รักเธอทุก พ.ศ. / ท่าอากาศยานต่างความคิด : อนุสรณ์ ติปยานนท์

ท่าอากาศยานต่างความคิด

อนุสรณ์ ติปยานนท์

[email protected]

 

รักเธอทุก พ.ศ.

 

“พ.ศ.จะเปลี่ยนหมุนเวียนสักกี่สิบครั้ง

ใจฉัน ก็ยัง ก็ยัง ก็ยังรักเธอ”

เพลงๆ หนึ่งดังขึ้นในช่วงขึ้นปีใหม่ มันดังอยู่เช่นนั้นรอบแล้วรอบเล่า จากเย็นถึงค่ำ และจากค่ำถึงรุ่งเช้า ในช่วงค่ำเสียงพลุ เสียงประทัด และอีกหลายเสียงทำให้เพลงดังกล่าวถูกกลบเสียงลงไปบ้าง

แต่ทุกช่วงที่ความเงียบบังเกิดขึ้น เสียงเพลงนี้ก็จะอวดตัวของมันขึ้นเสมอ

ผมเปิดหน้าต่างห้องพักขึ้น ห้องพักที่ผมมาเช่าใช้ทำงานกว่าปีแล้ว ห้องพักที่อยู่ท่ามกลางหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งบนภูเขา

วันคืนในห้องพักเล็กๆ เช่นนี้แทบไม่มีความแตกต่างใดนัก เช้าตื่นขึ้นมาออกเดินรับอากาศเสียบ้างภายใต้ระยะทางที่ไม่มากจนเกินไปนัก

ยามสายคือช่วงเวลาแห่งการดื่มกาแฟและการอ่าน หนังสือหลายเล่มที่หาเวลาอ่านได้ยากเต็มทีถูกนำออกจากชั้นเพื่อการอ่าน วอลเดน ของเฮนรี่ เดวิด โธโร ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม ของจิตร ภูมิศักดิ์ จนถึงดอน กิโฆเต้ แห่งลามันซ่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน หนังสือหนาหนักเช่นนี้ถูกหยิบอ่านและเปิดอ่านอย่างเพลิดเพลิน

การไม่ต้องสัญจรไปไหนเพราะผลจากโรคห่าตำปอดตามที่ชาวบ้านเรียกขานกันทำให้การพำนักของผมอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นไปด้วยความสงบและเรียบง่าย

ดังนั้น วันขึ้นปีใหม่จึงแทบไม่มีความแตกต่างใดต่อผม อาจมีข้อความของคนคุ้นเคยที่ส่งมาสวัสดีปีใหม่ผ่านทางโทรศัพท์มือถือและอีเมล และอาจมีสายโทรศัพท์ที่โทร.โดยตรงจากญาติมิตรและครอบครัว แต่นอกจากนั้นหลายสิ่งไม่มีความแตกต่างออกไป

นักดื่มประจำหมู่บ้านอาจเพิ่มปริมาณการดื่ม หมูและเนื้อจากเขียงอาจถูกจำหน่ายมากกว่าเดิมสำหรับการเฉลิมฉลอง ร้านขายของชำอาจเปิดทำการจนดึกดื่นแทนการปิดลงแต่หัวค่ำ พลุและดอกไม้ไฟอาจถูกวางจำหน่ายแทนการมีเพียงข้าวสารอาหารแห้ง สิ่งเหล่านี้อาจคือความแตกต่างในพื้นที่นี้แต่ก็น้อยจากปกติสามัญเต็มที

สิ่งเดียวที่แตกต่างในวันนี้คือบทเพลงที่ถูกบรรเลงไม่รู้จบเพลงนั้น

 

ราวห้าทุ่ม ใครบางคนที่อยู่บ้านถัดไปก็ลุกขึ้นร้องเพลงนี้ออกลำโพง ผมพบว่าแบตเตอรี่แห้งทรงสี่เหลี่ยมมีคุณประโยชน์อย่างมากในชนบท นอกจากจะใช้ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือในยามจำเป็นได้แล้วมันยังสามารถให้พลังงานกับลำโพงตัวนั้นได้อย่างอัศจรรย์ใจ

เสียงร้องของเขาคู่ขนานไปกับบทเพลงดังกล่าวอย่างกึกก้อง

“พ.ศ.จะเปลี่ยนหมุนเวียนกี่สิบครั้ง

ใจฉัน ก็ยัง ก็ยัง ก็ยังรักเธอ

เลข พ.ศ.เปลี่ยนปีเดือนเคลื่อนไปเสมอ

ใจฉันก็ยังรักเธอไม่เคยแปรเปลี่ยนตาม”

จบเพลง ใครคนนั้นลงนั่ง เสียงตะโกนชนแก้วดังติดตามมา ก่อนจะตามมาด้วยเสียงหัวเราะกึกก้อง “อ้าว ช่วยร้องให้รอบหนึ่งแล้ว พอเถอะ พอได้แล้ว เอาเพลงอื่นบ้าง ก้อง ห้วยไร่ มนต์แคน แก่นคูณ ไมค์ ภิรมย์พร มีตั้งหลายคน ฟังอยู่ได้แต่เพลงเดียว”

คำตะโกนนั่นหมายใจจะไปให้ถึงบ้านที่อยู่ถัดไปอีกไม่ห่างนัก คำตะโกนนั้นน่าจะไปถึงเจ้าของบทเพลง แต่กระนั้นก็ดูไร้ความหมาย เพลง “รักเธอทุก พ.ศ.” ยังคงต่อเนื่องไปและต่อเนื่องไป

 

ผมลุกออกจากโต๊ะทำงาน ออกจากที่พัก หวังใจจะมองหาไปยังที่มาของเพลงให้ถนัดตา ชายหนุ่มกลุ่มดังกล่าวเมื่อมองเห็นผม พวกเขาออกปากเชื้อเชิญให้มาร่วมวง แต่ผมปฏิเสธอย่างสุภาพ การดื่มในคืนส่งท้ายเป็นเรื่องน่าอภิรมย์ แต่ดูจากสถานการณ์มันไม่น่าจบลงในยามเที่ยงคืนแน่นอน

“อย่าไปสนใจมันเลยคุณ มันเปิดของมันทุกปีอย่างนี้แหละคุณ” ใครบางคนที่ผมมองเห็นว่าคุ้นหน้าคุ้นตากันตามตลาดนัดและร้านชำตะโกนบอก “อีแป๋วมันไม่เคยเปลี่ยนเหมือนเพลงที่มันเปิด คนแถวนี้เขารู้กันทั่ว คืนส่งท้ายปี มันจะเปิดแต่เพลงนี้ทุกปี อย่าไปถือมันเลย ยกให้มันวันหนึ่ง”

หลังถ้อยคำนั้น เสียงตะโกนชนแก้วดังขึ้นอีกครั้ง พวกเขากลับไปดื่มกินอย่างต่อเนื่อง ไม่น่ามีอะไรแปลกใจสำหรับพวกเขา แต่สำหรับผมผู้เป็นคนต่างถิ่น ความสงสัยต่อบทเพลงนั้นย่อมไม่อาจผ่านเลยไปได้

 

เช้าเริ่มต้นปี ผมเดินผ่านบ้านหลายหลังในบริเวณนั้นไปยังบ้านของผู้เป็นเจ้าของบทเพลง ขวดสุรา ขวดเบียร์จำนวนมากวางกองอยู่ตามลานโล่งภายในบ้านที่ผมผ่านมา

แต่สำหรับบ้านของผู้เป็นเจ้าของบทเพลงมีแต่เพียงลานหินกรวดขนาดกลางโล่งๆ เท่านั้น ไม่มีขวดเครื่องดื่มมึนเมา ไม่มีต้นไม้ ไม่มีสัตว์เลี้ยง เว้นแต่หน้าต่างบนบ้านที่ถูกเปิดกว้างและอ่างล้างเท้าตรงทางขึ้นบันไดที่เติมน้ำจนเต็มเปี่ยมอันเป็นสัญญาณว่ามีใครบางคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

บทสนทนายามสายกับผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์หมู่บ้านวันนั้นเผยด้านอื่นของแป๋ว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์หมู่บ้านคือพี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยจากหมู่บ้านนี้ไปไหน เกิด เติบโต แต่งงาน มีลูกและหลาน จนกลายเป็นม่ายและอาศัยกับหลานคือรูปแบบชีวิตของเธอ นอกจากการทำไร่มันสำปะหลังตามโอกาสแล้ว งานรับจ้างทุกประเภทคืองานของเธอ และงานเก็บความทรงจำเกี่ยวกับหมู่บ้านแห่งนี้คืองานเกียรติยศที่ไม่เคยมีใครจ้างวาน

“แป๋วหรือคุณ น่าสงสารมันนะ ทนๆ ฟังเพลงมันไปหน่อย ไม่กี่วันหรอก ช่วงนี้เท่านั้น แป๋วมันป่วย มันเป็นโรครัก”

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า “โรครัก” เราอาจอกหัก ตกหลุมรักคนที่ไม่ควรรัก ผิดหวังและเจ็บปวดจากความรัก แต่ความรักคืออารมณ์มิใช่หรือ ไม่ใช่โรครัก

คำคำนี้ทำให้ผมนึกถึงนวนิยาย “โรคแห่งความตาย” ของมาร์การิต ดูราส์ ถ้า “ความตาย” เป็นโรคได้ “ความรัก” ก็ย่อมเป็นโรคได้เช่นกัน

“แป๋วมันเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก มันขยัน เอาการเอางาน มันเรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกับฉันนี่แหละ แต่ห่างชั้นกันพอควร ฉันจบมัธยมแล้วแป๋วมันคงเพิ่งจบประถมต้นกระมัง จบประถมต้นมันก็ตามน้าที่เป็นน้องสาวแม่เข้าไป อย่างไรก็ไม่รู้ มันเรียนได้อีกสักพักน่าจะแค่มัธยมหน่อยๆ มันก็ไปทำงานแล้ว ทำงานโรงงานผ้าแถวพระประแดง ส่งเงินส่งทองมาให้พ่อกับแม่มันจนสร้างบ้านสำเร็จ บ้านหลังที่มันอยู่นั่นแหละ แต่ก่อนเป็นบ้านไม้โย้เย้ก่อติดดิน มันก็ทำจนกลายเป็นชั้นเดียวยกใต้ถุนจนได้ น้ำพักน้ำแรงของมันทั้งหมดเลยเทียว”

“แล้วพ่อกับแม่เขาหายไปไหนหมด ผมผ่านไปเมื่อเช้าบ้านช่องเงียบสงบเหมือนไม่มีคนอยู่”

“ตายหมดสิคุณ มันทำงานจนซื้อรถกระบะให้พ่อแม่ได้ และไอ้รถกระบะนี่แหละที่เอาพ่อแม่ของมันไปตาย พ่อขับรถพาแม่จะไปเยี่ยมมันช่วงปีใหม่ช่วงแบบนี้แหละ รถประสานงาตรงเลยสระบุรีมาหน่อย คาที่ทั้งสองคน โธ่เอ๋ย เรื่องหลายปีแล้ว แต่พูดขึ้นมาก็เศร้าไม่ได้”

นักประวัติศาสตร์หมู่บ้านถอนใจ

 

“พอเกิดเหตุ แป๋วมันก็เลยประกาศขายบ้าน แต่คนเขาก็กลัวกันเลยไม่มีใครซื้อ แป๋วมันก็ไม่เดือดร้อน อยากกลัวก็กลัวไป มันก็ไม่แคร์ เก็บไว้อยู่เองจะทำไมมี และตอนนั้นแหละหลังจากที่จัดงานให้พ่อกับแม่มันก็ไปเจอคนรักเข้า เขาเป็นญาติห่างๆ กับคนชน มาช่วยงานเลยได้รู้จักกัน ไปถูกใจกันอย่างไรไม่ทราบ ก็เลยแต่งงานกันหลังจากนั้น เสียคนรักแบบหนึ่งไปก็ได้คนรักอีกแบบมาแทน”

“แล้วเขาย้ายกลับมาที่นี่หรืออย่างไร?”

“ไม่สิคุณ แฟนแป๋วมันคนกรุง เขามีแต่จะเอามันไปอยู่ด้วย มันหน้าตาดีอยู่นะ แม้มันจะไม่ค่อยออกมาให้ใครเจอก็ตาม มันก็เลยไปอยู่กับสามีมัน แต่งเข้าบ้านผู้ชายว่างั้น เขาก็คนมีฐานะอยากให้มันออกมาดูแลแต่แป๋วไม่ยอมออกจากงาน ไม่รู้มันรักอะไรนักหนาไอ้งานโรงงานนี่ ก็ขอทำต่อ ทะเลาะกันจะเป็นจะตาย แต่มันก็ไม่อ่อนข้อให้เขา นี่ตอนมันยังดีๆ อยู่นะที่มันเล่าให้ฟัง”

“ยังดีๆ อยู่?” ผมทวนคำ

“ใช่สิคุณ นี่ละตอนสำคัญแล้ว แต่งงานอยู่กินกันจนได้ลูกสาวคนหนึ่ง วันหยุดช่วงปีใหม่ปีหนึ่งลูกสาวอยากไปเที่ยวทะเล ไม่ไกลหรอกบางปูแถวบ้าน คนรักแป๋วชวนให้ลางานไปด้วยกัน แป๋วมันก็ไม่ไปบอกงานเร่งต้องทำโอที คนเป็นผัวเลยอุ้มลูกขึ้นรถขับไปทะเลกันสองคน โธ่เอ๋ย ชนโครมเข้ากับรถบรรทุกตรงแถบนั้นอีกเหมือนกัน ไม่เหลือ ครานี้แป๋วมันช็อกไปเลย เขาเล่ากันว่าหลังจัดงานเสร็จมันยังไปทำงาน แต่ไม่พูดไม่จากับใครอีกเลยนับจากนั้น มันออกจากบ้านผู้ชายมาเช่าห้องอยู่คนเดียว และก็เป็นแบบนี้แหละ แบบที่คุณเห็น ทุกวันสิ้นปีมันจะกลับมาบ้าน ไม่พูดไม่จากับใคร เก็บตัวอยู่บนบ้านและเปิดไอ้เพลงนี้ ‘รักเธอทุก พ.ศ.’ วนไปวนมาจนหมดมื้อหมดคืน ปีแล้วปีเล่า จนคนแถวนี้เขารู้กันหมด ถึงไม่มีใครแปลกใจ ที่นี่นอกจากจะมีเสียงพลุรับปีใหม่แล้ว ก็ต้องมีเสียงเพลงจากดีเจแป๋วด้วย แต่เปิดอยู่เพลงเดียวนะ เพลงอื่นเปิดไม่เป็น”

“คนเป็นโรครักก็แบบนี้ รักษาไม่หายจนกว่าจะตายจากกันไป”

 

เย็นย่ำวันนั้น เมื่อความมืดเข้ามา ไม่นานนักเสียงเพลง “รักเธอทุก พ.ศ.” ก็ดังขึ้น ในคืนนี้ ความแปลกใจที่ผมมีต่อบทเพลงนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว มีแต่ความหดหู่และวังเวงใจ และในชนบทที่ไม่มีอะไรรื่นเริงบ่อยนัก ความวังเวงใจจะส่งผลของมันเป็นจำนวนทบทวี บทเพลงที่บรรเลงซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้ของ “แป๋ว” ดำเนินไปจนกระทั่งวันหยุดปีใหม่หมดลง เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากคืนที่ปราศจากบทเพลง ผมเดินไปที่บ้านของแป๋ว ไม่มีร่องรอยของผู้คนที่นั่นอีกต่อไป หน้าต่างทุกบานถูกปิดสนิท บานประตูตรงทางขึ้นบ้านถูกปิดลงกลอน แม้กระทั่งน้ำในอ่างล่างเท้าทางขึ้นบันไดก็พร่องไปกว่าครึ่ง แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ถูกเติมเต็มอีกต่อไป

แป๋วจากไปแล้วพร้อมบทเพลง “รักเธอทุก พ.ศ.” แป๋วจากไปแล้วพร้อมกับ “โรครัก” ที่ใครหลายต่อหลายคนลงความเห็นว่าเธอเป็นโรคนั้น แป๋วจากไปแล้วพร้อมกับเรื่องราวที่ทุกคนกล่าวถึงเธอ อีกสามร้อยกว่าวัน ปีใหม่อีกปีจึงจะมาถึง ปีพุทธศักราชใหม่อีกปีจึงจะมาถึง และถึงช่วงเวลานั้นเองที่แป๋วคงได้กลับมาพร้อมกับบทเพลงของเธอ

บทเพลงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

“พ.ศ.จะเปลี่ยนก็ช่าง พ.ศ.

ใจฉันยังรอ ยังรอ ยังรอฝันใฝ่

เลข พ.ศ.เปลี่ยน ปีเดือนจะเคลื่อนผ่านไป

ช่าง พ.ศ.มันเป็นไร”