วงจรชีวิต 1 ปีที่น่าทึ่งของ “ดาวคะนอง” 45 เทศกาล 31 ประเทศ! หลายรางวัลระดับนานาชาติ : คนมองหนัง

คนมองหนัง

แฟนหนังไทยคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ดาวคะนอง” ภาพยนตร์กึ่งทดลองที่มีเนื้อหาพาดพิงประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ผลงานการกำกับฯ ของ “อโนชา สุวิชากรพงศ์” นั้น สามารถกวาดรางวัลสำคัญๆ ไปได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากเวทีการประกวดหลักภายในประเทศ

รูปธรรมที่ชัดเจน คือ หนังไทยเรื่องนี้ได้รับรางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากเกือบทุกสถาบันหลัก ยกเว้น “สตาร์พิคส์ ไทยฟิล์ม อวอร์ดส์” ที่รางวัลสาขาดังกล่าวตกเป็นของ “มหาสมุทรและสุสาน” โดย “พิมพกา โตวิระ”

หากพูดถึงการเข้าฉายเชิงพาณิชย์ (แบบจำกัดโรง) “ดาวคะนอง” ก็ได้ลงโรงฉายทั้งในประเทศไทย, สหรัฐอเมริกา รวมถึงสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์

อีกจุดที่น่ากล่าวถึงเป็นอย่างยิ่ง คือ วงจรชีวิตอันน่าทึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติของหนังไทยเรื่องนี้

ซึ่งกลายเป็นว่าหนังที่มีเนื้อหาซับซ้อนคลุมเครือจนเปิดกว้างแก่การตีความอย่าง “ดาวคะนอง” กลับเดินทางไปได้ดีและไกลทีเดียวในเทศกาลต่างประเทศ

หนังเรื่องล่าสุดของอโนชาได้ฉายรอบปฐมทัศน์โลก ที่เทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2559

หนึ่งปีผ่านไป หนังเรื่องนี้ออกตะลุยเทศกาลรวมแล้ว 45 งาน ใน 31 ประเทศ!

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “ดาวคะนอง By the Time It Gets Dark” ได้รวบรวมรายชื่อเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั้งหมด ที่คัดเลือก “ดาวคะนอง” ไปร่วมฉาย/ประกวด ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

จะเป็นที่ไหนบ้าง? ไปดูกัน

1.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, 2.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ประเทศแคนาดา, 3.เทศกาลภาพยนตร์ฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี, 4.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา, 5.เทศกาลภาพยนตร์บีเอฟไอลอนดอน สหราชอาณาจักร

6.เทศกาลดู นูโว ซีเนม่า (มอนทรีออล) ประเทศแคนาดา, 7.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้, 8.เทศกาลคิวซีเนม่า (มะนิลา) ประเทศฟิลิปปินส์, 9.เทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งฮ่องกง, 10.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวียนนา ประเทศออสเตรีย

11.เทศกาลภาพยนตร์เอเชียตะวันออกแห่งลอนดอน สหราชอาณาจักร, 12.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซมินชี-บายาโดลิด ประเทศสเปน, 13.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเทสซาโลนีกี ประเทศกรีซ, 14.เทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำแห่งไต้หวัน, 15.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาร์ เดล พลาตา ประเทศอาร์เจนตินา

16. เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งอินเดีย (จัดที่รัฐกัว), 17.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์, 18.เทศกาลภาพยนตร์โกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน, 19.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบงกาลูรู ประเทศอินเดีย, 20.เทศกาลภาพยนตร์อิสระแห่งอิสตันบูล ประเทศตุรกี

21.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของมหาวิทยาลัยอัตตาณัติแห่งชาติ ประเทศเม็กซิโก, 22.เทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น, 23.เทศกาลภาพยนตร์คอสโมรามา ประเทศนอร์เวย์, 24.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกัมพูชา, 25.เทศกาลนิว ไดเร็ตเตอร์ส/นิว ฟิล์มส์ (นิวยอร์ก) ประเทศสหรัฐอเมริกา

26. เทศกาลภาพยนตร์บอร์เดอร์ไลน์ส สหราชอาณาจักร, 27.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก, 28.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติลิชเตอร์ (แฟรงก์เฟิร์ต) ประเทศเยอรมนี, 29.เทศกาลภาพยนตร์วัน เวิลด์ เวลส์ สหราชอาณาจักร, 30.เทศกาลภาพยนตร์เบลฟาสต์ (ไอร์แลนด์เหนือ) สหราชอาณาจักร

31. เทศกาลภาพยนตร์ลุคคา ประเทศอิตาลี, 32.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา, 33.เทศกาลภาพยนตร์เซนต์พอล มินนีแอโพลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา, 34.เทศกาลภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิกแห่งลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา, 35.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา

36. เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย, 37.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เอล พาโลมาร์ ประเทศอาร์เจนตินา, 38.เทศกาลผู้กำกับภาพยนตร์อิสระแห่งฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา, 39.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทรานซิลเวเนีย ประเทศโรมาเนีย, 40.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคูริติบา ประเทศบราซิล

41.เทศกาลภาพยนตร์ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย, 42.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย, 43.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเฟิร์สต์ เมืองซีหนิง ประเทศจีน, 44.เทศกาลภาพยนตร์นิว ฮอไรซอนส์ ประเทศโปแลนด์, 45.เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ยิ่งกว่านั้น “ดาวคะนอง” ยังได้รับรางวัลจำนวนหนึ่งมาจากการออกตระเวนฉายตามเทศกาลต่างๆ ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (นิว ทาเลนต์ อวอร์ด) จากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งฮ่องกง, รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์ลุคคา ประเทศอิตาลี

รางวัลชมเชยจากเทศกาลคิวซีเนม่า ประเทศฟิลิปปินส์, รางวัลชมเชยจากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และรางวัลแกรนด์ จูรี่ ไพรซ์ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเฟิร์สต์ เมืองซีหนิง ประเทศจีน

ขณะเดียวกัน หนังไทยเรื่องนี้ยังถูกนำไปจัดฉายในพื้นที่อื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์, มหาวิทยาลัย และสถานที่ฉายภาพยนตร์ทางเลือกต่างๆ ซึ่งมิได้มีสถานะเป็นโรงภาพยนตร์หรือเทศกาลภาพยนตร์แบบทางการ

ถือว่าในช่วง 1-2 ปีหลัง “ดาวคะนอง” น่าจะเป็นหนังไทยซึ่งออกเดินสายตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติชุกที่สุด