ฝ่ายค้านลับดาบ ม.152 อภิปรายซักฟอกแบบไม่ลงมติ หวังเปิดแผลขยี้ซ้ำ ‘รบ.’ ขาลง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฝ่ายค้านลับดาบ ม.152

อภิปรายซักฟอกแบบไม่ลงมติ

หวังเปิดแผลขยี้ซ้ำ ‘รบ.’ ขาลง

ผ่านพ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 แทนที่เหตุการณ์ร้ายๆ จะผ่านพ้นไปและต้อนรับสิ่งใหม่ให้หูตาชื่นบาน อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรจะแย่กว่าเก่า

แต่กลับกลายเป็นว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีอัตราการแพร่กระจายทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ศบค.ยังระบุว่า หากประชาชนยังการ์ดตกอาจถึงขั้นติดเชื้อป่วยทะลุหมื่นรายต่อวัน

เมื่อหันมามองในด้านของเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน อยู่ในสภาพแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว จากการที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ หลายกิจการต้องปิดตัว ขณะที่ค่าครองชีพ ทั้งน้ำมันแพง ค่ารถไฟฟ้าแพง

ละที่เป็นปัญหากระทบประชาชนล่าสุดคือ หมูแพง และกำลังกระเพื่อมลามไปถึงราคาไข่ ไก่ เป็ด และอาหารสดประเภทต่างๆ ที่กำลังดีดตัวพุ่งทะยานสูงขึ้นแบบไม่ให้ได้เตรียมตัวเตรียมใจ หากจะให้ทำตามคนที่บอกว่า ถ้าหมูแพงก็ให้ไปกินอย่างอื่นคงจะทำตามไม่ได้แล้ว

เพราะว่าอาหารทุกอย่างตอนนี้เรียกว่า ‘แพงทั้งแผ่นดิน’

ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล พ่วงตำแหน่งสำคัญ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ ผอ.ศบค. ควบรวมอำนาจของทุกกระทรวงมาอยู่ที่ตัวเอง การตัดสินใจและการออกนโยบายจึงต้องผ่านหูผ่านตาและได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ หากเกิดอะไรขึ้น

ถนนแห่งความรับผิดชอบทุกเส้นจะต้องมุ่งมาหา พล.อ.ประยุทธ์อย่างแน่นอน

 

ล่าสุดพรรคฝ่ายค้านหึ่มๆ กำลังติดเครื่องพร้อมชนรัฐบาล เตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หวังสาวไส้ เปิดแผล พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพทั้งหมด ที่ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน จนทำให้ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า และไม่นำพาที่จะเรียนรู้หรือถอดบทเรียนจากความผิดพลาดที่เคยทำมาตลอด 2 ปีที่เกิดการติดเชื้อเป็นครั้งแรก

โดยช่วงที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านยังได้เปิดเผยการทุจริตและการอุ้มชูกลุ่มนายทุนใหญ่หรือเจ้าสัวให้ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เลือดเย็นหากินบนความเป็นความตายของประชาชน

“พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” รองหัวหน้าพรรค และประธานวิปพรรคก้าวไกล ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยไทม์ไลน์ได้อย่างชัดเจน ว่าจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในช่วงไหน เพราะขณะนี้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย กำลังลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.

แต่ครั้งสุดท้ายที่พูดคุยกันคือจะให้การอภิปรายเกิดขึ้นสัปดาห์หลังตรุษจีน หรือช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ การอภิปรายตามมาตรา 152 แตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะจะไม่มีการลงมติและไม่ได้เน้นไปที่ตัวบุคคล

โดยพรรคก้าวไกลเตรียมการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นเช่นเดิม มีหลายประเด็นที่จะถูกหยิบมาอภิปรายรัฐบาล ขณะนี้กำลังแบ่งงานให้ ส.ส.แต่ละคนไปทำการบ้าน

“พิจารณ์” มองถึงสภาพของรัฐบาลขณะนี้ภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ปรากฏภาพความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่น ทั้งการเลือกตั้งซ่อมที่ขับเคี่ยวกันเอง และการโทษกันไปมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีรัฐมนตรีดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยรัฐบาลไม่อยากถูกลูกหลงแบบเหมารวมว่า รัฐบาลคือต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว ว่า แน่นอนว่าสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังประสบความเดือดร้อนอยู่นั้น ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน การแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร การเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น

คิดว่าแม้จะไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจหรือไม่มีการสะท้อนให้เห็นผ่านคะแนนไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในตัวรัฐมนตรี แต่คิดว่าในหลายเรื่องจะสามารถนำไปสู่การเขย่าความไว้เนื้อเชื่อใจของพี่น้องประชาชนที่มีต่อรัฐบาลนี้ได้

“เห็นได้ชัดเมื่อได้ลงหาเสียงเลือกตั้งซ่อมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ที่พรรคพลังประชารัฐชนะและมีคะแนนมากกว่าพรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคอนาคตใหม่รวมกัน แต่ตอนนี้ประชาชนไม่เอาและไม่อยากจะเลือกผู้แทนราษฎรของฝั่งรัฐบาล สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความผิดพลาดของรัฐบาลทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศและพรรคแกนนำรัฐบาล” พิจารณ์ระบุ

และว่า ทิศทางลมในสมรภูมิการเมืองที่ผันผวน จำเป็นต้องโฟกัสทั้งการอภิปราย การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม และการเล่นกันเองของพรรคร่วมรัฐบาล

 

ขณะที่ “ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนภาคใต้ พรรคก้าวไกล ซึ่งได้ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 และ ส.ส.ชุมพร เขต 1 แสดงความเห็นถึงประเด็นโดยรวมไว้อย่างน่าสนใจ และเล่าถึงความดุเดือดของการหาเสียงรณรงค์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์

โดยขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เองกำลังเสียรังวัด สืบเนื่องจากปัญหาหมู ไข่ และสินค้าสดราคาแพงว่า ข้อเท็จจริงคือ พรรคประชาธิปัตย์ดูแลกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การใช้นโยบายและดุลพินิจในการแก้ปัญหา เป็นอำนาจของรัฐมนตรีเต็มๆ เป็นบทพิสูจน์ของการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง เพราะเป็นฝ่ายไปต่อรองเพื่อเลือก 2 กระทรวงนี้ โดยคิดว่าเป็นความถนัดของตัวเอง

สำหรับการอภิปรายตามมาตรา 152 “ประเสริฐพงษ์” ระบุว่า พรรคก้าวไกลจะใช้กลไกทางกฎหมาย และระบบรัฐสภาในการตรวจสอบรัฐบาล เปิดโปง และฟ้องประชาชนว่า การบริหารจัดสรรทรัพยากรโดยนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล ทำให้เกิดความผิดพลาดในทางเศรษฐกิจ ทำลายโอกาสของประชาชนในทุกมิติ และจะขยายความผิดพลาดเหล่านี้ให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจน จะส่งผลถึงการตัดสินใจต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่คิดว่ารัฐบาลจะไม่แตกกันด้วยปัญหาความขัดแย้งอย่างแน่นอน เพราะต้องกอดหม้อข้าวของตัวเองกันอยู่ ประเด็นนี้เป็นแค่เชื้อเล็กๆ และจุดสะสมความแค้นของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เวทีอภิปราย ฝ่ายค้านประเมินว่าจะเปิดแผลรัฐบาลได้พอสมควร พิเคราะห์จากความบอบช้ำของรัฐบาล ทั้งจากที่ทำตัวเอง และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

ขณะที่ประเด็นนายกฯ 8 ปี ก็จ่อคิวให้ถูกหยิบมาโจมตี เรื่องนี้ฝ่ายค้าน และกูรูด้านกฎหมายบางคนได้ยืนยันว่า หากดูตามตัวบท มาตรา 258 วรรค 4 ประกอบบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ วันหมดอายุของ ‘บิ๊กตู่’ ถูกขีดไว้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งต้องลุ้นกันว่าครั้งนี้หนัง “บิ๊กตู่” จะเหนียวฟันแทงไม่เข้าเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

อีกอย่างคือ การอภิปรายครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล คงจะไม่ใช่แค่การชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลต้องพิจารณาตัวเอง และคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ แต่ยังเป็นพื้นที่เปิดท้ายขายของ อวดนโยบาย และวิสัยทัศน์ของพรรคตัวเองว่า หากเป็นรัฐบาลและมีอำนาจบริหารประเทศจะสร้างคุณประโยชน์ให้ประชาชนอย่างไร

ยิ่งสภาของรัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง เคียงคู่มากับกระแสเรียกร้องยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ พรรคฝ่ายค้านคงปรับกระบวนการเคลื่อนให้แยบคายมากขึ้น

เพื่อเป็นตัวเลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้