รถไฟฟ้าโมโนเรล โมเดลโปรเจ็กต์ชานเมือง สมุทรปราการ-ปทุมธานี/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

กีรติ เอมมาโนชญ์

 

รถไฟฟ้าโมโนเรล

โมเดลโปรเจ็กต์ชานเมือง

สมุทรปราการ-ปทุมธานี

 

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลดล็อกการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องกับการปลดล็อกการเลือกตั้งระดับเทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเหลือแค่การปลดล็อกการเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร (กทม.) เท่านั้น ก็จะเป็นการคลายล็อกการเมืองท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์

หากย้อนกลับไปโฟกัสช่วงการเลือกตั้งนายก อบจ. 2 จังหวัดที่มีสีสันและผู้คนจับตามอง คงหนีไม่พ้น จ.สมุทรปราการและปทุมธานี

ซึ่งในท้ายที่สุดทั้ง 2 จังหวัดก็ได้นายก อบจ.คนใหม่ระดับบิ๊กเนมเข้ามาคุมหางเสือ

โดย จ.สมุทรปราการ ตำแหน่งนายก อบจ.ตกเป็นของมาดามตู่-นันทิดา แก้วบัวสาย ในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ภายใต้ร่มเงาของชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม สามีและอดีตนายก อบจ.คนก่อน ซึ่งปัจจุบันขยับไปนั่งเป็นประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ

โดยกลุ่มการเมืองนี้มักจะเผยแพร่ความเคลื่อนไหวและข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ สมุทรปราการก้าวหน้า เป็นระยะๆ

ขณะที่ จ.ปทุมธานี หลังนายกชาญ-ชาญ พวงเพ็ชร์ จองกฐินนั่งนายก อบจ.ยาวนาน ก็ถูกบิ๊กแจ๊ส-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายตำรวจคนดังที่วันนี้สวมเสื้อพรรคเพื่อไทยคว้าเก้าอี้นายก อบต.ได้เป็นผลสำเร็จ

แถมส่ง ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง ลูกชายคนโตนั่งนายกเทศมนตรีนครรังสิตอีกต่างหาก สร้างสีสันและแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย

 

แม้ทั้ง 2 จังหวัดจะอยู่ไกลกันคนละฟาก โดยมีกรุงเทพฯ คั่นกลาง แต่สิ่งที่ทั้ง 2 จังหวัดกำลังซุ่มทำเหมือนกัน นั่นก็คือ “โปรเจ็กต์รถไฟฟ้าในเมือง”

ปฏิเสธได้ยากว่า ตลอดเวลา 8 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลงานที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคือ การขับเคลื่อนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางประเภทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งต่อเติมเสริมแต่งจนรถไฟฟ้าหลายๆ สายทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องทั้งสายหลักและสายรอง ทำให้บรรดาพ่อยกแม่ยก FC ลุงตู่มักหยิบขึ้นมาอ้างถึงบ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถเติมเต็มรถไฟฟ้าสายหลักและสายรองในเมืองหลวงฟ้าอมรได้ครบเส้นทาง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การขาดระบบเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) รถไฟฟ้าสายหลักลงสู่พื้นที่ท้องถิ่น เพราะการเดินทางในปัจจุบันไม่ได้จบแค่รถไฟฟ้า การเชื่อมต่อที่ลงลึกถึงระดับตรอก ซอก ซอย และการเดินทางสู่ปลายทางที่บางครั้งรถไฟฟ้าสายหลักก็ไปไม่ถึง

ดังนั้น การที่ตัวจังหวัดจะคิดค้นระบบรถไฟฟ้าขึ้นมาเอง เพื่อรับต่อการเดินทางจากรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ จึงเป็นทางเลือกที่น่าจะดีมากที่สุด

 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ระบุว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าโมโนเรลของ จ.สมุทรปราการ เมื่อปลายปี 2564 นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ ได้เดินทางมาที่สนามบินสุวรณภูมิ เพื่อหารือถึงการขออนุญาตทำทางเชื่อมต่อและใช้พื้นที่บางส่วนของสนามบินในการก่อสร้างโครงการในอนาคต

ซึ่งทาง ทอท.ไม่ขัดข้องและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ อีกทั้งตนเคยเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาก่อน ก็เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะก่อสร้าง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงแผนการศึกษาเท่านั้น ต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) เป็นแนวคิดริเริ่มของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ โดย อบจ.สมุทรปราการได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

และขณะนี้ได้ซุ่มทำการศึกษาเบื้องต้นไว้ โดยมีแผนจะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีบิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในช่วงต้นปี 2565 นี้

โดยแผนงานจะก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-แพรกษา-สุขุมวิท ระยะทาง 29.79 ก.ม. วงเงินรวม 57,495.31 ล้านบาท

แบ่งเป็นค่างานก่อสร้าง 29,032.36 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,724.42 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 9,587.21 ล้านบาท, ค่างานระบบรถไฟฟ้า 1,600 ล้านบาท, ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,151.42 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาตามระยะเวลาสัมปทาน 30 ปีอีก 29,032.26 ล้านบาท

มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ลาดกระบัง วิ่งขนานไปกับสนามบินสุวรรณภูมิ สิ้นสุดที่บริเวณสถานีแพรกษาเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเคหะสมุทรปราการ-แบริ่ง-สำโรง กำหนดไว้ 15 สถานี

ประกอบด้วย 1.สถานีลาดกระบัง 2.สถานีกิ่งแก้ว 60 3.สถานีกิ่งแก้ว 50 4.สถานีจุฬารัตน์ 9 5.สถานีราชาเทวะ 6.สถานีบางนา-ตราด 1 7.สถานีบางนา-ตราด 2 8.สถานีบางพลีใหญ่ 9.สถานีเทพารักษ์ 10.สถานีจงศิริ 11.สถานีเพชรงาม 12.สถานีแพรกษา 13.สถานีวัดแพรกษา 14.สถานีพุทธรักษา และ 15.สถานีแพรกษา

 

ขณะที่ จ.ปทุมธานี แหล่งข่าวระบุว่า ปัจจุบัน พล.ต.ท.คำรณวิทย์กำลังเร่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการสรุปผลการศึกษารถไฟฟ้าโมโนเรลของทางจังหวัดอยู่ คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงเดือนมกราคม 2565 นี้ เบื้องต้นวางเอาไว้ 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

1. ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง-คลอง 7 แนวเส้นทางผ่านหน้าเทศบาลนครรังสิต ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค จากนั้นเลาะไปตามคลองด้านข้างถนนรังสิต-องครักษ์ ไปสิ้นสุดที่คลอง 6 หรือคลอง 7 ตั้งใจจะให้แนวเส้นทางเข้าไปเชื่อมกับสวนสัตว์ดุสิตแห่งใหม่และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้

2. เส้นทางที่ 2 ช่วงรังสิตคลอง 3-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แนวเส้นทางจะฉีกจากเส้นทางแรกเลียบไปกับ ถ.รังสิตคลอง 3 วิ่งไปตาม ถ.คลองหลวง ผ่านวัดพระธรรมกาย ยกข้าม ถ.พหลโยธิน ไปสิ้นสุดที่สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง

3. ช่วงศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค-แยก คปอ. แนวเส้นทางจะวิ่งตัดตรงไปทางสนามกีฬาธูปะเตมีย์ และสิ้นสุดที่แยก คปอ. เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ

4. ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต-ถ.ราชพฤกษ์ แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต ไปตาม ถ.รังสิต-ปทุมธานี มุ่งหน้าบางพูน ผ่านโรงพยาบาลเซนต์คาร์ลอส ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่ ถ.ราชพฤกษ์ บริเวณนี้เป็นที่ทำการใหม่ของ อบจ.ปทุมธานี

ส่วนรูปแบบของโครงการและแผนงานจะเป็นอย่างไร แหล่งข่าวระบุว่า ขอให้รอการศึกษาให้เสร็จในช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 นี้ก่อน คาดว่าจะได้เห็นแผนงานที่ชัดเจนอีกครั้ง

แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นโครงการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP)