ปีเสือดุ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ สั่นสะเทือนความมั่นคง ทีมเศรษฐกิจ-รัฐบาล ‘ลุงตู่’/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ปีเสือดุ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’

สั่นสะเทือนความมั่นคง

ทีมเศรษฐกิจ-รัฐบาล ‘ลุงตู่’

 

เพียงแค่เปิดปีเสือดุมาได้เพียง 1 สัปดาห์ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังคงโจมตีอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ ในกระแส “แพงทั้งแผ่นดิน”

และดูเหมือนว่าปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งแรงคู่ขนานกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนที่เพิ่มรายวันจะเริ่มมีความแหลมคม ส่งผลสั่นสะเทือนความมั่นคงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะเมื่อบรรดา “ราคา” ของอาหาร (หมู, ไก่, ไข่) ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ฯลฯ กำลังไต่เพดานสูงขึ้นๆ

 

ย้อนไปหากยังจำกันได้ในปี 2564 ราคาน้ำมันดับในตลาดโลกได้พุ่งทะลุ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564

ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับขึ้นไปกว่า 11 รอบ และล่าสุดหลังจากขึ้นปี 2565 มาได้ไม่นาน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก “เวสต์เท็กซัส” ก็ได้พุ่งกลับขึ้นมายืนราคาที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยปรับขึ้นไปแล้วถึง 4 รอบ หรือรวมประมาณ 1 บาทต่อลิตร

ตามมาด้วยการประกาศปรับค่าขนส่ง ค่าเรือโดยสารอีก 1 บาท ไม่นับรวมที่มีการปรับค่าทางด่วนไปแล้ว 15-35 บาท

ขณะที่ราคาไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft ) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ก็ปรับขึ้นด้วยในอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วยจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าไฟครั้งแรกในรอบ 2 ปี ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาท

โดยทั้งราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นจึงมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าทุกๆ ชนิดทันที ประกอบกับความแปรปรวนของ “ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก” ที่ทะยานสูงขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ LNG แร่ลิเธียม ฝ้าย เหล็ก

ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

อย่างไรก็ตาม “ราคาสินค้าเกษตรและอาหาร” ถือเป็นสินค้ากลุ่มใหญ่รองจาก “น้ำมัน” ในตะกร้าเงินเฟ้อ จากการติดตามความเคลื่อนไหวพบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงกับการพลังงานและอาหารได้มีการปรับขึ้นยกแผง ทั้งผลปาล์มที่ปรับราคาไปถึงกิโลกรัมละ 10 บาท หรือสูงสุดในรอบ 10 ปีในช่วงปี 2564 ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดขยับตัวขึ้นไปเท่ากับราคาน้ำมันถั่วเหลืองที่ขวดละ 55 บาทอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ขณะที่ “ธัญพืช” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปีโดยเฉพาะข้าวโพด ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.50 บาทไปกิโลกรัมละ 11.50 บาท กากถั่วเหลือง ปรับจากกิโลกรัมละ 13 บาทเป็น 18-19 บาท สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ของประเทศ

โดยเฉพาะราคาหมูเนื้อแดงที่พุ่งขึ้นไปเกินกว่ากิโลกรัมละ 200 บาท แถมยังพร้อมที่จะปรับขึ้นไปอีกจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ ราคาอาหารสัตว์ และการเกิดโรคระบาดร้ายแรง “อหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF” ส่งผลให้ปริมาณหมูในประเทศหายไปเกินกว่าครึ่งและไม่มีการลงเลี้ยงหมูรอบใหม่ จนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ต้องประกาศปรับขึ้นราคาหมูเป็น กิโลกรัมละ 4 บาทเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564

หลังจากนั้นยังประกาศขึ้นราคาต่อเนื่องอีกรอบในเดือนตุลาคม รวม 8 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาหมูเป็นขยับขึ้นไปถึง 100 บาท/กิโลกรัมในที่สุด

และเมื่อคำนวณเป็น “ราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียง” ด้วยการคูณสองเข้าไปจึงทำให้ผู้บริโภคได้เห็นราคาเนื้อหมูกิโลกรัมละ 200 บาทเป็นครั้งรอบในรอบหลายสิบปี ส่งกระทบทันทีกับร้านอาหารต่างๆ ที่ใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบต้องออกมาประกาศขยับราคา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารดังอย่าง Mo Mo Paradise, ร้านสุกี้ตี๋น้อย, ร้าน Narai Pizzarai, x ข้าน้อยขอชาบู, ร้านหมูทอดเจ๊จง, หมูย่างเมืองตรัง และอีกนับไม่ถ้วน

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อราคาหมูเนื้อแดงขยับขึ้น ผู้บริโภคก็หันไปหาอาหารโปรตีนชนิดอื่นทดแทน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ หรือไข่ เมื่อความต้องการสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาราคาอาหารสัตว์ปรับขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ล่าสุดทางสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ แจ้งปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ต่อฟอง

ส่งผลให้ราคาไข่คละขายปลีกปรับขึ้นราคาจาก 2.80 บาทเป็น 3.00 บาทต่อฟอง หรือเท่ากับปรับขึ้นแผงละ 6 บาท ขณะที่ราคาเนื้อไก่ในตลาดสดก็เริ่มขยับราคาขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 13 บาท และมีแนวโน้มจะทรงตัวสูงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน

 

ขณะที่ต้นทางสินค้าวัสดุทางการเกษตรอย่าง “ปุ๋ย” ซึ่งเป็นต้นทุนของเกษตรกรผู้ปลูกพืชต่างๆ ก็ปรับขึ้นนำลิ่วไปก่อนหน้านี้แล้ว จากสาเหตุวัตถุดิบ “แม่ปุ๋ย” นำเข้าจากจีนปรับราคาขึ้นไปถึง 3 เท่า เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายมุ่งให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการปิดโรงงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปัญหาการขนส่งทางเรือ ทำให้ต้นทุนของโรงงานปุ๋ยในประเทศปรับเพิ่มขึ้นจนต้องขึ้นราคาปุ๋ยเฉลี่ยจากตันละ 14,000-15,000 บาท เป็นตันละ 20,000 บาท

สวนทางกับราคาสินค้าเกษตรที่ดิ่งหัวทิ่มลง ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวเปลือกเคยหลุดไปต่ำสุดตันละ 7,000-8,000 บาท ทำให้ชาวนาเดือดร้อนหนักเพราะขายข้าวเปลือก 1 ตันยังก็ยังไม่พอจ่ายค่าปุ๋ย

ด้านสินค้าปัจจัยสี่ในชีวิตประจำวันอย่าง “เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม” ก็ปรับราคาขึ้นไปอีก 10-15% ด้วย จากต้นทุนราคาฝ้ายทั่วโลกสูงสุดในรอบ 10 ปี จากราคา 0.67 เหรียญ/ปอนด์ในปี 2564 มาปีนี้ราคาฝ้ายปรับขึ้นไปเป็น 1.10 เหรียญ/ปอนด์

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โรงงานการ์เมนต์จะต้องปรับราคาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม

 

จากภาพการปรับขึ้นราคาสินค้าทั้งหมดทำให้คนไทยยุคนี้ต้องบริโภคสินค้าแพงทั้งแผ่นดินจริงๆ แม้สาเหตุการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ มีทั้งมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ส่วนหนึ่ง เช่น ภาวะราคาสินค้านั้นในตลาดโลกเป็นผู้กำหนด ตลาดโลกปรับขึ้นราคาก็ต้องขยับขึ้น

แต่ก็มีบางสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะจากการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน ที่มีคณะกรรมการเกี่ยวกับสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาการปรับขึ้นราคาสินค้าได้

เมื่อถามถึงมาตรการรับมือค่าครองชีพที่สูงขึ้นปรากฏว่า รัฐบาลก็ยังคงใช้ “อาวุธเดิม” ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างโครงการคนละครึ่ง ที่จะเริ่มเฟสต่อไปในเดือนมีนาคม 2564

ส่วนมาตรการรับมือสินค้าแพงของกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังใช้วิธีการเดิมๆ อาทิ การขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า ยกตัวอย่าง หมูราคากิโลกรัมละ 150 บาท การตรึงราคาไข่ไก่อีก 6 เดือน

ขณะที่กระทรวงพลังงานก็ยังกำหนดมาตรการให้ตรึงราคาก๊าซหุ้งต้มถังละ 318 บาทต่อไปอีก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

หากรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพให้คลี่คลายลงได้ ปีนี้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กำลังซื้อหดตัวจากอัตรารายได้ต่อหัวที่ไม่เพิ่มขึ้น ภาวะหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่ยุติลง

นี่จะกลายเป็นการ “วัดฝีมือ” ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ที่รับบทคุมทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

ซึ่งจะต้องหาทางคลี่คลายปัญหาสินค้าแพงทั้งแผ่นดินได้อย่างไร