‘เดลตาครอน’ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือแค่ปนเปื้อน??/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ-รอยเตอร์

บทความต่างประเทศ

 

‘เดลตาครอน’

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

หรือแค่ปนเปื้อน??

 

แม้เวลาจะผ่านไป 2 ปีแล้ว แต่ดูเหมือน “โควิด-19” จะยังไม่มีวี่แววว่าจะหายไป แม้จะมีช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อแผ่วลงไปบ้าง จนทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ แล้ว

จนกระทั่งมาพบกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ตัวที่หลายคนหวาดกลัว คือสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่ดูเหมือนจะรุนแรง กระทั่งมาเจอสายพันธุ์ล่าสุด “โอมิครอน” ที่แม้หลายฝ่ายจะบอกว่า อาการไม่รุนแรงนัก แต่ก็แพร่เชื้อเร็ว

และในขณะที่โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนทำให้ยอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ก็มีข่าวออกมาว่า เจอโควิด-19 ลูกผสม ระหว่าง “เดลต้า” กับ “โอมิครอน”

และถูกเรียกว่า “เดลตาครอน”

 

สายพันธุ์นี้ถูกค้นพบโดยนักวิจัยในไซปรัส จากการรายงานข่าวของเว็บไซต์บลูมเบิร์ก ที่ระบุว่า เลโอนดิโอส โกสตริกีส์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยไซปรัส เป็นผู้เรียกโควิดลูกผสมนี้ว่า “เดลตาครอน” เนื่องจากมีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับสายพันธุ์ “โอมิครอน” แต่มีจีโนมที่เหมือนกับสายพันธุ์ “เดลต้า” โดยมีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น เพราะกลายพันธุ์มากถึง 30 จุด ซึ่งการกลายพันธุ์ 10 จุด พบในตัวอย่างที่เก็บได้ในไซปรัส

โดยในรายงานเบื้องต้น ศาสตราจารย์โกสตริกีส์และทีมวิจัยของเขา พบมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดลตาครอนนี้ถึง 25 รายแล้ว ซึ่ง 11 ตัวอย่างมาจากผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล และอีก 14 ตัวอย่างมาจากประชาชนทั่วไป

และยังเร็วเกินไป (ณ วันที่ตรวจพบ) ที่จะบอกว่า มีคนอื่นๆ ติดเชื้อสายพันธุ์นี้อีกหรือไม่ หรือสายพันธุ์เดลตาครอนนี้จะส่งผลกระทบอะไรมากน้อยเพียงใด

ศาสตราจารย์โกสตริกีส์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซิกมา ทีวี ว่า “เราอาจจะได้เห็นเชื้อนี้มากขึ้นในอนาคต หากเชื้อสายพันธุ์นี้มีความรุนแรง หรือแพร่เชื้อได้ง่าย หรือระบาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดของเชื้อเดลต้าและโอมิครอน”

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า ทีมนักวิจัยได้ส่งผลการศึกษาที่พบไปยังจีไอเอสเอไอดี ซึ่งเป็นศูนย์รวมฐานข้อมูลที่ใช้ในการติดตามไวรัสแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้เดลตาครอนจะสร้างความตื่นตระหนกทั่วโลก หากแต่เรื่องดังกล่าวได้สร้างความกังขาให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ที่เชื่อว่า “เดลตาครอน” ที่ว่านี้ อาจจะเป็นผลจากความผิดพลาดบางอย่างในห้องปฏิบัติการ

โดย ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ทวีตข้อความบอกว่า เรื่องเดลตาครอนดูเหมือนจะชัดเจนว่าเป็นการปนเปื้อน และว่า ไม่ได้เข้าเกณฑ์ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19

ขณะที่ ดร.ครูติกา คุปปาลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ทวีตข้อความ ระบุว่า “นี่น่าจะเป็นผลมาจากการปนเปื้อน (การปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการของเศษโอมิครอน ในตัวอย่างเชื้อเดลต้า)”

 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์โกสตริกีส์ได้ออกมาโต้แย้งเรื่องดังกล่าว โดยบอกว่า เรื่องการสันนิษฐานว่า เดลตาครอนเป็นเพียงเรื่องของการปนเปื้อนนั้น “เป็นไปไม่ได้” เพราะอัตราส่วนของการติดเชื้อเดลตาครอนนั้น สูงมากในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

และว่า ตัวอย่างเชื้อได้ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมายในมากกว่า 1 ประเทศ อย่างเช่นที่ประเทศอิสราเอล ที่มีการเก็บฐานข้อมูลจากทั่วโลก เกี่ยวกับคุณลักษณะของยีนเดลตาครอน

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า สายพันธุ์เดลตาครอนนั้นเป็นอย่างไร โดย ดร.เฟรด เดวิด ผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายฉุกเฉินของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยกับฟอกซ์นิวส์ว่า รายงานเรื่องเกี่ยวกับเดลตาครอนจากไซปรัสนั้น จะยังคงต้องติดตามกันต่อไป

ตอนนี้ ก็ต้องรอผลตรวจสอบจากทางองค์การอนามัยโลก ว่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับเดลตาครอนที่จะเป็นการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อโควิด-19 หรือเป็นเพียงแค่การปนเปื้อนเท่านั้น

ขณะที่โลกตอนนี้ ยังต้องต่อสู้กับสายพันธุ์ร้ายๆ อย่าง “เดลต้า” และสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อย่าง “โอมิครอน” กันต่อไป