กองทัพไทย 2565 : ทวนกระแสน้ำหลาก! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“นักยุทธศาสตร์ต้องเข้าใจมากกว่าเรื่องของอาวุธและการดำเนินกลยุทธ์ในสนามรบ”

Thomas Kane (2013)

ปี 2565 จะเป็นอีกวาระหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการถกแถลงเรื่องบทบาทของ “กองทัพกับสังคมไทย”

เพราะในด้านหนึ่งกองทัพเองตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมาตลอด

และในอีกด้าน สังคมในยามวิกฤตดูจะมีมุมมองที่ไม่ตอบรับกับทัศนะของผู้นำทหารเท่าใดนัก ซึ่งหากจะพิจารณาจากปีที่ผ่านๆ มาแล้ว จึงเสมือนผู้นำทหารไทยกำลัง “ว่ายทวนน้ำหลาก” และความเห็นจากภาคสังคมน่าจะเป็น “กระแสน้ำที่เชี่ยวกราก” มากขึ้นในปีใหม่

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสถานการณ์ในปีใหม่แล้ว ผู้นำกองทัพไทยอาจจะเป็นดังการว่ายทวน “กระแสน้ำสี่สาย” ได้แก่

 

แม่น้ำสายแรก : วงจรอำนาจ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราคงต้องยอมรับความจริงว่าทหารจะยังคงอยู่ในการเมืองไทยต่อไป

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทบาททหารที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหาร ซึ่งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี การเมืองไทยต้องเผชิญกับรัฐประหารถึงสองครั้ง ในปี 2549 และ 2557 อันส่งผลอย่างมากต่อบทบาทของทหารในการเมืองไทย

และแม้จะเกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2562 แต่ก็เป็นเพียงการสืบทอดอำนาจ ที่การเลือกตั้งถูกใช้เพื่อเปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลในอีกวาระหนึ่ง

ซึ่ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ที่เกิดขึ้น ยังคงต้องพึ่งพาอำนาจทางการเมืองของกองทัพ และทำให้บทบาททางการเมืองของทหารกลายเป็น “ภาระตกทอด” ที่แม้จะมีการเปลี่ยนผู้นำทหารในกองทัพอย่างไร แต่ผู้นำใหม่ก็ยังคงรักษาบทบาททางการเมืองของทหารไว้ต่อไป

จนกองทัพเป็นหนึ่งใน “ตำบลกระสุนตก” ทางการเมือง แม้ผู้นำทหารจะสร้างชุดของคำอธิบายเช่นไรก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้สังคมที่มีความเห็นต่างคล้อยตามไปด้วยแต่อย่างใด

แน่นอนว่าการมีอำนาจทางการเมืองจนมีสภาพเหมือนกองทัพตกอยู่ใน “วงจรอำนาจ” ที่ถอนตัวไม่ขึ้น

สภาวะเช่นนี้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมาโดยตลอด แม้จะมีการสร้างความเชื่อแบบสุดโต่งในหมู่นายทหารบางส่วนเช่นในแบบของยุคสงครามเย็นว่า ทหารจะต้องเข้ามาเป็น “ผู้พิทักษ์” ทางการเมือง และเพื่อควบคุมระบบการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้นำทหารต้องการ

ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เกิดจากปัญหาความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็น “มรดกทางความคิด” ที่ตกทอดมาอย่างยาวนานในกองทัพไทย

แต่แม้ในภาวะปัจจุบันที่ผ่านพ้นการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นมานานพอสมควรแล้ว ผู้นำทหารบางส่วนยังอยู่ภายใต้จินตนาการเดิมที่เชื่อว่า หากปล่อยการเมืองให้การเมืองไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ผลที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อกองทัพในอนาคตได้

ดังนั้น กองทัพยังต้องดำรงการมีบทบาททางการเมืองไว้ต่อไป ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อการจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการที่กองทัพพาตัวเองเข้าไปผูกติดอยู่กับรัฐบาลอย่างแยกไม่ออก อันทำให้เกิดคำถามในเชิงบทบาทว่า กองทัพเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งชาติ” หรือกองทัพเป็นเพียง “ไม้ค้ำยันรัฐบาล” คือเป็น “ผู้พิทักษ์รัฐบาล”

บทบาททางการเมืองของกองทัพ (ไม่ว่าจะเป็นในแบบเปิดหรือปิด) จะยังคงเป็นความท้าทายต่อไปในปี 2565 อีกทั้งฝ่ายเสรีนิยมที่ไม่ตอบรับการรัฐประหาร มักถือว่าการมีอำนาจของทหารในการเมืองเป็นประเด็นสำคัญ อันทำให้ปีใหม่จะยังคงมีเสียงเรียกร้องตามมาถึงการ “ปฏิรูปกองทัพ” และเสียงที่ต้องการเห็นกองทัพลดบทบาททางการเมืองลง

แม้ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะออกมาแถลงว่า “บทบาททหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง…” (แถลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564) แต่ก็เป็นเพียงถ้อยแถลงที่อาจจะสวนทางกับความเป็นจริงที่สังคมรับรู้ เพราะทหารไทยในความเป็นจริงถูกทำให้เป็น “ทหารการเมือง” ไปแล้ว

คำแถลงของผู้นำทหารในทิศทางเช่นนี้จึงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะส่งผลในทางปฏิบัติ

 

แม่น้ำสายสอง : วังวนอาวุธ

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลอย่างสำคัญในบริบทของ “เศรษฐกิจการป้องกันประเทศ” (defense economy) เพราะหลังการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกลายเป็น “นาทีทอง” ของการจัดซื้ออาวุธอย่างเห็นได้ชัด

เนื่องจากการจัดซื้อในระบบการเมืองแบบรัฐสภานั้น อาจถูกตรวจสอบโดยพรรคฝ่ายค้าน จนอาจกลายเป็นปัญหากับกองทัพได้

แต่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร การจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นเรื่องง่ายดาย และสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการของผู้นำทหาร โดยไม่มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงความโปร่งใส และไม่ต้องหนักใจกับการถูกตรวจสอบจากภาคประชาสังคม อีกทั้งไม่ต้องห่วงกับคำวิจารณ์ใดๆ

จนเกิดเป็นภาพลักษณ์ว่าทหารอยากซื้ออาวุธอะไร ก็ไม่มีใครขัดขวางได้ หรือเป็นภาวะ “ช่างมัน ฉันไม่แคร์!” เพราะจะซื้อให้ได้

การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ด้านหนึ่งสังคมกำลังเผชิญกับโรคระบาดขนาดใหญ่อย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 การเดินทางสู่ปีใหม่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าการระบาดจะยุติลง

จึงไม่แปลกที่สังคมอยากเห็นการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อตอบสนองต่อสวัสดิการของประชาชน มากกว่านำไปใช้เพื่อซื้ออาวุธ

ในอีกด้านหนึ่งสังคมไทยเองไม่ได้เผชิญกับภัยคุกคามทางทหารเช่นในยุคสงครามเย็น ความรู้สึกถึงความจำเป็นในการต้องมีอาวุธใหม่จึงไม่มี แต่ผู้นำทหารไทยมักจะตกอยู่ใน “วังวนอาวุธ” และเห็นกองทัพในมิติของการมีอาวุธใหม่เป็นด้านหลัก จนเสมือนกองทัพไทยเดินออกจากวังวนนี้ไม่ได้ และอาจไม่อยากออกด้วย

แม้ผู้นำทหารจะพยายามสร้างวาทกรรมเพื่อให้สังคมตอบรับการจัดซื้อที่เกิดขึ้น ดังเช่นคำกล่าวของ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนอความเห็นต่อความต้องการซื้อเครื่องบินรบแบบเอฟ-35 ว่า “ผมยังเชื่อว่าทัวร์จะไม่ลง เพราะผู้ที่เข้าใจจะสนับสนุนทันที เพราะ ทอ.ไม่ได้ซื้ออาวุธ แต่ซื้อเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน…” (แถลง 31 ธันวาคม 2564)

น่าสนใจว่าสังคมจะตอบรับกับวาทกรรมของการเตรียมการจัดซื้ออาวุธครั้งนี้เพียงใด

โดยเฉพาะในยามที่สังคมต้องการเห็นการใช้งบประมาณทางด้านสวัสดิการสังคม มากกว่าจะเห็นด้วยกับการจัดซื้ออาวุธที่มีมูลค่าสูงของรัฐบาล

แม้จะมีการเสนอเพิ่มเติมอีกว่า “เรา [ทหาร] ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เสี่ยงชีวิตใช้เครื่องมือเพื่อปกป้องท่าน” แต่ดูเหมือนในยามนี้ สังคมดูจะเห็นสวนทางอย่างมาก และไม่เห็นว่าใครจะเป็นข้าศึกที่มีศักยภาพ เพราะข้าศึกที่คุกคามไทยอย่างหนักคือโรคระบาด

โดยเฉพาะการเริ่มต้นปีใหม่กลายเป็นการเริ่มต้นของการระบาดใหม่ของโอมิครอน อันทำให้สังคมมองไม่เห็นว่า การจัดซื้ออาวุธจะมีความจำเป็นในขณะนี้

แม่น้ำสายสาม : วิวาทะข่าวสาร

การขยายบทบาททางการเมืองของกองทัพจากรัฐประหารทั้งสองครั้ง และขยายต่อเนื่องในการเมืองปัจจุบันด้วยการเปิด “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (งาน ปจว.) เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายทหาร

งาน ปจว. เป็นมรดกสำคัญและเป็นความเชี่ยวชาญของทหารที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์

ปฏิบัติการเช่นนี้ในโลกปัจจุบันถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ ที่กิจกรรมทางด้านข่าวสารถูกนำไปไว้ในโลกโซเชียล

การมีบทบาททางเมืองของทหารจึงมีการนำเอางาน ปจว. มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเพื่อให้สอดรับกับโลกออนไลน์

ปฏิบัติการเช่นนี้จึงถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ปฏิบัติการ “ไอโอ” (IO) และอาจรวมไปถึงการสร้างข้อมูลที่อาจเข้าข่ายเป็น “เฟกนิวส์” เผยแพร่ในเวทีสาธารณะอีกด้วย

แต่ปฏิบัติการเช่นนี้ถูก “เปิดโปง” อย่างมากจากโลกภายนอก และชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทเบื้องหลังของฝ่ายกองทัพในเรื่องดังกล่าว หรืออาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่าเป็น “บทบาททางการเมืองของทหารในโลกไซเบอร์”

บทบาทในส่วนนี้ก่อให้เกิด “วิวาทะข่าวสาร” เพราะเป็นบทบาทที่ทหารแทรกตัวอยู่หลังฉาก แตกต่างจากบทบาทเปิดที่เห็นได้ชัดเจน

ถ้าเช่นนั้น กองทัพจะยังดำรงปฏิบัติการข่าวสารในปีใหม่ต่อไปอย่างไร

อีกทั้งถ้ากองทัพยังเดินหน้าต่อไปกับบทบาทเช่นนี้ กองทัพจะยิ่งต้องเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น จนอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันทหารในอนาคต

นอกจากนี้ กองทัพอาจจะต้องยอมรับว่า การปกปิดตัวตนในภารกิจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง “สายสืบไซเบอร์” จากภาคประชาสังคมมักจะสามารถเข้ามาตรวจสอบติดตามได้เสมอ และกลายเป็นปัจจัยบั่นทอนความน่าเชื่อถือของผู้นำทหารในอีกแบบ

อีกทั้งปฏิบัติการนี้เป็นการยืนยันความเป็นตัวตนของฝ่ายทหาร ที่ยังต้องการมีบทบาททางการเมืองแบบ “ผู้พิทักษ์” ต่อไป

แม่น้ำสายสี่ : วิกฤตศรัทธา

ในท่ามกลางวิกฤตที่รุมเร้าสังคมไทย อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 นั้น สภาวะเช่นนี้มีผลอย่างมากต่อสถานะของรัฐบาลและต่อสถานะของกองทัพด้วย

ในวิกฤตเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าสังคมมองสวนทางกับผู้นำทหารในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้งบประมาณทหาร การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ซึ่งมีการใช้งบประมาณเป็นมูลค่าสูงในขณะที่สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด และภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมเกิดมุมมองเชิงลบกับกองทัพ และนำเอาอาวุธที่จัดซื้อมาล้อเลียนเป็นเรื่องตลกในโลกโซเชียล ตลอดรวมทั้งการล้อเลียนผู้นำกองทัพ และผู้นำรัฐบาลที่มาจากทหาร

จนต้องยอมรับว่าพวกเขาเหล่านั้นกลายเป็น “ตัวตลก” ทางการเมืองในโลกโซเชียลอย่างน่าขบขัน

และสะท้อนถึงการที่สถานะของกองทัพไม่ได้รับความ “ศรัทธา” จากสังคม อีกทั้งสังคมไม่เห็นบทบาทของกองทัพอย่างที่ควรจะเป็น และหลายครั้งที่สังคมเห็นกองทัพเป็น “ฝ่ายตรงข้าม”

นอกจากนี้ เรื่องของความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นภายในกองทัพ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของ “เสนาพาณิชยนิยม” (military commercialism) ที่เกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์ของนายทหารระดับบน และกลายเป็นภาพลักษณ์ของการเอาเปรียบในทางธุรกิจต่อนายทหารระดับล่างและทหารชั้นประทวน และยังรวมถึงอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในเชิงลบ เช่น การเกณฑ์ทหาร หรือผลประโยชน์จากการจัดซื้ออาวุธ เป็นต้น

จนอาจเรียกได้ว่ากองทัพกำลังเผชิญกับ “วิกฤตศรัทธา” ครั้งใหญ่ และยังก่อให้เกิด “กระแสต่อต้านทหาร” ในสังคมไทยอีกด้วย

อนาคต 2565

โจทย์ “แม่น้ำสี่สาย” เป็นความท้าทายที่สำคัญต่อสถาบันกองทัพ และต่อตัวผู้นำทหารในปีใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และสี่สายน้ำอาจจะเป็น “วังน้ำวน” ที่พัดพากองทัพไปอย่างน่ากังวล

เพราะวันนี้ข้าศึกที่เป็นเชื้อโรค น่ากลัวกว่าข้าศึกในแผนการทัพ

จนอาจต้องคิดถึงเรื่องทางทหารใหม่หมดในปี 2565!