สัมผัสใจในคำกวี / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

สัมผัสใจในคำกวี

 

เมื่อวันพุธที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา มีงานมอบรางวัล “อุชเชนี” ซึ่งเป็นรางวัลงานเขียนทั้งบทกวีและข้อเขียนบทร้อยแก้ว ระดับนักเรียนและประชาชน งานนี้จัดมา 5 ครั้งหรือห้าปีแล้ว มีผู้ส่งผลงานคับคั่งน่าพอใจ

และน่าชื่นชมในความสามารถของผู้ส่งผลงานทุกคน

อุชเชนีเป็นนามปากกาของอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ มีผลงานโดดเด่นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

โดยเฉพาะบทกวีเล่มที่ชื่อ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ซึ่งเป็นชื่อของบทกวีอันถือเป็นบท “ชั้นครู” ที่ผู้สนใจงานกวีนิพนธ์ “ต้องอ่าน”

ส่วนตัวนั้นเห็นว่า “ขอบฟ้าขลิบทอง” เป็นดั่ง “กวีของกวี”

ซึ่งจะขอยกเป็นแบบฉบับมา ณ ที่นี้

 

กวีขอบฟ้าขลิบทองมีหกบทรวม 24 วรรคพิเศษคือทุกวรรคมี “คำกวี” หรือ “โวหารกวี” ประจำอยู่ทำให้ทุกวรรคโดดเด่น เฉิดฉาย ประชันกันอยู่พราวพราย

บทกวีทั้งหกบทจึงเสมือน “สร้อยสรวง” เจิดจรัสด้วยเพชรพลอยของถ้อยคำ ที่เจียระไนมาจากผลึกของความคิดโดยแท้

สร้อยสรวงเส้นนี้อุชเชนีบรรจงร้อยฝากไว้แล้วแด่แผ่นดินกวีให้เราได้อ่านได้ศึกษาและได้รักได้เข้าถึงวิญญาณกวีแท้จริง

เริ่มวรรคแรกด้วยคำ “มิ่งมิตร” สองคำนี้คือคำกวีที่มักไม่นำมาใช้ได้ในที่ทั่วไป วรรคต่อไปตามลำดับดังนี้

 

มิ่งมิตร

เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น

ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน

ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว

ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม

ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม

ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน

ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน

ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน

ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก

ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม

ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร

ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก

ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง

ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง

ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น

เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา

เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ ฯ

 

ทุกคำที่ขีดเส้นใต้นั้นคือ “คำกวี”

หายากนะที่จะมีใครเขียนกลอนมี “คำกวี” ได้ในทุกวรรค

นิยาม “คำกวี” สั้นๆ คือคำ “สัมผัสใจ”

ส่วน “คำกลอน” คือคำ “สัมผัสคำ”

กลอนมุ่งเน้นสัมผัสคำเป็นหลักและทำให้ร้อยกรองต่างกับร้อยแก้วก็ตรงรูปแบบฉันทลักษณ์ที่กำหนดไว้เป็นแบบบทต่างลักษณะนานานี่เอง โดยเฉพาะภาษาไทยมีทั้งเสียงคำ และการจัดจังหวะสัมผัสสระนี่แหละที่กำหนดความไพเราะให้ได้รสของอักษรอันเป็นเอกลักษณ์ของกาพย์กลอนไทย ดังเรียกว่า “สัมผัสคำ”

คำสัมผัสใจ เป็นการใช้โวหารเปรียบเทียบที่ประมวลไว้ซึ่ง “ความรู้สึกนึกคิด” มากกว่าจะเน้นความไพเราะตามรูปแบบสัมผัสคำเพียงเท่านั้น

ตัวอย่างสองวรรคจากของฟ้าขลิบทองคือ

“ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว”

“เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา”

ทั้งสองวรรคนี้สมบูรณ์ทั้งสัมผัสคำและสัมผัสใจ

“ร่ำเพลง” และ “โลมเรียวข้าว” นี้เป็นสัมผัสใจเพราะแทนที่จะใช้ “ร้องเพลง” และ “กล่อมทุ่งข้าว” แต่คำ “ร่ำ” และคำ “โลม” ให้ความรู้สึกนึกคิดมากกว่านัก

มีคำ “เกี่ยว” คำเดียวแท้ๆ เป็น “สัมผัสคำ “ที่เชื่อมร้อยทำให้คำกวีสองคำนี้มาสัมผัสกันทำให้สมบูรณ์ทั้งสัมผัสคำและสัมผัสใจจริงๆ

“ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว”

คำง่ายๆ ไม่มีศัพท์แสงอะไรเลย แต่นำมาเรียงร้อยกันทำให้ถ้อยคำทั้งวรรคบรรเจิดเฉิดฉายกลายเป็นวรรคกวีที่สมบูรณ์สุด

“เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา” นี่ก็เช่นกันมีสัมผัสคำเชื่อมร้อยเต็มตลาดทั้งวรรคคือ “ข้าว-พราว” “แพร้ว-แนว” แต่คำ “เรืองข้าว” เป็น “คำกวี” ที่ฉายวาวเด่นขึ้นมาทันทีทำให้เห็นภาพรวงข้าวสีทองอร่ามเต็มท้องทุ่งนา ถ้าจะแต่ง “เพื่อรวงข้าวพราวแพร้วทั่วแนวมา” ก็ได้ แต่จืดชืดสิ้นดี

นี่คือคำกวีและวรรคกวีที่ให้ทั้งความไพเราะของถ้อยคำและให้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเต็มที่

 

ขอบฟ้าขลิบทองนอกจากสมบูรณ์ทั้งสัมผัสคำและสัมผัสใจแล้ว เนื้อหาทั้งหมดยังเปี่ยมสมบูรณ์ทั้งการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรมคือสังคมไร่นาที่เป็นปัญหาต่อเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันวันนี้แล้ว ยังยืนสัจธรรมนี้ด้วยคือ

ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน

รางวัลวรรณศิลป์ “อุชเชนี” จึงเป็นรางวัลยิ่งใหญ่ในแวดวงวรรณกรรมไทยสมค่าสมคำกวีที่ว่า

กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม