คุยกับทูต ยูน โอสตร็อม เกรินดอล ไทย-สวีเดน สัมพันธ์อันราบรื่นและยั่งยืน (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต ยูน โอสตร็อม เกรินดอล

ไทย-สวีเดน สัมพันธ์อันราบรื่นและยั่งยืน (จบ)

 

“เมื่อพูดถึงบทบาทของสวีเดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทำงานร่วมกับเพื่อนชาวยุโรปในบริบทของสหภาพยุโรป ซึ่งเพิ่งนำกลยุทธ์อินโดแปซิฟิกมาใช้ในการจัดการกับประเด็นต่างๆ มากมาย โดยพยายามโยงยุโรป อินโดแปซิฟิก และประเทศในอาเซียนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น”

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl,) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำราชอาณาจักรไทย กล่าว

“เราทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้มากมาย และผมหวังว่า เราจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยได้ในเร็วๆ นี้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เราพยายามสานต่อ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่สำคัญมากสำหรับยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย”

“ผมมาประเทศไทยครั้งแรกเป็นระยะเวลาสั้นๆ เกี่ยวกับหน้าที่การงานเมื่อปี 2016 มีความประทับใจในหลายสิ่งหลายอย่าง ที่โดดเด่นคือความเป็นมิตรของผู้คนที่นี่ ไม่เพียงแต่เพื่อนร่วมงานที่น่ารักในสถานทูตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกคนที่ผมได้พบเจอตามสถานที่ต่างๆ”

“ครั้งนี้มาอยู่ที่นี่ได้ปีกว่าแล้ว ก็ได้ไปชมหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี อุบลราชธานี อยุธยาเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่มีความงดงามมาก ประทับใจกับอุทยานแห่งชาติเขาสก และภูเก็ต ซึ่งก็ได้ไปหลายครั้ง”

“สำหรับในเรื่องอาหาร แน่นอนว่าผมชอบอาหารไทยหลายอย่างที่ไม่เผ็ดมาก ชื่ออาหารที่นึกออกตอนนี้ ได้แก่ พะแนง ต้มยำ ข้าวผัด”

“และนอกจากอาหารประจำชาติของสวีเดนแล้ว ผมก็ชอบอาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน เช่นเดียวกับชอบอาหารตะวันออกกลางด้วย”

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl,) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำราชอาณาจักรไทย

ยามว่างของท่านทูต

“นอกเหนือจากการอ่านและทัศนศึกษาเมืองไทยแล้ว ผมชอบเล่นหมากรุกเป็นงานอดิเรก และเป็นสมาชิกชมรมหมากรุกกรุงเทพ (The Bangkok Chess Club) ด้วย สำหรับการเล่นหมากรุกนั้น มีคำกล่าวที่น่าสนใจว่า A minute to learn, a lifetime to master”

“ช่วงที่ต้องทำงานที่บ้าน (WFH) พยายามเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ บนจอคอมพิวเตอร์ บางครั้งก็ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่าย แม้เข้าใจดีว่าเป็นความจำเป็น”

“ผมจึงมีความสุขมากจริงๆ เมื่อมีโอกาสได้กลับไปทำงานที่สถานทูต ซึ่งอาจเป็นวิธีที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพบปะผู้คน เพราะการเป็นมนุษย์คือ การมีสังคม ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น”

 

คนไทยในสายตาท่านทูต

“ผมคิดว่า แม้อาจจะไม่ค่อยแสดงออกและค่อนข้างขี้อาย แต่คนไทยมีจิตใจงดงามเสมอ เรื่องที่ดึงดูดความสนใจของผมอีกอย่างคือ ศาสนา ผมมีความรู้สึกว่า พุทธศาสนามีความสำคัญมากสำหรับคนไทยหลายๆ คน”

“สำหรับสวีเดน ไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่มีความสุขที่สุดเท่านั้น แต่เราเป็นชาติที่นับถือศาสนาน้อยที่สุดในโลกตะวันตก ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าใจความสำคัญของศาสนา อย่างไรก็ตาม เราไม่แบ่งแยกศาสนาหรือเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา แต่เราให้ความเคารพต่อผู้นับถือศาสนาเสมอ”

สวีเดนติดอันดับอยู่ในประเทศที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดของโลกทุกปี ซึ่งมาจากความเป็นเลิศในหลายๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาและนวัตกรรม การทำธุรกิจ สวัสดิการรัฐ การศึกษา ความเท่าเทียมระหว่างเพศประชาธิปไตย ความโปร่งใสของรัฐบาล

แม้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จะระบุว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่ปราศจากคอร์รัปชั่น และมีประชากรโลกกว่า 6 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการฉ้อโกงสูง แต่สวีเดนก็ยังเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

องค์กร Transparency International จัดให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากเป็นอันดับ 3 รองจากเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ในปี 2020

 

นอกจากนี้ สวีเดนยังเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อด้านสิทธิมนุษยชน เน้นความสำคัญกับสิทธิสตรี ยึดมั่นในการเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการทหาร แต่มีความร่วมมือทางทหารอย่างใกล้ชิดกับ Nordic, Baltic, UN, OSCE และ NATO

ด้านประชาธิปไตย สวีเดนริเริ่มโครงการ Drive for Democracy โดยมีวัตถุประสงค์ให้สวีเดนเป็นประเทศขับเคลื่อนที่สำคัญ ในการส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตย

ทั้งยังประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ พันธุ์พืช และสัตว์ป่า และมีเป้าหมายเป็นหนึ่งในประเทศแรกในโลกที่ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil free) และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด รวมทั้งมีมาตรการผลักดันให้ยุติการจำหน่ายยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลภายในปี 2030

ที่สำคัญคือ เป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนสูงอายุ และชาวสวีเดนยังถือพาสปอร์ตที่เดินทางได้เกือบรอบโลกราว 176 ประเทศ

 

ส่วนในด้านการค้าขาย เราอาจไม่ทันสังเกตว่า ในชีวิตประจำวัน คนไทยใกล้ชิดกับสินค้าสวีเดนหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ

นายยูน โอสตร็อม เกรินดอล กล่าวเชิญชวน

“โปรดติดตามชมคลิปวิดีโอ Sweden in Your Everyday Life ซึ่งแนะนำผลิตภัณฑ์ ‘สวีเดนในชีวิตประจำวันของท่าน’ ด้วยตนเอง ก็จะเห็นว่า ชีวิตคนไทยเกี่ยวข้องกับสวีเดนมากขนาดไหน”

เราอาจไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นของสวีเดนที่หาได้ในเมืองไทย นับตั้งแต่ชุดเครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ IKEA, เครื่องฟอกอากาศ Blueair, สบู่ Lanolin-ägg tvål, กระดาษเช็ดหน้า Essity, ครีมทามือ Byredo, ขนมปัง Wasa, ครีมไข่ปลา cod รมควันทาขนมปัง Kalles Kavier, ถ้วยกาแฟ Ikea, กางเกงยีนส์ Nudie, กระเป๋าเป้ Gaston Luga, ตัวล็อกประตู Assa Abloy, รถยนตร์ไฮบริด Volvo, แอพพลิเคชั่น Skype, Storytel และ Spotify, กาแฟ Gevalia, ชา Monsoon บรรจุในกล่อง Tetra Pak, เครื่องดื่มนมข้าวโอ๊ต Oatly Oat Drink, สถานออกกำลังกาย Fitness24Seven, หน้ากากผ้า Airinum, เครื่องดื่มโปรตีนมิลค์เชค Barebells Protein Milkshakes, ขนมขบเคี้ยวผลิตภัณฑ์โปรตีนจากจิ้งหรีด Global Bugs, เครื่องดูดฝุ่น Electrolux, เกมมายคราฟ MineCraft, เทียนหอม Amoln เป็นต้น

คลิปวิดีโอนี้น่าชมมาก เป็นคลิปที่สนุกสนาน เพลิดเพลินในระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญคือ ท่านทูตลงทุนเป็นพรีเซ็นเตอร์เอง ติดตามได้ที่นี่ https://www.facebook.com/SwedeninBangkok

และเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เพจสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เกาะกระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ

มาวันนี้ ทูตสวีเดนขออำลาท่านผู้อ่านด้วยประโยคที่ว่า

“ขอได้โปรดหมั่นข้องใจ สงสัย ไต่ถาม เกี่ยวกับสวีเดน และเรียนรู้เกี่ยวกับสวีเดนต่อไป เราไปเที่ยวสวีเดนกันเถอะครับ!”

 

ประวัตินายยูน โอสตร็อม เกรินดอล

Jon Åström Gröndahl

เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

เกิด : 26 กรกฎาคม 1975

สถานภาพ : สมรสกับเอกอัครราชทูต Helena Gröndahl Rietz ลูกสาวหนึ่งคนชื่อ ฮันนา (Hanna) เกิดปี 2008

ประสบการณ์

2020-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดน ประจำราชอาณาจักรไทย

2020-ปัจจุบัน : ว่าที่เอกอัครราชทูตประจำประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว

2015-2020 : รองอธิบดีและหัวหน้าภาควิชากงสุลและกฎหมายแพ่ง กระทรวงต่างประเทศ กรุงสตอกโฮล์ม

2011-2013 : รองผู้อำนวยการและหัวหน้าแผนกกงสุลกระทรวงต่างประเทศ กรุงสตอกโฮล์ม

2008-2011 : หัวหน้าแผนกตะวันออกกลาง หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงทางการทหารของสวีเดน กองบัญชาการกองทัพสวีเดน

2007-2008 : เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ณ กรุงอิสลามาบัด, ที่ปรึกษาทางการเมือง ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISAF) และทีมฟื้นฟู (PRT) จังหวัดมะซะรีชารีฟ (Mazar-i-Sharif) ประเทศอัฟกานิสถาน

2005-2007 : ประจำสำนักรัฐมนตรี กระทรวงต่างประเทศ กรุงสตอกโฮล์ม

2003-2005 : เจ้าหน้าที่ประจำแผนกประเทศอิสราเอล กรมตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ กระทรวงต่างประเทศ กรุงสตอกโฮล์ม

2003 : เจ้าหน้าที่ประจำแผนกประเทศอิรัก ซาอุดีอาระเบีย และจอร์แดน กรมตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กระทรวงต่างประเทศ กรุงสตอกโฮล์ม

2002 : เจ้าหน้าที่แผนกสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กรุงสตอกโฮล์ม

การศึกษา

1998-2003 : นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University)

1995-1997 : การฝึกทหาร (กองทัพบก)

1994-1995 : โครงการปาเลสไตน์และภาษาอาหรับศึกษา (PAS) มหาวิทยาลัยบีร์ซีต (Birzeit University)

ภาษา : สวีเดน เยอรมัน และสเปน