ต้นตำรับ ‘เหรียญเต่า’ หลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง พระเกจิชื่อดังโพธาราม

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

ต้นตำรับ ‘เหรียญเต่า’ หลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง

พระเกจิชื่อดังโพธาราม

 

“พระครูพิพิธธรรมาภิรม” หรือ “หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้อง ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดัง ต้นตำรับเหรียญเต่า แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

ด้านวัตถุมงคลมีทั้งเหรียญ, เหรียญพระนาคปรก ล็อกเกต ฯลฯ แต่ที่สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ “เหรียญเต่า”

กล่าวได้ว่า หลวงพ่อหลิว ปัณณโก วัดไร่แตงทอง มีวัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับคือ พญาเต่าเรือน

เคยฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาการสร้างวัตถุมงคลเต่ามาจากหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง นั่นเอง

ดังนั้น เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น รุ่นแรก จึงได้รับความนิยม นำไปคล้องติดคออย่างแพร่หลาย

รุ่นนี้สร้างในปี พ.ศ.2496 ด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง โดยสร้างเป็นลักษณะคล้ายเหรียญรูปล่างคล้ายเต่า แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบ โดยตัวเหรียญจะมีความนูนและหนา แบ่งออกเป็น 2 บล็อก คือบล็อกหน้ายักษ์ และบล็อกหน้านาง

จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิ ประทับบนฐานบัว ด้านข้างองค์พระมีอักขระยันต์ 4 ตัว อ่านได้ว่า “นา สัง สิ โม” ตัวสิ ไม่มีสระอิ

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ นะ มะ พะ ทะ ตรงกลางมียันต์ “อุ”

ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น หลวงพ่อย่นจึงให้ช่างแกะบล็อกใหม่ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง สร้างเป็นเหรียญเต่ารุ่นที่ 2 ลักษณะเป็นเหรียญรูปร่างคล้ายเต่า แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบคล้ายรุ่นแรก แต่จะมีขนาดเล็กกว่าและบางกว่าเหรียญเต่ารุ่นแรกเป็นอย่างมาก ส่วนจำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้

ปัจจุบันนับเป็นที่นิยมและหายาก

หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ

สําหรับอัตโนประวัติ เกิดเมื่อวันพุธที่ 18 เมษายน2431 ที่บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

เล่าเรียนศึกษาที่วัดในหมู่บ้าน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นบวชเป็นสามเณรศึกษาเล่าเรียนที่วัดบ้านฆ้องได้ 3 ปีเศษ

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันศุกร์ ปี พ.ศ.2451 อยู่ในปกครองพระอธิการปัด วัดบ้านฆ้อง ปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนตามกิจ ลงอุโบสถ สวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นนิจมิได้ขาด จนสามารถขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่ในพรรษาแรก

พรรษาที่ 2 มีความรู้เรื่องงานช่างไม้ ช่วยพระอาจารย์สร้างโบสถ์ ทำใบฎีกา ช่อฟ้า ทำด้วยตนเองไม่ต้องจ้างช่าง

พรรษาที่ 3 เล่าเรียนภาษาขอม แปลและอธิบายพระปาฏิโมกข์ แล้วก็ได้จารเขียนหนังสือเป็นตัวขอมโบราณ หนังสือเจ็ดตำนาน และหนังสือพระปาฏิโมกข์ เขียนด้วยมือของหลวงพ่อเอง สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา

พรรษาที่ 4 กราบลาพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่อื่นๆ เดินทางมาอยู่ที่วัดสระสี่เหลี่ยม อ.สามแก้ว จ.นครปฐม (ปัจจุบันคือ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม) ศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่ 2 ปี

พ.ศ.2457 กราบลาเจ้าอาวาสวัดสระสี่เหลี่ยม ออกเดินทางไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่อื่นๆ เดินทางขึ้นไปทางเหนือ แวะพำนักพักอาศัยอยู่ที่วัดสมอบท บ้านเสี้ยน แขวงเมืองชัยนาท (ปัจจุบันวัดสมอบทแห่งนี้เป็นโบราณสถานอยู่ในตำบลหนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท) เป็นวัดร้างอยู่ในพื้นที่ป่าทุรกันดาร

แวะพักอาศัยอยู่ พวกชาวบ้านทั้งหลายต่างพร้อมใจนิมนต์ให้เป็นสมภารที่วัดสมอบท

รับปกครองพระอารามเป็นเวลา 4 ปีบริบูรณ์

เหรียญเต่า หลวงพ่อย่น

พ.ศ.2461 เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดบ้านฆ้อง อยู่ในการปกครองของพระอธิการชื่น เจ้าคณะตำบลบ้านฆ้อง ช่วยปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ แต่ก็มีผู้นิมนต์ให้ไปจำพรรษาเป็นสมภารปกครองที่วัดแห่งอื่นอีก

กระทั่งในปี พ.ศ.2469 พระอธิการชื่นมรณภาพ จึงรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้องตั้งแต่นั้นมา อยู่ในการปกครองของเจ้าคณะอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีวัดที่ขึ้นอยู่ในการปกครองทั้งหมด 6 วัด มีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม มีครูสอนอยู่ในวัดทุกปีมิได้ขาด ปฏิบัติสวดมนต์อยู่เป็นนิจ มีอุบาสก-อุบาสิกา รักษาศีลอุโบสถในพรรรษาทุกปี

พ.ศ.2472 ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านฆ้อง

สร้างหอระฆังขึ้นอีก 1 หลัง เป็นแบบอิฐและปูน สร้างด้วยมือของตนเอง ร่วมมือร่วมใจกับญาติโยมสร้างขึ้นมาจนสำเร็จ

พ.ศ.2476 พร้อมใจกับชาวบ้านช่วยกันเฉลี่ยทรัพย์กันตามศรัทธาร่วมสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นอีก 1 หลัง เป็นแบบมุงกระเบื้อง

พ.ศ.2483 สร้างโรงเรียนสอนเด็กขึ้นมาอีก 1 หลัง แต่ยังไม่ได้ทาสี เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลก ข้าวของหายาก ก็สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2484

พ.ศ.2485 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2497 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูพิพิธธรรมาภิรม

ในปี พ.ศ.2506 อนุสรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่สำคัญที่หลวงพ่อที่ได้สร้างไว้ คือ ได้สร้างโรงเรียนวัดบ้านฆ้องขึ้น (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม) ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2506 ปัจจุบันยังคงเปิดให้มีการเรียนการสอนอยู่

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2509

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 57