พลเมือง คือ ผู้ปกป้องชาติ : จินตภาพเมืองไทยในยามศึก ของนักเรียนเตรียมอุดมฯ/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

พลเมือง คือ ผู้ปกป้องชาติ

: จินตภาพเมืองไทยในยามศึก

ของนักเรียนเตรียมอุดมฯ

 

“กิจการใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชาติของเราแล้ว ย่อมเป็นงานอันยิ่งใหญ่ เหลือความสามารถของรัฐบาลที่จะดำเนินต่อไปจนเป็นผลสำเร็จโดยปราศจากความช่วยเหลือส่งเสริมของพลเมืองแห่งชาติ…”

(น.ส.สวาท สุนทรกิติ, 2484)

 

“โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ถูกตั้งขึ้นในปี 2480 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น เปิดสอนในปี 2481

และเพียง 3 ปีหลังการก่อตั้ง นักเรียนเตรียมอุดมฯ คว้ารางวัลเรียงความชนะเลิศในการประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2484 ได้

ท่ามกลางบรรยากาศของต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คุกรุ่น คนหนุ่มสาวสมัยนั้นมีความคิดทางการเมืองและจินตภาพถึงเมืองไทยอย่างไร หนทางหนึ่งในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอดีต คือ การอ่านงานเขียนของพวกเขาและเธอที่สะท้อนความคิดร่วมสมัยออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง

รัฐบาลในระบอบประชาปไตยได้เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิดให้กับเยาวชนด้วยการจัดประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ ในระดับมัธยมและอุดมศึกษาขึ้น

นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา รวมตัวจัดกิจกรรมชูกระดาษ A4 เปล่า เมื่อสิงหาคม 2563

คณะกรรมการตัดสิน ประจำปี 2484 ประกอบด้วย เดือน บุนนาค หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ พระยาอนุมานราชธน พระราชธรรมนิเทศ พระสารประเสริฐ วิจิตร ลุลิตานนท์ หลวงสุจิตรภารพิทยา เชื้อ พิทักษากร สมประสงค์ หงสนันท์ และอำพัน ตัณฑวรระนะ เลขานุการ จำนง รังสกุล และนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ช่วยเลขานุการ

หัวข้อการประกวดในระดับมัธยมและเตรียมอุดม คือ “พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ช่วยเหลือการป้องกันประเทศชาติอย่างไร”

ผู้ส่งเรียงความประกวดจำนวน 245 คน ในจำนวนนั้นคือ น.ส.สวาท สุนทรกิติ อายุ 16 ปี นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกเตรียมแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1

ทั้งนี้ กระแสความรู้สึกชาตินิยมก่อตัวอย่างชัดเจนภายหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อประชาชนมั่นใจในความก้าวหน้าของสังคมมากกว่าเดิม

อันเห็นจากในช่วงปลายปี 2483 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งประชาชนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องให้ไทยเรียกดินแดนคืนจากฝรั่งเศสจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เมื่อครั้งระบอบเก่า

รวมทั้งนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้เป็นผลผลิตจากสมัยสร้างชาติร่วมเดินขบวนด้วย คณาจารย์ชายหญิงต่างสมัครเข้าช่วยราชการทหารและอาสากาชาด ส่วนนักเรียนช่วยกันห่อถุงของขวัญส่งไปให้ทหารที่ปฏิบัติการในสนามรบ ในช่วงเวลานั้น วิทยุกระจายเสียงเปิดเพลงปลุกใจอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุดการพิพาทเกิดขึ้น เมื่อฝรั่งเศสส่งเครื่องบินเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม มีประชาชนไทยได้รับบาดเจ็บ ในที่สุด รัฐบาลไทยตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในอินโดจีน

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในเวลานั้นยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท ในที่สุดไทยกับฝรั่งเศสลงนามในอนุสัญญาโตเกียวเมื่อ 9 พฤษภาคม 2484 ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส

ด้วยบริบทดังกล่าวจึงมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนเตรียมอุดมฯ สมัยสร้างชาติด้วย

ชาติ คือ หัวใจ

น.ส.สวาท นักเรียนแผนกเตรียมแพทย์ชั้นปีที่ 1 เริ่มต้นเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญว่า

“วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2484 นี้ นับเป็นวันที่เตือนใจชาวไทยทั้งมวลให้ระลึกถึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของเราที่ได้มาบรรจบครบรอบปีที่ 9 อันเป็นผลที่ทำให้ไทยทั้งชาติเริ่มตื่นตัวจากความนิ่งนอนใจมาเป็นชาติไทยที่เจริญด้วยอารยธรรมและวัฒนธรรมทัดเทียมนานาชาติทั่วโลก ตลอดจนมีความสามัคคีพร้อมเพรียงในการรีบเร่งสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองมีแสนยานุภาพอันเข้มแข็ง…”

จากข้อเขียนของเธอข้างต้นสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัย ดังที่จอมพล ป. แสดงออกเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลพระยาพหลฯ ว่า “ในช่วงเวลา 150 ปีแล้วมา การทหารเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากมีปืนเล็ก ปืนกลสัก 200-300 กระบอก มีเครื่องบินที่ปราศจากอาวุธในการต่อสู้ทางอากาศอยู่เล็กน้อย มีเรือรบที่เก่าพ้นสมัยอยู่ 4-5 ลำ เท่านี้” (กรุงเทพฯ วารศัพท์, 27 มิถุนายน 2477)

เธอกล่าวถึงสิ่งที่พบเห็นในระบอบประชาธิปไตยว่า “ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบนี้จะได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาอันสั้น ก็ยังสามารถทำให้ประเทศชาติของเราก้าวหน้าจากเดิมเป็นอันมาก ทั้งยังเปลี่ยนแปลงกิจการตลอดจนจิตใจของชาติให้ทันเวลาและเหมาะสมกับเหตุการณ์ของโลก…นับเป็นต้นเค้าของความมั่นคงของชาติ”

เธอวิเคราะห์ต่อไปว่า “สถานการณ์โลกในขณะนั้น แต่ละชาติต่างทะนงตนว่าเหนือกว่าชาติอื่น มีการทำให้ชาติอื่นอ่อนแอลง ประเทศใดอ่อนแอก็ศูนย์เสียเอกราชไป แม้นไทยเป็นประเทศรักษาสงบ ก็ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลและประชากรจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นเอกฉันท์ในกิจการทุกอย่างเพื่อนำชาติของเราให้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งมวลไปได้”

ยุวนารีและความเรียงชนะเลิศ ปี 2484

ประชาชน คือ ผู้ปกป้องชาติ

สําหรับเธอผู้เป็นเยาวชนสมัยสร้างชาติ มีสำนึกถึงประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศและจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทั้งปวงว่า “กิจการใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชาติของเราแล้ว ย่อมเป็นงานอันยิ่งใหญ่ เหลือความสามารถของรัฐบาลที่จะดำเนินต่อไปจนเป็นผลสำเร็จโดยปราศจากความช่วยเหลือส่งเสริมของพลเมืองแห่งชาติ…”

โดยรัฐบาลทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาค้าขายแทนคนต่างด้าว และพยายามปรับเปลี่ยนค่านิยมให้คนไทยมีความกระตือรือร้น และนิยมไทย ตลอดจนสร้างนิคมสร้างตนเอง ส่งเสริมการเพาะปลูกเพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอไม่ขาดแคลนอาหารในยามที่อาจเกิดสงครามขึ้น

เธอเห็นว่า ประชาชนมีหน้าที่ในการปกป้องประเทศทั้งในยามสงบและยามสงคราม รัฐบาลขณะนั้นได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่คับขันยิ่ง ด้วยการให้ตรา พ.ร.บ.กำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ 2484 ที่กำหนดให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ ร่วมต่อสู้กับข้าศึก ขัดขวางข้าศึก

ยุวชนทหารและความสำคัญของชาติ

สำหรับหน้าที่ในยามสงบ เช่น การสร้างชาติ ปรับปรุงวัฒนธรรม และรักชาติ เข้าฝึกฝนการซ้อมการป้องกันภัยทางอากาศ การซ้อมรบ เมื่อชาติมีภัย พลเมืองทั้งหลายจะช่วยกันปกป้องชาติจากภยันตราย เธอเรียกร้องให้ “พี่น้องชาวไทยจงมีความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งความคิดและการกระทำว่า เราจะต่อสู้ป้องกันประเทศชาติของเราจนถึงที่สุด…ถึงแม้ว่าเรามิได้เป็นประเทศมหาอำนาจอันแท้จริงก็ตาม เราทั้งชาติก็เตรียมพร้อมอยู่เสมอ…”

สวาทเห็นว่า การปกป้องชาติประกอบด้วย การสร้างชาติ สร้างวัฒนธรรม สร้างเศรษฐกิจ การป้องกันการจารกรรม ทั้งหมดนี้คือ ภารกิจหน้าที่ของพลเมือง เธอเห็นว่า “อันความรักชาตินั้นมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาย่อมมีด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งเลือดรักชาติของคนไทยด้วยแล้วก็ยิ่งรุนแรงและมั่นคง”

ดังนั้น ในสายตาของเธอนั้น ชาติเหนือสิ่งอื่นใด ชาติคือผลรวมของประชาชน ประชาชนคือผู้สร้างและปกป้องชาติให้ก้าวหน้าและอยู่รอดปลอดภัย ความอยู่รอดปลอดภัยของชาติล้วนเกิดขึ้นจากประชาชนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม งานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2484 ที่จะเปิดในวันที่ 8 ธันวาคมนั้นมิได้เปิดงานขึ้นได้เนื่องจากเช้าตรู่ของวันที่ 8 กองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ชายแดนไทยในหลายจังหวัด งานเฉลิมฉลองสำคัญประจำปีจึงต้องยุติลง สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับเพลิงสงครามต่อไป

สุดท้ายนี้ ชีวิตของ น.ส.สวาทหลังจบโรงเรียนเตรียมอุดมฯ แล้ว เธอเข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

เธอมีผลงานวิชาการที่สืบค้นได้คือ “การศึกษาสรีรวิทยาในคนไทย 1 อัตราชีพจร อัตราหายใจและอุณหภูมิร่างกายในภาวะซัล” (2492)

ต่อมา เธอเข้ารับราชการในหน่วยงานของกองทัพ เธอทำงานที่สถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี (2514) และเธอมียศพันตรีหญิง (2517) นี่คือเรื่องราวของเยาวชนไทยสมัยสร้างชาติคนนี้ที่สืบค้นได้

กล่าวโดยสรุป เรียงความฉลองรัฐธรรมนูญชิ้นนี้สะท้อนถึงจินตภาพเมืองไทยในยามศึกของเยาวชนในครั้งนั้นอันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกชาตินิยมที่เกิดขึ้นจากมั่นใจในความก้าวหน้าของชาติ ชาติสำคัญสูงสุด และความสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศของพลเมือง ผนวกกับบริบทของความขัดแย้งที่รายล้อมประเทศไทยและในระดับสากล นี่คือความคิดทางการเมืองของเยาวชนไทยสมัยสร้างชาติ

ยุวนารี ฝึกซ้อมการรับมือภัยทางกาศ