ใครต่อนิ้วพระพุทธรูปให้ ‘พระเจ้าดับภัย’? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ใครต่อนิ้วพระพุทธรูปให้ ‘พระเจ้าดับภัย’? (1)

 

น่าแปลกทีเดียวที่พระประธานในวิหารวัดดับภัย จังหวัดเชียงใหม่ องค์ที่มีชื่อเฉพาะว่า “พระเจ้าดับภัย” หรือ “หลวงพ่อดับภัย” นั้น พบร่องรอยคล้ายว่ามีการต่อนิ้วพระพุทธรูปให้ยาวขึ้น (ทางเหนือเรียก “ต่อนิ้วพระเจ้า”) บริเวณนิ้วกลางด้านขวา (มองจากผู้ดูจะอยู่ด้านซ้าย)

เป็นนิ้วกลางของพระพุทธรูปที่กระทำปางมารวิชัย ด้วยการเอานิ้วจรดแตะลงบนแผ่นดิน เพื่อเรียกพระแม่ธรณีมาเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม นิ้วกลางนี้มีความยืดยาวมากเป็นพิเศษ ยาวเกินกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่เคยพบทั่วไปในล้านนา จนชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า

ใครมาต่อนิ้วให้พระพุทธรูปองค์นี้หนอ?

พระเจ้าดับภัยมีความเกี่ยวข้องกับ “พระพุทธสิหิงค์” หรือไม่ เนื่องจากตำนานพระพุทธสิหิงค์มีเรื่องราวของการต่อนิ้วพระพุทธรูป?

รวมไปถึงคำถามที่ชวนตื่นเต้นระทึกใจ หรือว่านี่คือพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่เราตามหา?

 

พระเจ้าดับภัย วัดดับภัย เชียงใหม่ สร้างสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 21

ปูมหลังของชื่อวัดดับภัย

เรามาทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของพระเจ้าดับภัยกันก่อน จากการสัมภาษณ์พระครูโอภาสปัญญาคม เจ้าอาวาสวัดเล่าว่า วัดดับภัย รวมทั้งพระเจ้าดับภัยน่าจะสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าติโลกราชถึงพระยอดเชียงราย ประมาณ พ.ศ.2021-2038

วัดนี้ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง จากที่บันทึกสืบต่อกันมา กล่าวแต่เพียงว่าวัดนี้สร้างเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาและเชิดชูวงศ์ตระกูล (แต่จากหนังสือประวัติวัดในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จัดทำโดยวัดพระสิงห์ พ.ศ.2548 ระบุว่าวัดดับภัยสร้างในปี 2120 ยุคที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแล้ว ทว่าศักราชดังกล่าวนี้ ดูจะขัดแย้งกับรูปแบบศิลปะของพระพุทธรูป)

กล่าวกันว่า ชื่อเดิมของวัดนั้นคือ “วัดตุงกระด้าง” น่าจะเป็นชื่อเก่าตั้งแต่สมัยล้านนา ส่วนการที่มาได้ชื่อว่า “วัดดับภัย” ในภายหลังนั้น ทางวัดเล่าว่า เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ชื่อ “พญาอภัย” (ไม่ได้ระบุว่าท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยใดอย่างแน่ชัด)

นิ้วพระหัตถ์กลางของพระเจ้าดับภัยมีลักษณะที่ยื่นยาวมากเป็นพิเศษ ราวกับมีการต่อนิ้วพระพุทธรูป

เหตุการณ์เริ่มจากการที่พญาอภัยเกิดป่วยหนัก จึงได้ไปกราบพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในวัดใกล้บ้าน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอพึ่งบารมีของพระพุทธปฏิมาองค์นั้น ว่าให้หายป่วย ปรากฏว่าอาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายเป็นปลิดทิ้ง

พญาอภัยจึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นติดตัวไปไหนต่อไหนด้วยทุกหนแห่ง คล้ายกับเป็นพระประจำตัว เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและบริวาร

ทำให้วัดที่พญาอภัยอุปถัมภ์จึงมีชื่อว่าวัดดับภัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็มีนามเดียวกันว่า “พระเจ้าดับภัย” เป็นการตั้งตามนามของท่านคือ “อภัย” และตามพุทธคุณของพระประธานที่ช่วยดับทุกข์ ดับโศก ดับโรค ดับภัย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

พุทธศิลป์ “พระเจ้าดับภัย” คล้ายกับ “พระสิงห์ปาย”

รูปแบบศิลปะของ “พระเจ้าดับภัย” เป็นพระพุทธรูปสมัยล้านนาที่มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 (ราว พ.ศ.2000-2030) หล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ดังที่นิยมเรียกกันว่าพิมพ์นิยมแบบ พระสิงห์ 1 หรือบ้างก็เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์จำลอง

กล่าวคือ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม เม็ดพระศกโต อุษณีษะค่อนข้างยกสูงเป็นกรวยสามเหลี่ยม รองรับเกตุบัวตูม (ทางเหนือเรียกจิกโมลี) ปลายแหลม พระวรกายอวบอ้วน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (แลเห็นฝ่าพระบาทซ้อนทั้งสองข้าง)

ข้อสังเกตที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษมีอยู่ 3 ประการ

ข้อแรก ในส่วนพระศอนั้น พบว่าค่อนข้างยืดยาวสูงมากกว่าพระสิงห์ทั่วไป

ข้อที่สอง พระพักตร์กลมมากเป็นพิเศษ ยิ่งมีพระศอยาว ก็ยิ่งขับเน้นทำให้เห็นว่าพระวรกายดูเล็กกว่าพระสิงห์องค์อื่นๆ เมื่อเทียบกับพระพักตร์ที่ค่อนข้างกลมโต

ข้อที่สาม ชายสังฆาฏิที่พาดเหนือพระอังสาค่อนข้างสั้น แทบมองไม่เห็นจากมุมล่าง ในพื้นที่ที่สาธุชนนั่งกราบเบื้องหน้าพระประธาน กว่าจะเห็นชายสังฆาฏินี้ได้ ต้องลุกขึ้นยืนชะเง้อชะแง้มองอ้อมไปด้านหลังหรือด้านข้างองค์พระปฏิมา

ซึ่งลักษณะพิเศษที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นอกเหนือไปจากพระเจ้าดับภัยแล้ว ยังพบในพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่เรียกกันว่า “พระสิงห์ปาย” พระประธานในวิหารวัดศรีดอนชัย อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทุกครั้งที่ดิฉันเพ่งพินิจรายละเอียดของพระเจ้าดับภัยคราวใด อดไม่ได้เลยที่จะต้องประหวัดนึกไปถึงพระพุทธรูปอีกองค์ที่ประพิมพ์ประพายคล้ายกันมาก นั่นคือ “พระสิงห์ปาย” องค์ที่ดิฉันเคยไปกราบและถ่ายรูปไว้ (ระยะไกลมาก ตั้งอยู่บนบุษบกสูงมาก ทำให้ไม่สามารถเห็นเต็มองค์) เมื่อปี 2557 จึงลองนำพระทั้งสององค์มาเปรียบเทียบกันดู และพบว่ามีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกันมากจริงๆ

กรณีพระสิงห์ปายนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนถึงพระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์จำลองสององค์ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ที่วัดศรีดอนชัย และวัดหลวง ไว้ในหนังสือ “พระพุทธรูปล้านนา กับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยาน” พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2559 โดยดิฉันขอหยิบยกบางข้อความ บางประเด็นมาเรียบเรียงใหม่ โดยไม่ได้เพิ่มเติมข้อมูลและความเห็นใดๆ เพียงแต่ตัดทอนบางข้อความเช่น การที่ผู้เขียนใส่วงเล็บคริสต์ศักราช หรือวงเล็บคำอธิบายหมายเลขรูปภาพ เอามาแต่สาระหลักๆ

ดังนี้

พระสิงห์ปาย พระประธานวัดศรีดอนชัย เมืองปาย แม่ฮ่องสอน มีรูปแบบพุทธศิลป์คล้ายพระเจ้าดับภัยมากที่สุด

“พระพุทธสิหิงค์ในวัดศรีดอนชัยมีพระศอค่อนข้างยาว พระพุทธสิหิงค์ที่ปายทั้งสององค์นี้ (คือที่วัดหลวง และวัดศรีดอนชัย) อาจถูกนำมาจากเชียงใหม่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะมีพุทธลักษณะแบบพระพุทธสิหิงค์ในเมืองเชียงใหม่ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยช่างปาย ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะฝีมือช่างท้องถิ่นชัดเจน ดังตัวอย่างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ พ.ศ.2044 ในวัดหมอแปง อำเภอปาย ซึ่งจารึกที่ฐานระบุว่าสร้างขึ้นโดยเจ้าหมื่นปาย ชื่อศรีธรรมจินดา”

ข้อความดังกล่าวมีประเด็นชวนให้คิดว่า “พระสิงห์ปาย” วัดศรีดอนชัย (ซึ่งดูคล้ายกับพระเจ้าดับภัยอย่างมาก) รวมทั้งพระสิงห์วัดหลวงเมืองปาย น่าจะมีการโยกย้ายไปจากเชียงใหม่ ในมุมมองของศาสตราจารย์เกียรติคุณ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์

โชคดีที่พระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์วัดหลวงเมืองปายมีจารึกที่ฐานระบุปีศักราชที่สร้างตรงกับ พ.ศ.2028 หล่อโดย “เจ้าเถรสีลสังยมะ” จากศักราชดังกล่าวตรงกับช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สอดรับกับพุทธลักษณะของพระสิงห์ในกลุ่มนี้ทั้งหมด คือทั้งของวัดหลวง วัดศรีดอนชัย และพระเจ้าดับภัย

หากเราถอดรหัสได้ว่า ใครคือ “เจ้าเถรสีลสังยมะ” ผู้สร้างพระสิงห์องค์ที่ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดหลวงเมืองปาย ว่าท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสหรือจำพรรษาที่วัดใดในเชียงใหม่มาก่อน ก็อาจจะช่วยให้เราคลำทางต่อไปถึง พระสิงห์ปายวัดศรีดอนชัย และอาจรวมไปถึงการช่วยไขปริศนาของพระเจ้าดับภัยได้อีกด้วย

เหตุที่เป็นพระสิงห์ในกลุ่มเดียวกัน (คอยาว นิ้วยาว พระพักตร์โต พระองค์เล็ก)

น่าสนใจว่า พระสิงห์สององค์แห่งเมืองปาย เป็นศิลปะสกุลช่างเชียงใหม่ แล้วใครเล่าเป็นผู้ย้ายไปไว้ที่เมืองปาย?

เป็นไปได้หรือไม่ ว่าพระญายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 10 (ครองราชย์ พ.ศ.2030-2038) บั้นปลายพระชนม์ชีพได้ถูกเนรเทศโดยพระมเหสีโป่งน้อย ให้ไปกักตัวที่ “เมืองน้อย” ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย ช่วงนั้นพระองค์ได้นำพระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์สององค์จากเชียงใหม่ไปไว้บูชาด้วย

ครั้นภายหลัง เมื่อเมืองน้อยพ้นจากสภาพการเป็นเมืองเนรเทศเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยล้านนาแล้ว ยุคที่มีการฟื้นฟูเมืองปาย มีการสร้างวัดขึ้นในชุมชนที่ผู้คนอาศัย เช่น วัดหลวง วัดศรีดอนชัย อาจมีผู้พบเห็นพระพุทธรูปในเมืองน้อยสององค์ จึงอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดทั้งสองนี้ดังกล่าวก็เป็นได้

นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นข้อหนึ่งของดิฉันเท่าที่คิดได้ ณ ตอนนี้เท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปตายตัว

 

นอกจากนี้แล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า พระพุทธสิหิงค์สององค์ที่เมืองปาย มีลักษณะพิเศษมาก คือ

“นิ้วพระหัตถ์และพระบาทไม่เสมอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิ้วพระหัตถ์ขวาที่แสดงปางมารวิชัยมักมีลักษณะโก่งเล็กน้อย ราวกับว่ากำลังกระดิกนิ้วในบางครั้งนิ้วพระหัตถ์กลางของพระหัตถ์ขวาที่ยาวลงมาเสมอขอบฐานนั้นก็มีชิ้นโลหะเชื่อมต่อไว้กับฐานโดยจงใจ”

น่าเสียดายที่ในหนังสือเล่มดังกล่าวไม่ได้มีตัวอย่างการศึกษารูปแบบพระสิงห์ของพระเจ้าดับภัย องค์ที่ดิฉันกำลังสงสัยอยู่นี้ แต่มีการวิเคราะห์ถึงพระสิงห์ปายอย่างละเอียด

ในเมื่อดิฉันเห็นว่า พระสิงห์ปายมีรูปแบบพุทธศิลปะที่คล้ายคลึงกับพระเจ้าดับภัยมากที่สุด จึงจำเป็นต้องหาผลการศึกษาวิจัยจากผู้รู้ที่เคยวิเคราะห์ถึงพระสิงห์ปายแล้วอย่างละเอียดมาเป็นตัวตั้งให้ช่วยคลำทางต่อไป

ปัจจุบัน “พระสิงห์ปาย” เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองปาย เช่นเดียวกับ “พระเจ้าดับภัย” ก็เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่องค์หนึ่ง

เห็นได้จากการที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาของวัดดับภัยทำพิธีเบิกสมโภช พิธีสืบชะตาสะเดาะเคราะห์และสรงน้ำพระเจ้าดับภัยเป็นประจำทุกปี ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 69 รูป มาสวดมนต์ตั๋น (สวดเต็มทุกบท) จัดในช่วงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ซึ่งตรงกับวันเสาร์แรก หรือเสาร์ที่สองของเดือนพฤษภาคมโดยประมาณทุกปี