เครียด! สุขภาพ หนี้ ตร.ฆ่าตัวตาย ‘บิ๊กปั๊ด’ เร่งสะสาง ลดสูญเสีย เปิดศูนย์ปรึกษา 24 ช.ม.-แอพพ์แทนใจ/โล่เงิน

โล่เงิน

 

เครียด! สุขภาพ หนี้ ตร.ฆ่าตัวตาย

‘บิ๊กปั๊ด’ เร่งสะสาง ลดสูญเสีย

เปิดศูนย์ปรึกษา 24 ช.ม.-แอพพ์แทนใจ

 

เหตุการณ์ตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือฆ่าตัวตาย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพตำรวจมีความกดดันและความเครียดสะสมสูง ทั้งจากการปฏิบัติหน้าที่ ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน ความขัดแย้งระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว ปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงปัญหาหนี้สิน

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่าที่ไม่อาจประเมินได้

ผ่านเทศกาลปีใหม่ 2565 ได้เพียงไม่กี่วัน มีตำรวจฆ่าตัวตายไปแล้วถึง 2 ราย

โดยรายแรก ส.ต.ท.ศิริศักดิ์ ญาติปราโมทย์ ผู้บังคับหมู่จราจร สน.พญาไท ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตภายในห้องพักที่ชั้น 3 แฟลตตำรวจ สน.พญาไท

ถัดมาเพียง 1 วัน ส.ต.อ.อภิวัฒน์ ทองไทย ผู้บังคับหมู่ กก.1 บก.ป. ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงตัวเองเสียชีวิตภายในห้องพัก แฟลต 5 ซ.วิภาวดี 40/1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

การตัดสินใจจบชีวิตของตำรวจทั้ง 2 นายในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังไม่มีใครสามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้

 

4 มกราคมที่ผ่านมา พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.เผยว่า ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ผู้กำกับการ และหัวหน้าสถานี เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลและตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดว่าใครมีปัญหาอะไร เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวว่า ตามสถิติสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องส่วนตัว

โดยตั้งแต่ปี 2551-2564 มีตำรวจเสียชีวิต 443 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย ปัญหาอื่นๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย

ในปี 2564 มีการสรุปสาเหตุการตาย 21 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย ปัญหาหนี้สิน 5 นาย ปัญหาส่วนตัว 3 นาย ปัญหาเรื่องงาน 1 นาย และปัญหาอื่นๆ 1 นาย

โฆษก ตร.กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าว ผบ.ตร.ได้ให้นโยบายเวลาโรงพยาบาลตำรวจมีการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากการตรวจสุขภาพกายแล้ว ให้เน้นการตรวจสุขภาพจิตด้วย เนื่องจากตำรวจต้องเผชิญกับการทำงานภายใต้ความกดดัน อาจมีหลายส่วนที่เกิดภาวะเครียดจากการทำงาน ซึ่งทางโรงพยาบาลตำรวจมีศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้คำแนะนำกับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์สุขภาพจิต “Depress We Care” หรือโทร. 08-1932-0000

หากตำรวจรายใดต้องการคำปรึกษา สามารถติดต่อผ่านช่องทางดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

 

ขณะที่ พล.ต.ต.หญิง พันวดี รัตนสุมาวงศ์ นายแพทย์ (สบ 6) โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาปรึกษาเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์สุขภาพจิต “Depress We Care” และสายด่วน เป็นตำรวจ 103 ราย ครอบครัวตำรวจ 57 ราย และประชาชน 1,965 ราย รวมทั้งสิ้น 2,125 ราย

ประเด็นปัญหาที่เข้ามาปรึกษา เช่น ปัญหาเครียด นอนไม่หลับ สุขภาพจิตใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น

พล.ต.ต.หญิง พันวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ผบ.ตร.ได้ให้แนวทางเรื่องการแก้ปัญหาในกรณีที่ตำรวจมีความเครียดหรือไม่สบายใจ รู้สึกซึมเศร้า อยากปรึกษานักจิตวิทยา จะมีช่องทางใดสำหรับตำรวจในการเข้ามาปรึกษา เนื่องจากเดิมช่องทางเฟซบุ๊กและโทรศัพท์ ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนเข้ามาใช้บริการ โดย ผบ.ตร.อยากให้ช่วยดูแลข้าราชการตำรวจให้มีช่องทางที่ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ คือ แอพพลิเคชั่นแทนใจ

ซึ่งขณะนี้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ กับผู้พัฒนาแอพพ์แทนใจ อยู่ระหว่างปรึกษาหาแนวทางการใช้งาน ที่ในอนาคตตำรวจสามารถเข้ามาปรึกษานักจิตวิทยาได้ผ่านแอพพ์นี้ แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมีช่องทางอินบอกซ์และสายด่วนเช่นเดิม

นอกจากเพิ่มช่องทางการให้คำปรึกษาตำรวจแล้ว พล.ต.ต.หญิง พันวดีกล่าวว่า จากเดิมที่โรงพยาบาลตำรวจมีการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีจะให้ตรวจสุขภาพจิตผ่านแบบทดสอบด้วย ตอนนี้จะมีการเพิ่มจำนวนการตรวจสุขภาพจิตประจำปีด้วย

 

ด้าน พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม และ พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงาน ได้กำชับให้ทุกหน่วยในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม ที่ ตร.ได้กำหนดไว้โดยเคร่งครัด

รวมทั้งให้ทุกหน่วยดำเนินการจัดหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมขององค์กรและบุคลากรในสังกัด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืน เช่น การสร้างรูปแบบสังคมการทำงานที่เป็นสุข การเปิดรับฟังความคิดเห็นของบุคลากร การจัดฝึกอบรมต่างๆ เป็นต้น

พร้อมกำชับทุกหน่วยในสังกัด ตร.ที่มีสถิติข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรมเรียงตามลำดับสูงสุด 4 ลำดับแรก ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ให้ผู้บังคับบัญชาทุกลำดับชั้นดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเร่งด่วน

และให้หน่วยดังกล่าวจัดทำแผนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยให้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทุกวันที่ 30 ของเดือน

 

นอกจากนี้ ยังให้กองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ดำเนินการวิเคราะห์สถิติข้อมูลต่างๆ ของข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อประกอบการวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการกระทำอัตวินิบาตกรรมของข้าราชการตำรวจ เพื่อให้โรงพยาบาลตำรวจนำข้อมูลมากำหนดแผนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ในมิติด้านสุขภาพ แล้วรายงานผลเสนอผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

รวมทั้งให้พิจารณาแนวทางทดสอบสมรรถภาพทางด้านจิตใจ โดยให้มีแนวทางเดียวกันกับการตรวจสมรรถภาพทางร่างกายประจำปี อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ทางหัวหน้าคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฯ จึงได้นัดประชุมติดตามความคืบหน้าร่วมกับคณะทำงาน ในวันที่ 13 มกราคม 2565 นี้

ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง และสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปีเสือดุนี้ อาจเป็นการซ้ำเติมข้าราชการตำรวจ จึงต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติและสร้างกำลังใจให้ตัวเอง

ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสร้างปัญหาการฆ่าตัวตายของตำรวจ

จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องเร่งสะสาง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพล และลดอัตราความสูญเสียได้อย่างทันท่วงที