พระพรหมพิจิตร กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พระพรหมพิจิตร

กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่

ในระบอบประชาธิปไตย (2)

 

หากพิจารณาให้ดีเราจะมองเห็นว่า ท่ามกลางความนิยมในการสร้าง สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ที่ได้รับอิทธิพลจากอาร์ต เดโค (Art Deco) ในยุคหลังการปฏิวัติ 2475 นั้น รัฐบาลมิได้ยกเลิกการสร้างสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตแต่อย่างใด เพียงแต่ได้มีการพัฒนาไปสู่แนวทางใหม่ ที่สอดรับกับบรรยากาศทางสังคมไทยหลังการปฏิวัติ 2475 โดยมีพระพรหมพิจิตรเป็นนายช่างคนสำคัญที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

ผมเคยนิยามรูปแบบดังกล่าวเอาไว้เมื่อหลายปีแล้วว่า สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต

รูปแบบดังกล่าวหมายถึง งานสถาปัตยกรรมที่ยังสืบทอดระเบียบวิธีการออกแบบบางอย่างของสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตเอาไว้ โดยตัดทอนรายละเอียดของลวดลายไทยลง เหลือเพียงเค้าโครงของเส้นกรอบนอกทางเรขาคณิตที่เรียบง่าย

ส่วนองค์ประกอบตกแต่งที่มีความอ่อนช้อยพลิ้วไหวแบบเดิม ก็จะถูกปรับทรวดทรงให้ดูเข้มแข็งและสง่างาม สะท้อนคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนไป จากไม้มาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากเครื่องปิด เครื่องมุง รวยระกา เครื่องลำยอง ช่อฟ้า หางหงส์ จะมีสัดส่วนสั้นลง ลวดลายหรือการสะบัดปลายยอดของตัวลายจะน้อยลง ปลายของลายไม่เรียวเล็กแบบที่ทำด้วยไม้

ตัวอย่างเช่น เจดีย์และหอระฆังของวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ซุ้มประตูสวัสดิโสภา เมรุวัดไตรมิตร เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส และหอระฆังวัดยานนาวา เป็นต้น

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต ในด้านหนึ่ง คือ พัฒนาการที่สืบทอดมาจากงานออกแบบของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ซึ่งเป็นครูของพระพรหมพิจิตร) เช่น โบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ ที่มีรูปแบบที่ลดทอนรายละเอียดลวดลายและองค์ประกอบทางประเพณีลงอย่างชัดเจน

หรือแม้กระทั่งลักษณะรูปทรงที่ดูเข้มแข็งตลอดจนลวดลายองค์ประกอบที่มีสัดส่วนสั้นลง ก็อาจมองได้ว่าเป็นอิทธิพลต่อเนื่องทางรูปแบบมาจากโบสถ์วัดราชาธิวาส และตึกถาวรวัตถุ วัดมหาธาตุฯ อันเป็นงานออกแบบที่จับลักษณะท่วงท่างานสถาปัตยกรรมเขมรที่เข้มแข็งมาใช้ในการออกแบบ เป็นต้น

หากเราดูงานบางชิ้นของพระพรหมพิจิตร ก็จะเห็นว่าได้นำเอาลักษณะข้างต้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในเวลาต่อมา

แต่กระนั้น การมองว่าทุกอย่างเป็นเพียงการสืบทอดอิทธิพลจากงานของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ดูจะไม่เป็นธรรมนักต่อพระพรหมพิจิตร

 

ในทัศนะผม สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบและแนวทางของการสร้างงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มอาคารสาธารณะของภาครัฐ ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดว่าด้วยความเรียบง่าย การเน้นอวดรูปทรงและปริมาตร การเน้นประโยชน์ใช้สอย ตลอดจนการแสดงออกซึ่งความงดงามของโครงสร้างและวัสดุ เป็นต้น

ความสอดคล้องดังกล่าว ถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่มีการผสมผสานรูปแบบที่กำลังเป็นกระแสนิยมในระดับสากลให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย

และทำให้เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า พระพรหมพิจิตร คือนายช่างและสถาปนิกที่จัดเจนในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งยังสามารถพัฒนาศิลปะไทยให้คล้อยตามวิวัฒนาการของโลกอย่างทันสมัย ซึ่งประเด็นนี้ ในงานศึกษาที่ผ่านมาทุกชิ้น ล้วนเห็นพ้องต้องกันในความสามารถอันโดดเด่นนี้ของพระพรหมพิจิตร

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะชี้ว่า การวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ใดๆ ย่อมเรียกร้องการอธิบายบนเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่มากไปกว่าเงื่อนไขง่ายๆ ด้วยการโยนเหตุผลทุกอย่างไปที่อัจฉริยภาพเชิงปัจเจกบุคคล เพราะการอธิบายแบบนี้ แทบไม่ต่างอะไรมากนักจากการไม่อธิบายอะไรเลย

ดังนั้น การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต ก็ย่อมไม่ควรอธิบายความเป็นมาของมัน โดยเน้นไปที่ความสามารถของพระพรหมพิจิตรเพียงด้านเดียวมากจนเกินไป

เพราะในความเป็นจริง หากขาดซึ่งเงื่อนไขทางสังคมการเมืองเป็นตัวเกื้อหนุน พระพรหมพิจิตรซึ่งเป็นเพียงข้าราชการระดับกลางในกรมศิลปากร ที่ต้องทำงานประจำตามสั่งจากรัฐบาล ย่อมไม่อาจหาโอกาสที่จะแสดงความสามารถให้ปรากฏได้

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่า หากเราต้องการอธิบายการเกิดขึ้นของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแนวใหม่ดังกล่าว เราจำเป็นที่จะต้องอธิบายปรากฏการณ์นี้ภายใต้การเกิดขึ้นของจิตวิญญาณแบบใหม่ หลังการปฏิวัติ 2475 ในวงการสถาปัตยกรรมไทย

 

ดังที่พูดไปแล้วว่า ลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต คือการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งในยุคสมัยนั้น ถือว่าเป็นวัสดุสมัยใหม่แห่งอนาคต และเต็มไปด้วยนัยยะทางความหมายที่สื่อถึงความทันสมัย

ความหลงใหลในวัสดุชนิดนี้ มีมากถึงกับมีการเขียนสารภาพไว้ในวารสารวิชาการ ว่า “…คอนกรีตมีเสน่ห์ล่อให้ช่างก่อสร้างลุ่มหลง…”

อีกทั้งด้วยคุณสมบัติในการก่อสร้างที่แข็งแรงและราคาถูกก็ได้ทำให้คอนกรีตเสริมเหล็ก กลายเป็นวัสดุก่อสร้างที่เข้าถึงได้ง่าย อีกนัยยะหนึ่งก็คือ เป็นวัสดุก่อสร้างของมวลชนทุกระดับชั้น ดั่งที่มีสถาปนิกกล่าวในประเด็นนี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2477 ความว่า

“…คอนกรีตเป็นของที่ต้องเข้าอยู่ประจำคู่บ้านคู่เมือง เช่นเดียวกับโต๊ะเก้าอี้ ซึ่งต้องมีประจำอยู่ในบ้านเรือนเราในสมัยนี้เสียแล้ว ไม่มีของสำหรับก่อสร้างอย่างใดที่ได้มาตีตลาดแตกอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเท่ากับคอนกรีต ไม่มีของสำหรับใช้ก่อสร้างอย่างใดที่ได้รับความนิยมเห่อเหิมใช้กันอย่างแพร่หลายดังคอนกรีต…” (ดูใน ส. สุภัง, “คอนกรีต-คุณอนันต์ โทษมหันต์,” จดหมายเหตุสมาคมสถาปนิกสยาม (มีนาคม 2477) : 12.)

ด้วยคุณประโยชน์และภาพลักษณ์ที่ทันสมัยเช่นนี้ จึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากสิ่งนี้จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พระพรหมพิจิตรมีความนิยมชมชอบในคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่นเดียวกับสถาปนิกร่วมสมัยคนอื่น และปรารถนาที่จะพัฒนางานสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีต ให้สามารถรองรับกับวัสดุสมัยใหม่ของมวลชนชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่สำคัญคือ แม้ใช้แทนไม้ได้ แต่ก็มีลักษณะที่เปราะกว่าไม้ และไม่สามารถรับแรงดึงแรงบิดได้ อันจะส่งผลทำให้ปลายแหลมของลวดลายและองค์ประกอบแบบจารีตที่มักจะออกแบบให้มีความพลิ้วไหวนั้น ไม่มีความคงทนเท่าที่ควร

ดังนั้น การใช้คอนกรีตเสิรมเหล็กโดยไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบและลวดลายเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ ซึ่งพระพรหมพิจิตรคงตระหนักในข้อจำกัดนี้เป็นอย่างดี

 

เงื่อนไขสำคัญอีกอย่างคือ บรรยากาศของสังคมไทยหลังการปฏิวัติ 2475 ที่หากนำคอนกรีตเสริมเหล็กมาใช้อย่างเถรตรง โดยมิได้สร้างรูปแบบใหม่ทางสถาปัตยกรรมให้แตกต่างไปจากจารีตประเพณีเดิม (ที่ล้วนเต็มไปด้วยนัยยะของฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม ที่จำแนกแยกแยะคนออกเป็นลำดับชั้น ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทย) ก็คงเป็นงานออกแบบที่ไม่ได้รับความนิยมอย่างแน่นอน

ด้วยปัจจัยสองด้านดังกล่าว จึงเป็นเสมือนเงื่อนไขบังคับให้พระพรหมพิจิตรจำเป็นจะต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่จะผสานรูปแบบจารีตให้สามารถไปกันได้กับวัสดุสมัยใหม่ ที่สามารถตอบสนองต่ออุดมการณ์ใหม่ของคณะราษฎรด้วย

ซึ่งคำตอบที่ได้จากเงื่อนไขทั้งหมดนี้คือ การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต ที่พัฒนารูปแบบและองค์ประกอบให้มีความเรียบง่าย โดยรักษาไว้เพียงกรอบนอกของรูปทรงให้สามารถมองเห็นเชื่อมโยงย้อนกลับไปสู่รูปทรงต้นแบบเท่านั้น ส่วนลวดลายไทยจะถูกตัดทิ้งหรือลดทอนลง อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของวัสดุและอุดมการณ์แห่งยุคสมัย

หากเรามองดูซุ้มประตูสวัสดิโสภา บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวัง เราก็จะเห็นลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน

 

ซุ้มประตูนี้ สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นซุ้มประตูยอดปรางค์ ซึ่งหากมองอย่างผิวเผินก็แทบจะดูกลมกลืน ไม่ต่างอะไรเลยจากซุ้มประตูอื่นที่สร้างขึ้นรอบพระบรมมหาราชวัง

แต่ความพิเศษคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบประตู ทรงยอด รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ให้อยู่ภายใต้รูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย ทุกลวดลายประดับจะไม่มีส่วนปลายเล็กแหลมที่พลิ้วไหวใดๆ ที่จะนำมาซึ่งการหักกะเทาะโดยง่าย

ตัวอย่างเช่น ซุ้มบันแถลงบนยอดประตู แม้ว่าโดยภาพรวมจะดูคล้ายซุ้มวิมานในคติจารีต แต่ถ้าในรายละเอียด เราจะเห็นแต่เส้นกรอบสามเหลี่ยมเรียบง่าย ที่มิได้สื่อความหมายของซุ้มวิมานแต่อย่างใด

หรือรายละเอียดฐานซุ้มประตู ที่แต่เดิมจะเป็นลายบัวคว่ำ แต่ที่ซุ้มนี้กลับเป็นเพียงลายขีดฟันปลาเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรูปทรงและลวดลายไม่แสดงความหมายในคติเดิม ลักษณะ ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมไทย ที่แฝงอยู่ในองค์ประกอบลวดลายเหล่านั้น ก็ดูเสมือนว่าจะถูกลดทอนหรือสูญหายทางความหมายลงตามไปด้วย

คงไม่เกินไปมากนัก หากจะสรุปว่า รูปแบบที่พระพรหมพิจิตรพัฒนาขึ้นมานี้ คือรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยใหม่ที่สลัดทิ้งซึ่งฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมไทย และประกาศอุดมการณ์ใหม่แห่งยุคประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร