารถทางวิชาการ

การรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้รับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 หรือจบการศึกษาชั้นก่อนประถมศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน โดยห้ามสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มแผนการรับนักเรียนให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้

การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยสัดส่วนการรับนักเรียนและวิธีการคัดเลือกเป็นไปตามประกาศการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียน ต้องคำนึงถึงโอกาสของนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. และไม่นำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้น ม.1 และการรับนักเรียนชั้น ม. 4 โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนต่อในโรงเรียนเดิมตามศักยภาพ ความถนัดของนักเรียน และตามแผนการรับนักเรียนของโรงเรียน

“การดำเนินการรับนักเรียนจะจัดทำเช่นเดียวกับการรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 แม้จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพราะ สพฐ.อยู่ระหว่างผลักดันให้สถานศึกษาเปิดเรียนรูปแบบออนไซต์ ดังนั้น จึงคิดว่าจะไม่เป็นปัญหา ส่วนความกังวลเรื่องการรับแป๊ะเจี๊ยะนั้น จากที่ สพฐ.ดำเนินการจัดทำคู่มือการรับนักเรียนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่พบปัญหา ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามแนวทางที่ให้ไว้ได้ดี จึงไม่ห่วงเรื่องนี้มากนัก”

นายอัมพรกล่าว

 

ด้านนายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กทม. (สพม. 1 กทม.) กล่าวว่า การรับนักเรียนจะดำเนินการเหมือนกับการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564 คือโรงเรียนจะเปิดรับสมัครนักเรียนผ่านทางออนไลน์ เมื่อถึงวันสอบคัดเลือก จะจัดเตรียมสนามสอบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจัดให้นักเรียนเข้าสอบไม่เกินห้องละ 20 คน เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร เป็นห้องสอบที่ไม่เป็นห้องปรับอากาศ

และได้มีการจัดเตรียมห้องสอบสำรอง กรณีผู้เข้าสอบอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า หรือเท่ากับ 37.5 องศา ผู้เข้าสอบ ผู้คุมสอบ และผู้เข้ามาในบริเวณสนามสอบทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัย คัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ให้ผู้เข้าสอบทยอยขึ้นห้องสอบ มีการเว้นระยะห่าง

ขณะที่ นายสุชน วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการ สพม. เขต 2 กทม. กล่าวว่า สพม. 2 กทม. อยู่ระหว่างนำนโยบายมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยจะเปิดรับสมัครทั้งทางออนไลน์ และออนไซต์ เช่น โรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนแข่งขันสูง ให้เปิดรับสมัครทางออนไลน์ ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจจะเปิดรับสมัครออนไซต์ ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ว่าต้องการเปิดรับสมัครทางใด อาจจะเปิดรับสมัครทั้งออนไลน์และออนไซต์ก็ได้

“สพม. 2 กทม. มีโรงเรียนแข่งขันสูงในสังกัด จำนวน 31 แห่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อหามาตรการป้องกันอย่างเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด” นายสุชนกล่าว

แม้จะสงสารเด็กยุคโควิด-19 ที่ต้องพึ่งระบบออนไลน์เป็นหลัก แต่คงต้องยอมรับการปรับเปลี่ยน เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การจัดระบบที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ให้นักเรียนและผู้ปกครองมีความสะดวกปลอดภัยมากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล …

รวมถึงเฝ้าระวัง ไม่ใช่ปล่อยเกียร์ว่างจนเกิดการทุจริตเหมือนที่ผ่านมา