‘โอมิครอน’ ระลอก 5 ลามทั้งแผ่นดิน เขย่าความเชื่อมั่น วัดฝีมือรัฐบาล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ถล่ม วิกฤตซ้ำซาก/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘โอมิครอน’ ระลอก 5 ลามทั้งแผ่นดิน

เขย่าความเชื่อมั่น วัดฝีมือรัฐบาล

‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ถล่ม วิกฤตซ้ำซาก

 

กลายเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าจับตาอีกครั้งสำหรับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่แม้จะมีข้อมูลเบื้องต้นระบุความรุนแรงของอาการเมื่อได้รับเชื้อน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่กลับพบว่ามีการแพร่กระจายได้สูงและเร็วกว่า เห็นได้ชัดในอังกฤษ ที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับหนึ่ง

ขณะที่ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เป็นชายสัญชาติอเมริกัน อายุ 35 ปี เดินทางมาจากสเปน และมีภรรยาคนไทยที่กลายเป็นผู้ติดเชื้อในไทยรายแรก

ก่อนจะประเดิมรับปี 2565 กับยอดผู้ติดเชื้อที่กลับมาพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะที่ จ.ชลบุรี พบสายพันธุ์โอมิครอนไม่ต่ำกว่า 81% เป็นเหตุให้ทางสาธารณสุขต้องปรับระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

ขณะที่คลัสเตอร์หลักที่พบผู้ติดเชื้อมากตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมา คือร้านอาหารและสถานบันเทิง

 

เรื่องนี้ พญ.สุมนี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ว่าขณะนี้ผลจากการสุ่มตรวจกลายพันธุ์ พบสายพันธุ์โอมิครอนมากกว่า 5,000 ราย กระจายไปแล้ว 71 จังหวัดทั่วประเทศ และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-วันที่ 9 มกราคม 2565 พบสัดส่วนเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 64.71% โอมิครอน 35.17% ส่วนที่เหลือเป็นอัลฟ่า 0.10% และเบต้า 0.03% โดยสัปดาห์ล่าสุดพบโอมิครอน 91.3% เป็นการสุ่มตรวจจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่โอมิครอนในประเทศพบ 57.9%

พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า แนวโน้มการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ จะเห็นว่าไต่ระดับไปเรื่อยๆ คาดว่าช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ จะมีผู้ติดเชื้อกว่า 20,000 รายต่อวัน และช่วงปลายกุมภาพันธ์ อาจจะแตะที่ 30,000 รายต่อวัน

ส่วนการเสียชีวิตยังเป็นไปแนวเดียวกันกับสถานการณ์โลก และแนวโน้มผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทาง ศบค.และ สธ.ได้เตรียมยกระดับการจัดการไว้แล้ว ซึ่งจะต่างจากระลอกเมษายน ปี 2564 เพราะขณะนั้นประชาชนยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุม

 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้แถลงสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย โดยระบุระลอกเดือนมกราคมนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน แม้การติดเชื้อจะมากขึ้นแต่การเสียชีวิตลดลง และโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในไม่ช้า พร้อมเตือนคลัสเตอร์โรงงานที่คาดว่าจะเกิดการระบาดในระยะถัดไป จึงขอผู้ประกอบการทำความเข้าใจและเคร่งครัดมาตรการ Bubble and seal ด้วย

สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความหวาดหวั่นให้กับคนในประเทศว่าจะต้องกลับไปใช้ชีวิตภายใต้การล็อกดาวน์อีกครั้งหรือไม่ ยังเป็นการเขย่าความเชื่อมั่นของรัฐบาลในการรับมือและแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง เพราะนี่ถือเป็นการระบาดครั้งที่ 5 และที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยรับมือได้ทันท่วงทีเลยก็ว่าได้

มิหนำซ้ำระลอกนี้ยังมีข้อมูลว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อวันละ 30-40 คน ยิ่งทำให้หลายภาคส่วนเริ่มมีความไม่มั่นใจในการรับมือของรัฐบาล

เห็นได้จากโพลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล ที่ถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2565 เทียบกับปี 2564

พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.04 ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะรุนแรงขึ้น รองลงมาร้อยละ 24.98 ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะเหมือนเดิม ร้อยละ 18.72 ระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะลดน้อยลง และร้อยละ 14.26 ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป

 

ขณะที่ 2 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อไทยและก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ อาทิ ส.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการป้องกันและการรับมือของภาครัฐ ที่ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ของโรค เพราะจากงานวิจัยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่หากมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างรวมกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม อาจจะสร้างแรงกดดันให้กับระบบสาธารณสุขได้

ส.ส.ธีรรัตน์ยังกล่าวต่ออีกว่า ภาครัฐควรต้องเร่งทำงานเชิงรุกในการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ยา และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพราะจากการลงพื้นที่ในหลายครั้งที่ผ่านมาพบว่ายังมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงชุด ATK ฟรีได้ หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อ จนต้องนำไปซักเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐเรียนรู้จากบทเรียนการระบาดในหลายครั้งที่ผ่านมา อย่าผัดวันประกันพรุ่งในการป้องกันการระบาด อย่าปล่อยให้สถานการณ์บานปลายแล้วประกาศล็อกดาวน์แบบกะทันหันอีก ไม่อย่างนั้นในปี 2565 นี้อาจจะเป็นปีเผาจริงของเศรษฐกิจปากท้องของคนไทยจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

และหากจะรอเพียงความสามารถที่มีอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ควบรวมอำนาจการบริหารไว้เพียงคนเดียว คงไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าล้มเหลวและสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนมากน้อยเพียงใด ใช้งบประมาณแผ่นดินไป 25 ล้านล้านบาท กู้เงินรวมกว่า 5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะกว่า 9 ล้านล้านบาท แต่คุณภาพชีวิตคนไทยกลับแย่ลงทุกวัน

“รัฐบาลไม่ควรนิ่งนอนใจกับเชื้อโอมิครอนจนดูถูกว่าเป็นสายพันธุ์กระจอก หากกระจอกจริง การเตือนภัยความรุนแรงคงไม่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4 ทางที่ดีรัฐบาลต้องตื่นรู้ เตรียมการ แต่ไม่ตื่นกลัว” ส.ส.ธีรรัตน์กล่าว

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว ถึงสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน โดยใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

“รัฐบาลมีทั้งอำนาจ มีทั้งเวลา มีทั้งงบประมาณ และมีประสบการณ์ ในระลอกนี้จะไม่มีข้ออ้างใดๆ ให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับฝันร้ายอีกครั้งแล้ว”

พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อต้องเข้าโรงพยาบาลทันที

 

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดหนักผ่านทางเว็บไซต์ หมอดื้อ ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะขยายเป็นวงกว้าง สูงสุดราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่าที่ประเมินเบื้องต้นแบบเร็วๆ ผู้ติดเชื้อน่าจะเกินหมื่นคนต่อวันแน่นอน เพราะการฉีดวัคซีนกระตุ้นขณะนี้ไม่อาจยับยั้งได้ เพียงแต่เป็นการหน่วงเวลาไม่ให้ติดเชื้อพร้อมกันเป็นหลักแสนต่อวัน เพราะในจำนวนนี้จะต้องมีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนปะปนร่วมอยู่ด้วย

หมอดื้อยังเสนออีกว่า ถ้า “ไม่ต้องการให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเข้าโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น” หน่วยงานภาครัฐต้อง “เปิดโอกาส” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโควิด-19 ได้ง่ายๆ ในกรณีตรวจเจอเชื้อแล้วเริ่มรักษาตั้งแต่วินาทีแรก ด้วยฟ้าทะลายโจร ไอเวอร์แมคติน ฟลูวอกซามีน หรือฟลูออกซิทีน ที่มีกลไกยับยั้งไวรัสได้เช่นกัน

และสิ่งสำคัญคือสามารถตัดวงจรลดการระบาดสู่การติดเชื้อในเด็กเล็กที่ยังไม่มีวัคซีน แม้เด็กติดเชื้อแล้วจะมีอาการไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่การติดเชื้อก็อาจมีอาการคงค้างที่เรียกว่า long COVID ส่งผลกระทบระยะยาวได้

การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระลอกนี้ จะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพและน่าความเชื่อมั่นของรัฐบาลในการรับมือและแก้ปัญหาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับคนในประเทศ

ว่าท้ายที่สุด รัฐจะสอบตกซ้ำชั้นอีกหรือไม่?