‘ยั่งยืน’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางกับกา - การอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย เป็นภาพอันแสดงให้เห็นถึงความรักอีกแบบหนึ่ง

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ยั่งยืน’

 

ทํางานอยู่ในป่าด้านตะวันตก เพื่อนๆ หรือคู่หูของผมส่วนใหญ่จะมีชื่อไพเราะ หากเป็นผู้อาวุโส ก็มักจะมีชื่ออันเป็นภาษาถิ่นอีกชื่อ แต่ถ้าเป็นหนุ่มๆ จะมีชื่อเป็นภาษาไทยชื่อเดียว

ผมไม่รู้ว่า เจ้าหน้าที่บนอำเภอใช้ตำราหรือมีวิธีการอย่างไรในการตั้งชื่อ เพราะแต่ละคนได้ชื่อไพเราะทั้งนั้น มีหลายชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับป่าๆ หรือภูเขา นามสกุลก็เช่นกัน

อาจมีแต่อดิเทพ คู่หูอาวุโสของผมที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยชอบชื่อที่เจ้าหน้าที่อำเภอตั้งให้นัก

“ผมขอตั้งชื่อว่า สมเสร็จ เขาบอกไม่เหมาะ” อดิเทพบ่นให้ฟังบ่อย และผมก็เล่าเรื่องนี้บ่อยๆ ให้คนฟังเช่นกัน

เหล่าคนที่มีชื่อเพราะๆ นี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยทุกข์ร้อนกับอะไรนัก หน่วยพิทักษ์ป่าที่ว่ากันดารๆ เดินทางยาก หลายคนบอกว่าสบายกว่าอยู่บ้าน

เหตุผลที่เล่ากันอย่างขำๆ คือ อยู่บ้านเมียใช้ทำงานเยอะ

เดินป่าบนเส้นทางซึ่งรกทึบต้องขึ้นเขาชัน ก็ไม่เห็นจะมีทีท่าว่าเหนื่อย หยอกล้อเล่น หัวเราะราวกับเดินอยู่บนถนนลาดยางเรียบ

เรื่องงาน ผู้ชายชื่อเพราะๆ เหล่านี้ไม่ทุกข์ร้อน

แต่ดูเหมือนหากเป็นเรื่องของหัวใจ เรื่องความรัก ผมเห็นว่า นอกจากจะมีชื่อเพราะๆ แล้ว ผู้ชายในป่านี้เจ้าน้ำตา

 

ช่วงเวลาหนึ่ง ผมมีคู่หูเป็นหนุ่มวัยเบญจเพส ชื่อศุภฤกษ์ เขาช่วยงานและอยู่ในแคมป์กับผมราวสองสัปดาห์ ก็ขอลากลับบ้าน

ก่อนหน้าสักสองวัน เขาอยู่ในอาการเคร่งเครียด ถามอะไรไม่ตอบ ผิดจากเดิมที่ร่าเริงตลอด

จะว่าไป นี่เป็นอาการของคนอยู่ป่านานๆ หลายคนเป็น 3-4 วันแรกปกติดี วันต่อๆ มาจะเงียบ และหงอย เป็นอาการที่ผมพบในเพื่อนร่วมทางบ่อยๆ

หลังจากที่ศุภฤกษ์กลับ และผมมาที่หน่วยพิทักษ์ป่า จึงรู้ว่าเขามีปัญหา

“ที่บ้านเขามีปัญหานิดหน่อยครับ” นิรันดร์ เพื่อนในหน่วยบอก

ศุภฤกษ์เพิ่งแต่งงานกับสาวซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนได้สามเดือน

“พ่อตาเขาส่งข่าวมาว่า เมียเขาหายไปกับผู้ชายครับ” นิรันดร์กระซิบ

ทำงานอยู่ในป่านาน หลายคนพบเจอปัญหานี้

เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พวกเขาพบ นอกจากปัจจัยต่างๆ ในการทำงานที่ขาดแคลน

“นี่แหละ ผมถึงไม่อยากมี” เอกชัย หัวหน้าศุภฤกษ์พูดเสียงดัง

“ไม่มีใครเอาน่ะครับ” นิรันดร์เสียงเบาลงอีก

“พยายามไปหาในหมู่บ้าน แต่ไม่สำเร็จ คนที่เคยจีบ เขาก็เลือกทหารพรานไปแล้ว”

เอกชัยได้ยินแว่วๆ หันมาทำตาเขียวใส่

 

ช่วงนั้น ฤดูฝนอย่างจริงจังเดินทางมาถึงแล้ว สัตว์กินพืช โดยเฉพาะกระทิงเริ่มห่างจากทุ่งหญ้าที่ต้นสูงและแก่ แต่งานลาดตระเวนยังทำอย่างเข้มข้น

“มีหลายทุ่งที่ไฟไหม้ทีหลัง หญ้าเพิ่งสูงแค่เข่าครับ กระทิงฝูงยังวนเวียนแถวนั้น” เอกชัย หัวหน้าชุดบอกขณะเตรียมอุปกรณ์ เขาจะเดินลาดตระเวนราวๆ 6 วัน

“ไปนานแบกเสบียงหนักไม่คล่องตัว สู้ไปแล้วกลับมาพัก สองวันออกไปใหม่ดีกว่า”

ในทุ่ง พวกเขาเฝ้าซุ่ม และเดินสำรวจร่องรอย พวกเขาพบรอยคน

บริเวณใดมีแหล่งอาหาร สัตว์ป่ารู้ เป็นข้อมูลที่คนทำงานในป่ารู้ และคนล่าสัตว์ก็รู้

 

ศุภฤกษ์หายไปหลายวัน เขากลับมาวันที่เอกชัยกำลังเตรียมนำลูกชุดออกเดินป่า

ปิยะตำพริกแกงห่อใหญ่ พริกแกงเป็นเสบียงสำคัญ พรเทพตักข้าวสารใส่ถุงย่อยเพื่อแบ่งกันใส่เป้ นิรันดร์ทำความสะอาดปืน ตรวจสอบความเรียบร้อย เอกชัยตรวจจีพีเอส เอาถ่านสำรองใส่ถุงห่อ

“ปลากระป๋องไม่เอาไปนะพี่ ขี้เกียจแบกกระป๋องเปล่ากลับ” พรเทพปรึกษาลูกพี่

“เดือนนี้มีหน่อไม้แล้วไม่อดหรอก” ลูกพี่พยักหน้าเห็นด้วย

 

“ผมขอร่วม ว.4 ด้วยนะครับ” ศุภฤกษ์เดินถือเป้เปล่าเข้ามา

“ธุระเอ็งเสร็จแล้วเหรอ”

“ยังหรอกครับ เรื่องมันเยอะ ผมมาทำงานดีกว่า” ศุภฤกษ์พูดตาแดงๆ หยดน้ำตาไหลเป็นทาง เขาไม่พยายามซ่อนน้ำตา

ไม่มีใครถามถึงปัญหาของเขา ทุกคนรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อเลือกทำสิ่งหนึ่ง มีโอกาสจะสูญเสียสิ่งอื่น คล้ายเป็นเรื่องธรรมดา

เกือบ 10 โมงเช้า ชุดลาดตระเวนเดินออกจากหน่วย อีก 6 วันพวกเขาจะกลับ

ผมมองพวกเขาที่ลับหายไปในราวป่า

นึกถึงเรื่องราวที่ศุภฤกษ์กำลังเผชิญ ดูเหมือนว่าเขาจะเลือกการอยู่ข้างเดียวกับสัตว์ป่า อาจบางที เพราะความเชื่อว่านี่คือความรักอัน “ยั่งยืน” ที่แท้

 

ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ซาบซึ้ง หรือเรื่องการเสียสละอะไร

ผมเพียงเล่าเรื่องผู้ชายในป่าคนหนึ่ง

นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะการเลือกของเขา ทำให้ผมน้ำตาซึม

คนทำงานในป่านั้น เจ้าน้ำตา