ทำไมต้องแก้มาตรา 272 ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เสียหายอะไร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งเเรกวันที่ 21/01/2022 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นหนึ่งในคณะผู้รณรงค์แก้ไรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

 

การให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน การให้มีอำนาจเท่าเทียมกันในการเลือกผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของประเทศจึงเป็นสิ่งที่ขัดหลักการของประชาธิปไตย

ยิ่งการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้ 194 คนมาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ 6 คนมาจากข้าราชการประจำที่เป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ อีก 50 คนที่แม้จะมีกระบวนการสรรหาตามกลุ่มอาชีพ แต่สุดท้ายก็มาจบที่การคัดเลือกให้เหลือจำนวนดังกล่าวตามใจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

จะบอกว่าเพื่อให้เกิดผลในการปฏิรูปประเทศหรือการทำงานต่อเนื่องในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ล้วนเป็นเรื่องยกเหตุผลมากล่าวอ้างเพื่อใช้ 250 เสียงดังกล่าวมาค้ำจุนอำนาจของคณะรัฐประหารที่แปรผันตัวเองจากหัวหน้าคณะรัฐประหารมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง

การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย

โดยจะมีผลให้หลังการเลือกตั้งทั่วไป (14 พ.ค. 2566) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน

 

ข้ออ้างที่อ้างไม่ขึ้น

ข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมของเหล่าสมาชิกวุฒิสภาที่ยังปรารถนาอำนาจดังกล่าวคงอยู่

ประการแรก คือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทหน้าที่ดังกล่าวไว้จึงจำเป็นต้องลงมติ ไม่ทำจะผิดกฎหมาย ในกรณีนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจดังกล่าวจึงเป็นทางออกให้สมาชิกวุฒิสภาช่วยกันแก้ไข เมื่อแก้แล้วไม่มีข้อกำหนดตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้เป็นที่ครหาต่อไป

ประการที่สอง หลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่อยู่ในคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 มาแล้ว ด้วยคะแนน 15.1 ล้านเสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 58.07 ของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน ดังนั้น เมื่อผ่านการออกเสียงประชามติ จึงไม่สมควรแก้ไข

หากยกเหตุผลนี้ ก็คงต้องถามว่า แล้วเหตุใดรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นของในคำถามหลัก ด้วยคะแนน 16.8 ล้านเสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.35 จึงสามารถแก้ไขในเรื่องระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบได้

นั่นแปลว่า หากเห็นว่าเรื่องใดในรัฐธรรมนูญที่เมื่อกาลเวลาผ่านไปแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ล้วนต้องแก้ไขได้ด้วยกลไกรัฐสภาทั้งสิ้น

ประการที่สาม หลักการให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นหลักการที่ผ่านการออกเสียงประชามติ เมื่อจะเอาหลักการดังกล่าวออกก็จำเป็นต้องกลับไปถามประชาชนด้วยการลงประชามติเช่นกัน

ตรรกะดังกล่าว เป็นตรรกะของความเข้าใจผิด เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 วรรคแปดระบุเหตุของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องทำประชามติไว้เพียง 3 กรณี คือ กรณีการแก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ กรณีการแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรณีการแก้เกี่ยวกับที่มาและการทำหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ เท่านั้นที่ต้องมีการออกสียงประชามติ

ไม่มีส่วนใดของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า หากแก้เกี่ยวกับมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกลับไปออกเสียงประชามติด้วย เพราะหากต้องทำเช่นนั้น คงเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนแล้ว

การแก้มาตรา 272 จึงสามารถทำได้ในที่ประชุมรัฐสภา

ประการที่สี่ การกำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นบทเฉพาะกาล มีเวลาชั่วคราวคือเพียงภายในห้าปีแรกของการมีรัฐสภาเท่านั้น หลังจากห้าปี ก็จะคืนสู่ภาวะปกติคือ ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร

คำถามคือ เรื่องนี้หากเป็นหลักการที่ดีมีประโยชน์ การคงหลักการดังกล่าวต่อไปให้ครบกำหนดเวลาห้าปีในบทเฉพาะกาลก็คงเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่หากการดำเนินการตามหลักการ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์จริง และยังกลายเป็นปัญหาสำคัญของบ้านเมือง ความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักการใหม่ให้กลับไปใช้ตามกติการที่ควรจะเป็นโดยไม่จำเป็นจะต้องรอให้ครบกำหนดและสร้างความเสียหาย ทำลายโอกาสต่างๆ ของประเทศ จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหรือไม่

หรือจะรอให้ประเทศเสียหายยิ่งกว่านี้ ถึงจะรู้สึก

 

ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เสียหายอะไร

ประการแรก ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย เพราะที่มาของ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ ยิ่งบุคคลดังกล่าวมาร่วมแข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบที่หน้าด้านหน้าทนสุดๆ

ประการที่สอง การไม่เห็นความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศและความต่อเนื่องในการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงคนเข้าคนออกตลอดเวลา แผนที่วางกิจกรรมต่างๆ เมื่อทำไม่ได้ ทำไม่เสร็จก็ปรับออกจนกระทั่งเหลือไม่กี่เรื่องก็ยังไม่เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า การที่ให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี จะทำให้เกิดความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว กลับเป็นความล้มเหลว ไม่สามารถทำได้จริงแต่ประการใด

ประการที่สาม จากบทบาทการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา โดยมีเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกวุฒิสภาแบบไม่แตกแถวแม้แต่เสียงเดียว แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศที่เผชิญหน้าไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนถึงความรู้ความสามารถและพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมหลายครั้งหลายครา จึงเป็นอีกความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา

ประการสุดท้าย การเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา ทำให้ ส.ว.ขาดความเป็นกลาง และขาดการยอมรับจากประชาชน และสร้างความรู้สึกไม่เชื่อถือในการทำบทบาทหน้าที่การเป็นสภากลั่นกรองและเป็นที่ปรึกษาของวุฒิสภาถึงขนาดการมองไม่เห็นความจำเป็นของประเทศที่ต้องมีสองสภาอีกต่อไป

การกลับไปใช้บทหลักตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 159 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นทางออกที่ถึงเวลาแล้ว